อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) ผู้เปิดดินแดนอินโดจีนสู่สังคมโลก

อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) ผู้เปิดดินแดนอินโดจีนสู่สังคมโลก

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: บทความพิเศษ
Column: Special Article
ผู้เขียน: ทศพนธ์ นรทัศน์ (ประธานชมรม ICT for All)
hs4hnl@ictforall.org


“อองรี มูโอต์ มีผลทำให้ ‘นครวัดนครธม’ กลายเป็นสิ่งที่เลื่องลือถึงความมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคำว่าอุษาคเนย์) และก็เป็นผลทำให้ฝรั่งเศสสนใจในดินแดนอินโดจีนอย่างมหาศาล”
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

หากกล่าวถึง อองรี มูโอต์ ผู้ที่อยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและธรรมชาติวิทยาคงจะรู้จักท่านผู้นี้เป็นอย่างดี ในฐานะนักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาสำรวจด้านภูมิศาสตร์ประวัติศาตร์สังคมและธรรมชาติวิทยา ในภูมิภาคอินโดจีน (สยาม กัมพูชา ลาวและเวียดนาม) เขาคือผู้ที่ทำให้โลกตะวันตกได้รับรู้และให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มโบราณสถานนครวัดนครธม” บทความฉบับนี้จะนำเสนอเรื่องราวการเดินทางสำรวจภูมิภาคนี้ของอองรี มูโอต์ จากเอกสารทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งทัศนะและมุมมองของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีต่อมูโอต์ อันจะช่วยให้สังคมไทยได้รู้จักอองรี มูโอต์ และความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรอินโดจีนหรือดินแดนสุวรรณภูมิผ่านบันทึกและเรื่องราวของอองรี มูโอต์ ในแง่มุมต่าง ๆ

อเล็กซองดร์ อองรี มูโอต์ (Alexandre Henri Mouhot, ๑๘๒๖-๑๘๖๑) เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๖ (พ.ศ. ๒๓๖๙) ที่ Montbéliard, Doubs สาธารณรัฐฝรั่งเศสซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนประเทศสวิตเซอร์แลนด์และมูโอต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๑

(พ.ศ. ๒๔๐๔) ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว มูโอต์เป็นที่รับรู้ของคนส่วนมากจากการที่เขาเข้าไปสำรวจนครวัดในประเทศกัมพูชา และนำเสนอผลการสำรวจนั้นออกสู่สายตาชาวโลก

มูโอต์ ศึกษามาทางภาษาศาสตร์ สนใจการท่องเที่ยวและธรรมชาติวิทยา เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี มูโอต์เดินทางไปรัสเซีย โดยสอนภาษาฝรั่งเศสและกรีกเป็นอาชีพ เมื่อมีเวลาว่างก็เดินทางท่องเที่ยวและถ่ายภาพ จากนั้นเขาก็เดินทางไปเยอรมนี อิตาลี ฮอลแลนด์ โดยเดินทางร่วมกับน้องชาย ๒ คน ต่อมามูโอต์เดินทางไปยังอังกฤษ และแต่งงานกับผู้หญิงชื่อ “แอนน์” (ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ประวัติชัดเจนว่าเป็นใคร) และย้ายมาอยู่ที่เกาะนิวเจอร์ซีบริเวณช่องแคบอังกฤษ โดยในระหว่างนี้มูโอต์สนใจธรรมชาติวิทยามากขึ้นเรื่อย ๆ๒ จนเป็นแรงผลักดันให้เขาเดินทางมาสำรวจดินแดนอินโดจีนในครั้งนี้ด้วย

มูโอต์ ได้เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนสยามลาว และกัมพูชา เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๕๘-๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๐๔) หรือในสมัยพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อ ๑๔๐ กว่าปีมาแล้ว ในสมัยนั้น ทั้งลาวและกัมพูชายังเป็น “ประเทศราช” ของสยามอยู่ (และส่งบรรณาการให้เวียดนามที่กรุงเว้ด้วย)

สันนิษฐานว่า มูโอต์ได้อ่านงานเกี่ยวกับสยามของเซอร์จอห์น บาวริ่ง และสังฆราชปาลเลกัวซ์จึงสนใจเดินทางมายังสยาม โดยในครั้งแรกคำร้องขอเพื่อรับการสนับสนุนในการเดินทางครั้งนี้ของเขาได้รับการปฏิเสธจากบริษัทฝรั่งเศสและรัฐบาลของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓

ราชสมาคมภูมิศาสตร์ลอนดอน (The Royal Geographical Society and the Zoological Society of London) จึงได้ให้การสนับสนุน (แต่ไม่ได้ให้ทุน) มูโอต์ออกเดินทางโดยทางเรือจากลอนดอนในวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๘ (พ.ศ. ๒๔๐๑) ผ่านมาทางสิงค์โปร์เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว มูโอต์ได้ไปพบสังฆราชปาลเลกัวซ์ผู้เป็นประมุขมิซซังในสยามและลาว และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๘ (พ.ศ. ๒๔๐๑)

การเดินทางของมูโอต์มีทั้งหมด ๔ เที่ยว เที่ยวแรกไปอยุธยา-พระพุทธบาท-สระบุรี-เขาปฐวี โดยเขาได้ล่องเรือขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึง
อยุธยา มูโอต์ต้องผจญกับฝูงยุงซึ่งเขาเรียกว่า “แวมไพร์น้อยผู้ร้ายกาจ” รวมทั้งสัตว์ร้ายนานาชนิด อาทิเช่น เสือ เสือดาว แรด จระเข้ แมงป่อง ตะขาบและทากดูดเลือด เขาบอกว่า “บ่อยครั้งที่กางเกงของข้าพเจ้าถูกย้อมด้วยสีแดงเช่นเดียวกับทหารฝรั่งเศส”

มูโอต์ได้เดินทางสำรวจซากโบราณสถานของกรุงศรีอยุธยา แล้วเดินทางต่อไปยังพระพุทธบาท (ภูพระบาท) สระบุรี และเขาปฐวีตามลำดับ

ส่วนการเดินทางเที่ยวที่สองไปเขมรของมูโอต์นั้น แบ่งเป็น ๒ เที่ยวย่อย คือ จากจันทบูรณ์ (จันทบุรี)-เลียบชายฝั่งตะวันออกตามเกาะต่าง ๆ และจากจันทบูรณ์ไปเขมร-เมืองหลวงอุดงมีชัย (เมืองหลวงเก่าของเขมรซึ่งย้ายมาจากละแวก ก่อนที่จะย้ายไปพนมเปญ)๗ –ไปเมืองชายแดนติดกับโคชินไชน่า (ไซ่ง่อน (Saigon) หรือโฮจิมินห์ซิตี้ (Ho Chi Minh City) ในปัจจุบัน) วนไปวนมา ๓ เดือน จากนั้นจึงย้อนกลับมาตามลำน้ำทะเลสาบจนกระทั่งถึงกลุ่มโบราณสถานนครวัด (เมื่อมกราคม พ.ศ.๒๔๐๓)๘ และกลับกรุงเทพฯ โดยผ่านทางอรัญประเทศ-ฉะเชิงเทรา การเดินทางเที่ยวนี้กินเวลาทั้งสิ้น ๑๕ เดือน และกล่าวได้ว่าเป็นเที่ยวที่สร้างชื่อเสียงให้มูโอต์มากที่สุด เพราะเขาได้เดินทางไปจนถึงนครวัด ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเสมือนตำนานที่เล่าขานกันมาโดยไม่มีใครรู้ว่าตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่ แต่มูโอต์ก็เดินทางไปจนถึงนครวัดและเขียนแผนที่พร้อมทำผังออกมา เพื่อยืนยันว่านครวัดมีอยู่จริง ไม่ใช่นิยาย

“Ankor Wat” หมายถึงปราสาทนครวัดเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ตั้งอยู่นอกเมืองนครธมไปทางทิศใต้ แต่อยู่ภายในเมืองพระนครเทวสถานแห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓) เพื่ออุทิศถวายพระวิษณุ (พระนารายณ์) ดังนั้นปราสาทแห่งนี้จึงมีชื่อเดิมว่า “ปราสาทวิษณุโลก” ต่อมาภายหลังมีพระสงฆ์เข้ามาพำนักอยู่ จึงเรียกกันติดปากว่า “นครวัด”

ในปี ค.ศ. ๑๕๘๖ (พ.ศ. ๒๑๒๙) ได้มีนักบวชจากโปรตุเกส นามว่า อันโตนิโอ ดา มักดาเลนา (Antonio da Magdalena) เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้ไปเยือนปราสาทนครวัด แต่ที่จะถือว่าเป็นการเปิดประตูให้แก่ปราสาทนครวัดนั้น คือการค้นพบของอองรี มูโอต์

ปราสาทนครวัดเป็นปราสาทที่ใหญ่โตและสง่างามที่สุด มีการวางผัง การจัดลำดับองค์ประกอบได้อย่างกลมกลืนลงตัวที่สุด ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของการสร้างปราสาทหินของชาวขอมโบราณ ความยิ่งใหญ่แห่งนครวัดจะเห็นได้จากคำกล่าวของอาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทั่วโลกได้กล่าวไว้เมื่อมาเห็นนครวัดว่า “See Angkor Wat and Die” หรือ “แม้ตายไม่ปรารมภ์ เพียงได้ยลนครวัด”

อองรี มูโอต์ ได้บรรยายถึงความยิ่งใหญ่ของกลุ่มโบราณสถานนครวัดนครธมโดยเปรียบเทียบกับพีระมิด ซึ่งขณะนั้นชาติตะวันตกได้ยอมรับถึงความยิ่งใหญ่อันเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอารยธรรมในตะวันออกกลาง ดังกรณีที่มูโอต์ได้กล่าวถึงนครธมไว้ในบันทึกว่า “เศียรของพระพุทธรูปที่ซุ้มประตูทางเข้าของนครธมนั้นเหมือนกับรูปปั้นศีรษะขนาดใหญ่ทั้ง ๔ ของปฏิมากรรมอียิปต์”๑๐


อองรี มูโอต์ ได้เขียนบรรยายถึงนครวัดที่เขาได้ไปเห็นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ว่า “เป็นนฤมิตกรรมทางสถาปัตย์ซึ่งไม่อาจมีสิ่งก่อสร้างอื่นใดที่สร้างมาแล้วหรือที่จะสร้างต่อไปในโลกเสมอเหมือนได้อาจถือได้ว่าเป็นคู่แข่งของวิหารที่สร้างโดยกษัตริย์โซโลมอนผู้ยิ่งใหญ่…”๑๑

จากบางตอนของบันทึก ซึ่งมูโอต์ได้เขียนถึงนครธม ไว้ว่า “หนึ่งในวิหารเหล่านี้ – คู่แข่งของวิหารแห่งโซโลมอน และสร้างโดยใครสักคนที่เป็นไมเคิลแองเจโลยุคโบราณ – อาจจะได้ตำแหน่งอันทรงเกียรติอยู่เคียงข้างสิ่งก่อสร้างที่สวยงามที่สุดของเรา มันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ ที่กรีซหรือโรมได้ทิ้งไว้แก่เรา และให้ภาพที่ตรงข้ามอันน่าเศร้าแก่สภาพความป่าเถื่อนในที่ซึ่งบัดนี้รัฐได้ทะลวงเข้าไป (ทำลายกลุ่มโบราณสถานดังกล่าว)” นอกจากนี้มูโอต์ยังเขียนว่า “ที่อองกอร์ มีซากปรักแห่งความยิ่งใหญ่ขนาดที่…เมื่อแรกเห็น เราจะอิ่มเอมด้วยความชื่นชม ลึกล้ำและทำได้เพียงแค่ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับชนชาติอันทรงอำนาจอารยะ ทรงภูมิ ซึ่งเป็นผู้สร้างงานอันยิ่งใหญ่มโหฬารนี้เล่า ?”๑๒

มูโอต์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ทำให้ฝรั่งตื่นนครวัด ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็หาได้กล่าวอ้างความยิ่งใหญ่นี้ไม่๑๓

การเดินทางเที่ยวที่ ๓ มูโอต์ตั้งใจจะไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านดงพญาไฟ ขากลับจะผ่านโคชินไชน่าเข้าไปในเขมรอีกครั้ง แต่ก็ทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะติดฤดูฝน เขาจึงเปลี่ยนแผนเดินทางไปเพชรบุรี ๔ เดือน ณ ที่นั้น มูโอต์ ได้สำรวจภูมิประเทศ ธรรมชาติต่าง ๆ ของเพชรบุรีโดยเฉพาะตามภูเขาลูกต่าง ๆ มูโอต์กล่าวว่าเขาได้รับความลำบากจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและยุงที่ชุกชุม รวมทั้งสัตว์ป่าที่ดุร้าย๑๔

เมื่ออยู่ที่เพชรบุรีได้เป็นระยะเวลา ๔ เดือนแล้ว มูโอต์จึงได้เดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวเดินทางในเที่ยวที่ ๔ อันเป็นเที่ยวสุดท้ายในชีวิตของมูโอต์ ก็คือการเดินทางจากบางกอก (กรุงเทพฯ) ไปหลวงพระบาง โดยมูโอต์ตั้งใจจะเดินทางไปตามลำแม่น้ำโขงจนถึงพรมแดนของประเทศจีน๑๕

การเดินทางของมูโอต์เที่ยวนี้มีผู้ติดตามมูโอต์ไปตลอดจนวาระสุดท้ายของเขาคือ ไพร (Phrai) และแดง (Deng)

มูโอต์ ได้บันทึกไว้ว่า ขณะที่เดินทางผ่านดงพญาไฟ เสือดาวตัวใหญ่ได้ย่องเข้ามาจะกินผู้ติดตามของเขาทั้ง ๒ คนที่กำลังนอนหลับอยู่มูโอต์จึงใช้ปืนยิงใส่เสือดาว นัดแรกโดนที่ไหล่ขวาของมันจนบาดเจ็บ มันจึงกระโจนและเคลื่อนไหวอย่างน่ากลัว คงเป็นอันตรายแน่หากไม่ฆ่ามันเสีย หรืออย่างน้อยก็ทำให้มันพิการมูโอต์จึงยิงนัดที่สองถูกบริเวณระหว่างช่วงไหล่ของมัน ลูกกระสุนตัดผ่านหัวใจของเสือดาวตายทันที เสียงปืนได้ปลุกผู้ติดตามทั้งสองของมูโอต์ตื่นขึ้นในทันที พวกเขาดีใจมากที่พบว่าเสือดาวได้ตายก่อน แทนที่จะเป็นพวกเขา (ที่ถูกเสือดาวฆ่า)๑๖

๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๔) มูโอต์เดินทางมาถึงเมืองชัยภูมิ และเข้าพบเจ้าเมืองเพื่อขออนุญาตเช่าช้างและวัว เพื่อใช้ในการเดินทางต่อไปของเขา มูโอต์ได้แสดงหนังสือเดินทางของฝรั่งเศส จดหมายจากสมุหพระกลาโหมและจากเจ้าเมืองโคราชแต่ก็ไร้ประโยชน์เพราะเจ้าเมืองชัยภูมิปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือและบอกว่าถ้ามูโอต์ต้องการวัวหรือช้างในป่ามีอยู่ดาษดื่น ซึ่งเขาสามารถหาได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องให้พนักงานช่วย และอาจหาจากชาวบ้านในหมู่บ้านแต่หากเป็นเช่นนั้นมูโอต์ต้องจ่ายเงินมากกว่าปกติสองสามเท่า แล้วมูโอต์ก็ไม่มีเงินพอจะจ่ายให้กับสิ่งที่ไม่คาดคิดนี้ เพราะอาจจะเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นซ้ำอีกในทางข้างหน้า ทำให้มูโอต์ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือจากกงสุล, สมุหพระกลาโหม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นเหตุให้มูโอต์ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปอีก๑๗

ฆรณี แสงรุจิ ได้ให้ข้อสังเกตว่าการเดินทางของมูโอต์นั้นคล้ายกับสังฆราชปาลเลกัวซ์อย่างมาก โดยหนังสือของปาลเลกัวซ์เป็นเสมือนคู่มือการเดินทางของมูโอต์ สำหรับการเดินทางไปหลวงพระบางนั้น คาดว่ามูโอต์คงได้รับคำปรึกษาจากปาลเลกัวซ์อยู่บ้าง ทั้งนี้ตัวปาลเลกัวซ์เองก็อยากเดินทางไปหลวงพระบาง แต่ก็ไม่ได้ไป (อนึ่ง ควรทราบด้วยว่า ผู้ที่เดินทางไปหลวงพระบางในเวลานั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครรอดชีวิตกลับมา)๑๘

เส้นทางสุดท้ายของมูโอต์

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต๑๙ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แกะรอยเส้นทางสุดท้ายของมูโอต์จากบางกอกไปหลวงพระบางอย่างละเอียด โดยเปรียบเทียบตำแหน่งที่ตั้งของเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนที่ของมูโอต์กับแผนที่ปัจจุบัน พบว่า แผนที่ประเทศสยาม เวียงจันทน์ และหลวงพระบางของมูโอต์ยังมีความคลาดเคลื่อน เพราะเครื่องมือวัดพิกัดมีปัญหา เขายังสำรวจอีสานไม่จบก็ไปเสียชีวิตที่หลวงพระบางเสียก่อน จะว่าไปแล้วก็นับเป็นความโชคดีของสยามที่มูโอต์ไปเสียชีวิตที่หลวงพระบาง จึงไม่สามารถย้อนกลับมาทำแผนที่อีสานส่วนที่ยังขาดไป ทำให้มหาอำนาจอังกฤษ-ฝรั่งเศสตกลงให้สยามเป็น “รัฐกันชน” เพราะเข้าใจผิดไปว่า สยามคือดินแดนเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ในแผนที่ของมูโอต์นั้น ตำแหน่งของกรุงเทพฯและเมืองชายฝั่งตรงกับพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวงในปัจจุบัน ชื่อเมืองในภาคกลางส่วนใหญ่ก็ยังมีเค้าที่พอจะบอกได้ว่าคือเมืองอะไรในปัจจุบัน แต่พอถึงช่วงก่อนถึงโคราชและหลังจากโคราชขึ้นไป พิกัดในแผนที่ของมูโอต์ก็เริ่มเพี้ยน เพราะเครื่องมือวัดพิกัดของเขาพังเสียหายที่ภูเขียว อนึ่ง เนื่องจากมูโอต์เป็นนักธรรมชาติวิทยา ระหว่างการเดินทางเขาได้สำรวจและเก็บข้อมูลตัวอย่างพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ไปด้วย เส้นทางของมูโอต์จึงวกไปวนมาอยู่หลายจุด และใช้เวลานานกว่าปกติ มูโอต์เริ่มเดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ขึ้นไปที่อยุธยา แล้วขึ้นไปทางแม่น้ำป่าสัก ผ่านนครหลวง-อรัญญิก-พระพุทธบาท-สระบุรี-แก่งคอย-เขาปฐวี-โคราช-ชัยภูมิ-ภูเขียว-แก้งคร้อ-ภูเวียง-เมืองเลย แล้วข้ามไปฝั่งลาวที่บ้านอาหี่ ริมน้ำเหือง จากนั้นจึงไปบ้านบ่อแตน วกกลับไปนาแห้ว (จังหวัดน่าน) แล้วย้อนกลับไปบ้านแก่นท้าว-ปากลาย-ชัยบุรี-ท่าเดื่อ-น้ำอูน และอีกหลาย ๆ เมืองกว่าจะถึงเมืองหลวงพระบาง สรุปว่าเส้นทางจากเมืองเลยไปหลวงพระบางซึ่งชาวบ้านทั่วไปใช้เวลาเดินประมาณ ๘ วันนั้น มูโอต์ใช้เวลาถึง ๓ เดือนกว่า

ในการเดินทางขากลับ มูโอต์ได้ไปสำรวจแถว ๆ บ้านนาแร่ และเริ่มไม่สบายจากไข้ป่า (มาลาเรีย) เขาต้องการกลับเข้าหลวงพระบาง แต่ถูกกรมการเมืองสั่งห้ามไม่ให้กลับเข้าไป โดยจุดสุดท้ายที่เขาเขียนชื่อไว้คือน้ำอูน แต่ไม่มีรายละเอียดมากกว่านั้น วันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๔) เป็นวันสุดท้ายที่มูโอต์เขียนบันทึกขณะที่ยังนอนซมด้วยพิษไข้ โดยมูโอต์ได้บันทึกไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Aie pitié, ô mon Dieu…!” ถอดความเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Have pity on me, oh my God…!” หรือ “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดสงสารข้าเถิด…!”๒๐

มูโอต์เสียชีวิตลงในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๔) เวลา ๑๙.๐๐ น. ด้วยวัยเพียง ๓๕ ปี คลาร์ล มูโอต์ (Clarles Mouhot) น้องชายของเขาได้กล่าวว่า เมื่อมูโอต์เสียชีวิต ร่างของเขาได้ถูกฝังตามธรรมเนียมของตะวันตกโดยผู้ติดตาม ๒ คนที่แสนดีของเขา๒๑ ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่ริมแม่น้ำคานที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขงเหนือวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง

ฆรณี แสงรุจิ ได้กล่าวว่า “ใครที่เป็นนักท่องเที่ยวที่แท้จริงก็คงได้ลุยไปดูสุสานของมูโอต์บอกตรง ๆ ว่าช่างเป็นที่นอนตายซึ่งงดงามเสียนี่กระไร”๒๒

ไพรและแดง ผู้ติดตามของมูโอต์ ได้รวบรวมทรัพย์สินและบันทึกของมูโอต์มามอบให้กับกงสุลอังกฤษเพื่อส่งกลับไปยังภรรยาของเขา ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ๒๓ บันทึกของมูโอต์ได้รับการทำบรรณาธิการตีพิมพ์ทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ในเล่มภาษาอังกฤษที่แพร่หลายนั้นพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง รวมทั้งสำนักพิมพ์อ็อกซ์ฟอร์ดยังนำมาตีพิมพ์เป็นฉบับกระเป๋า (Pocket book) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ คือ Travel in Siam, Cambodia, and Laos ๑๘๕๘-๑๘๖๐ พร้อมภาพประกอบงดงาม๒๔

ในย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือ Travels in Siam, Cambodia, Laos, and Annam, คลาร์ล มูโอต์ ผู้เป็นน้องชายของอองรี มูโอต์ ได้บันทึกไว้เพื่อแสดงความขอบคุณแก่ทุก ๆ คนที่ได้ให้ความกรุณาและช่วยเหลือต่อการเดินทางของ อองรี มูโอต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดตามที่แสนดีของเขาทั้งสองคนที่อยู่เคียงข้างมูโอต์ตราบเท่าวาระสุดท้ายของชีวิต ขอให้เขาทั้งสองได้รับรู้เถิดว่าครอบครัวมูโอต์ขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งและขอให้มีความสุขสมปรารถนาทุกประการแก่เขาทั้งสอง สำหรับความดีที่ได้อุทิศตนเพื่อพี่ชายอันเป็นที่รักของเรา “อองรี มูโอต์”๒๕

ทำไมหลุมศพของมูโอต์จึงอยู่ที่น้ำคาน ? มูโอต์ถูกห้ามไม่ให้กลับเข้าหลวงพระบาง แล้วเขาจะไปเสียชีวิตที่น้ำคานซึ่งอยู่เลยเมืองหลวงพระบางขึ้นไปอีกได้อย่างไร?

ฆรณี แสงรุจิ กล่าวว่าหลังมูโอต์เสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๔) ฝรั่งเศสได้จัดให้มีการสำรวจแม่น้ำโขงในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๑๐) กระทรวงทหารเรือและอาณานิคมฝรั่งเศสร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ส่งชุดสำรวจชุดใหญ่สำรวจทวนแม่น้ำโขง ชื่อ “la monomanie du Mekong” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ชุดคลุ้มคลั่งแม่โขง” หัวหน้าของชุดนี้ คือ นายทหารเรือ ดูดาร์ต เดอ ลาเกร (Dudart de Lagree) ฟรานซีส การ์นิเยร์ (Francis Garnier) นายทหารหนุ่มผู้คลั่งไคล้แม่น้ำโขงตัวจริง ชุดสำรวจมีคนฝรั่งเศส ๑๐ คน ชาวพื้นเมือง ๓ คน นอกจากนี้ก็มีแพทย์ทหารเรือสองนาย มีนักพฤกษศาสตร์ นักธรณีวิทยา และที่น่าสนใจคือมีช่างภาพพร้อมกล้องถ่ายรูปไปด้วยหนึ่งนาย ทำให้เรามีภาพเยี่ยม ๆ จากชุดสำรวจนี้รวมทั้งยังมีศิลปินหนึ่งนายชื่อ หลุยส์ เดอลาปอร์ต(Louis Delaporte) เขียนรูปเก่งมาก๒๖

โดยภารกิจอย่างหนึ่งของทีมสำรวจก็คือ หาศพของมูโอต์ มีการบันทึกไว้ว่า ทีมสำรวจพบศพของมูโอต์ที่บ้านนาโพธิ์ ใกล้น้ำคาน นายทหารเรือดูดาร์ต เดอ ลาเกร ได้มีคำสั่งให้ทำพิธีฝังศพมูโอต์ใหม่ที่นั่น โดยเจ้าผู้ครองประเทศลาวขณะนั้นเห็นชอบด้วย ที่หลุมศพมีการสลักชื่อมูโอต์ไว้พร้อมระบุปี ค.ศ. ๑๘๖๗ (อันเป็น ค.ศ. ที่ทำพิธีฝังศพใหม่) ดูดาร์ต เดอ ลาเกร ได้ให้คำสรรเสริญแก่มูโอต์ไว้ว่า

“We found everywhere the memory of our compatriot who, by the uprightness of his character and his natural benevolence, had acquired the regard and the affection of the natives.”

“ในทุกหนแห่ง เราได้พบความทรงจำที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติของเรา ซึ่งได้รับความรักความปรารถนาดีจากชาวพื้นเมือง เนื่องด้วยความเที่ยงตรงในบุคลิกและความกรุณาโดยธรรมชาติของตน”๒๗

ทำไมหลุมศพของมูโอต์จึงอยู่ที่น้ำคาน ทั้ง ๆ ที่เขาถูกห้ามไม่ให้กลับเข้าหลวงพระบาง ? ฆรณี แสงรุจิ ๒๘ กล่าวว่า อาจเป็นเพราะในขณะนั้นฝรั่งเศสต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในลาวและเขมร แต่ลาวอยู่ใต้อารักขาของสยาม ถ้าเจ้าหลวงพระบางอนุญาตให้ฝรั่งคนหนึ่งที่มีเชื้อฝรั่งเศสมาตายที่หลวงพระบาง ก็คงสร้างความไม่พอใจให้กับสยามได้บ้างเป็นแน่

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต๒๙ ได้กล่าวถึง การตายของมูโอต์ว่าใครได้-ใครเสีย  ว่า “ในช่วงนั้นมีเหตุการณ์ประจวบเหมาะกับชีวิตของมูโอต์มากจนน่าระแวงว่าคน ๆ นี้เป็นใครกันแน่  ฝรั่งเศสได้เข้ามามีบทบาทในอินโดจีนอย่างมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว มีคนอย่างสังฆราชปาลเลกัวซ์ หมอบลัดเลย์เข้ามา การเดินทางไปเขมรของมูโอต์ก็ตรงกับช่วงที่ฝรั่งเศสเข้าตีโคชินไชน่า (ไซ่ง่อน) และมูโอต์ก็ไปวนเวียนอยู่แถวชายแดนเวียดนามหลายเดือนก่อนจะเข้านครวัด มูโอต์จึงได้ประโยชน์สองต่อจากการเดินทางเที่ยวนั้น คือได้ติดต่อกับสายลับฝรั่งเศสในโคชินไชน่าและได้เข้านครวัดด้วย อนึ่งก่อนออกเดินทางมูโอต์ได้ไปหาปาลเลกัวซ์ผู้เป็นประมุขมิซซังในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่รู้เกี่ยวกับการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในแถบนี้การขยายอาณานิคมครั้งใหญ่นั้นเริ่มจากนักสำรวจอย่างมูโอต์นี่แหละ การเดินทางและการตายของมูโอต์มีวาทกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ฉะนั้นภาพมนุษย์โรแมนติกที่ไปตายอย่างโดดเดี่ยวของมูโอต์จึงอาจไม่ใช่ เราไม่ได้รู้จักคน ๆ นี้จริง ๆ อย่างที่หนังสือต้องการให้เราเข้าใจ การอ่านบันทึกแบบนี้จึงต้องระวังมาก ทั้งอิทธิพลของบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ อำนาจการเมือง อำนาจธุรกิจการท่องเที่ยวฯลฯ ที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อของนิยายโศกนาฏกรรมโรแมนติก”

ฆรณี แสงรุจิ กล่าวว่า ฝรั่งเศสได้ประโยชน์แน่ ๆ จากการตายของมูโอต์ ทั้งในแง่ของการเข้ามายึดดินแดน และในแง่ที่หนังสือของมูโอต์กลายเป็นคู่มือการเดินทางของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสรุ่นต่อมา ในปัจจุบันลาวก็ได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะหลุมศพของมูโอต์ถูกบันทึกไว้ในคู่มือการท่องเที่ยว และกลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือน นอกจากนี้ ไทยก็ได้ประโยชน์เพราะถ้ามูโอต์ได้เดินทางกลับจากหลวงพระบางและทำแผนที่แม่น้ำโขงสำเร็จ ข้อตกลงของอังกฤษและฝรั่งเศสที่ให้ไทยเป็น “รัฐกันชน” ก็คงเปลี่ยนไป

ความสำเร็จของมูโอต์

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของอองรี มูโอต์๓๐ ไว้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ มูโอต์เดินทางเข้าสู่ที่ราบสูงโคราช ผ่านไปทางชัยภูมิ ไปจนถึงเมืองปากลาย แล้วขึ้นไปจนถึงหลวงพระบางได้เข้าเฝ้าเจ้ามหาชีวิต “จันทราช” ความสำเร็จของการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงของ อองรี มูโอต์ มีผลทำให้ “นครวัดนครธม” กลายเป็นสิ่งที่เลื่องลือถึงความมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคำว่าอุษาคเนย์) และก็เป็นผลทำให้ฝรั่งเศสสนใจในดินแดนอินโดจีนอย่างมหาศาล จนท้ายที่สุดก็เข้ามายึดครองเป็นอาณานิคม ฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเกือบจะตก “ขบวนรถไฟสายอาณานิคมอุษาคเนย์” เพราะทั้งเจ้าอาณานิคมรุ่นแรก คือ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา กับรุ่นหลัง คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา ต่างก็แผ่อิทธิพลเข้ามาค่อยๆ ยึดตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อยไปแล้ว กว่าฝรั่งเศสจะฟื้นตัวจากการปฏิวัติ (ค.ศ. ๑๗๘๙) จากสงครามนโปเลียน (ค.ศ. ๑๘๑๒, ๑๘๑๕) และปัญหาการเมืองภายในที่กลับไปกลับมาระหว่างการมีระบอบกษัตริย์กับระบอบประธานาธิบดี ในอุษาคเนย์จะเหลือไว้ให้ยึดเป็นอาณานิคมก็แต่สยามกับเวียดนามเท่านั้นเอง (ในขณะที่กัมพูชาและลาวต้องขึ้นกับ “สองฝั่งฟ้า” ส่งบรรณาการให้ทั้งกรุงเทพฯ และกรุงเว้)

จากผลงานของมูโอต์ ได้ก่อให้เกิดคุณูปการต่อการสำรวจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาติตะวันตกตามรอยของมูโอต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาสำรวจภูมิภาคแถบนี้ ได้แก่ ฟรองซัว การ์นิเยร์ (Marie Joseph François (Francis) Garnier)๓๑

ช่วงทศวรรษ ๑๘๖๐ ได้เดินทางสำรวจแม่น้ำโขงในส่วนกัมพูชา ลาว และยูนนาน และ โอกุสต์ ปาวี (Auguste Pavie)๓๒ ในช่วงทศวรรษ ๑๘๘๐ ได้เดินทางเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขง หลวงพระบางและสยาม โดยในปี ค.ศ. ๑๘๘๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) ปาวีได้เข้ารับตำแหน่งเป็นรองกงสุลฝรั่งเศสคนแรกในเมืองหลวงพระบางของลาวในยุคนั้น๓๓ และนักสำรวจต่าง ๆ เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสค่อย ๆ เข้ามายึดครองดินแดนในอินโดจีนไปทีละเล็กทีละน้อย ได้เวียดนามใต้ไปเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๒ (พ.ศ. ๒๔๐๕) (๑ ปีหลังการตายของมูโอต์) ภายในเพียง ๑ ปีต่อมา ค.ศ. ๑๘๖๓ (พ.ศ. ๒๔๐๖) ฝรั่งเศสก็สามารถเกลี้ยกล่อมให้พระบาทสมเด็จนโรดม (สมเด็จทวดของนโรดมสีหนุ) สลัดจากการเป็น “ประเทศราช” ของสยาม (รัชกาลที่ ๔) หันไปขึ้นเป็น “รัฐในอารักขา” ของฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) หลังจากได้กัมพูชาไป (แต่ยังไม่ได้ทั้งหมด คงเหลือคือ เสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ ที่ตระกูลอภัยวงศ์ปกครองในนามของกรุงเทพฯ อยู่) กระทรวงทหารเรือและอาณานิคมฝรั่งเศสร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ก็ส่งชุดสำรวจชุดใหญ่ทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปยังจีน ชุดสำรวจแวะที่หลวงพระบาง เข้าเฝ้าและได้รับการต้อนรับจากเจ้ามหาชีวิต “จันทราช” (เช่นเดียวกับมูโอต์) นักสำรวจฝรั่งเศสถูกเตือนไม่ให้เดินทางต่อไปเมืองจีน เพราะกำลังมีกบฏชาวนาแต่คณะฝรั่งเศสก็เดินทางต่อผ่าน “สบรวก” (ที่ต่อมาได้ชื่อจากการค้าฝิ่นและการท่องเที่ยวว่า “สามเหลี่ยมทองคำ”) และเมื่อเข้าเขตเมืองจีนหัวหน้าคณะคือเดอ ลาเกร ก็หมดแรงเสียชีวิต การ์นิเยร์นายทหารหนุ่มผู้ “คลั่งไคล้แม่โขง” นำทีมเดินทางต่อจนถึงเมืองต้าลี่ (น่านเจ้า) และก็ตัดสินใจจบการสำรวจที่นั่น แทนที่จะไปจนกระทั่งถึงต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง การสำรวจแม่น้ำโขงครั้งนั้น (ซึ่งมีผลงานปรากฏเป็นหนังสือ Voyage d’explorationen Indo-Chine) ก็ทำให้ฝรั่งเศสขยายอาณานิคมของตนในอินโดจีน ได้เวียดนามไปทั้งประเทศ และยังได้ลาวไปใน ค.ศ. ๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๔๓๖)๓๔

รอน เอมมอนส์ (Ron Emmons) กล่าวถึงความสำเร็จของมูโอต์ไว้ในบทความ “IN MOUHOT’S FOOTSTEPS”๓๕ ว่า มูโอต์จะมีความภาคภูมิใจในพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ชนิดใหม่ ๆ (New Species) ที่เขารวบรวมได้จากการสำรวจมูโอต์ได้เขียนอย่างเฉียบคมไว้ว่า “…แม้นว่าโชคชะตาไม่นำพาข้าพเจ้าไปสู่ความตาย ข้าพเจ้าจะไม่แปรเปลี่ยนต่อความสนุกและเพลิดเพลินอย่างล้นเหลือที่ข้าพเจ้ามีต่อโลกอันศิวิไลใบนี้” ยิ่งกว่านั้นเขาได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการเดินทางสำรวจครั้งนี้ ดังบันทึกถึงแผนการเดินทางของเขาที่ว่า “…ในเดือนมกราคม หรือมีนาคม ข้าพเจ้าจะพยายามเดินทางไปยังทางเหนือ หรือทางตะวันออก,… และเรื่อยลงไปตามลำแม่น้ำโขงในเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๒” แต่โชคร้ายที่มันไม่อาจเป็นได้สำหรับเขาเสียแล้ว หากมูโอต์ยังมีชีวิตอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เขาจะต้องรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองอย่างสุดที่จะพรรณนา อนึ่ง ในบันทึกช่วงท้าย ๆของเขานั้น มีรายการหนึ่งกล่าวถึงการล่าแรด ที่ระบุว่าผู้ใหญ่บ้านขอให้สงวนสิทธิการเด็ดชีพของสัตว์ตัวนั้นไว้ให้มูโอต์โดยเฉพาะ

บางทีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของมูโอต์อาจเป็นมากกว่าความหาญกล้าในการเดินทางสำรวจโดยไม่เกรงกลัวต่อภยันตราย และเป็นมากกว่าทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่เขามีในฐานะนักธรรมชาติวิทยา หากแต่มูโอต์มีความสามารถและความชาญฉลาดยิ่งในการสร้างสัมพันธภาพเกือบจะกับทุกคนที่เขาพบ นับเนื่องแต่พระมหากษัตริย์ มิชชันนารีจนถึงชาวบ้าน เขาได้บันทึกทั้งน้ำตาเมื่อ สอง (Song) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ติดตามของเขาได้เดินทางจากหลวงพระบางกลับมายังกรุงเทพฯก่อน มูโอต์เกิดความรู้สึกห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ติดตามคนนี้ขณะเดินทางกลับกรุงเทพฯ เพียงลำพัง รวมทั้งการที่ไพร ซึ่งเป็นผู้ติดตามที่ใกล้ชิดมูโอต์มากที่สุด ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในความภักดีและผูกพันที่เขามีต่อมูโอต์ เมื่อมูโอต์เสียชีวิตลง เขาได้นำบันทึกของมูโอต์ พืช สัตว์และหินตัวอย่างที่มูโอต์ได้เก็บรวบรวมไว้กลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปยังครอบครัวของมูโอต์ที่ยุโรป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกล่าวว่าไว้ “หากปราศจากการอุทิศตนเช่นนี้แล้วชื่อของ “อองรี มูโอต์” คงจะหายไปจากโลกปัจจุบันนี้เป็นแน่แท้ และหลุมฝังศพของเขาที่ริมฝั่งแม่น้ำคาน ซึ่งอยู่ใกล้กับหลวงพระบาง คงจะถูกปกคลุมด้วยแมกไม้และเถาวัลย์เช่นเดียวกับวัดร้างหลายแห่งที่ถูกลืม”

บทวิเคราะห์ มูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาด้วยบริสุทธิ์ใจ หรือสายลับฝรั่งเศส

แม้ว่ามูโอต์ ในความรู้สึกของหลายคนจะมองว่า เขาคือนักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจที่มีความมุ่งมั่นและหลงใหลในธรรมชาติ การเดินทางการท่องเที่ยว และการสำรวจอย่างเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็ก การเดินทางมาสำรวจภูมิภาคอินโดจีนในครั้งนี้ ก็ด้วยความรักในธรรมชาติวิทยาของเขานั้นเอง หากแต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็มีผู้บอกว่า มูโอต์คือสายลับของฝรั่งเศสที่เดินทางมาสำรวจภูมิภาคอินโดจีนเพื่อทำแผนที่ของประเทศต่าง ๆในภูมิภาคนี้อันเป็นข้อมูลในการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

หากแต่ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า มูโอต์มีทั้งสองส่วนนี้ในตัวของเขา โดยส่วนแรกน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วเขาคงไม่จากครอบครัวอันเป็นที่รักมายังดินแดนที่อันตรายเช่นนี้เพียงลำพัง หากมูโอต์ให้ความสำคัญกับการเป็นสายลับของฝรั่งเศส มูโอต์คงใช้เวลาสำรวจและทำแผนที่ในแต่ละเส้นทางอย่างรวดเร็ว โดยละความสนใจต่อพืช สัตว์ หิน แร่และธรรมชาติต่าง ๆ รอบตัวเขาในทุกที่ที่เขาเดินทางไป แต่จากบันทึกของมูโอต์กลับได้แสดงให้ประจักษ์ว่าเขาใช้เวลาเป็นอย่างมากในแต่ละเส้นทางไปกับการสำรวจ การเก็บตัวอย่างพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แร่ธาตุ สำหรับภารกิจสายลับของฝรั่งเศสนั้น หากจะมีก็คงเป็นในฐานะที่มูโอต์เองก็เป็นชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง แม้นมีข้อมูลใดที่พอจะให้แก่ประเทศที่ตนถือกำเนิดได้ก็เป็นธรรมดาที่เขาพึงกระทำ เพราะหากมองด้วยสามัญสำนึกทั่วไปแล้วก็คงไม่น่าจะผิดหรือเสียหายอะไร แต่กลับจะแสดงให้เห็นว่ามูโอต์เป็นคนรักชาติอีกด้วย

ในสมัยนั้น ชาติตะวันตกซึ่งถือว่าตนเองเป็นชาติที่เจริญกว่าชาติอื่นใดในโลกนี้ ย่อมจะมองประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนหรือไม่ได้มีความสำคัญใด ๆ ในเชิงอำนาจมากนักการเดินทางมาสำรวจเพื่อล่าอาณานิคมและขยายอำนาจ จึงเป็นเรื่องธรรมดาในยุคสมัยนั้น แต่ก็นับเป็นความโชคดียิ่งของประเทศไทย อย่างที่อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต กล่าวไว้คือ มูโอต์ยังสำรวจอีสานไม่เสร็จก็ไปเสียชีวิตที่หลวงพระบางเสียก่อน จึงไม่สามารถย้อนกลับมาทำแผนที่อีสานส่วนที่ยังขาดไป ทำให้มหาอำนาจอังกฤษ-ฝรั่งเศสตกลงให้สยามเป็น “รัฐกันชน” เพราะเข้าใจผิดไปว่า สยามคือดินแดนเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังนั้น หากวิเคราะห์ตามนี้แล้วมูโอต์น่าจะเป็นนักธรรมชาติวิทยาด้วยบริสุทธิ์ใจ และเป็นสายลับโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะสถานการณ์พาไปในฐานะคนฝรั่งเศสคนหนึ่งที่พึงจะทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นแผ่นดินเกิดของตนได้ รวมทั้งจากเอกสารหลักฐานที่อ้างถึงแล้วข้างต้นก็ระบุชัดว่า มูโอต์ไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ ในการเดินทางครั้งนี้จากบริษัทฝรั่งเศสและรัฐบาลของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓

บทส่งท้าย

ไม่ว่าอองรี มูโอต์ จะเป็นนักธรรมชาติวิทยาด้วยบริสุทธิ์ใจ หรือสายลับฝรั่งเศส หากแต่บันทึกของเขาที่เขียนขึ้นระหว่างการเดินทางสำรวจคาบสมุทรอินโดจีน ทั้งในประเทศสยาม กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ได้ช่วยให้คนไทยและคนในดินแดนอุษาคเนย์ รวมถึงชาติตะวันตกได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น หากมูโอต์ไม่เสียชีวิตก่อนที่การเดินทางสำรวจของเขาจะเสร็จสิ้นตามที่ได้วางแผนไว้ เชื่อแน่ว่าจะมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในอีกหลายแง่มุมถูกถ่ายทอดผ่านบันทึกของมูโอต์ ดังที่ วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม ได้กล่าวถึงมูโอต์ว่า “…บ้านผานมที่ห่างไปไม่ถึงห้ากิโลเมตรติดกับตลิ่งแม่น้ำคาน หลุมฝังศพนักเดินทางค้นคว้าผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก คือ อองรี มูโอต์ ชาวฝรั่งเศส นอนนิ่งอย่างสงบ อองรี มูโอต์คือ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของนักค้นคว้าธรรมชาติวิทยา ชาติพันธุ์วรรณา ตลอดจนโบราณคดีและประวัติศาสตร์เขาเป็นผู้เปิดเผยความลี้ลับและความอลังการของนครวัดนครธมให้โลกตะวันตกได้มองเห็นความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมของคนตะวันออก อองรี มูโอต์ มีชีวิตไม่นานในโลกการค้นคว้า แต่ผลงานการค้นคว้าของเขาถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักค้นคว้ารุ่นปัจจุบัน ผมมีโอกาสได้เด็ดเอาดอกพลับพลึงที่อยู่บริเวณนั้น คารวะหลุมศพอองรี มูโอต์ …นี้คือการคารวะจากใจของนักค้นคว้ารุ่นใหม่ต่อครูบาอาจารย์นักค้นคว้ารุ่นบุกเบิก ซึ่งพวกเราถือว่า อองรี มูโอต์ คือครูคนหนึ่งที่เป็นแบบอย่างที่ดีของพวกเรา ประเทศลาว หลวงพระบาง โชคดีที่อองรี มูโอต์ มาเสียชีวิตที่นี่ เพราะที่นี่คือจุดขายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ใครๆ ก็อยากมาเห็นอยากมาดู…”๓๖

ผู้อ่านที่สนใจเกี่ยวกับบันทึกของมูโอต์สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในหนังสือ TRAVELS IN SIAM, CAMBODIA, LAOS AND ANNAM สำนักพิมพ์ White Lotus พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๙ (ISBN : 9748434036)

เชิงอรรถ

๑ Henri Mouhot. http://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Mouhot ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๒ ฆรณี แสงรุจิ. สรุปการเสวนาเรื่อง “แกะรอยมูโอต์” เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๓๐-๑๖.๐๐ น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), http://203.185.130.68/Subdetail/seminar/sum_of_seminar/seminar46.html ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๓ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . “แม่น้ำโขง” จากอาณานิคมาภิวัตน์สู่โลกาภิวัตน์. นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖, http://www.sarakadee.com/feature/2003/11/mekong.htm ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๔ Henri Mouhot. http://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Mouhot อ้างแล้ว.
๕ ฆรณี แสงรุจิ. อ้างแล้ว.
๖ Ron Emmons. IN MOUHOT’S FOOTSTEPS. http://ronemmons.com/biographies/mouhot/ ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๗ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . อ้างแล้ว.
๘ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . อ้างแล้ว.
๙ http://th.wikipedia.org/นครวัด ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๑๐ Henri Mouhot. http://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Mouhot อ้างแล้ว.
๑๑ วิจัย กองสาสนะ. ย้อนอดีตพันปีนครวัด นครธม. http://www.thailandoutdoor.com/JungleandSea/AnkorWat/AnkorStory/ankorstory.html ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๑๒ Henri Mouhot. http://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Mouhot อ้างแล้ว.
๑๓ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . อ้างแล้ว.
๑๔ Henri Mouhot. Travel in Siam, Cambodia, Laos, and Annam. Bangkok: White Lotus, 2000. p.293.
๑๕ Henri Mouhot. Ibid, p.297.
๑๖ Henri Mouhot. Ibid, p.327-328.
๑๗ Henri Mouhot. Ibid, p.333-334.
๑๘ ฆรณี แสงรุจิ. อ้างแล้ว.
๑๙ ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. สรุปการเสวนาเรื่อง “แกะรอยมูโอต์” เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๓๐-๑๔.๐๐ น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), http://203.185.130.68/Subdetail/seminar/sum_of_seminar/seminar46.html ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๒๐ Henri Mouhot. Ibid, p.382.
๒๑ Clarles Mouhot. อ้างถึงใน Henri Mouhot. Ibid, p.383.
๒๒ ฆรณี แสงรุจิ. อ้างแล้ว.
๒๓ Clarles Mouhot. Ibid, p.383.
๒๔ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อ้างแล้ว.
๒๕ Clarles Mouhot. Ibid, p.383.
๒๖ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อ้างแล้ว.
๓๑ http://en.wikipedia.org/wiki/Francis_Garnier ค้นคืนเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๓๒ http://fr.wikipedia.org/wiki/Auguste_Pavie ค้นคืนเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๓๓ พวงนิล คำปังสุ์, ผู้แปล. มัลลิกา พงศ์ ปริตร, บรรณาธิการ. ลาวและกัมพูชา. กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง, ๒๕๔๔. หน้า ๑๒๓.
๓๔ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อ้างแล้ว.
๓๕ Ron Emmons. IN MOUHOT’S FOOTSTEPS. http://ronemmons.com/biographies/mouhot/ ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
๓๖ วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม. มาเยือนหลวงพระบาง : มรดกโลกที่ยังมีลมหายใจ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อ้างถึงใน http://www.rinac.msu.ac.th/modules.php?name=News&file=article&sid=13 ค้นคืนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com