“แป๊กตู” ทะเลสาบบนปล่องภูเขาไฟ มีหิมะปกคลุมทั้งปี นอกจากธรรมชาติงามวิเศษแล้วอดีตยังเป็นฐานที่มั่นปฏิวัติปลดปล่อยประเทศ
ข้าพเข้าไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเหนือครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้เห็น ได้สัมผัส และได้เขียนบทกวีหลายสำนวน
ขอเสนอในสำนวนแรก (3 ตอนชุด) ชื่อ…
“ก่อนใบไม้ผลิที่เกาหลีเหนือ”
1. ธรรมชาติ
ที่ราบเหลืองหยาบแห้ง
หลืบระแหงเป็นชั้นหลั่น
ต้นไม้เหมือนตายตัน
บนดินดั้นมีหินปน
เหมือนดั่งอีสานกู
มีฤดูแล้งนานจน
อุกอั่งในใจคน
หลายแห่งหนก่นขาดแคลน
ดูนา, ผาล, คันไถ
เช่นของไทยทั่วดินแดน
ลูกหลานพญาแถน
ใช้ทดแทนได้ดั่งตน
นั่นโนนโน้นโขดเขา
ทุกลำเนาล้วนสูงสน
เขียวเข้มบันดาลดล
ทุกตายลจึงชื่นตา
สูงขึ้นจากพื้นราบ
เอียงระนาบซอกภูผา
หิมะละลายมา
สายธาราซ่าหลั่งริน
นู้นป่าบนเขาสูง
กระเรียน, ยูง ร่ายร่อนบิน
‘แป๊กตู’* ใครยลยิน
ซึ้งฐานถิ่นเกาหลีงาม
2. ผู้คน
คนเอ๋ยคนอยู่กับไร่กับนา
อยู่กับเนินกับไหล่ผาน่าครั่นขาม
อยู่กระท่อมน้อยนิดติดฟ้าคราม
อยู่ด้วยใจพยายามของมนุษย์
อยู่พื้นที่เกษตรกรรมอันจำกัด
อยู่กับความอัตคัดขั้นสุดสุด
หลายหย่อมบ้านรวมพลังหวังยื้อยุด
มีสหกรณ์เร่งรุดฉุดพัฒนา
ปลูกข้าว, ผัก, ผลไม้, เลี้ยงสัตว์
ด้วยสองขายืนหยัดกลางทุ่งท่า
บนปถพีที่บรรพบุรุษเอาเลือดทา
นั่นทิวธงแดงสง่าเขาลุยงาน
คนเอ๋ยคนอยู่ในบ้านในเมืองใหญ่
สวมโค้ทเข้มเดินขวักไขว่ทุกสถาน
เด็กผู้ใหญ่เกาะกลุ่มเดินดูเบิกบาน
จวบมืดค่ำเดินเข้าบ้านจึงจบวัน
แท่งคอนกรีตสูงสูงสลับสร่าง
คือเรือนชานเปียงยางการเปลี่ยนผัน
บ้านกับที่ทำงานไม่ห่างกัน
รถมวลชนไม่กี่คันก็พอเพียง
ระหว่างเมืองกับหมู่บ้านย่านไกลห่าง
มีรถไฟประจำทางประสานต่อ
คนบนรถแน่นยัดแออัดรอ
มีทดท้อในเวลาเร่งด่วนพลัน
3. คบไฟ
ทุกข์-สุข ผิด-ถูก ผูกพัน ทุกคนร่วมกัน
เสริมค่าปัญญาการงาน
ค้อน-เคียว-พู่กัน ประสาน นำด้วยทหาร
ทะยานหน้าบุกรุกไป
‘จูเช่ไอเดีย’** คือไฟ เปลวเปล่งเด่นไสว
ส่องทางผู้คนก้าวเดิน
เสรีเป็นไทกล้าเผชิญ สำนึกสรรเสริญ
สู่สันติสุขสากล
มนุษย์ดีแท้ธาตุตน มุ่งมั่นดั้นด้น
ค้นหาแกนแก่นจริงงาม
ก้าวไกลไป่พรั่นครั่นคร้าม คบไฟวาววาม
‘แตดอง’*** แม่น้ำเป็นพยาน.
* ทะเลสาบบนปล่องภูเขาไฟ มีหิมะปกคลุมทั้งปี นอกจากธรรมชาติงามวิเศษแล้วอดีตยังเป็นฐานที่มั่นปฏิวัติปลดปล่อยประเทศ
** ปรัชญา หรือความคิดหลักของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี คือ 1. การพึ่งตนเอง 2. มีความคิดสร้างสรรค์ 3. มีจิตสำนึก
*** แม่น้ำสายหลักของเปียงยาง ช่วงไหลผ่านใจกลางมหานครนั้นมีบ้านการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน มีอนุสาวรีย์สามประสาน และหอจูเช่ ตั้งอยู่คนละฝากฝั่งเป็นแนวเส้นตรง.
พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก : หนังสือสมาคมนักกลอนแห่งประประเทศไทย พ.ศ. 2549