ฮีตคอง แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชน

ฮีตคอง แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชน

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: ส่องเมือง
Column: Focusing on the City
ผู้เขียน: เสรี พงศ์พิศ


The life of chaos as it is today still has a solution, which must be based on fi rm establishing anew. Four good plans must be established : life plan, career plan, fi nance plan and health plan. Many have already proven that by learning and making these 4 plans seriously, any problem can be solved.

 

สังคมไทยในอดีตมีระบบเศรษฐกิจยังชีพที่ชาวบ้านทางอีสานเรียกว่า เศรษฐกิจแบบหาอยู่หากินและเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ไม่ได้ค้าไม่ได้ขาย อยากได้อะไรก็เอาข้าวไปแลก เอาของไปแลก อยากกินเห็ดเข้าป่า อยากกินปลาลงหนอง

สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดคือ ข้าว เมื่อไปตั้งรกรากที่ไหน บรรพบุรุษของเราจึงเลือกทำเลที่ทำนาได้ดีมีน้ำ มีที่ลุ่มจะได้ทำนาถ้าน้ำน้อย มีที่โคกที่ดอนจะได้ทำนาถ้าน้ำมาก ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมดูกันที่ยุ้งข้าว ใครมียุ้งข้าวใหญ่ถือว่ามีความมั่นคง เพราะปีหน้าถ้าฝนแล้งน้ำท่วมก็จะยังมีข้าวกิน

วิถีชีวิตของผู้คนถูกกำหนดไว้ด้วยจารีตประเพณีที่เรียกกันว่า ฮีตคอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงฮีต ๑๒ คอง ๑๔ แต่มีรายละเอียดมากมายประหนึ่งแผนที่ชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตายว่า ต้องทำอะไร ควรทำอะไร จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข บอกไว้ชัดเจนว่า ตั้งแต่เดือนหนึ่งถึงเดือนสิบสองต้องทำอะไรในชุมชน

นั่นเป็นสังคมเกษตรซึ่งข้าวสำคัญที่สุด ต่อมาสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ยุคที่มีเงินเหมือนมีทุกอย่าง เพราะซื้อได้หมด ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้าเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวกสารพัด ผู้คนจึงหาเงินกันเอาเป็นเอาตาย ขายทุกอย่างที่หาได้ฮีตคอง แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชนทั้งจากธรรมชาติ ทั้งที่ผลิตเองทำเอง รวมทั้งไปขายแรงงาน

สังคมเปลี่ยนไปเร็ว วันนี้สังคมเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมไปสู่สังคมความรู้ ซึ่งมีข้าวอย่างเดียวเงินอย่างเดียวอยู่ไม่รอด ต้องมีความรู้ ต้องใช้ความรู้ในการอยู่อย่างมีเป้าหมาย อยู่อย่างมีแบบมีแผนต้องปรับฮีตปรับคองกันใหม่ ให้เหมาะสมกับสังคมแบบนี้ที่มีระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

ทุนนิยมมีระบบกลไกซับซ้อนจนคนทั่วไปไม่อาจเข้าใจ ไม่รู้เท่าทัน ถูกระบบนี้ครอบงำให้ทำ ให้อยู่ ให้กิน ให้มี ให้เป็น อย่างที่ระบบนี้กำหนดทุนนิยมกับบริโภคนิยมจึงเป็นฮีตคองใหม่ของคนอีสาน

ผลที่ตามมาคือปัญหาหนี้สิน ปัญหาความทุกข์ยากซึ่งแตกต่างไปจากเมื่อก่อน ซึ่งอาจไม่สะดวกสบายเพราะไม่มีน้ำไม่มีไฟในบ้านเหมือนวันนี้ ไม่มีทีวี ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีมอเตอร์ไซค์ ไม่มีรถยนต์ แต่วันนี้มีปัญหาสารพัดร้อยแปด จนบ้านไม่เป็นบ้านชุมชนไม่เป็นชุมชนอีกต่อไป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป พ่อไปทางแม่ไปทางลูกไปทาง ดิ้นรนหางานหาเงินมาใช้หนี้ มาซื้ออยู่ซื้อกิน

หนี้สินเป็นปัญหาหนักที่สุดของชุมชนวันนี้ คนมีเงินเดือนก็ใช่ว่าจะมีความมั่นคง โดยเฉพาะลูกจ้าง พนักงาน ข้าราชการผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง คนมีรายได้แบบปีละครั้งสองครั้งที่พึ่งพาอาศัยแต่ผลผลิตทางเกษตรแบบพืชเศรษฐกิจทั้งหลายยิ่งหนักหนาสาหัส เป็นหนี้ติดพันซ้ำซากจนหาทางออกไม่ได้ กู้ซ้ายจ่ายขวา กู้หน้าจ่ายหลังดิ้นรนปากกัดตีนถีบ

ชีวิตที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้ยังมีทางออก ซึ่งต้องมาจากการตั้งหลักใหม่ให้ดี ตั้งเป้าหมายชีวิตใหม่วางแผนชีวิตให้ดี มีแผน ๔ แผน คือ แผนชีวิตแผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ ซึ่งวันนี้คนจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าได้เรียนรู้และทำแผน ๔ แผนนี้อย่างจริงจัง ปัญหาชีวิต ปัญหาหนี้สิน ปัญหาต่าง ๆ ล้วนแก้ได้

ที่สำคัญ การทำ ๔ แผนนี้ไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำกับเพื่อน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันกับคนอื่น เป็นกลุ่มคน ๓๐ – ๔๐ คนที่ส่วนใหญ่มีปัญหาเดียวกันปัญหาหนี้สิน ปัญหาการเงิน ปัญหาชีวิตที่สับสนปัญหาสุขภาพ

ปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ด้วยการเรียนรู้ แก้ด้วยความรู้ ด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดเอาง่าย ๆ ว่าจะหาเงินจากไหนมาใช้หนี้ จึงสรุปเอาง่าย ๆ ว่า ไปหาหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า สุดท้ายก็เวียนไปเวียนมา เป็นลิงแก้แห

การทำแผนชีวิตเป็นการมองย้อนไปในอดีตว่าชีวิตเป็นมาอย่างไร ทำอะไรมาบ้าง เริ่มทำงานแต่เมื่อไร เริ่มมีหนี้สินเมื่อไร เริ่มมีปัญหาต่าง ๆ แต่ละอย่างเมื่อไร อย่างไร จะวางเป้าหมายชีวิตได้หรือไม่ จะทำอย่างไรให้ไปสู่เป้าหมายนั้น

แผนอาชีพ คือ การทบทวนว่าอาชีพที่ทำอยู่ทำได้ดีแค่ไหน ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลอะไรบ้าง หรือทำตามคนอื่น หรือตามความเคยชินที่ทำ ๆ กันมาได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพให้ดีกว่านี้บ้างหรือไม่ ทำนาก็ได้แค่ ๓๐๐ กิโลต่อไร่ ไม่เคยคิดจะทำให้ได้สักตันต่อไร่เหมือนคนอื่นอีกหลายคนบ้างหรือ

เขาปลูกมันกันได้ไร่ละ ๒๐ – ๓๐ ตัน แล้วเรายังทำแบบเดิม ๆ ได้ไร่ละ ๒ – ๓ ตันอยู่ทำไม มีคนมากมายที่ทำการเกษตร ๑ ไร่ได้ ๑ แสน เพราะใช้ความรู้ ความขยัน และความมุ่งมั่น ไม่ใช่เพราะใช้เงินมาก ใช้ปุ๋ยมาก แล้วทำไมเราไม่ทำบ้าง

เห็นเขาเลี้ยงปลาได้กำไรก็เลี้ยงบ้าง แต่ขาดทุน ถ้าสรุปบทเรียนให้ดีก็จะพบว่า มีสาเหตุหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ เขาลดค่าใช้จ่ายในการให้อาหารปลา ไม่ใช่เอาแต่ซื้ออาหารเม็ดอาหารถุงให้ปลากิน ซึ่งง่ายดี แต่ก็ขาดทุนอย่างแน่นอน

แผนการเงิน เป็นแผนที่คนไม่อยากทำ เพราะจุกจิก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงทำบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่ายประจำวัน ติดตามตรวจสอบการใช้เงินของตนเอง จะได้นำมาวิเคราะห์ว่า อะไรควรลด อะไรควรเลิก อะไรควรหาอย่างอื่นมาทดแทน

จะใช้เงินทำอะไรก็ควรมีแผนที่ดี ไม่ใช่อยากกินอะไรก็กิน อยากได้อะไรก็ซื้อ รู้จักทำแผนการออม แผนการใช้หนี้ แผนการลงทุน

คนจำนวนมากหาเงินได้วันละหลายพันบาทแต่ไม่มีเงินเก็บเลยเพราะไม่มีแผนการเงิน ไม่มีบัญชีรายรับรายจ่าย ขายได้เท่าไรก็จ่ายไปหมด

แผนสุขภาพ เป็นแผนที่ไม่ได้ยุ่งยากอย่างหลายคนคิด อาจยากกว่าการไปซื้อยาและไปหาหมอ แต่ในระยะยาวอย่างหลังนี้ยุ่งกว่าแน่นอนเพราะอาจได้นอนยาวหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง เพราะไม่เคยใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง ไม่เคยจัดการการกิน การอยู่ การทำงานให้เหมาะสมกับสภาวะของตนเอง

แผนทั้ง ๔ เป็นแผนที่ชีวิตที่แต่ละคนแต่ละครอบครัวต้องทำเอง เพราะถ้าไม่ทำก็มีคนอื่นทำให้ ทีวีสอนให้ สังคมบอกให้ ผ่านทางพ่อค้านายทุน ครู หมอ ข้าราชการ คนที่มีความรู้ มีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคม

แผนทั้ง ๔ คือเครื่องมือของคนที่เป็นตัวของตัวเอง คิดได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้ เป็นฮีตเป็นคองที่ต้องทำเอง

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com