ผู้ใหญ่ลี เพลงอารมณ์ขันกับการเมืองในรูปพ่อขุนอุปถัมภ์

ผู้ใหญ่ลี เพลงอารมณ์ขันกับการเมืองในรูปพ่อขุนอุปถัมภ์

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๔
ปีที่๒ เดือนมิถุนยน ๒๕๕๖
คอลัมน์: เสียงเมือง
Column: Sound of the City
ผู้เขียน: มหา สุรารินทร์

ผู้ใหญ่ลี
คำร้อง – ทำนอง พิพัฒน์ บริบูรณ์
ขับร้อง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี
ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
ทางการเขาสั่งมาว่า ทางการเขาสั่งมาว่า
ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร
ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่าสุกรนั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด
สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา
หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา
สายันต์ตะวันร้อนฉี่ ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน
แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ
ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ*
ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง
ฟ้าแจ้ง ฟ้าแจ้งจางปาง ฟ้าแจ้ง ฟ้าแจ้งจางปาง
คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์
รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา
เขียงน้อย เขียงน้อยซอยซา เขียงน้อย เขียงน้อยซอยซา

“ถนนมิตรภาพ” ถูกตัดขึ้นสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านงบประมาณนับเป็นทางหลวงสายแรกที่ใช้เทคนิควิชาการก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานทุกขั้นตอน

ถนนมิตรภาพมีบทบาทอย่างสูงต่อการไหลบ่าทางวัฒนธรรมและฯลฯ ระหว่างอีสานกับเมืองหลวงในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

จอมพลสฤษดิ์ นายทหารผู้สร้างสีสันให้กับการเมืองไทยในยุค พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ใช้รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการที่ “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว”

จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๑ ของประเทศไทยในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้บริหารประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลาประมาณ ๓ เดือนการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์

อ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ นิยามการปกครองประเทศของจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็น “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” และเห็นว่า ระบบการเมืองที่จอมพลสฤษด์ิและพรรคพวกนำมาใช้กับประเทศไทยนั้น เป็นการปฏิวัติล้มล้างระบบการเมืองซึ่งตกทอดมาจาก พ.ศ. ๒๔๗๕ และได้สร้างระบบการปกครองที่เป็นแบบไทย ๆ มากขึ้นรูปแบบนี้สะท้อนมาจากแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ ต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง และเนื่องจากเลื่อมใสในประวัติศาสตร์มาก ตลอดจนความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบสังคมการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นเรื่องการแสวงหารูปแบบการปกครองในสมัยโบราณที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ ผนวกเข้ากับภูมิหลังทางการศึกษาภายในประเทศและประสบการณ์ทางการเมือง

ในฐานะนายทหารผู้คร่ำหวอดกับการใช้กำลังของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้พอสรุปถึงความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ต่อรูปแบบของสังคมการเมืองไทยว่า ประกอบขึ้นด้วยรัฐ/รัฐบาล/ข้าราชการ และประชาชน ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะจะทำให้เกิดการแตกแยก ทางออกของปัญหานี้คือ ควรต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้นโดยเห็นว่ารัฐเป็นสถาบันที่กำหนดว่าอะไรคือเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง

จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ผู้นำคือนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องมีอำนาจที่เด็ดขาด โดยอำนาจตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรม ซึ่งในสังคมไทยก็คือการทำหน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองบุตรให้ได้รับความสงบสุข

จอมพลสฤษดิ์ จึงพยายามสร้างกิจกรรมขึ้นเพื่อรองรับกับแนวความคิดในเรื่องพ่อปกครองลูกไม่ว่าจะเป็น พ่อขุนที่คอยช่วยเหลือลูก ๆ คือประชาชน เช่น ให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ ๓๐ ปี๊บ ลดอัตราค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน หรือที่ช่วยรักษาความเรียบร้อยภายในครอบครัว หมายถึง ประเทศ

ฉะนั้นการรักษาความเรียบร้อยในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ยังรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ปรากฏให้เห็นจากการดำเนินนโยบายรักษาบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย เช่น การสั่งยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตพระนคร เพราะเห็นว่าคนเหล่านี้ละทิ้งอาชีพเกษตรกรในชนบทแล้วมาอาศัยอยู่ในพระนคร อาศัยอยู่ตามวัด โรงรถ ปลูกกระต๊อบข้างถนน ปลูกเพิงใต้สะพาน ทำให้บ้านเมืองสกปรก นอกจากนี้ยังสั่งให้ทำความสะอาดถนนบ่อยครั้ง การขจัดขอทาน การกำจัดสุนัขกลางถนน การจับกุมคนที่เป็นโรคเรื้อนและส่งไปยังศูนย์ควบคุมโรคเรื้อน การปรับเงินสำหรับผู้ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลตามถนน ความเลื่อมใสของประชาชนที่มีต่อจอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนมีเพิ่มขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์จับกุมบุคคลที่ทิ้งเศษขยะลงบนท้องถนนด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลคอยตรวจตราและปราบปรามบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ตากเสื้อผ้าไว้ตามระเบียงและปลูกต้นไม้โดยไม่ดูแลรักษา ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจัดสวนและทำบ้านเมืองให้สวยงาม เป็นต้น

พ่อขุนที่ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรมแก่ลูก ๆ (ประชาชน) เช่นยกเลิกโรงฝิ่น อีกประการหนึ่งคือออกเยี่ยมเยือนครอบครัวหรือประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ ให้ความสนใจต่อปัญหาของประชาชนทั่วประเทศ เพราะจอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่าในเวลาที่ผ่านมานั้น ส่วนภูมิภาคที่อยู่นอกเขตเมืองหลวงได้รับความสนใจจากรัฐบาลน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานเป็นเขตที่รัฐบาลในสมัยก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ให้การเหลียวแลอย่างจริงใจ จนบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีในชาติ จอมพลสฤษดิ์จึงดำเนินมาตรการส่งเสริมความสามัคคีภายในชาติและการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เช่น การสั่งประหารชีวิตผู้นำทางการเมืองจากภาคอีสานที่แข็งข้อ ออกไปเยี่ยมเยือนราษฎรเป็นการส่วนตัว ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ โดยสั่งให้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคขึ้นด้วย

สำหรับในแง่เพลงลูกทุ่งแล้ว เพลงที่ล้อเลียนจอมพลสฤษดิ์ ก็มีในตอนท้ายของเพลง โกนจุก สิงโต ต้นฉบับของ เพลิน พรหมแดน ที่ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ เป็นผู้แต่ง ได้หยิบวาทกรรมของจอมพลท่านนี้มาใส่ในบทเพลง

แต่เพลงที่ล้อเลียนการเมืองค่อนข้างชัดเจนในยุคนั้นหนีไม่พ้นเพลง ผู้ใหญ่ลี เวอร์ชั่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร นักร้องลูกทุ่งเมืองอุบลราชธานี ผลงานเพลงของคู่ชีวิตของเธอเองคือ ครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ ท่านสองท่านได้ล่วงลับไปพบกันบนสวรรค์แล้ว

เพลง ผู้ใหญ่ลี ของพิพัฒน์ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับนวนิยาย ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ของ กาญจนา นาคนันทน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๘ แม้ว่าจะอยู่ในร่วมยุคเดียวกัน

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เป็นชื่อจริงนามสกุลจริงเกิดที่ย่านวัดบ้านน้อย หรือวัดมณีวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๐ เหตุที่ทำให้นักร้องและนักแต่งเพลงสองท่านนี้มาพบและใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเนื่องจากทำงานเป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่ง จนเมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ ปี ก็ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ผดุงศิลป์ว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน ลงแจ้งความต้องการรับสมัครนักร้องชายหญิงเพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอได้เขียนจดหมาย ส่งรูปถ่ายที่คิดว่าสวยที่สุด และเขียนประวัติของตนเองส่งไป และไม่นาน ก็ได้รับจดหมายตอบกลับมาว่าให้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อการคัดเลือก เธอจึงลงไปกรุงเทพฯพร้อมกับพี่สาว โดยทางพิพัฒน์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของครูไพบูลย์ในการสร้างนักร้อง บอกว่าที่ตัดสินใจเรียกตัวมาทดสอบก็เพราะความสวยที่เห็นจากรูปภาพใบนี้นี่เอง จนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสาวอุบลฯ กับนักธุรกิจทำแผ่นเสียงก็สุกงอม จนถึงขั้นแต่งงานกัน

พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ได้บันทึกเสียงเพลงชุดแรก ๓ เพลง คือ “กระถินบนกระถาง” ของครูไพบูลย์ กับ “เหนือฟ้าฝั่งโขง” และ “สาวฝั่งโขง” ผลงานของพิพัฒน์ ซึ่งก็ทำให้เธอโด่งดัง หลังจากนั้นเธอก็เดินสายร้องเพลงไปกับวงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ ในฐานะนักร้องนำและภรรยาหัวหน้าวง นอกจากนั้น เธอยังมีเพลงดังอีกหลายเพลงอย่าง โจโจซัง, กำนันเฉย, สาวรำเต้ย จนเมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้นพิพัฒน์จึงตัดสินใจตั้งวงดนตรีให้เธอเพื่อออกเดินสายเปิดการแสดงทั่วประเทศ

จุดเปลี่ยนสำคัญของสองท่านเกิดขึ้นเมื่อครูพิพัฒน์คิดแต่งเพลงแนวตลกขบขันให้ศักดิ์ศรีร้องบนเวทีเพื่อเล่นกับตลกในวงเช่น สีเผือก สีสุริยา สีหมึก สีเทพ (เทพ เทียนชัย) โดยในปี ๒๕๐๒ ระหว่างเดินสายร้องเพลง สองสามีภรรยาได้เก็บประสบการณ์จากการไปดูการแสดงหมอลำในงานบุญงานหนึ่งที่อุบลราชธานี ซึ่งมีการนำเอาเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ “ลี” มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาเล่นล้อเลียน ทำให้พิพัฒน์นำพล็อตนี้มาเขียนเป็นเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ในเวลาต่อมา (แต่มีผู้รู้ยืนยันว่า เพลงทำนองคล้าย ๆ กันนี้ ชาวบ้านเขานำมาร้องมาเล่นกันนานแล้ว)

เพลงนี้ก็ทำให้ศักดิ์ศรีกลายเป็นตำนานและปรากฏการณ์ของวงการเพลงลูกทุ่งไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน มันได้ทำให้เธอเป็นสาวอีสานคนแรกที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่งและก็กลายเป็นภาพพจน์ประจำตัวของเธอไปตลอดชีวิต เพราะเมื่อใครได้ฟังคำว่า “หมาน่อยธรรมดา” คนที่รู้จักก็คงจะนึกถึงเธอ และยิ้มกันออกทุกครั้งไป

เพลงนี้ พิพัฒน์ บริบูรณ์ หรืออีกนามหนึ่งคือสมบัติ เพชรลานนา ได้สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างมีอารมณ์ขัน ดัดแปลงมาจากรำโทน เรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ “ลี” มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ทางวงเคยมาร้องล้อเลียนและได้รับความนิยมพิพัฒน์ได้ใช้นามแฝงว่า “อิง ชาวอีสาน” เพลงนี้บันทึกเสียงในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ กลายเป็นเพลงฮิตและส่งให้ศักดิ์ศรี ศรีอักษร กลายเป็นนักร้องชื่อดังได้เข้าไปขับร้องในไนต์คลับหรูในกรุงเทพฯ และมีการดัดแปลงคำร้องเป็นเพลงภาคต่ออีกหลายฉบับเช่น ผู้ใหญ่ลีเข้ากรุง ผู้ใหญ่ลีหาคู่ เมียผู้ใหญ่ลี ลูกสาวผู้ใหญ่ลี ผู้ใหญ่ลีผู้ใหญ่มา และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ลูกสาวผู้ใหญ่ลี (๒๕๐๗) นำแสดงโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร และ ดอกดิน กัญญามาลย์ ต่อมาศักดิ์ศรี ได้นำมาขับร้องใหม่ในจังหวะวาทูซี (Watusi) ใช้ชื่อเพลงว่า “ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่”

เพลงผู้ใหญ่ลีได้รับเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้รับการบันทึกเสียงใหม่อีกหลายครั้งโดยนักร้องคนอื่น ๆ เช่น นุภาพ สวันตรัจฉ์, หนู มิเตอร์, ไก่ พรรณิภา และถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารกรุงไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถูกประท้วงจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ปรากฏข่าวครึกโครมอยู่พักหนึ่ง

ผลงานเพลงครูพิพัฒน์ นอกจากเพลง ผู้ใหญ่ลี ยังมีเพลง รอยรักในอารมณ์, ฉันจนใจ, ฝนหนาวสาวครวญ, เสือกับหญิง, แล้วจะรู้ว่าพี่รัก, เหนือดวงชีวา, รามสูร, แอ่วสาวกอด, สาวฝั่งโขง, รักสุดหัวใจ, สาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สงกรานต์, รักเหนือหัวใจ, ชีวิตคนเศร้า, ตามองตา, เดือนดารา, ใกล้เข้ามาอีกนิด ชิดเข้ามาอีกหน่อย, หนุ่มสุพรรณฝันเฟื่อง, บางกอกน้อย, รักจนขาดใจ, กระท่อมปลายนา ฯลฯ

นอกจากนี้ครูพิพัฒน์ ได้ชื่อว่าเป็นนักผลิตมาสเตอร์เพลง (แผ่นเสียง) มากที่สุดคนหนึ่ง โดยมีมาสเตอร์เพลงลูกทุ่งและลูกกรุงอยู่กว่า ๓๐๐ มาสเตอร์ อาทิ ชรัมภ์ เทพชัย, จินตนา สุขสถิตย์, สมจิต ตัดจินดา, ชาญ เย็นแข, สุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์, ทูล ทองใจ, ชัยชนะ บุญนโชติ, วงจันทร์ ไพโรจน์, เพลิน พรหมแดน, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, นริศ อารี, ยอดรัก สลักใจ, ดาวใจ ไพจิตร, ดอน สอนระเบียบ, ผ่องศรี วรนุช ฯลฯ

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตและโรคชราในวัย ๖๙ ปี เมื่อ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ส่วนครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ เสียชีวิตในวัย ๗๖ ปี เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ปีนี้เอง

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com