ลูกอีสาน ทำงานเติมน้ำมันเครื่องบินที่อลาสก้า
ฝรั่งตาน้ำข้าวเพื่อนที่ทำงานที่สนามบินด้วยกันถามว่า “ยูอยู่บ้านยูเมืองร้อน ๆ มาอยู่เมืองหนาวอย่างอลาสก้าได้อย่างไร”
ผมหัวเราะให้เขาทั้งที่ยังหนาวสั่นมือเย็นเฉียบ “คุณอยู่ได้ฉันก็อยู่ได้แหละ ไม่มีปัญหา”
หนุ่มอีสานแห่งเมืองอุบลราชธานี บอกว่าอยู่อีสานบ้านของเรา เคยมีกิน เคยอด ทั้งร้อนทั้งหนาว เราผ่านชีวิตต่ำสุดตรงนั้นมาแล้ว มาถึงวันนี้อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ธรรมดามาก ๆ
ในยามฤดูร้อน อลาสก้ารัฐที่ 49 ของอเมริกาที่ซื้อมาจากรัสเซีย
โอ้อลาสก้า
อลาสก้าก็คือ รัฐที่ 49 ของอเมริกาอลาสก้ามาจากภาษาแอลิลุตว่า Alyeska แปลว่า ดินแดนที่ไม่ใช่เกาะ อเมริกาซื้ออลาสก้ามาจากรัสเซียด้วยเงินเพียง 7 ล้าน 2 แสนดอลลาร์ เมื่อพ.ศ. 2400 สมัยนั้นคนรัสเซียต่อว่าพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ว่าขายไปให้อเมริกันได้อย่างไร คนอเมริกันเองก็ต่อว่ารัฐมนตรีต่างประเทศวิลเลี่ยม เชวาร์ด ว่า ซื้อก้อนน้ำแข็งอลาสก้ามาทำไม แต่เมื่อวันเวลาผ่านพ้น พบว่าอลาสก้ามีทรัพยากรล้ำค่าทั้งทองคำและน้ำมันคำต่อว่าต่อขานก็หายไปเหมือนหิมะที่อลาสก้าละลายสลายหายไปเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน
อลาสก้าอยู่ขั้วโลกเหนือ หนาวสุด ๆ เป็นดินแดนที่มีชาวเอสกิโมอยู่อาศัย ใครจะไปคิดว่าคนไทยเมืองร้อน ๆ จะไปอยู่ที่นั่นได้
ที่แองคอเรจเมืองใหญ่สุดของอลาสก้า มีคนไทยอยู่ประมาณ 1,500 คน ใช้ชีวิตหลากหลายอาชีพ มีวัดธรรมภาวนา เป็นวัดพุทธไทยแห่งแรกเกิดขึ้นที่นี่เมื่อ พ.ศ. 2534 แสดงถึงความรักความสามัคคี รักประเพณีวัฒนธรรมไทยรักในพระศาสนา จึงร่วมใจสร้างวัดขึ้นได้ ที่วัดไทยเป็นศูนย์กลางชุมชนคนของไทยจัดงานปีใหม่ ลอยกระทง สงกรานต์ กฐิน ผ้าป่า วันพ่อวันแม่ ครบถ้วน ไม่ต่างจากบ้านเกิด
หนึ่งในพันไม่ได้ฝันว่าจะมา
สฤษดิ์ พุ่มจันทร์ เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ที่อลาสก้า เขามิใช่คนรุ่นแรกที่ไปอยู่ที่นั่นสฤษดิ์เล่าให้ฟังว่าคนไทยรุ่นแรก ๆ ที่มาอยู่อลาสก้า จะมาในราว พ.ศ. 2533 หรือ ค.ศ.1990 ซึ่งมากับครอบครัวทหารอเมริกัน คนรุ่นบุกเบิกจะมาจากทางอีสาน อุบลราชธานี อุดรธานี
สำหรับสฤษดิ์ พุ่มจันทร์ ไม่ได้ฝันสักนิดชีวิตจะมาอยู่ที่อลาสก้า เขาเป็นคนบ้านแก่งดุกใสตำบลโนนกาหลง อำเภอพิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้บวชเป็นเณรเพื่อเรียนหนังสือ ได้เข้ามาเรียนที่วัดเขียนเขต ธัญบุรี ปทุมธานี มาอยู่วัดชนะสงคราม บางลำพู กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค และจบปริญญาตรีพุทธศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วัดมหาธาตุ แล้วก้าวเข้ามาเป็นพระธรรมทูตมาอยู่ที่วัดธรรมภาวนา อลาสก้า
ชีวิตเริ่มต้นกับอลาสก้าแต่บัดนั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ได้มาเป็นพระธรรมทูตที่ วัดธรรมภาวนา ได้ใช้ชีวิตเป็นสมณะพระธรรมทูตจนวันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัวกลับบ้านเกิดอุบลราชธานี ไปกราบขอพระอุปัชฌาย์ลาสิกขาก้าวมาสู่เพศฆราวาสโลกของคนทำงาน มาใช้ชีวิตที่อลาสก้าเต็มตัว
อังคารถึงเสาร์ทำงานให้กับบริษัท วันอาทิตย์เป็นวันหยุดอุทิศตัวทำงานให้วัด เพราะวันอาทิตย์จะเป็นวันที่คนไทยมาวัด มาทำบุญตักบาตรฟังธรรมและสังสรรค์กันจนเย็นแล้วจึงแยกย้ายกันกลับไปบ้าน คนที่นี่อยู่กันเหมือนครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง คนไทยในอลาสก้ามีวิถีชีวิตเป็นเช่นนี้ ไม่มีสีแสงเหมือนรัฐอื่น ๆ
อาชีพคนเติมน้ำมันเครื่องบิน
สฤษดิ์ พุ่มจันทร์ ขณะทำงานเติมน้ำมันเครื่องบินที่สนามบินเมืองแองคอเรจ อลาสก้า
นึกถึงเพลงของคนด่านเกวียน “ข้อยจากอีสานหลายปี เข้ามาอยู่กรุงศรีวิไลเมืองฟ้า ต้องทำงานแลกกับเงินเลี้ยงชีวา คนเขาขานนามว่าเป็นเด็กปั๊มน้ำมัน”
นั่นมันเด็กปั๊มแต่นี่ไม่ใช่ สฤษดิ์บอกว่าเขาทำงานเป็นคนเติมน้ำมันเครื่องบินที่อลาสก้า เป็นพนักงานบริษัทเติมน้ำมันเครื่องบิน ที่สนามบินเทดสตีเวน อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ต่างหาก
สนามบินที่อลาสก้าเป็นฮับหรือศูนย์กลางของเครื่องบินที่จะบินไปสู่เอเชีย จะมาพักเติมน้ำมันแล้วจึงบินต่อไป ที่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพนี้ได้เพราะรุ่นพี่คุณพ่อเข็มชาติ ศรีเสน่หา เป็นคนชักชวน ท่านทำมาก่อนและก็เห็นว่าเราน่าจะทำงานนี้ได้ จึงน่าลองดู ถ้าได้ทำก็ดีกับชีวิตเรานอกจากได้เงินค่าทำงานแล้วยังมีประกันสังคมดูแลสุขภาพด้วย เพราะที่นี่ค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ถ้าไม่มีประกันสุขภาพให้คนก็มักไม่ยอมทำงานด้วย เติมน้ำมันเครื่องบินก็น่าลอง จึงลองไปทดสอบดู จะผ่านได้หรือไม่
ด่านแรกของการสอบ ทดสอบความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ตัวเลข บวกลบคูณหารต้องแม่น ต้องไม่พลาด เพราะพลาดแล้วจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต้องรู้ว่าเติมน้ำมันแล้วกี่หมื่นแกลลอน ในเครื่องมีอยู่เท่าไหร่ต้องเติมเท่าไหร่จึงจะพอดี พลาด 1 – 2 ครั้งเขาก็เชิญออก
ภาษาเพื่อการสื่อสาร ไม่มีการใช้ภาษาไทยทุกอย่างที่นี่ใช้สื่อสารเป็นภาษาอเมริกัน ไม่ใช่ภาษาอังกฤษแบบที่เราเรียน จึงเริ่มต้นใหม่หมดคนทำงานที่นี่เขารับจบไฮสกูลก็สมัครได้ สฤษดิ์สมัครด้วยใบปริญญาตรี แต่ภาษาสื่อสารสู้ไฮสกูลของเขาไม่ได้ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ต้องเรียนรู้ ดูหนัง เรียนภาษาเพิ่มเติม และคุยกับเจ้าของภาษาโดยตรง จนฟังได้คุยได้รู้เรื่อง ในที่สุดก็ผ่านการทดสอบเข้าทำงานได้
เริ่มต้นใหม่ฝึกให้เหมือนกันทั้งสิ้น
จะแน่มาจากไหน จะเรียนสูงต่ำอย่างไรไม่สำคัญ คนทุกคนเท่าเทียมกัน ระบบของอเมริกันเมื่อเข้ามาทำงานใหม่ก็ต้องผ่านการฝึกหัด ให้รู้จักเข้าใจระบบการทำงานของเขา ในสมัยนั้นต้องเข้าห้องเรียนเรียนภาคทฤษฎี ต้องอ่านเขียนเรียนจากตำรา ต้องรู้จักเครื่องบิน ระบบเครื่องบินแต่ละรุ่นเป็นอย่างไร แต่ละสายการบินใช้เครื่องบินแบบไหน และเติมน้ำมันที่ไหนได้อย่างไรบ้าง เรียนรู้เสร็จก็ออกฝึกภาคสนามทดลองของจริงอีกสองอาทิตย์ ต้องไปเติมน้ำมันบริษัทจะฝึกและทดสอบ เมื่อสอบผ่านก็ได้ทำงาน ถ้าไม่ผ่านก็จบ
แรก ๆ ทำงานมีรายได้ชั่วโมงละสิบเหรียญอเมริกันหรือสิบดอลลาร์ ปัจจุบันทำได้อยู่ที่ชั่วโมงละ22 ดอลลาร์ เป็นอาชีพที่พอเลี้ยงตนเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้ดี แม้ไม่รวยแต่ก็มีความสุขมีงานทำและได้ทำงานเพื่อสังคมตามความฝันคือได้ช่วยวัด ได้ช่วยชุมชนคนไทยด้วยกัน เป็นความสุขของการดำเนินชีวิตที่พอเพียงแล้วสฤษดิ์เป็นนายกคนไทยในอลาสก้ามาแล้วสี่ปีปัจจุบันนายกที่ต่อจากสฤษดิ์เป็นสุภาพสตรีชื่อศุภมาส ยี่แสง เป็นสาวเชียงใหม่
ชีวิตโบยบินอยู่พอเพียงก็เพียงพอ
ระบบอเมริกัน หน้าที่เป็นหน้าที่ ทำตามหน้าที่ห้ามเกินและขาด ทำตามตัวอักษรที่กำหนดงานไว้เท่านั้น เวลาตรวจคุณภาพจะตรวจตามตัวอักษรที่ระบุไว้ ต้องไม่ผิดจากนั้นในเวลางาน งานคืองานไม่มีเพื่อน แต่เลิกงานแล้วเป็นเพื่อนกันได้ คนทำงานที่นี่เกษียณได้ตั้งแต่ 65 ปี ถึง 72 ปี เขาให้ทำงานยาว ๆ เพื่อจะได้จ่ายค่าชดเชยหลังเกษียณไม่นานนัก จึงให้มีชีวิตการทำงานให้ยาวขึ้น
สำหรับลูกอีสาน สฤษดิ์ พุ่มจันทร์ คนที่เดินทางโบยบินจากอุบลถึงอลาสก้าบอกว่างานที่ทำเป็นอาชีพที่สุจริตเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุขก็นับว่าพอเพียงแล้ว หนึ่งในพันคนนี้ได้พิสูจน์ให้ประจักษ์คนไทยอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ลูกอีสานอยู่ที่ไหนก็สู้ชีวิตได้
ถ้าเชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อก็ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ในทุกมุมโลก
วัดธรรมภาวนา วัดแห่งแรกของคนไทยที่เมืองแองคอเรจเมืองใหญ่สุดของอลาสก้า ศูนย์กลางของคนไทย ในการใช้ชีวิตวิถีพุทธเวลาห้าทุ่มที่อลาสก้าเพลานี้ พระอาทิตย์ยังไม่ยอมตกดินบ้านพักของ สฤษดิ์ พุ่มจันทร์ หนุ่มอุบลฯ ผู้โบยบินสู่ อลาสก้าช่วยงานวัดสร้างกุศล แจกทุนการศึกษาให้ลูกหลานไทย ในอลาสก้าสฤษดิ์ พุ่มจันทร์ กับครอบครัวสฤษดิ์ พุ่มจันทร์ กับศุภมาส ยี่แสง นายกคนไทยใน อลาสก้าคนปัจจุบัน
งานประเพณีลอยกระทงของคนไทยในอลาสก้า