ประวัติศาสตร์ อีสาน – ล้านช้าง
การนำเสนอภูมิหลังประวัติศาสตร์อีสาน – ล้านช้าง แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ
๑.ประวัติศาสตร์อีสาน
๒.ประวัติศาสตร์ล้านช้าง
๓.ประวัติศาสตร์อีสาน – ล้านช้าง
ประวัติศาสตร์อีสาน
ดินแดนอีสานเป็นพื้นที่ ๆ มีการพบแหล่งโบราณคดีทั้งก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอีสานเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีต ชุมชนต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องจนเกิดเป็นรัฐ โดยมีแหล่งชุมชนโบราณจำนวนมากกระจายอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีและลุ่มแม่น้ำมูล โดยแบ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งนิยมทำคูน้ำคันดินเป็นวงรีหรือวงกลมรอบเมือง นิยมตั้งเมืองใกล้แหล่งน้ำเพื่อสะดวกในการชักน้ำเข้ามาเก็บในคูเมือง และกลุ่มวัฒนธรรมขอม ที่ผังเมืองมักจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีการขุดบารายไว้เป็นแหล่งน้ำในเมือง
จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดีที่แพร่ขยายครอบคลุมดินแดนอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หลังจากนั้นอาณาจักรขอมได้ขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน โดยมีอิทธิพลสูงมากในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๖๑) อิทธิพลของขอมในแผ่นดินอีสานเริ่มเสื่อมลง และเป็นการเริ่มยุคอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างในรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม(พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๖ ) ที่ก่อตัวเข้มแข็งขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงได้แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนอีสาน ครอบคลุมอาณาเขต ๒ ฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง ชุมชนโบราณขนาดใหญ่เริ่มเปลี่ยนเป็นชุมชนขนาดเล็ก และรับอิทธิพลแบบของล้านช้าง
งานของสิลา วีระวงส์ กล่าวว่า หัวเมืองภาคอีสานของไทยนับตั้งแต่หนองหานลงไปจนถึงเมืองร้อยเอ็ด แต่ก่อนอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรขอมทั้งหมด ต่อมาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงในปี พ.ศ.๑๘๒๗ เมื่อถึงสมัยพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๙๓ แขวงเมืองร้อยเอ็ดได้ตกอยู่ปกครองของอยุธยา ดังนั้น พระเจ้าฟ้างุ้มจึงยกทัพลงไปตีเอาเมืองร้อยเอ็ดและเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง เช่น เมืองพระศาสตร์ เมืองพระสะเขียน เมืองพระลิง เมืองพระนารายณ์ เมืองพระนาเทียน เมือง เซขะมาด เมืองสะพังสี่แจ เมืองโพนผิงแดด
เมืออาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านช้างขยายอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในดินแดนอีสาน ทั้งสองอาณาจักรจึงประนีประนอมปักปันเขตแดนในสมัยพระเจ้าอู่ทอง โดยอาณาจักรล้านช้างทำการปกครองตั้งแต่ “ดงสามเส้า” หรือ “ดงพระยาไฟ” ไปจนถึงภูพระยาพ่อและแดนเมืองนครไทย และรวมก่อตัวเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำโขง ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์อีสาน – ล้านช้าง
ประวัติศาสตร์ล้านช้าง
การเริ่มต้นประวัติศาสตร์ล้านช้าง จากหลักฐานเอกสารโบราณและวรรณกรรมมุขปาฐะต่าง ๆ ล้วนอบอวนไปด้วนกลิ่นอายของนิทาน ตำนานต่าง ๆ ทั้งที่ถูกถ่ายทอดไว้ด้วยเรื่องเล่ามุขปาฐะ และที่บันทึกไว้ในเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์ใบลาน จารึก ใบจุ้ม เป็นต้น เช่น ท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง พื้นขุนบรม เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อเราถอดรหัสทางวัฒนธรรมจะเห็นถึงพัฒนาการทางสังคมการเมืองการปกครองของชุมชนลุ่มน้ำโขง ทำให้เราทราบว่าพัฒนาการทางการเมืองของดินแดนอีสานล้านช้างเริ่มต้นด้วยกลุ่มชนเผ่าแล้วคลี่คลายเป็นอาณาจักรล้านช้าง เช่น พื้นขุนบรม กล่าวว่า ขุนบรมราชาธิราช(จีนเรียกว่า พีล้อโก๊ะ)เป็นกษัตริย์ครองนครหนองแส (จีนเรียกว่า ต้าลีฟู) โดยสร้างเมืองอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนูเรียกว่า เมืองแถน และสร้างเมืองต้าหออีกแห่งหนึ่งอยู่ทางเหนือนครหนองแส ๔๐ ลี้ ต่อมาขุนบรมได้ส่งพระราชโอรสทั้ง ๗ องค์ออกไปสร้างบ้านเมืองต่าง ๆ ในดินแดนอุษาคเนย์ พื้นขุนบรมนี้จึงมีอิทธิพลต่อความเชื่อของกลุ่มชนล้านช้างมาก ขุนบรมได้รับยกย่องให้เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ไท (Tai) โอรสทั้ง ๗ ได้ไปสร้างเมืองบ้านเมืองต่าง ๆ ดังนี้
๑. ขุนลอ หรือ ขุนซวา บุตรคนโต ให้ไปเมืองเชียงดงเชียงทอง จากตำนานพื้นขุนบรมนี้จึงถือได้ว่าขุนลอเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ปกครองเมือง “ซวา” (ออกเสียงตามคำลาว) หรือเมืองหลวงพระบาง ตำนานว่าเดิมนั้นเมืองซวาเป็นถิ่นของ “ข้ากันฮาง” ขุนลอสู้รบได้ชัยชนะขับไล่ข้ากันฮางไปอยู่ภูเลาภูคา
๒.ขุนยี่ผาลาน ไปสร้างเมืองต้าหอ หรือเมืองหอแตก หรือหอแต
๓.ขุนสามจุสง ไปสร้างเมืองจุฬนี คือแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกในปัจจุบัน พงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าขุนสามจุสงไปสร้างเมืองบัวชุม หรือญววนแกวแคว้นตังเกี๋ย
๔.ขุนไสพง ไปสร้างเมืองยวนโยนกนาคนคร หรือเมืองเชียงแสน
๕.ขุนงั่วอิน ไปสร้างเมืองอโยธยา
๖.ขุนลกกลม ไปสร้างเมืองคำเกิด หรือเมืองภูเหิด บ้างว่าเมืองเชียงคาม ปัจจุบันอยู่ลาวใต้
๗.ขุนเจ็ดเจิง หรือ เจ็ดเจือง ไปสร้างเมืองเชียงขวาง หรือเมืองพวน
สาระนี้จะจริงหรือไม่อย่างไรแม้จะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ แต่อย่างน้อยร่องรอยที่ปรากฏในตำนานนั้นทำให้เราทราบว่า กลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ที่เข้ามาในดินแดนอุษาคเนย์นั้นมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ
ลำดับเรื่องราวการปกครองในดินแดนหลวงพระบางต่อจากขุนลอปรากฎผู้ปกครองอีก ๒๖ องค์ แบ่งเป็นผู้มีคำนำหน้าว่า “ขุน” ๑๖ องค์ “ท้าว” ๖ องค์ และ “พญา” ๔ องค์ตามลำดับ ในยุคของพญานั้น เริ่มมีการระบุศักราช คือปีพ.ศ.๑๘๑๔ พญาลัง ขึ้นครองราชย์เป็นพญาองค์แรก ดังนั้น ปี ๑๘๑๔ นี้จึงเป็นศักราชที่เก่าที่สุดที่สามารถสืบไปถึงตามที่ระบุไว้ในตำนาน อย่างไรก็ตามการระบุศักราชดังกล่าวเป็นการระบุในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางที่เรียบเรียงขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ตำนานปรัมปราได้คลี่คลายกลิ่นอายของอภินิหารลงเมื่อถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๖ เนื่องจากปรากฏรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น
เอกสารจีนที่เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๘ ชื่อ ji-gu-dian-shuo ซึ่งบันทึกเรื่องราวยูนานโบราณ ได้ระบุถึงเมือง “Zhua-guo” คำว่า guo หมายถึงเมือง ส่วนคำว่า Zhua นั้นชาวจีนน่าจะจดบันทึกตามเสียง “ซวา” หลักฐานนี้ช่วยยืนยันถึงความสำคัญของเมืองซวาในอดีตว่าเมืองซวาที่ได้รับการยอมรับจากจีน นอกจากนี้การยอมรับของสุโขทัยตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ สมัยพ่อขุนรามคำแหงที่ว่า เขตแดนทางทิศเหนือไปถึงแม่น้ำโขง และเมืองซวา ล้วนเป็นหลักฐานการยอมรับความเป็นรัฐของ “อาณาจักรล้านช้าง” ที่มีตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือก่อนปีที่พระเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชแล้ว
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม อารยธรรมของอาณาจักรล้านช้างได้แผ่ขยายเข้ามาในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในดินแดนภาคอีสาน และรวมก่อตัวเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำโขง ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์อีสาน – ล้านช้าง
ประวัติศาสตร์อีสาน – ล้านช้าง
จากพื้นประวัติศาสตร์ที่นำเสนอข้างต้น จึงพอจะอนุมานได้ว่า การเริ่มต้นของ อีสาน – ล้านช้าง น่าจะเริ่มจากรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งเป็นยุคที่อาณาจักรล้านช้างมีอิทธิพลครอบคลุมลงมาถึงดินแดนอีสาน
เขตแดนระหว่างล้านช้างกับอยุธยานั้นปรากฏในเอกสารของลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ณ กรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เมืองนครราชสีมา “เป็นเมืองชายแดนที่อยู่ติดพรมแดนลาว” แสดงว่าอาณาเขตของล้านช้างอยู่ลึกมาถึงเมืองนครราชสีมา นอกจากนี้ ใน”นิราศหนองคาย” ของนายทิม สุขยางค์ ระบุว่าเมื่อพ้นเมืองพิมายออกไปถึงลำสะแทกนั้นเป็นเขตเมืองลาว ดังนี้
๐ ก็เสร็จข้ามแม่น้ำลำสะแทก
เป็นลำแยกจากมูลศูนย์กระแส
สิ้นเขตแดนพิมายเมืองชำเลืองแล
เข้าแขวงแควเมืองลาวชาวอรัญ
ขอบคุณที่มา : reg.ksu.ac.th
ภาพจาก : wikipedia