“หมอลำหลวง” เมืองอุบลฯ

คอลัมน์ส่องซอด โดย “หลานอิสาณ” – พฤฒิสาร ชุมพล

มีด้วยหรือ หมอลำหลวง ?

มีซิ ทำไมละ ในเมื่อ “โหรหลวง” หรือหมอดูหลวงยังมีเลย

แต่ “หมอลำหลวง” มีในอดีตสมัยรัชกาลที่ ๕ โน่น

 

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ (เดิมสะกดอย่างนี้) ประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี ทรงประสบความสำเร็จในการ

ปราบปราม “กบฏผู้มีบุญ” ได้แล้ว พระองค์ได้ทรงหันมาสนพระทัย หมอลำ หมอแคน

 

ทำไมหรือ ? ก็เพราะทรงทราบว่า ในการลำนั้นมีทั้งคำลำที่เป็นคติธรรม คละกับการระบายความรู้สึกต่อสภาพชีวิต และพวก “ผู้มีบุญ” เคยใช้บอกกล่าวคำทำนาย

 

จึงได้ทรงส่งเสริมให้กรมการเมืองอำเภอคัดเลือกหมอลำชาย – หญิง มาประกวดประชันกันในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งกรรมการขึ้นตัดสินรับประทานรางวัล ยกเว้นภาษีอากรให้ผู้ชนะถือเป็น “หมอลำหลวง” มีหน้าที่มาลำในงานของทางราชการ พระองค์ได้ทรงน้อมพระองค์ลงมาใกล้ชิดและในการนั้นทรงหยั่งทราบความรู้สึกของราษฎร การปกครองของพระองค์จึงราบรื่นแต่นั้นมา

 

แม้เมื่อเสด็จกลับสู่กรุงเทพฯ หลังจากที่ได้ประทับสำเร็จราชการอยู่ที่อุบลฯ เป็นเวลาถึง ๑๗ ปีแล้ว ก็ได้ทรงออกร้านแสดงแคนในงานวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดประจำพระราชวังดุสิต ซึ่งในสมัยนั้นเป็นงานใหญ่จัดทุกปี ให้ชาว

กรุงได้สัมผัสศิลปะการดนตรีของคนอิสาณอีกด้วย

 

“หลานอิสาณ” จึงลำนำมาให้ฮู้ ดุจดังที่เล่ากันสืบมา และขอเสริมว่า “หมอลำหลวง” ปัจจุบันก็มีนะ ศิลปินแห่งชาติ ไงล่ะ

Related Posts

แหล่งตัดหินสร้างประสาทของขอมโบราณในอีสานใต้
คนละเรื่อง
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com