อยู่รอดปลอดภัยในวันไวรัสเปลี่ยนโลก

อยู่รอดปลอดภัยในวันไวรัสเปลี่ยนโลก

ปฐมเหตุ

 

ประเทศมหาอำนาจและการเมืองหา เรื่องกันไปว่าไวรัสตัวนี้จะเกิดที่ไหน ไม่ว่าเมือง จีน อเมริกา หรือยุโรป ไม่ว่าในตลาดสดหรือ ในห้องแล็บ ที่แน่ ๆ มาจาก “ฝีมือมนุษย์”

ถ้าไม่ใช่เพราะการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้วเกิดผิดพลาด ก็เป็นเพราะวิถีชีวิตของโลกวันนี้ได้ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ทำให้เกิดความแปลกแยกที่ก่อให้เกิด “ตัวร้าย” ใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย อากาศเป็นพิษ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นการกลายพันธุ์ของจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตที่ดีและร้ายทั้งหลาย

คิดถึงฝุ่นพิษในอากาศ น้ำแข็งละลายในขั้วโลก ไฟป่าที่ทำลายล้างเป็นแสนเป็นล้านไร่ในหลายประเทศ การตัดไม้ทำลายป่าเป็นอาณาบริเวณกว้างใหญ่ในนามของการพัฒนา จนสัตว์ป่าต้องเข้าไปอาศัยและหาอาหารในเมืองเพราะคนไปไล่ที่ ทำลายแหล่งที่อยู่และอาหารมัน

สัตว์ป่าเข้าเมืองพร้อมกับเชื้อโรคหลายชนิด เมื่อก่อนนี้มีแต่หนู แมลงสาบ วันนี้มีหมูป่ามีช้าง เสือ และสัตว์ตัวเล็กใหญ่อื่น ๆ รวมไปถึงตลาดสดที่มีสัตว์ป่าสัตว์บ้านมากมายหลายชนิดอยู่รวมกัน ทั้งเป็น ๆ และชำแหละแล้ว พันธุกรรมกระโดดข้ามไปมาผสมกันเป็น “สัตว์ประหลาด” เหมือนในภาพยนตร์

โคโรนาไวรัสที่เราตั้งชื่อว่า โควิด-19 ไม่ใช่สัตว์ประหลาดเสียทีเดียว มี “พี่ ๆ” ที่มาเยี่ยมเยือนโลกก่อนนี้ที่เรารู้จักในนาม SARS (2002) และ MERS (2012) เป็นไวรัสตระกูลเดียวกัน แต่เป็นคนละสายพันธุ์ และจัดอยู่ในไวรัสประเภทไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในโลกมาหลายร้อยปีแล้ว

ถ้าเช่นนั้นก็ควรเรียนรู้ด้วยว่า ไข้หวัดใหญ่ไปมาอย่างไร และทำไมยังมาระบาดทุกปี ด้วยเหตุนี้แพทย์ถึงบอกว่า โควิด-19 จะไม่หายไปจากโลก จะอยู่กับเราไปอีกนานเหมือนไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบอกว่า ทุกปีมีคนเป็นไข้หวัดใหญ่หลายร้อยล้านคนทั่วโลกประมาณ ๓-๕ ล้านคนอาการหนัก และ ๒๙๐,๐๐๐-๖๕๐,๐๐๐ คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว คล้ายกับกรณีของโควิด-19

ไข้หวัดใหญ่ในร้อยปีที่ผ่านมา ที่เรียกกันว่า “โรคระบาดใหญ่” หรือ “โรคระบาดโลก” เพราะแพร่ไปทั่วโลกมีอยู่หลายครั้ง และดูเหมือนระยะหลังจะถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงโควิด-19 ที่ไม่มีใครคาดคิด ถ้าเป็นดนตรีคลาสสิกอาจเป็น “ฟินาเล่” (finale) ท่อนสุดท้าย หรือ overture โหมโรงศักราชใหม่ก็ได

เมื่อร้อยปีก่อน (๑๙๑๘) เกิดไข้หวัดสเปนที่ประมาณว่าติดกันไปทั่วโลก ๕๐๐ ล้านคน ขณะที่โลกมีประชากร ๑,๕๐๐ ล้าน หรือ ๑ ใน๓ ของมนุษย์ติดไข้หวัดสเปน และตายไป ๑๗-๑๐๐ ล้านคน ต่อมาปี ๑๙๕๘ เกิดไข้หวัดเอเชียตายไป ๒ ล้าน ปี ๑๙๖๘ ไข้หวัดฮ่องกงตายไป ๑ ล้าน

ที่น่ากลัว คือ การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้ในสัตว์และแพร่มาสู่คนที่เป็นชนิด A และเรียกว่า H1N1 ที่เรารู้จักในนามไข้หวัดหมูไข้หวัดนก ทำให้ต้องฆ่าหมู ฆ่าสัตว์ปีกไปหลายพันล้านตัว แม้แต่วันนี้ก็ยังไม่หมด ยังมาเป็นครั้งคราวในหลายประเทศ แต่มีการป้องกันและควบคุมได้ดีขึ้น หรือปิดข่าวเท่านั้น

อ่านเรื่อง อยู่รอดปลอดภัยในวันไวรัสเปลี่ยนโลก ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ อะคาเดมีชีวิต  

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

Related Posts

หลุมศพ “โนนเมือง” ชุมแพ ราวกระดูกกว่าสองพันปีที่พูดได้
‘ก้อยหอยขัว’ เมนูแซบนัวในฤดูร้อนแล้ง
โควิดคิดใหม่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com