ดอกไม้บานที่อิตาลี “บ้านเมืองต้องการผู้นำทางปัญญา…เรามีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะกระบอกปืน”

ดอกไม้บานที่อิตาลี

“บ้านเมืองต้องการผู้นำทางปัญญา…เรามีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะกระบอกปืน”

คอลัมน์”ปากกาขนนก” / สกุล บุณยทัต / นสพ.สยามรัฐ 28 มิถุนายน 2565

https://siamrath.co.th/n/351775?fbclid=IwAR157LwK45LQ5w_CugjqdxwbgfCvOdk40VuXPuC7bLP_rq0bEMVPzy6Z8pA

“ความงามแห่งประสบการณ์อันดิ่งลึกและลีลาชีวิตที่ถูกใช้ไปในการเรียนรู้เสมอ คือความทรงจำอันล้ำค่าที่ทั้งแปรเปลี่ยนและเสริมค่าให้ตัวตนของชีวิต มีเกียรติภูมิที่สูงขึ้น ด้วยโครงสร้างของจิตวิญญาณอันเปี่ยมเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ …เรื่องราวนานาที่อุบัติขึ้นจากเจตจำนงที่มีนัยสำคัญนี้ ล้วนคือตัวอย่างแห่งการปลูกสร้างรอยร่างทางอารมณ์ความรู้สึก… ที่ชีวิตได้น้อมรับเอาไว้เป็นกุศลธรรม มันนำชีวิตทั้งมวลไปอยู่ ณ สถานที่ของการตระหนักรู้อันถาวร และยิ่งไปกว่านั้น มันยังสามารถสร้างเสริมตัวตนของความเป็นมนุษย์ให้ขยับเข้าใกล้ปวงปราชญาแห่งความเป็นปราชญ์ อันยากจะรุกล้ำหรือทำลายลงได้”

สาระความหมายดังกล่าวนี้คือใจความสำคัญ แห่งสำนึกคิด ที่ได้รับจากประกายไฟขององค์ความรู้ที่ปรากฏในหนังสือ… “ดอกไม้บานที่อิตาลี” ที่เขียนโดย “เสรี พงศ์พิศ” ปราชญ์แห่งยุคสมัย ผู้บุกเบิกการเรียนรู้ด้านปรัชญา ภาษาศาสตร์ และองค์ความรู้จากหลักวิชชานานาในโลกร่วมสมัย ให้หลอมรวมเกิดเป็นศาสตร์แห่งกาลเวลา ที่ยึดพยุงหลักคิด และหัวใจแห่งการใฝ่รู้ของคนรุ่นใหม่…ให้สามารถแยกแยะและอธิบายความถึงเป้าประสงค์อันดิ่งลึกและสลับซับซ้อนได้…กลไกในการเรียนรู้ทั้งหมดนับเป็น…บทเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคแสวงหาของไทย ในทศวรรษก่อนเหตุการณ์ “14 ตุลา ปี 16” ที่มีการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศของเรา…จากภาพรวมของกระบวนการทางการเมืองแบบผูกขาดโดยกลุ่มทหารเพียงบางตระกูล…มาสู่การเปิดสายทางด้านการเมืองการปกครองในนามของประชาชนคนสามัญ…ในที่สุด...

วิธีคิดผ่านการศึกษาของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น เป็นบทเริ่มต้นของการเรียนรู้แบบ “โลกสันนิวาส” เป็นการเรียนรู้ในองค์รวมของสถานการณ์ของความเป็นโลกและโลกย์ …ผ่านจินตนาการ ประสบการณ์ และวิชาการ อันกว้างไกล…เหตุนี้…หลักคิดของนักคิด นักปรัชญา และนักปฏิบัติซึ่งล้วนแต่เป็นปราชญ์คนสำคัญของโลก จึงล้วนแล้วแต่ส่องแสดงภาพลักษณ์อันเป็นตัวอย่างแบบเรียนถึง ความเป็นไปอันสดใหม่เหนือกาลเวลาในยามนั้น… มันคือปฐมบทของยุคสมัยที่โลกเหลือเพียงองศาที่ปิดกั้นสัมพันธภาพระหว่างกันเพียงน้อยนิด…

“เสรี” ได้สร้างตัวละคร “อานนท์” เป็นตัวเอกของเรื่อง…อันเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความเป็นชีวิตของเขา…จากหนุ่มต่างจังหวัดของไทย ได้ทุนไปศึกษาปริญญาโทที่อิตาลี และปริญญาเอกที่เยอรมัน…ในสาขาวิชาที่เรียนรู้ถึงปรัชญาชีวิต สังคม และกระบวนการแห่งความรู้แจ้ง… กอปรกับชีวิตของตัวละครอื่นที่มาเรียนรู้ด้านวิชาการในลักษณะเดียวกันแต่ต่างแขนงสาขา รวมทั้งผู้มาใช้ประสบการณ์ชีวิตเพื่อการดำรงอยู่ในวิถีแห่งชีวิตใหม่ที่นี่… การจัดวางตัวละครในเรื่องทั้งหมดมีลักษณะสอดรับเหตุและผลของการมีชีวิตอยู่อย่างตระหนักรู้ถึงภูมิหลังในเชิงเปรียบเทียบเพื่อการ “รับรู้ในรู้สึก” ต่อการประจักษ์แจ้งในแก่นสารของโลกแห่งชีวิต…ในแง่มุมเปรียบเทียบที่ชวนพินิจพิเคราะห์… ผ่านรูปรอยของเรื่องเล่าด้วยจดหมาย (LETTER NOVEL)… และเรื่องเล่าในฉากแสดงชีวิต ณ ต่างประเทศในนามของไพรัชนิยาย (EXOTIC NOVEL)…

“ผมมาจากครอบครัวชาวนา… ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็กแล้ว ช่วยพ่อแม่ทำนา ใช้ควายไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว หลังหน้านายังปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วปลูกมันเพิ่มเติมอีก”

รากเหง้าแห่งชีวิตของ “อานนท์” เริ่มต้นจากสังคมเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของประเทศแห่งซีกโลกตะวันออกโดยรวม…แต่เป้าหมายทางการศึกษาที่คนไทยอย่างเขาได้มีโอกาสมาเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ที่โรม ได้อย่างไร? รวมทั้งเรียนไปทำไม?… กลับเป็นปริศนาสำคัญ ให้คนต่างชาติสงสัยในจุดมุ่งหมายนั้นอยู่…ไม่น้อย…มันคือจุดเริ่มต้นของการแผ่ขยายทางด้านวัฒนธรรมในเชิงลึก…ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างนโยบายกับการบริหารประเทศที่เป็นสากล และเป็นดั่งเสมือนการก่อตัวริเริ่มในการปฏิวัติทางความคิด…ในเวลาต่อ ๆ มา…

“เพราะเขาเตรียมให้ผมกลับไปเป็นอาจารย์สอน…ในมหาวิทยาลัย…ผมเป็นลูกชาวนามาเรียนที่โรม…เพราะได้ทุนครับ…รัฐบาลอิตาลีใจดี มอบทุนให้มหาวิทยาลัยผม…คัดเลือกคนให้มาเรียนต่อ…ผมสนใจทางอักษรศาสตร์…ก็เพราะประวัติศาสตร์ของทุกประเทศมีหลายอย่าง…คือการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ระหว่างผู้คนกลุ่มต่าง ๆ …นอกจากในประเทศแล้ว ยังไปเกี่ยวกับประเทศอื่น ไม่ใช่แค่เพื่อนบ้าน อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ไปล่าอาณานิคมหาเมืองขึ้นทั่วโลก มีการปฏิวัติ ทางความคิดเกี่ยวกับโลก วิชาการ วิทยาศาสตร์”

อีกด้านหนึ่ง “เสรี” ได้สร้างตัวละคร “รมิตา” ให้เป็นคู่เคียงในเรื่อง…เธอคือตัวแทนของผู้เรียนรู้ในเชิง “ปฏิบัติการณ์ศาสตร์…” การเรียนรู้ทางด้านเกษตรกรรม อาจมองดูย้อนแย้งในสถานะและบทบาทที่เคยคุ้นของคนไทยเมื่อมองไปยังความหมายของเพศหญิง….แต่เธอมีความเชื่อว่า…การศึกษาจะแก้ปัญหาสังคมได้ ไม่ใช่เงินหรืออำนาจอย่างที่เห็นกันในประเทศทั้งที่พัฒนาแล้ว หรือด้อยพัฒนาอย่างบ้านเรา

“…เหตุนี้เราจึงสมควรมาแชร์เรื่องทุนทางสังคมในอดีตดู…เพื่อจะได้คืนสู่รากเหง้า และเอาสิ่งดี ๆ มาประยุกต์ใช้ในวันนี้” …จุดมุ่งหมายของ”รมิตา”ที่มาเรียนเกษตร…ไม่ใช่เพราะอยากทำเกษตร แต่เพราะ…เธอมีสายเลือดชาวนาเต็มตัว ชาวนาที่ถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่ เธออยากช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระ และเชื่อมั่นเหมือนกับอานนท์ว่า … “การศึกษาเท่านั้นจะช่วยปลดปล่อยชาวนาบ้านเรา”

ปัญหาทางด้านเกษตรกรรมในประเทศคือปัญหาอันไม่รู้จบที่มีกลไกเชิงซ้อนอันพิลึกพิลั่น มันไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใด ๆ… มีเพียงแต่จะแสดงถึงความขาดพร่องสูญเสียของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักใหญ่…สิ่งนี้จึงคือประเด็นสำคัญที่ผู้เรียนรู้โลกกว้างและวิชาการแผนใหม่…จักต้องหยั่งรู้และเข้าใจเพื่อการเยียวยาแก้ไขเนื้อในแห่งบาดแผลฉกรรจ์ของประเทศให้จงได้…

“ประเทศไทย มีสหกรณ์มาได้ประมาณ 50 ปีแล้ว มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ และอื่น ๆ มีหลายพันกลุ่ม อย่างสหกรณ์การเกษตรก็ไม่ได้แก้ปัญหาหรือพัฒนาชาวไร่ชาวนาอะไรเลย คงเป็นเพราะสหกรณ์เหล่านี้ยังถูกครอบงำจากราชการ ไม่ได้เป็นอิสระจริง …ข้าราชการจากกระทรวงเกษตรยังไปนั่งที่สำนักงานสหกรณ์ ใช้จ่ายอะไรก็ยังไปเบิกจากสหกรณ์ และสหกรณ์เหล่านี้ก็ตั้งอยู่ที่อำเภอ ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ที่หมู่บ้าน ตำบล… ส่วนใหญ่จึงไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์”

ทวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้…มีนัยเชิงเปรียบเทียบกับวิถีของต่างชาติ ซึ่งก็ได้บทสรุปที่แทบจะไม่แตกต่างจากกันนัก…อย่างที่บราซิลปัญหาใหญ่ก็คือ การศึกษาของสมาชิก ล่าสุดมีการแสดงความจริงนี้ผ่านหนังสือ “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” ของ “เปาโลแฟร์” เป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งแปลไปหลายภาษา…รวมทั้งภาษาไทย…

“การศึกษาที่ว่า… ไม่ใช่การศึกษาแบบที่หลอกให้ให้เราเอาปริญญาไปอวดกัน หรือไปเร่หางานทำเมื่อเรียนจบ แต่เป็นการศึกษาเพื่อการปลดปล่อยจากการถูกครอบงำทางความคิด อย่างที่นักปรัชญาชาวอิตาลีผู้โด่งดัง… “อันโตนิโอ กรัมซี” เรียกว่า… “hegemony” อันหมายถึง “อำนาจ” …นั่นแหละ

บทสรุปเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของบ้านเราที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในฐานะประชาชนคนไทยกลับมีส่วนรับรู้กันน้อยมาก นั่นคือการที่สมาชิกสหกรณ์ของประเทศเราต้องเป็นหนี้ …ซึ่งมันมีมากแค่ไหน?…

“เสรี”ได้แสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ผ่านทัศนะที่เสียดแทงอย่างตรงไปตรงมาของตัวละคร “รมิตา” เอาไว้ว่า… “เป็นมากทุกคน… เพราะสหกรณ์ มีหน้าที่ไปกู้เงินธนาคารเกษตรซึ่งเป็นของรัฐมาให้สมาชิกกู้ แทนที่จะให้สมาชิกออมเงิน แล้วเอาเงินออมมาปล่อย เพื่อช่วยเหลือกัน”

แท้ที่จริง “ดอกไม้บาน” ในความหมายของหนังสือเล่มนี้คือะไร?…กันแน่……ท่ามกลางคนต่างชาติอันหลากวัฒนธรรมที่ยังมีจุดอ่อนอยู่กับนัยของตัวตนมากมายกับความเข้มแข็งสมบูรณ์ที่มีต้นรากอันยาวนาน…เราจะค้นพบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และทฤษฎีความคิดมากมาย ที่ “เสรี” ได้สืบค้นและแปรค่านำมาเสนอ ทั้งเหตุการณ์ สถานการณ์ และ ประสบการณ์แห่งตัวตนส่วนบุคคล…

การก้าวย่างไปบนทิศทางและบริบทของการเปรียบเทียบจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง หรือ ส่วนหนึ่งไปสู่ส่วนหนึ่ง คือความหนักแน่นของหนังสือเล่มนี้… มันคือการแสดงภูมิรู้ของผู้เขียนที่แจกแจงรายละเอียดออกมาได้หลากหลายมิติในเชิงจักรวาลนิยม

…ความเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์ ของ “เสรี” ทำให้ผู้อ่านได้ประจักษ์แจ้งในเรื่องราวของบุคคลอันหลากหลาย ที่ผสานเข้ากับเจตจำนงและยุทธวิธีในการใช้ชีวิตและนำพาชีวิตของเขา…อย่างแยบยลและเป็นที่เข้าใจ…

“ฉันไม่คิดว่า…เราต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบอดีต…นั้นอีก เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่เรากลับไปค้นหารากเหง้าของเราได้ ไปเรียนรู้คุณค่าของปู่ย่าตายาย และดูว่ามีอะไรดี ๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตวันนี้”

ทั้งหมดนั้น…จึงคือข้อสรุปสำคัญ…ที่โลกจะต้องมองไปในทางเดียวกัน เกี่ยวกับประเด็นอันสำคัญนี้ หาใช่การมุ่งทำลายรากเหง้าแห่งกำพืดอันดั้งเดิมและจริงแท้ของตนแต่อย่างใดไม่…

“…ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ได้…ถ้าเป็นรุ่งอรุณ แต่นี่เป็นสนธยา รัตติกาลกำลังมาเยือน บ้านเมืองเราเข้าสู่ยุคทมิฬที่ไม่ควรฮึกเหิม…ควรมองไปข้างหน้าให้ไกล ใจเย็น และต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ เราจะเติบโตไปด้วยกัน…ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

นี่จึงคือความหวังอันสูงสุดตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่เรียนรู้โลกกว้างอย่างชัดแจ้งและถ่องแท้ได้หวังเอาไว้ เป็นความหวังที่หยั่งลึกอยู่ในจิตใจที่ต้องเผชิญกับภาวะล้มคว่ำล้มหงายอยู่บ่อยครั้ง…กระทั่งเป็นความสิ้นหวังดั่งวันนี้… ความงามของ “ดอกไม้บาน” ทางความคิดได้ถูกหว่านโปรย และสรรสร้างแล้ว แต่สถานะแห่งความไม่เท่าเทียมในการเรียนรู้…ผสานเข้ากับอำนาจแห่งเจตจำนงอันชั่วร้ายที่ไม่เคยตายดับสูญ… ก็เป็นดั่งผีร้ายที่ฆ่าไม่ตายและยอมจำนนเสียที..!

“ดอกไม้งาม”ในความหมายของ “เสรี พงศ์พิศ” จึงคือสัญญะอันลึกล้ำที่จักต้องขุดค้นสู่รากเหง้าแห่งธารสำนึกของความประจักษ์แจ้ง…ตัวอย่างข้อคิดจากบรรดาหนังสือ ภาพยนตร์ อุบัติการณ์แห่งชีวิตของปราชญ์นานาที่เป็นข่ายใยซ้อนซับของหนังสือเล่มนี้… นับเป็นทางเลือกของศรัทธาผ่านแก่นแกนขององค์ความรู้ในส่วนขยาย ที่จะทำให้เราในฐานะ “พลเมืองไทย” ได้สะดุดกับทางออกแห่งบรรณาการของปัญญาญาณอันสูงสง่าที่จะเอาชนะอำนาจเถื่อนอันมืดดำและไร้กุศลธรรมธรรมนั้นได้…

“…บ้านเมืองต้องการผู้นำทางปัญญา เราไม่มีอาวุธไปสู้กับอำนาจ เรามีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะกระบอกปืนได้ เรายังไม่แข็งแกร่งพอ…เราแบ่งหน้าที่กันดีกว่า มีคนที่นำการต่อสู้ที่นี่ เพื่อนเรามากมาย ที่ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราทำหน้าที่ของเรา วันหนึ่งเราจะกลับมาร่วมกับเขา”

Related Posts

คำกล่าวสำหรับเปิดตัวหนังสือ “ดอกไม้บานที่อิตาลี” โดย ฯพณฯ ลอเรนโซ กาลันติ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กัมพูชาและลาว
วงวรรณวิจารณ์ ไพรัชปรัชญานิยาย “ดอกไม้บานที่อิตาลี”
Live Facebook! ถ่ายทอดสด งานเปิดตัวหนังสือ ไพรัชปรัชญานิยาย “ดอกไม้บานที่อิตาลี”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com