เสมา “พิมพาพิลาป”


ภาพพระพุทธองค์โปรดพระนางพิมพา
บนใบเสมาทวารวดี

ใบเสมาศิลปะทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ แผ่นหนึ่งสลักภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์โปรดพระนางพิมพาที่ตําหนักของพระนาง หรือที่นิยมเรียกว่าพิมพาพิลาป นับได้ว่าเป็นหนึ่งในงานศิลปกรรมชิ้นเอกในอดีตกาลของแผ่นดินอีสาน โดยใบเสมาแผ่นนี้ค้นพบจากเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

เรื่องราวโดยย่อของพุทธประวัติตอนนี้มีว่าภายหลังจากเทศนาโปรดพระพุทธบิดาและพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว พระองค์ได้เสด็จไปโปรดพระนางพิมพา ณ ตําหนักของพระนาง โดยมีพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จติดตามไปด้วย เมื่อเสด็จถึงตําหนักพระพุทธองค์ได้ประทับบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้เมื่อพระนางพิมพาได้พบกับพระพุทธองค์ก็กรรแสงแสดงความเศร้าโศกเสียใจระคนกับการเคารพสูงสุดด้วยการจับที่ข้อพระบาท เกลือกกลิ้งพระเศียรลงบนหลังพระบาท

เรื่องราวในพุทธประวัติตอนนี้นำมาอธิบายภาพสลักบนใบเสมาแผ่นนี้ได้ว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ตรงกลางภาพในอริยาบถนั่งห้อยพระบาท พระนางพิมพากําลังสยายผมเช็ดพระบาทแสดงถึงความเคารพบูชาอย่างหาที่สุดมิได้ ประเพณีเช่นนี้ยังเห็นได้ในหลาย  ๆ สังคม เช่น อินเดีย มอญ พม่า ด้านหลังของพระนางคือพระราหุลพร้อมด้วยพี่เลี้ยง มีฉัตรและเครื่องสูงทำนองแส้จามรอยู่ด้านหลังพระราหุลด้วย เบื้องขวาของพระพุทธองค์คือพระเจ้าสุทโธทนะพร้อมผู้ติดตาม มีฉัตรและเครื่องสูงอื่น ๆ อยู่ทางด้านหลังเช่นกัน ควรสังเกตด้วยว่าพระเจ้าสุทโธทนะมีเครื่องสูงมากกว่าพระราหุล เครื่องสูงเหล่านี้ยังคงสืบเนื่องต่อมาในปัจจุบัน อาคารทางด้านหลังสื่อถึงตําหนักของพระนางพิมพา ควรสังเกตด้วยว่ามีกรอบหน้าบันละม้ายบ้านทรงไทยในปัจจุบัน ด้านล่างเป็นแนวกําแพงตําหนักหรือกําแพงเมือง มีซุ้มประตูทรงปราสาทพร้อมผู้รักษา ๔ คน

พุทธประวัติตอนดังกล่าวนี้สะท้อนถึงความซื่อสัตย์ และรักเดียวใจเดียวที่พระนางพิมพามีต่อพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี โดยพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดาตรัสเล่าถึงความซื่อสัตย์และรัก

เดียวใจเดียวของพระนางพิมพาที่มีต่อพระพุทธเจ้าว่า เมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ทรงสละความสะดวกสบายและได้รับความยากลําบากอย่างไร พระนางก็ได้กระทำเช่นนั้นเหมือนกัน เช่น พระพุทธองค์ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์ พระนางก็ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน พระพุทธองค์เลิกทรงมาลาพระนางก็เลิกทรงมาลาเหมือนกัน พระพุทธองค์เลิกบรรทมเหนือพระยี่ภูอันสูงอันใหญ่ พระนางก็บรรทมเหนือพื้น พระนางยอมเป็นหญิงหม้ายมิได้รับบรรณาการที่พระราชาอื่น ๆ ส่งมาให้ พระนางมีจิตมิได้เปลี่ยนแปลงเลย

เมื่อทรงทราบเช่นนั้นพระพุทธองค์ จึงตรัสตอบว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่พระนางจะมีความซื่อสัตย์และมั่นคงถึงเพียงนี้เพราะในอดีตชาติที่เกิดเป็นกินนรและกินรีก็เคยแสดงความรักความซื่อสัตย์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาชาดกเรื่องจันทกินนรชาดก อันเป็นเรื่องราวในอดีตชาติที่พระพุทธองค์เกิดเป็นกินนร และพระนางพิมพาเกิดเป็นกินนรีครองรักกันอยู่ในป่าหิมพานต์

เรื่องราวโดยสังเขปของจันทกินนรชาดกมีว่า พระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปเที่ยวป่าหิมพานต์ได้พบกินนรกับกินรีคู่หนึ่งครองรักมั่นต่อกันอยู่ พระเจ้าพรหมทัตตกหลุมรักในนางกินรีเป็นอย่างยิ่งจึงยิงศรไปยังกินนรผู้เป็นสามีจนเสียชีวิต พระเจ้าพรหมทัตพยายามเกลี้ยกล่อมให้นางกินรียอมเป็นอัครมเหสี แต่ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงยอมจากลาไปในที่สุด นางกินรีเศร้าโศกเสียใจเป็นยิ่งนัก พรํ่าเพ้อรําพันถึงคู่ชีวิตปานจะขาดใจ ในที่สุดนางกินรีได้อ้อนวอนว่า ด้วยอำนาจของความซื่อสัตย์ต่อสามีขอให้เทวดามาช่วยเถิด พระอินทร์จึงรีบลงมาใช้นํ้าทิพย์ราดลงที่บาดแผล กินนรผู้เป็นสามีจึงฟื้นคืนชีพและครองรักกันสืบไป

ความงดงามของภาพพุทธประวัติบนใบเสมาแผ่นนี้ นับเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นถึงฝีมือช่างชั้นสูงของชาวอีสาน และยังสะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีด้วย อีกทั้งยังแสดงภาพสถาปัตยกรรมทวารวดีอีสานซึ่งในปัจจุบันไม่เหลือของจริงที่สมบูรณ์ให้ศึกษาได้แล้ว

***

คอลัมน์  เมืองอีสานเมื่อพันปี นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๑| มกราคม ๒๕๕๗

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)
ทางอีศาน 21 : ฟ้อนรับปีใหม่
เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ : สวัสดีปีใหม่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com