ประชาคมใหม่ในสังคมนิรนาม
สังคมนิรนาม คือ สังคมที่ผู้คนไม่รู้จักกัน ดูจราจรบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถรา ผู้คนตามถนนหนทาง ตามห้าง ตามตลาดนัด ตึกรามบ้านช่องป่าคอนกรีตในเมือง หมู่บ้านจัดสรรที่อยู่กันเป็นพันเป็นหมื่น บ้านอยู่ติดกันเป็นสิบ ๆ ปียังไม่รู้จักกัน ไม่เคยพูดจากัน
สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมปิดที่แคบ ๆ เป็นญาติพี่น้องอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ อย่างมากก็ไปเชื่อมโยงกับญาติพี่น้องในชุมชนใกล้เคียง หรือห่างออกไปที่ผูกพันเป็นเพื่อน เป็นสหาย เป็นเสี่ยว ที่เป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่ผู้คนในชุมชนนั้น ๆ ด้วย
ความเชื่อในจารีตประเพณีเป็นวิถีชุมชน ที่ผูกมัดผู้คนเข้าด้วยกัน ให้เป็นพี่เป็นน้อง ให้พึ่งพาอาศัยกัน รวมไปถึงการผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เขา และสรรพสิ่ง เป็นสังคมที่มี “ตัวตน” ที่แต่ละคนรู้ว่าตนเองเป็นใคร มาจากไหน และจะไปไหน และไม่ใช่ตัวคนเดียว แต่เป็นชุมชน
ความสัมพันธ์ทั้งหมดปรากฏในความเชื่อเรื่องผี ที่เป็นกฎระเบียบนำการปฏิบัติ ผิดกฎ คือ ผิดผีที่คนมีความเคารพยำเกรง เชื่อว่าตนเองอยู่ได้ด้วยความปรานีจากธรรมชาติ และเหนือธรรมชาติ มีจารีตประเพณีหรือ “ผี” ที่คุ้มครอง เป็น “ผี” เดียวกัน ที่เป็นสายสัมพันธ์ผูกมัดให้ผู้คนอยู่ดีมีสุขร่วมกัน
การพัฒนาทำให้ชีวิตเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เปิดโลกชุมชนเล็กไปสู่โลกสังคมใหญ่ ไปมาหาสู่กันแบบไร้พรมแดน อยู่ที่ไหนก็ไปได้ไปถึง อยากบินก็บินได้ ข้ามเขตแดนภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม
ในสังคมที่กว้างใหญ่ ไม่ใช่หนองน้ำเล็ก ๆ แต่เป็นทะเลอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ ความสัมพันธ์แบบเดิมหายไป ความเกรงใจคนอื่นและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพราะมี “ผี” ที่ผูกพันไว้ก็หายไป สังคมนิรนาม ผู้คนก็นิรนาม ตัวใครตัวมัน ดิน น้ำ ป่าเขา จึงถูกทำลายโดยไม่เกรงใจใครแม้แต่ผี
อย่างไรก็ดี สังคมอันกว้างใหญ่ก็ไม่ได้โหดร้ายไปเสียทุกเรื่อง เพราะคนก็ยังมีความคิดจิตใจที่เต็มไปด้วยพลังที่จะปรับตัว และเอาตัวให้รอดในสถานการณ์ใหม่ แม้ว่าเวลาแห่งวิวัฒนาการจะเนิ่นนานไม่น้อย กว่าจะเกิดมีความสัมพันธ์ใหม่ เกิดมีญาติที่ไม่ใช่สายเลือด แต่เป็นญาติทางวัฒนธรรม
กว่าจะได้ยินเสียงคนอีสานพูดคุยกันตามตลาด ตามห้าง สถานที่สาธารณะ หรือจากสถานีวิทยุที่ภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ ทางทีวีในรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง หรือรายการตลก หรือทางละคร ปรากฏอัตลักษณ์อีสานที่สะท้อนความเชื่อมั่นและตัวตนของคนอีสาน ที่ถูกครอบงำจนหมดความเชื่อมั่นในตนเองมานาน
จากชุมชนในสังคมเกษตรที่ผู้คนรู้จักกันโดยธรรมชาติ สังคมอุตสาหกรรมได้ทำลายความสัมพันธ์นั้นลง เป็นสังคมเมืองใหญ่ สังคมธุรกิจ มีลูกจ้างนายจ้าง มีนายทุนกรรมกร มีพ่อค้าลูกค้า
แต่คนก็ปรับตัว สร้างพื้นที่ใหม่ ชุมชนใหม่ขึ้นมา จากความสัมพันธ์เพราะอาชีพเดียวกัน เพราะสังกัดหน่วยงานองค์กรเดียวกัน เพราะเคยเรียนมาจากสถาบันเดียวกัน เพราะมาจากจังหวัดเดียวกัน ภาคเดียวกัน ประเทศเดียวกัน เหมือนชมรมคนไทยในต่างถิ่น ต่างประเทศ
ในชุมชนที่ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างไปเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สิน คนที่อยู่ก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กรภายในชุมชน ในแต่ละท้องถิ่น เป็นสหกรณ์ เป็นกลุ่มเกษตรกร เป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นชมรม สมาคม สมัชชา เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์เก่า และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ เพราะไม่มีใครอยู่รอดได้เพียงลำพัง ยิ่งในสังคมโลกอย่างวันนี้ ถ้าอยู่โดดเดี่ยวก็อาจตายโดยไม่มีใครรู้ สามวันห้าวันคนจึงพบว่าเป็นศพก็มี
สังคมไทยไม่ได้อยู่ในยุคอุตสาหกรรมแล้ว แต่อำนาจทุน อำนาจรัฐ ยังอยากคงอยู่เช่นนั้น เพราะจะครองอำนาจต่อไปได้มากที่สุด ถ้าหากเป็นสังคมประชาธิปไตยเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว อำนาจทั้งสองย่อมลดน้อยลงและถูกควบคุมโดยอำนาจประชาชน มีพลังประชาสังคม ไม่ใช่พลังประชารัฐ
อัตลักษณ์ของสังคมใหม่ในสังคมประชาธิปไตย จึงเกิดขึ้นจากพลังประชาสังคมที่เข้มแข็ง การรวมตัวกันของผู้คนในสาขาอาชีพและท้องถิ่นต่าง ๆ จากระดับรากหญ้า ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติและนานาชาติ เป็นเครือข่ายที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของบ้านเมือง
เครือข่ายที่เข้มแข็งมากที่สุดในประเทศไทยเป็นเครือข่ายภาคธุรกิจในแนวราบ และเครือข่ายภาครัฐในแนวดิ่ง จึงไม่แปลกที่ทั้งสองกุมอำนาจในบ้านเมือง ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนยังมีน้อย พลวัตหรือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงยังมีไม่มากพอ ไม่สามารถผนึกพลังกับคนที่มีจิตใจประชาธิปไตยจริง ๆ ในภาคธุรกิจและภาครัฐให้เป็นเครือข่ายประชาสังคมที่มีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้
ใกล้บ้านเรามีตัวอย่างของสังคมนี้ คือ อินโดนีเซีย ซึ่งตั้งแต่โค่นประธานาธิบดีซูฮาร์โต เผด็จการทหารที่ครองอำนาจยาวนานถึง ๓๑ ปีลงได้เมื่อปี ๒๕๔๑ สังคมอินโดนีเซียเติบโตเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่มีประชากรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ทหารอินโดนีเซียกลับเข้ากรมกอง ทหารตำรวจไม่มีบทบาทในการกำหนดการบริหารจัดการบ้านเมืองอีก อยากเล่นการเมืองก็ถอดเครื่องแบบสู้กัน เป็น ๒๐ ปีแห่งประชาสังคมที่ผนึกพลังกัน จัดระเบียบสังคมใหม่ จนเกิด “ประชาคมใหม่” ดูแลบ้านเมือง เลือกตั้งเมื่อเมษายนที่ผ่านมาวันเดียวก็รู้ผลเลือกตั้งแล้ว ทั้ง ๆ ที่คนไปลงคะแนนมากถึง ๑๘๐ ล้านคน
ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นสังคมประชาธิปไตย ในความหมายที่ว่าประชาชนปกครองตนเอง ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกว่าที่เป็นอยู่
และอาจเป็นไปตามภาพฝันของนักรัฐศาสตร์อย่าง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ว่า
“ทุกวันนี้เศรษฐกิจของเราอยู่ได้ด้วยภาคเอกชน ฉันใดก็ฉันนั้น ผมคิดว่าประเทศชาติของเราในยุคต่อไปจะอยู่ได้ก็เพราะชุมชนและท้องถิ่น ไม่ได้อยู่ที่รัฐ รัฐยังสำคัญอยู่ แต่ความสำคัญของรัฐไม่ได้อยู่ที่การทำแทน ทำให้ แต่จะอยู่ว่าจะทำอย่างไรจะปลดปล่อยพลังใหม่ ๆ ที่ในชุมชนท้องถิ่นให้ออกมาให้มากขึ้น ทางรอดของประเทศชาติ ทางรอดของระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่นั่นครับ”
อยู่ที่ว่า สังคมนิรนาม สังคมที่ถูกครอบงำ จะพัฒนาเป็นสังคมที่มีตัวตน มีอัตลักษณ์ และปลดปล่อยพลังอำนาจของตนเองได้อย่างแท้จริงโดยเครือข่ายประชาสังคมที่เข้มแข็ง จนเกิด “ประชาคมใหม่” ได้อย่างไร
เพราะที่จริง คำว่าประชาคม (community) กับชุมชน (community) คือ คำเดียวกัน ความหมายเดียวกัน ต่างกันที่การใช้และบริบทเท่านั้น