รำลึก ๑๒๙ ปีชาตกาล และกึ่งศตวรรษอสัญกรรม “ลุงโฮ” วีรบุรุษแห่งอัมนัม (๒)

รำลึก ๑๒๙ ปีชาตกาล และกึ่งศตวรรษอสัญกรรม “ลุงโฮ” วีรบุรุษแห่งอัมนัม (๒)


“ไม่มีสิ่งใดมีค่าเกินกว่าเอกราชและเสรีภาพ”

อมตะวาจาตอนหนึ่งของท่านโฮจิมินห์ในสุนทรพจน์ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488

๑.

“…ปวงชนชาวเวียดนามต่างสำนึกร่วมกันแล้วว่า พวกเขาได้ต่อสู้เพื่อจบสิ้นความขมขื่นที่บรรดานักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ทำไว้ และบัดนี้เราได้ชัยชนะของชาติกลับคืนมาแล้ว…”

ท่านโฮจิมินห์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีภายหลังเวียดนามประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488 เป็นห้วงยามที่ฝรั่งเศสกำลังอ่อนเปลี้ยจากการโจมตีของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่หลังจากนั้น ฝรั่งเศสกระชุ่มกระชวยขึ้นอีกครั้งเมื่อสัมพันธมิตรมีชัยเหนือนาซี จึงหวนกลับมาอินโดจีน หวังทวงอาณานิคมเวียดนามคืน เหมือนยังไม่สร่างจากความหื่นกระหาย แม้จะกอบโกยทรัพยากรจากดินแดนนี้ไปมากมายแล้วก็ตาม

ท่านโฮจิมินห์เปลี่ยนบทบาทใหม่เป็นจอมทัพบัญชาการกองกำลังเวียดมินห์ ต่อสู้กับฝรั่งเศสแบบมดสู้กับเสือ จนได้รับชัยชนะอย่างเหลือเชื่อในสงครามแตกหักที่สมรภูมิเดียนเบียนฟูอันลือลั่น ทำให้ฝรั่งเศสยอมยกธงขาวในปี ๒๔๙๗ แต่เวียดนามต้องถูกแบ่งเป็นเหนือกับใต้ที่เส้นขนานที่ ๑๗ ตามข้อตกลงเจนีวา แล้วมีมหาอำนาจตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าคือสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่ คราวนี้ท่านโฮจิมินห์นำกองกำลังเวียดกง (ย่อจาก “เวียดนามก่งสา” หมายถึงคอมมิวนิสต์เวียดนาม) แต่ยังไม่ทันได้เห็นชัยชนะเหนือสหรัฐฯ และไม่ได้ร่วมฉลองการรวมชาติเหนือกับใต้ ในปี ๒๕๑๘ เพราะท่านด่วนจากไปเสียก่อน ตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๒

แน่นอนว่าในระหว่างการกอบกู้เอกราชก่อนปี ๒๔๘๘ ท่านคือหนามยอกอก และก้อนกรวดในรองเท้า ที่ฝรั่งเศสเตรียมกิโยตินไว้บั่นคอทันทีที่จับตัวได้ การสัญจรไปสร้างแนวร่วมกู้ชาติในประเทศต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างลับที่สุด ยิ่งท่านโฮจิมินห์ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ แต่ใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย นุ่งเจียมห่มเจียม แถมไม่มีครอบครัว ทั้งยังเข้ามาเคลื่อนไหวในสยามเพียงช่วงสั้น ๆ ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวชีวิตในแดนสยามของนักกู้ชาตินามอุโฆษท่านนี้ มีรายละเอียดไม่มากนั้น นอกจากในความทรงจำของ “ลุงเตียว” ซึ่งได้สัมผัสใกล้ชิดท่านโฮจิมินห์ตอนที่ลุงยังเด็กมาก หลายเรื่องราวก็รับรู้จากที่พ่อเล่าให้ฟังตอนโตแล้ว

“…แล้วรังนกพิราบตรงยุ้งข้าวนั่นก็ของท่านโฮจิมินห์ด้วยหรือครับ?…”
“…ใช่ ลุงโฮท่านเลี้ยงนกพิราบไว้สื่อสารกับพรรคพวก เพราะนาของท่านอยู่ไกลจากบ้านท่านจึงใช้นกพิราบสื่อข่าว แต่รังเก่ามันพังไปแล้ว ผมเลยทำจำลองขึ้นใหม่ แต่ตั้งไว้ใกล้ยุ้งข้าวเหมือนเดิม…”

ลุงเตียวฟื้นความทรงจำขณะพาผมไปดูโต๊ะไม้ตัวเดิมที่ท่านโฮจิมินห์ใช้นั่งทำงาน ส่วนเก้าอี้เป็นตัวใหม่ เพราะตัวเดิมหัก ทางพิพิธภัณฑ์แห่งกรุงฮานอยจึงขอไปซ่อมแซมเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของท่านผู้นำเมื่อครั้งเข้ามาเคลื่อนไหวในสยาม ซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่าท่านเข้ามาในปี ๒๔๖๖ – ๒๔๗๓ รวม ๗ ปี หรือ ๒๔๗๑ – ๒๔๗๒ รวมเวลาปีเศษ แต่มีเอกสารหลายฉบับระบุประการหลังมากกว่า เนื่องจากก่อนปี ๒๔๗๑ มีหลักฐานว่าท่านเคลื่อนไหวอยู่ในยุโรป

หนังสือ “โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ” โดย ศุขปรีดา พนมยงค์ ระบุว่า พ.ศ. ๒๔๗๑ เหงวียน อาย คว็อก โดยสารเรือจากเมืองท่าเจนัวในอิตาลี โดยทำทีเป็นพ่อค้าชาวจีนกวางตุ้งชื่อ “มิสเตอร์ไล” ใช้ภาษากวางตุ้งที่ท่านถนัดสื่อสารกับคนอื่น จนมาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพฯ จากนั้นอาศัยเครือข่ายชาวเวียดนามอพยพที่รักชาติ เดินทางไปเคลื่อนไหวสร้างแนวร่วมกู้เอกราชที่บ้านป่ามะคาบ อำเภอเมืองพิจิตร บ้านหนองโอน อำเภอเมืองอุดรธานี และบ้านนาจอก อำเภอเมืองนครพนม

จนมีตำนานเล่าขานในหมู่ชาวเวียดนามอพยพว่า พาหนะที่นำเหงวียน อาย คว็อก และคณะ เดินทางจากพิจิตร สู่อุดรฯ และนครพนม คือสองเท้าที่ก้าวย่างไปจนบวมเป่งเพราะอักเสบแต่ท่านก็ให้กำลังใจบรรดาสหายนักกู้ชาติว่า

“…ถ้าเราอดทน เดี๋ยวมันก็จะชินไปเอง…ไม่มีภารกิจใดใต้ผืนฟ้านี้ จะสำเร็จได้โดยขาดความมุ่งมั่นและอดทน…”

อนุสรณ์สถานของนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ จัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ที่บ้านนาจอกภาพสะท้อนชีวิตอันสมถะ เรียบง่ายของท่านโฮจิมินห์ หรือ “เฒ่าจิ๋น” ผู้เป็นที่รักของมวลชนที่รายล้อมลุงเตียว หรือ เหงวียน วัน เตียว อาจคือเวียดเกี่ยว บ้านนาจอกคนสุดท้ายที่เคยใกล้ชิด “เฒ่าจิ๋น”

๒.

“…ชาวเวียดนามทั้งหลายจงสามัคคีกันต่อสู้กับจักรวรรดินิยมนักล่าเมืองขึ้น รวมทั้งต่อต้านศัตรูคือความอดอยากหิวโหย และศัตรูที่เป็นความโง่เขลา คือการไม่รู้หนังสือ…”

วันหนึ่ง มีคนถามเฒ่าจิ๋นว่า การที่ท่านพยายามแบ่งเวลามาเรียนภาษาไทยวันละเล็กละน้อย วันหนึ่งเรียนได้ไม่กี่คำ แล้วเมื่อไรจะอ่านเขียนภาษาไทยได้ เฒ่าจิ๋นตอบว่า “เรียนน้อยเข้าใจมาก ดีกว่าเรียนมากแต่เข้าใจน้อย” แล้วหลังจากนั้นเพียงสี่เดือน ท่านก็ใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

การเรียนให้รู้ทั้งภาษาไทยและภาษาเวียดนาม เพื่อกำจัดศัตรูคือความโง่เขลา เป็นสิ่งที่ท่านปลูกฝังจนกลายเป็นจิตสำนึกของเวียดเกี่ยวในแดนสยามทุกคน จนแม้บางช่วงเวลารัฐบาลไทยจะหวาดระแวง แล้วประกาศให้การเรียนการสอนภาษาเวียดนามเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมถึงสมัยหลังเวียดนามเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ ปี ๒๕๑๘ แต่ก็มิอาจปิดกั้นหัวใจใฝ่เรียนรู้ที่ลุงโฮพร่ำสอนพวกเขาได้

“…สมัยนั้นเรียนกันแบบหลบ ๆ ซ่อน ถ้าตำรวจรู้จะโดนจับเรารวมกลมุ่ กัน ๕-๖ คน เรียนที่ใต้ถุนบ้านบ้าง ในครัวบ้าง มีคุณย่าคุณยายเฝ้าหน้าบ้าน พอมีตำรวจหรือคนแปลกหน้ามา ก็จะส่งสัญญาณให้รู้ เช่นพูดว่า เด็ก ๆ เอ๊ย วัวที่ไหนหลุดมา พวกเราก็สลายตัว บางทีก็วิ่งหนีเข้าป่าหลังบ้านไป…”

โสภา วรหาญ หลานสาวลุงเตียว อาจเป็นเวียดเกี่ยวรุ่นสุดท้ายที่ต้องลักลอบเรียนภาษาเวียดนาม เพราะหลังจากนั้น เมื่อความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามดีขึ้นเรื่อย ๆ การเรียนภาษาเวียดนามก็เป็นไปอย่างเปิดเผย โสภาได้รับเชิญเป็นหนึ่งในครูผู้สอนของจังหวัดนครพนม โดยรัฐบาลเวียดนามส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมให้จนเธอและคณะครูพร้อมทำการสอน สถานที่เรียนก็มีอาคาร “ศูนย์มิตรภาพนครพนม – ฮานอย” อันโอ่อ่าที่ใจกลางเมืองนครพนม

แต่ปัญหาคือยังหาคนมาเรียนไม่ได้ เพราะเด็กวัยรุ่นเวียดเกี่ยวเดี๋ยวนี้สนใจเรียนแต่ภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น ตามกระแสเห่อดารานักร้อง…”

นั่นอาจเป็นปรากฏการณ์ชั่วครู่ชั่วยามตามกระแส ทว่าสิ่งที่ผนึกแน่นในจิตใจชาวเวียดนามอย่างไร้กาลเวลา คือการตระหนักในคุณค่าคำสอนของ “ลุงโฮ” ที่ว่า การสร้างชาติพึงต้องปลูกต้นไม้ควบคู่กับการปลูกคน การปลูกต้นไม้ต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย การปลูกคนพึงใส่ปุ๋ยทางปัญญา คือการหมั่นเรียนเขียนอ่าน

คำสอนนี้ปรากฏเป็นจริงให้ประจักษ์ ด้วยการที่เวียดนามมีอัตราผู้รู้หนังสือสูงติดอันดับโลกและมีนักเรียนคว้าเหรียญทองจากการแข่งขัน “โอลิมปิกวิชาการ” มากติดอันดับโลกเช่นกันทั้ง ๆ ที่ผู้คนในประเทศนี้ต่างประสบเคราะห์กรรมจากศึกสงครามมาอย่างหนักหน่วงยาวนานเหลือเกิน

ด้วยคารวะ ท่านโฮจิมินห์ และลุงเตียว วงศ์ประชาสุข (เหงวียน วัน เตียว) แห่งบ้านนาจอกนครพนม ซึ่งวันนี้จากพวกเราไปแล้ว


สวนดอกไม้รายล้อมบ้านท่านโฮจิมินห์ เหมือนชาวเวียดเกี่ยวบ้านนาจอกปกป้อง “เฒ่าจิ๋น”
ระหว่างปฏิบัติการลับในสยาม

บ้านท่านโฮจิมินห์ที่สร้างจำลองตามแบบเดิม ณ จุดที่ตั้งเดิม ภายในสวนผลไม้ของลุงเตียวที่บ้านนาจอก

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com