ชาวนาป้ายแดง

ทางอีศาน ฉบับที่๑๐ ปีที่๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: หลงฮอยอีสาน
Column: Passion of E-shann Culture Trail
ผู้เขียน: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม : เรื่องและภาพ

I-saan (Northest Thailand) is an agricultural society because most of people here planting rice for a living. Upland rice is very common in I-saan because it is easy to grow in a plateau site like what I-saan is. The most popular upland rice including

“Khao Buk Roen” that is named after the name person who brought and grew the rice.

“Khao Phaya Luem Gaeng” that named is derived from a very good taste it has. It has crispy sweet taste, so you could be able to forget other dishes after you ate the rice.

“Khao Muen Larn Mum” is a rice seed that could grow and give you many more quantity of rice from only one seed.

“Khao Lao Taek” refers to a very delicious taste of it that the barn could be exploded (Lao Taek).

“Khao Mhaew Daeng” is derived from the distributor of the rice, Mhong (or Mhaew).

“Khao Muen Larn” has a history like “Khao Muen Larn Mum”

“Khao Eee Lhub” is derived from characteristic of the rice that has heavy ear, so the tip of it bends down to the ground.

“Khao Gum Rhai” is “Khao Gum”(Purple rice) that we know well.

“Khao Pla Siw Thong” is derived from the rice seed that looks like tail of “Pla Siw”(Minnow).

and “Khao Leb Chang” is derived from the big seed like elephant’s nail (leb chang).

King Bhumibol Adulyadej had an idea to develop rice line in upper northeast Thailand. So the Bureau of Rice Research and Development (BRRD) improved the rice line and got a new developed rice line named “Gor Khor 12”, by crossing between local rice “Haang Yhee 71” and “Gor Khor 6”. The “Gor Khor 12” is a sticky rice line that has high sensitivity to photoperiod, resistant to blast disease and has earlier fl owering date.

Panomporn Sanprasert


 

eshann10_passion

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ฉันจึงหยิบหนังสือเรื่องสี่แผ่นดิน ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าตัวอักษรในนั้นจึงทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์

‘สี่แผ่นดิน’ เป็นบทประพันธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๙๔-๒๔๙๕ นอกจากจะเสพความเพลิดเพลินจากเนื้อหาแล้ว ยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมในรั้วในวัง และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๘ ซึ่งบุคคลธรรมดาทั่วไปไม่เคยทราบและควรทราบ เมื่อครั้งที่มีโอกาสได้พบกับอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านยังแนะนำว่า “สี่แผ่นดินเป็นหนังสือ ๑ ใน ๕ เล่ม ที่คนไทยควรจะต้องอ่าน”

ผู้อาวุโสของครอบครัวท่านหนึ่งเล่าว่า “ช่วงที่หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์ถึงตอนที่แม่พลอยกำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น มีผู้อ่านที่ ‘อิน’ จัดถึงขนาดส่งมะม่วงไปให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ว่าฝากให้แม่พลอยแก้แพ้ท้องเลยทีเดียว” ตอนที่ฟังขณะนั้นก็เห็นเป็นเรื่องขำดี แต่ตอนนี้ทราบแล้วว่าความรู้สึกนั้นเป็นเช่นไร เพราะหลังจากที่ฉันอ่านนวนิยายอันเป็นตำนานนั้นจบก็เกิดอยากรับประทานข้าวเม่าหมี่ขึ้นมาติดหมัด !

‘ข้าวเม่าหมี่’ ในเรื่องสี่แผ่นดิน จะเรียกเป็นอาหารสื่อรักเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในตอนนั้นแม่พลอยและคุณเปรมต้องตามเสด็จไปยังพระราชวังบางปะอิน พวกคุณข้าหลวงต่างพากันทำขนมขบเคี้ยวเตรียมไปเป็นเสบียงกรัง แม่พลอยจึงคิดปรุงข้าวเม่าหมี่เพราะมีน้ำหนักเบาสะดวกแก่การพกพาในการเดินทาง ระหว่างทางได้ปันให้ทางมหาดเล็กรับประทานกันด้วย เมื่อคุณเปรมได้ชิมข้าวเม่าหมี่ก็เกิดติดใจในรสชาติจนอยากหาตัวผู้ทำขึ้นมา

ฉันลองใช้เสิร์ชเอ็นจิ้นค้นหาวิธีทำปรากฏว่าไม่ได้ยากเย็น ซ้ำยังอาจจะมีกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ อีกด้วย เพียงนำข้าวเม่ามาทอดให้พองกรอบ คลุกกับน้ำตาลทราย ตัดรสด้วยเกลือป่นเล็กน้อย แล้วค่อยนำเอากุ้งแห้ง เต้าหู้ ถั่วลิสงและหอมแดงที่ทั้งทอดทั้งเจียวกันให้กรอบกรุบ คลุกเคล้าตามลงไปเป็นอันเสร็จพิธี เป็นอาหารง่าย ๆ อ้อ! มีอีกจุดที่น่าสนุก คือ วิธีรับประทานด้วยการเจียนใบตองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ไม้กลัดไว้ให้เป็นรูปกรวย เวลาจะรับประทาน ก็ตักข้าวเม่าหมี่ใส่กรวย แล้วเราก็กระดกกรวยใส่ปากโดยไม่ต้องกลัวหก เพราะส่วนปลายของกรวยใบตองที่ยื่นเกินออกมา จะทำหน้าที่เป็นสะพานให้ข้าวเม่าหมี่แสนอร่อยเดินทางเข้าสู่ปากของเราอย่างสะดวกดาย

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ‘ทำไมฉันจึงปลูกข้าวใส่กระถางไว้เต็มบ้าน’ แทบทุกคนที่ทราบความก็ติงว่า ‘ไปซื้อกินจะไม่ง่ายกว่าหรือ’ ไอ้ง่ายน่ะมันก็ง่ายอยู่ แต่มันไม่ได้อารมณ์ ลองคิดดู ข้าวที่เราปลูก ฟูมฟักเองกับมือ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างพิถีพิถัน รสชาติมันจะดื่มด่ำกำซาบขนาดไหน

หลังจากเกิดเมกกะโปรเจ็คต์ข้าวเม่าหมี่ขึ้นมาทางเทศบาลนครขอนแก่นได้มีการจัดงานมหกรรมชาวนาขึ้นที่บริเวณสวนสาธารณะบึงแก่นนคร ช่างเป็นเหตุบังเอิญที่เรียกว่า ‘ลงล็อค’ พอดิบพอดีทางเดินคดเคี้ยวของสวนสาธารณะพาฉันไปโผล่ตรงบริเวณซุ้มจัดแสดงผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติสอบถามได้ความว่ามาจากจังหวัดกาฬสินธุ์นอกจากผ้าฝ้ายมัดย้อมแล้วยังมีการนำเมล็ดข้าวไร่มาแสดงอีกด้วย ต่อมช่างสงสัยที่มักจะอักเสบอยู่เนือง ๆ เริ่มทำงานอีกครั้ง สาวน้อยประจำซุ้มยิ้มอาย ๆ บอกว่าจะไปตามผู้อาวุโสมาอธิบายให้ฟังแล้วผลุบหายไปอย่างรวดเร็ว แม่ใหญ่ก็ขี้อายไม่แพ้อีนาง ต้องจับจูงเพื่อนมาอีก ๒ คน ค่อยอุ่นใจ แล้วจึงอธิบายว่า

“เมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาแสดงเป็นข้าวไร่ ข้าวไร่คือข้าวที่ปลูกบนที่สูง เมล็ดข้าวที่นำมาวันนี้ก็จะมี ข้าวบักเริญ ที่มาของชื่อก็คือ คนชื่อ เริญ ไปรับมาปลูก พอกินแล้วอร่อยดีจึงปลูกกันแพร่หลายเลยให้ชื่อบักเริญ ข้าวพญาลืมแกง ซึ่งมีที่มาจากความอร่อย ออกรสหวานมัน อร่อยเสียจนลืมที่จะรับประทานแกงเป็นกับข้าวไปเลย” แหม ฟังแม่ใหญ่จากกาฬสินธุ์เล่าแล้วเกิดอาการน้ำลายสอทีเดียว แม่ใหญ่ทั้งสามเห็นฉันทำหน้าสนใจมากจึงผลัดให้อีกคนมาเล่าต่อ

“ข้าวหมื่นล้านมุม คือ ข้าวเมล็ดเดียวแต่ปลูกแล้วรวงหนึ่งได้หลายเมล็ด คือได้ปริมาณเยอะนั่นเอง ข้าวอีดำ มาจากลักษณะของเมล็ดข้าวซึ่งมีเปลือกสีดำ ข้าวเล้าแตก หมายถึงกินกันอร่อยจนยุ้งแตกไปเลย ส่วน ข้าวแม้วแดง นี่ก็คือม้งเอามาเผยแพร่ ข้าวหมื่นล้าน ที่มาก็คล้าย ๆ กับข้าวหมื่นล้านมุม” แม่ใหญ่คนที่ ๒ คอคงเริ่มแห้งจึงพักจิบน้ำ ผู้อาวุโสอีกคนที่เหลือจึงมาแตะมืออธิบายให้ฉันฟังต่อ

“ข้าวอิหลุบ มีที่มาจากลักษณะของรวงข้าวซึ่งมีรวงขนาดใหญ่ น้ำหนักมากทำให้รวงข้าวค้อมลง ยังมี ข้าวก่ำไร่ ก็เป็นข้าวก่ำนี่แหละ ข้าวปลาซิวทอง คือชาวบ้านสังเกตเห็นว่าลักษณะของเมล็ดข้าวนั้นคล้ายกับหางของปลาซิว และ ข้าวเล็บช้าง ก็มีที่มาจากลักษณะของมันซึ่งใหญ่อวบคล้ายกับเล็บของช้างนั่นเอง”

ชื่อของข้าวไร่แต่ละสายพันธุ์ล้วนมาจากความช่างสังเกตของชาวบ้านทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวพญาลืมแกงและข้าวเล้าแตก ทำให้ฉันอยากลิ้มรสกำซาบของมันหนักหนา ชื่อข้าวบางพันธุ์ฟังแล้วรู้สึกน่ารักดี เช่นข้าวอิหลุบ ทำให้ฉันจินตนาการไปถึงสุนัขหูตูบได้อย่างไรไม่ทราบ ส่วนข้าวปลาซิวทองและข้าวเล็บช้างต่างมาจากความช่างสังเกตช่างจินตนาการของชาวบ้าน

จากงานกิจกรรมที่ผ่านมาทำให้ฉันเกิดความคิดอยากลองทำข้าวเม่าหมี่ที่มาจากข้าวไร่บ้าง ดังนั้นในวันหยุดประจำสัปดาห์ของคลินิก ฉันจึงบ่ายหน้าไปขอเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวของจังหวัดขอนแก่น

ตึก ๒ หลังตั้งอยู่ใต้เงาไม้ร่มรื่น ระหว่างกำลังตัดสินใจว่าจะเข้าไปติดต่อที่ตึกไหนดี เจ้าตึกเล็กที่เขียนว่า ‘ศูนย์บริการชาวนา’ ก็ทำท่าเหมือนจะกวักมือเรียก ‘มาหาฉันสิ มาหาฉันสิ’ เสียอย่างนั้นลูกจ้างที่กำลังตากข้าวต่างหยุดมือแล้วมองผู้มาเยือนอย่างงุนงง คงสงสัยว่าผู้หญิงสวมชุดกาวน์สั้นสีขาว ตัดกับส้นสูงสีแจ่ม ท่าทางสำรวย มาทำอะไรในสถานที่นี้

ฉันก้าวเข้าไปในตัวอาคารนั้นอย่างไม่มั่นใจเท่าไร พื้นที่ส่วนใหญ่ของห้องนอกจากโต๊ะเก้าอี้สำนักงานแล้วยังมีเด็กสาวสวมแว่นตา รูปร่างผอมบาง บางเสียจนฉันเกือบไม่สังเกตเห็นเธอ

“สวัสดีค่ะ จะมาติดต่อขอพันธุ์ข้าวไปปลูกค่ะ” ฉันแจ้งความประสงค์ที่มา

“เอาพันธุ์อะไรดีคะ ที่นี่มีแต่ข้าวเหนียวค่ะ” เธอกุลีกุจอเข้ามาบริการ

“…” ฉันเงียบอย่างไม่รู้จะตอบว่ากระไรดี เพราะโผล่ไปแบบคิดว่าข้าวพันธุ์ที่ตนเองต้องการนั้นต้องมีอยู่ที่ศูนย์นี่แหละ

“เอากี่กระสอบดีคะ กระสอบละห้าร้อยบาทค่ะ” เธอกระทุ้งคำถาม

“… คือ มีที่ปลูกไม่มาก แต่อยากจะทดลองปลูกดูเท่านั้น” ฉันยังคงเงียบอยู่เช่นนั้นเป็นนานกว่าจะคิดคำตอบที่ดูเข้าทีที่สุดออกมาได้

“งั้นจะแบ่งให้ค่ะ แต่ต้องไปติดต่อที่อาคารสำนักงานก่อน” เธอตอบแบบมีน้ำใจ

จังหวะก้าวเดินที่คล่องแคล่วทิ้งระยะให้ฉันตามหลังอยู่ราว ๕ ก้าว เธอบอกให้ฉันนั่งรอที่ม้านั่งยาวสักครู่จะไปตามหัวหน้ามาพูดคุยด้วย คำว่า’ไม่เป็นไรค่ะ’ ยังไม่ทันออกจากปาก เธอก็เดินลิ่วไปเสียแล้ว ไม่นานชายที่เธอแนะนำว่าเป็นหัวหน้าศูนย์ก็ตามออกมา ชายผู้มาใหม่ถามคำถามเก่าเหมือนข้อสอบที่เคยผ่านตาทว่ายังคงตอบยากเช่นเดิม

“ใช้พื้นที่กี่ไร่ เป็นนาที่ดอนหรือที่ลุ่ม เป็นดินชนิดไหน” หัวหน้าศูนย์รัวคำถามไม่ยั้ง

“เอ่อ สัก ๖๐ ตารางเมตรได้ เป็นดินร่วนในที่ดอนค่ะ” ฉันปด ซึ่งก็ไม่ได้ปดเสียทีเดียว ยังมีความจริงอยู่ ๑ ใน ๔ แต่ว่าหากสารภาพออกไปก็ไม่ทราบจะบอกอย่างไรว่า ๖๐ ตารางเมตรที่ว่าคือ ๖๐ กระถาง ดินร่วนนั่นก็มาจากดินผสมสำเร็จรูปตรากุหลาบที่ขายกันเป็นกระสอบ และที่ดอนที่ว่าคือดาดฟ้าของคลินิก บวกกับการปลูกกระถางซึ่งน้ำคงระบายออกได้เร็วพอกันกับนาในที่ดอน

“งั้นเอาเป็น กข ๑๒ แล้วกันนะ เป็นลูกผสมระหว่างข้าวพื้นเมืองพันธุ์หางยี ๗๑ และ กข ๖ เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ผลิตมาเพื่อให้เกษตรกรอีสานตอนบนได้ทดลองปลูก ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ มีอายุเบา” หัวหน้าอธิบายยืดยาว ศัพท์แสงทางการเกษตรที่ฟังไม่เข้าใจก็คงไม่ต่างจากเวลาพูดศัพท์เทคนิคทางการแพทย์ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องฟัง เดชะบุญที่มีคู่มือเอกสารโครงการตามพระราชดำริติดมือมาให้ มิเช่นนั้นสมองน้อย ๆ คงจะเออร์เรอร์ (error) แน่เชียว

กำลังจะได้กลับอยู่แล้วเชียว น้องแว่นเอ๋ยไปตามท่านผู้อำนวยการของศูนย์มาทำไมกันเนี่ยขนมและน้ำถูกลำเลียงมาเบื้องหน้าว่าที่ชาวนาแบบจัดมาเต็มอัตราศึก ท่านว่าท่านรู้สึกยินดีที่มีบุคคลภายนอกสนใจในเรื่องการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นและจะจัดนักวิชาการการเกษตรไปช่วยตรวจดูเผื่อต้องการความช่วยเหลือใด ๆ น้ำใจคนใต้พลัดถิ่นนี่ทำให้ฉันรู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน

ข้าวเปลือกครึ่งกิโลกรัมบรรจุในถุงกระดาษปิดผนึกเรียบร้อยถูกส่งมาให้ พร้อมกับความคิดกังวลไปร้อยแปดเกี่ยวกับผลสำเร็จและวิธีแก้ไขหากเกิดปัญหา คำแนะนำในต่างกาลต่างวาระล้วนส่งมาจากผู้ที่มีความปรารถนาดีให้กันเสมอ

“โปรย ๆ ไป จั๊กคราวมันก็ขึ้น ข้าวมันขึ้นง่าย” วิ คุณแม่ลูกสองแห่งร้านขายยาแนะว่าไม่ต้องกังวล

“อั่น ! นี่มันข้าวเหนียวเด๊ะนี่หมอ เบิ่งเทียบกันข้าวเหนียวเปลือกสิออกสีแดง ข้าวจ้าวเปลือกมันสิสีออกขาวเด้อ” แม่ใหญ่ไหว แม่บ้านประจำคณะสัตวแพทย์แนะข้อสังเกต พร้อมกับแบ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิมาให้อีก ๑ กำมือ

“หมออย่าลืมใส่ปุ๋ยให้มันแหน่เด้อ แถวบ้านผมปลูกข้าวนาทรายมันขึ้นมาได้ก็ผอม ๆ แกรน ๆ ก็ต้องใส่ปุ๋ยเอาจังซี่แหละ” สามีของพี่สาวร้านขายต้นไม้แนะนำตอนเอาดินมาส่ง

“หมอเอาออกไปให้มันโดนแดดบ้าง มันสิได้เขียว” เอื้อยสุ เจ้าของสวนอาหารข้างคลินิกแวะมาจ่ายค่าฉีดวัคซีนเลยให้คำแนะนำมาด้วย

“ลมแล้งจากทางทิศใต้กำลังพัดมา คอยดูน้ำท่าให้บริบูรณ์เด้อ ช่วงนี้โอกาสตายสูง” อ้ายกุ่ยสัตวแพทย์หนุ่มที่ผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าและช่างซ่อมจักรยานให้คำแนะนำตอนแวะมาเยี่ยมเยียน

“มันแน่นเกินไป เริ่มแย่งอาหารกันกินละ เบิ่งดู๋ บ่ค่อยงามเลย ต้องเริ่มปักดำละ แยกออกสักกระถาง กระถางละสามต้นพอ ถอนมันออกมาเลยมีรากเดี๋ยวมันก็ไปได้เอง” เอื้อยหนู ชาวนาตัวจริงให้คำแนะนำตอนพาเจ้านอท์ตี้มาฉีดยา

“กล้ากลีบเดียว ที่บ้านอ้ายเรียกอย่างนั้น” ท้าวเดชอรุณ เพื่อนจากทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงเอ่ยคำศัพท์แปลกใหม่ผ่านมาให้รู้จากทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมกับคำแนะนำในเรื่องการคัดเลือกต้นที่จะเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต

เหล่านี้ล้วนเป็นกุนซือขาจร ส่วนขาประจำเห็นจะเป็น ‘สุชาดา ลิมป์’ เพื่อนสาวโอตากุชาวนา ที่หมั่นมาเตือนให้คอยสังเกตเสมอ ๆ ว่ามีเจ้าแมลงเพลี้ยที่มักจะมาดูดน้ำเลี้ยงที่โคนต้นข้าวอันจะทำให้ต้นข้าวของเราเหลืองเพราะขาดน้ำ

เป็นที่ลุ้นกันในหมู่เพื่อนฝูงว่าจะมีข้าวเม่าหมี่รับประทานกันในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้หรือไม่ทุกอย่างก็ดูจะไปได้อย่างงดงามดี แม้จะต้องแบ่งบางกอไปอบแห้งเพื่อเป็นอาหารสำหรับเจ้าหนูแกสบี้ที่มารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเพราะถ่ายไม่ออกก็ตาม

แต่ก็มีเรื่องให้ช็อคซีนีม่าจนได้ หลังกลับจากปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่จังหวัดนครนายกปรากฏว่าต้นกล้าของฉันเหลือแต่ตอ บางส่วนเริ่มแห้งกรอบข้างกระถางเจอเจ้าตั๊กแตนปาทังก้ายืนจังก้าอยู่ น่าโมโหเหลือเกิน ฉันกับมันยืนจ้องกันชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ความเสียหายที่มันก่อไว้ทำให้อยากดีดกะโหลกสักผลัวะ! แต่สุดท้ายมันก็เป็นฝ่ายโบยบินจากไปอย่างไร้เรื่องราว

“แกจะไปโกรธมันทำไม ข้าวแกมีตั้งเยอะตั้งแยะ” โอตากุสาวชาวนาไกล่เกลี่ยผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก (social network)

“แต่มันล่อเสียเหี้ยนเลยเนี่ย” ฉันโวยวายพิมพ์ตอบกลับไป

“เอาน่า มันจะช่วยกินเพลี้ย” หล่อนเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

“แต่มันเป็นปาทังก้านะเว่ย” ฉันค้านการต่อความยาวสาวความยืดระหว่างชาวนาป้ายแดง ๒ คนยังคงดำเนินต่อไป กระทั่งต่างฝ่ายต่างหมดแรงพิมพ์โต้ตอบไปในที่สุด ฉันนั่งมอง ‘อดีตต้นกล้า’ สลับกับถอนหายใจเฮือก ๆ หยิบเอาส้อมพรวนมาจัดการ ตอข้าวที่เหลือถูกพรวนกลับลงไปในดินหวังว่าจะกลายเป็นปุ๋ยหมักให้กับต้นกล้าน้องใหม่ที่กำลังจะปริตา ฉันหย่อนเมล็ดข้าวเปลือกลงหลุมอย่างประณีต เสียดายเหลือเกินที่ยังไม่ทันจะได้ทำขวัญข้าว แต่ใจยังตั้งมั่น ‘เพื่อน ๆ ต้องได้ชิมข้าวเม่าหมี่ฝีมือฉัน’ แน่นอน.

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com