รำลึก อ่ำ บุญไทย “กฤดาการบนที่ราบสูง”

รำลึก อ่ำ บุญไทย “กฤดาการบนที่ราบสูง”
ทางอีศาน ฉบับที่ 14 ประจำเดือนมิถุนายน 2556

e-shann14_อ่ำ

อ่ำ บุญไทย ปัญญาชนที่เติบโตจากชนบทกันดาร ตั้งใจอยากจะเป็นผู้แทนราษฎรมากท่านเขียนหนังสือเผยแพร่อุดมคติและแนวทางทางการเมืองของตนเอง ชื่อเรื่อง “หนังสือกฤดาการบนที่ราบสูง” แต่ท่านไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรหลัง “กบฏบวรเดช” ท่านถูกจับเป็นนักโทษการเมือง ถูกซ้อมทารุณ ถูกปล่อยเกาะ และตายอย่างทรมาน

คนรุ่นใหม่อาจจะลืมท่านไปแล้ว แต่ท่านเป็นตัวอย่างของ “ปัญญาชนท้องถิ่น”หัวก้าวหน้าที่ควรเคารพอย่างยิ่งคนหนึ่ง

อ่ำ บุญไทย (พ.ศ. ๒๔๔๓ – ๒๔๘๖) นามปากกา “แม่น้ำโขง” ฯลฯ ประกอบอาชีพครูและนักหนังสือพิมพ์ เกิดที่บ้านโพนเมืองมะทัน (ปัจจุบัน บ้านโพนเมืองมะทัน อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี)

ประชาชนที่มะทันยากจนมาก อ่ำ บุญไทย ขวนขวายหาความรู้ จนเป็นครูที่ผู้คนนับถือ มีความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้ามาก (ในยุคนั้น) ดังที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจนในหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” (สมาคมมิตรภาพไทยญี่ปุ่น จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๓)

การเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สภาได้บัญญัติให้มีสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒ ประเภท คือ ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยการเลือกผู้แทนตำบลแล้วจึงเข้าไปเลือกผู้แทนราษฎรจังหวัด ส่วนผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้น (อันที่จริงก็คือรัฐบาลแต่งตั้ง)

ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในครั้งนั้น ผู้สมัครเป็นเพศชายทั้งหมด โดยผู้สมัครมีนโยบายในการหาเสียงเน้นการพัฒนาท้องถิ่นเป็นหลัก

ที่แปลกแตกต่างคือการโฆษณาหาเสียงของนายอ่ำ บุญไทย ผู้สมัครจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “กฤษดาการบนที่ราบสูง” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๖ เพื่อแนะนำตัวและหาเสียงในการสมัครเป็นผู้แทนราษฎร เป็นหนังสือเล่มแรกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนตัวผู้แทนให้ได้รับการเลือกตั้ง อ่ำ บุญไทย นับเป็นตัวอย่าง “นักการเมืองถิ่น” คนอีสานที่ต้องคารวะเป็นประเด็นสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นประเด็นหนึ่งที่ควรศึกษา

“การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองท้องถิ่นที่หลากหลาย จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะนักการเมืองถิ่นของภาคอีสาน เพราะในอดีต ปัญญาชนที่มาจากชนบทอีสานโดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความคิด หัวก้าวหน้า ที่ได้แสดงความคิดเห็นทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ เช่นหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และได้ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย (๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖) และได้จัดทำเอกสารเพื่อแสดงข้อคิดเห็นและนโยบายของตนเองผ่านหนังสือชื่อ “กฤดาการบนที่ราบสูง” ที่ตีพิมพ์เสร็จเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และพร้อมที่จะตั้งคณะการเมือง (พรรคการเมือง) คณะหนึ่งขึ้นใน ๕ ถึง ๑๐ ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรแต่อย่างใด รวมทั้งได้ชูนโยบายหลัก ๕ ข้อไว้อย่างชัดเจน (อ่ำ บุญไทย. ๒๕๔๓, น.๑๔๖ – ๑๔๗) ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและแนวคิดของนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานีที่มีความมุ่งมั่นต่อการเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนในอดีตได้อย่างดี แม้ว่าจะแลกด้วยการถูกจับกุมและจองจำ กลายเป็นนักโทษการเมืองรุ่นแรก ๆ ที่เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ในช่วงหลังปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาก็ตาม (อ่ำ บุญไทย. ๒๕๔๓, น.๑๗)”

(เรื่อง “นักการเมืองถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี” โดย นายสุเชาวน์ มีหนองหว้า และ นายกิติรัตน์ สีหบัณฑ์ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๙)

สำหรับเนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น ๔ บท คือ ภาคนำ ว่าด้วยหน้าที่ผู้แทนราษฎร และลักษณะของผู้แทนราษฎร บทที่ ๒ กล่าวถึงประเทศ งานของรัฐบาล สหกรณ์และสมาคมแนวทางปฏิบัติ บทที่ ๓ ว่าด้วยจังหวัด บทที่ ๔ ว่าด้วยทำไมข้าพเจ้าจึงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร

เนื้อความประกอบด้วยเรื่องหลากหลาย ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา เศรษฐกิจ และปรัชญาซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้รู้กว้างขวางของเขาเอง

ในแง่การให้ความหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ยึดโยงกับประวัติศาสตร์โลกที่แบ่งเป็น ๒ ช่วงคือสมัยอำนาจกษัตริย์กับสมัยอำนาจประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านระหว่าง ๒ ช่วงนี้ คือ ประชาชนจะมาช่วยจัดการบ้านเมืองกับกษัตริย์ โดยเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในการใช้อำนาจนั้นร่วมกับกษัตริย์

ดังเช่น “… (ง) สมัยอำนาจกษัตริย์ ผู้ชกเก่งต่อยเก่ง คิดเก่ง รบเก่งได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้า ใช้หลักของผีหรือพระเจ้าและของศาสนาหรือศาสดาคุมกันเข้ากับแนวความคิดและประเพณีนิยมเป็นหลักกฎหมาย มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองอย่างพ่อใหญ่ดูแลทุกข์สุข มีข้าราชการแบ่งแยกงานไปช่วยทำแทนหูแทนตา…(จ) สมัยอำนาจประชาชน ต่อมาฝูงชนฉลาดขึ้น จึงเข้าช่วยคิดอ่านจัดการบ้านเมืองร่วมมือกับกษัตริย์ตามความต้องการของประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้าออกเสียงแทนตน เพราะจะไปประชุมทุกคนไม่ได้ด้วยว่าเป็นจำนวนมากไม่มีที่พอ…บัดนี้เราเดินทางมาถึงอำนาจประชาชน และท่านจะใช้เสียงเลือกผู้เป็นปากเสียงแทนท่าน…”

ซึ่ง กันย์ ชโลธรรังษี วิจารณ์ไว้ว่า (กันย์ ชโลธรรังษี นิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง “การเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสาน หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕” ในการสัมมนา “จาก ๑๐๐ ปี ร.ศ.๑๓๐ ถึง ๘๐ ปีประชาธิปไตย” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย. ๕๕)

“การเสนอในลักษณะดังกล่าว สอดคล้องกับระบอบ Limited monarchy นั่นคือการพยายามจำกัดอำนาจของกษัตริย์ลง แต่ไม่ได้พยายามทำให้รัฐเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกจากนั้นอ่ำยังเสนอต่อมาในหนังสือดังกล่าวว่า ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยมีความสำคัญเทียบเท่าสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งการเสนอโมเดลนี้น่าสนใจว่ารัฐธรรมนูญในสมัยนั้นของญี่ปุ่นคือรัฐธรรมนูญเมจิยังให้อำนาจกับจักรพรรดิญี่ปุ่นอย่างมาก ทั้งในแง่การควบคุมการทำงานของสภาไดเอท และในแง่การบังคับบัญชากองทัพ ซึ่งหมายความว่าสถาบันกษัตริย์จะยังคงมีอำนาจอยู่อย่างน้อย ๒ ทางคือ ทางการทหารและทางการบริหาร”

ในทางเศรษฐศาสตร์ อ่ำ บุญไทย มีความเชื่อลัทธิสหกรณ์ ได้วิจารณ์พาดพิงโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่รัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอและบังเอิญจริง ๆ ที่ความบางตอนไปพ้องกับแนวทางของ ร.๗ และอ่ำเห็นว่าการจัดการแบบสังคมนิยมเป็นเรื่องเพ้อฝัน และเห็นว่าการจัดการเศรษฐกิจควรใช้หน่วยสหกรณ์พึ่งตนเองของชุมชน แบบที่แพร่หลายอยู่ในประเทศเดนมาร์ก (ข้อมูลจาก “นิมิตรมงคลกับอ่ำ” ผู้จัดการออนไลน์ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ )

e-shann14_อ่ำ2

“ขณะติดคุก อ่ำ บุญไทย โดน ขุนศรีสรากร ผู้โหดเหี้ยมในฐานะ ผบ.เรือนจำบางขวาง สั่งให้นักโทษรุมกันทำร้าย ซ้อม และให้ใช้ท่อนไม้รุมกันตีอย่างทารุณ โดยไม่ทราบเหตุผล และสั่งห้ามเขียนหนังสือเผยแพร่ความคิดใด ๆ

ลูกเมียไม่กล้ามาเยี่ยม และถูกรัฐบาลคุกคามจนต้องเผาหนังสือตำราและของหวงต่าง ๆ ทิ้งเสียหมด เอกสารล้ำค่าซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองสูญหายไปสิ้น

ครูอ่ำเจาะท้องตัวเอง และเสียชีวิตที่เกาะเต่าไม่เห็นหน้าลูกเมียรักเลย นับแต่ติดคุกตั้งแต่ปี ๒๔๗๖” (“นิมิตมงคลกับอ่ำ”)

อ่ำ บุญไทย ถูกนำไปคุมขังไว้ที่เกาะเต่า จังหวัดชุมพร ที่นั่นกันดารแสนเข็ญยิ่งเสียกว่าเกาะตะรุเตาอีก ที่นั่นเขาป่วยมาก ท้องมานใหญ่โตทางการเคยส่งแพทย์ไปเจาะท้องให้ครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น อ่ำต้องใช้ตะปูเจาะท้องตนเอง แต่ไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการทางประสาท (เนื่องจากสารพิษสะสม)

วาระสุดท้ายของท่าน ที่บันทึกไว้ในหนังสือ “ประชาธิปไตย สี่สิบสองปี” ของ “ไทยน้อย” รันทดมาก

“๑ กรกฎาคม ๘๖ เป็นเรื่องของอ่ำอีก แต่เป็นเรื่องสุดท้าย เพราะอ่ำจบเกม จบชีวิต จบบทบาทของเขาลงในวันนี้ ตลอดวันวันนี้ เอะอะมะเทิ่งกันตั้งแต่เช้า ด้วยผู้คุมตามตัวอ่ำไม่พบ…

เขากระโจนทะเลตาย… เราคิด ไม่ใช่เช่นนั้นดอก นั่นอะไรเสียอีกเล่า ใต้เตียงนั่นไม่ใช่เขาดอกหรือ ผู้คุมปราดเข้าไปจับตัวเขา แต่สายเสียแล้วตัวเย็นชืด นัยน์ตาปิดสนิท ขาข้างหนึ่งชันขึ้น มือข้างหนึ่งอยู่ในลักษณะกดแน่นที่ท้อง สันนิษฐานว่าคงปวดหนักตรงท้องที่เอาตะปูเจาะไว้เป็นกำลังปวด ปวด และปวดจนกระทั่งขาดใจ…

โธ่… “แม่น้ำโขง” – นามปากกาที่เคยรุ่งเรืองมาแต่อดีต เขาหามศพผ่านเราไปโดยใช้มุ้งคลุมไว้เท่านั้นเอง เรามองดูด้วยความรู้สึกวิเวกวังเวงตนแคร่ศพพ้นประตูโรงขังไป ไปดีเถิด เพื่อนยาก เกิดภพไหน ขอให้เพื่อนจงอยู่ในลักษณะของผู้มีอิสระเสรีจนตลอดเกม

โดยรอบสถานที่ที่ตาย มีกระดาษพร้อมกับลายมือขยุกขยิก ซึ่งอ่านไม่เป็นภาษาอยู่หลายแผ่นเกลื่อนกลาด แสดงว่าเขาตั้งใจจะเขียน เขียน และเขียนจนวินาทีสุดท้าย แต่สติไม่อำนวยเสียแล้ว” (“ประชาธิปไตยสี่สิบสองปี” โดย “ไทยน้อย” บท “เกาะเต่า”)

Related Posts

ส่องซอด ทางอีศาน ฉบับที่ 14
ยี่สิบสี่ มิถุนา…
ซ่างแต้มฮูป อีสาน ล้านนา สู่อารยธรรมสุวรรณภูมิ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com