รำลึก วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

รำลึก วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: ส่องซอด
Column: Enlighten

e-shann14_enlighten

“…กล่าวได้ว่าเป้าหมายหลักของการปฏิวัติซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรแสดงออกผ่านกฎหมาย และการดำเนินการปกครองคือ การปลดปล่อยชนชั้นชาวนาหรือพลังการผลิตในสังคมศักดินา เช่นภายในเดือนแรกรัฐสภาออกพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีอากรที่ตกค้างมาจากระบอบศักดินา ในการเก็บค่าเช่าส่วนเกินจากชาวนาชาวไร่ในการผลิตและใช้แรงงานของพวกเขาเช่น ยกเลิกอากรนาเกลือ ยกเลิกภาษีสมภักศรอันได้แก่ภาษีเก็บจากไม้ล้มลุก ซึ่งคู่กับภาษีสวนหรืออากรสวนใหญ่อันเป็นไม้ผลยืนต้น แต่สองรายการนี้ก็ยังเป็นเงินรายได้ไม่มากนัก ที่มากกว่านั้นคือการลดพิกัดเก็บเงินค่านาซึ่งมีรายได้เข้ารัฐถึงปีละ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท ทำให้เกิดการลดค่าภาษีอีกหลายรายการ เช่น ลดภาษีค่าที่ไร่อ้อย ภาษีต้นตาลโตนด ภาษีไร่ยาสูบ เงินอากรสวนจาก ลดเงินค่าที่สวนในมณฑลนครศรีธรรมราช และตามมาด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาไทยจมปลักอยู่ในวัฏจักรแห่งความยากจน และความไม่รู้ในเรื่องของโลกและสังคมมาช้านาน

กล่าวโดยสรุป จากการพิจารณาถึงต้นตอที่มาและการก่อรูปของอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของฝ่ายนำคณะราษฎร ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น ได้พัฒนาก้าวข้ามแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยม ที่มองแรงงานว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการผลิตแบบทุน หากแต่ได้นำเสนอมโนทัศน์ของแรงงานและราษฎร ในอีกลำดับขั้นของการพัฒนาที่เหนือกว่าและเป็นผลต่อเนื่องจากพัฒนาการในระบบทุนนิยมเอง เข้าสู่การเป็นเจ้าของและเป็นนายเหนือทุนและที่ดินเลย ในทางประวัติศาสตร์เป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้าและราดิคัลยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับและนำราษฎรไทย จากระบบไพร่และแรงงานภายใต้พันธนาการ (unfree labor) ไปสู่ระบบสหกรณ์และสังคมนิยมโดยรัฐ ที่ราษฎรและแรงงานหลุดจากพันธนาการและอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของนาย กลายเป็นนายเหนือตัวเองและไม่ใช่กลายไปเป็นแรงงานเสรีในตลาดทุนนิยมที่ไม่มีเสรีภาพของตนเองด้วยการเป็นข้าราชการภายใต้รัฐโดยสมัครใจ เป็นแรงงานที่เป็นเจ้าของตัวเอง และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในปัจจัยการผลิตและในการปกครองด้วยอย่างเสมอภาคกัน ในทางทฤษฎี กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริง และไม่น่าแปลกใจที่ เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพูดให้เจาะจงก็คือความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองภายในเค้าโครงฯ ซึ่งอยู่ในมือของระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ได้นำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มพลังต่าง ๆ ทั้งในคณะราษฎรกันเองและกับคณะเจ้านายอย่างที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้อันนำไปสู่รัฐประหารวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นการยุติการรอมชอมระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าลง จากนั้นเริ่มสถาปนารัฐบาลของคณะราษฎรขึ้นมาอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก”

ปาฐกถาสถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๕๕๕
“แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ : ความคิดว่าด้วยระบบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน”
(The thought of transitional democracy in Siam)

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com