สัญชาติลาวกลายเป็นไทยในบังคับสยาม

สัญชาติลาวกลายเป็นไทยในบังคับสยาม

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๔ ปีที่ ๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: เดินทางทวนหนทาง
Column: Back to the Root
ผู้เขียน: สมคิด สิงสง

Regarding this case I am not fully convinced by any arguments. I took them as foreigner’s view, which has to be sensibly pondered. I think history research must be done with maturity, especially among the younger generations. History study should not be made into another conflict out of old historical conflicts. The past conflicts should be learnt in order to gain a proper attitude towards the future….


 

ฯพณฯ พูมี วงวิจิด อดีตผู้ว่าการประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เคยเล่าให้พวกเราฟังว่า..

“…ตามประวัติศาสตร์มันเป็นมาอย่างนั้น ต่อมาพวกฮอลันดามาเอาฟิลิปปินส์ เอาอินโดนีเซียแล้วเข้ามาประเทศสยาม (คือกรุงศรีอยุธยา-ผู้เขียน) เป็นเพราะว่าชาวฮอลันดาเข้มแข็งกว่า จึงผลักดันพวกโปรตุเกสหนีไป ฮอลันดาอยู่ในนั้นทำให้สยามเจริญกว่าเก่า เรื่องนี้มีหลายประเทศรับรู้ ราชสำนักฝรั่งเศสส่งราชทูตมา ญี่ปุ่นก็ส่งดาบซามูไร มาถวายพระเจ้าแผ่นดิน…

…หลังจากนั้น มาถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นี่อังกฤษได้อาฟกานิสถาน ตีปากีสถาน ได้อินเดีย ได้พม่า ตีได้พม่าแล้วแต่งให้พม่ามาตีสยาม (คือตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ – ผู้เขียน)

กรุงศรีอยุธยาแตกแล้วพม่าอยากเอาสยามรวมกับพม่า อังกฤษไม่อยากให้รวม เพราะว่าปากีสถานรวมกับอินเดียก็ใหญ่แล้ว พม่ากับสยามรวมกันก็จะใหญ่อีก ทำให้ปกครองยาก อังกฤษจึงมาค้นหาผู้มีอิทธิพลอยู่ในสยามนี้ พบว่าพระยาตากค้าขายร่ำรวย และมีอิทธิพล อังกฤษจึงช่วยสร้างกองทัพให้พระยาตากตีพม่ากลับคืน ในเมื่อ (ขับไล่พม่าออกไปแล้ว) จะตีเข้าเขตแดนของพม่าก็ไม่ได้ (เพราะ) อังกฤษไม่ยอมให้ตี เพราะว่าอังกฤษเอาแล้ว…

(จึง) มาตีทางใต้…ต่อชายแดนมาลายู ถึงตรงนั้นอังกฤษก็บอกให้หยุด เพราะอังกฤษเอามาลายูแล้ว… มาทางตะวันออกนี่ได้อ่าวไทย ได้ศรีสะเกษ สุรินทร์ ซึ่งเป็นของเขมร…”

ผมเคยได้ยินแต่เรื่องกองทัพพม่าบุกเข้ากรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง ครั้งหลังคือ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าทำกับอยุธยาอย่างไร้มนุษยธรรม ด้วยการปล้นเรียบ ฆ่าเรียบ เผาเรียบ คนดีมีฝีมือก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นจำนวนมาก

ผมรับรู้เช่นนั้นมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนแล้วก็สำนึกเสมอว่าพม่าเป็นผู้ร้ายใจอธรรมในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย !

เมื่อมาได้ยินคำบอกเล่าของท่านพูมี วงวิจิด ทำให้ผมต้องขยับมุมมองของเรื่องนี้ให้กว้างออกไปคือแทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรุงอังวะกับกรุงศรีอยุธยาเพียง ๒ เขตแคว้นแผ่นดินเท่านั้น ยังต้องเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ทางสากลอีกด้วย

ฟังน้ำเสียงคำบอกเล่าของท่านพูมี วงวิจิด คล้ายกำลังบอกว่าก่อนการเป็นประเทศไทยนั้นเราเคยตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติมาก่อน… นับแต่โปรตุเกส ฮอลันดา จนถึงยุคล่าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส !

เรื่องนี้ผมจะยังไม่ปักใจเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดลงไป เพียงแต่รับฟังไว้เป็นข้อมูล จากมุมมองของคนต่างประเทศ ยังต้องนำมาใคร่ครวญให้สมเหตุสมผลต่อไปอีก เพราะผมคิดว่าการสืบค้นประวัติศาสตร์จะต้องกระทำด้วยท่าทีของผู้ซึ่งบรรลุวุฒิภาวะ โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ ไม่บังควรทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ ๆ จากความขัดแย้งเก่าในประวัติศาสตร์ แต่ควรศึกษาประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตเพื่อเก็บรับเป็นบทเรียน เพื่อจะได้กำหนดท่าทีต่ออนาคตได้อย่างเหมาะสม…

ถ้อยคำข้างต้นทั้งหมดนั้น ผมถอดมาจากข้อเขียนของผมในคอลัมน์ “จากทิศอีสาน” นสพ.ผู้จัดการรายวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖

ไม่ว่าถ้อยคำที่ท่านผู้เฒ่าพูมี วงวิจิด เล่าให้พวกเราฟังจะเท็จหรือจริงอย่างไรหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ผมได้จริง ๆ ก็คือทรรศนะในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์

ก่อนที่ราชอาณาจักรล้านช้างจะตกเป็นหัวเมืองประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม ได้เกิดสถานการณ์วิวาทบาดหมางภายในราชอาณาจักรหลายครั้งหลายหน จนเป็นเหตุให้เกิดสภาพอ่อนแอขึ้นภายในราชอาณาจักร และสูญเสียเอกราชในที่สุด

ในช่วงระยะเวลา ๑๑๔ ปี ระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๗๙ – ๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๓๒๒ – ๒๔๓๖) ที่สยามปกครองลาวทั้งหมดที่แตกออกเป็น ๓ อาณาจักร สยามก็ปกครองลาวตามวิธีการเมืองแบบโบราณคือยังให้มีเจ้าแผ่นดินอยู่ตามเดิมทุกแผ่นดินที่ตีได้เพียงนำดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปไหว้ตามกำหนดในรอบปี และเมื่อมีศึกสงครามเกิดขึ้นก็ให้จัดกองทัพไปช่วยเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร กษัตริย์ลาวเอกราชแห่งนครเวียงจันทน์องค์สุดท้าย มีโอรสและธิดาที่ปรากฏอยู่ ๕ องค์ คือเจ้านันทะเสน เจ้าอินทะวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ เจ้าพรมมะวงศ์ และนางแก้วยอดฟ้า

ตอนศึกประชิดเวียงจันทน์ พระเจ้าสิริบุญสาร หนีไปเมืองคำเกิด ได้นำเอาเจ้าอินทะวงศ์กับเจ้าพรมมะวงศ์ไปด้วย หลังจากเจ้านันทะเสน เจ้าอนุวงศ์ และเจ้านางแก้วยอดฟ้า ถูกคุมตัวลงไปกรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระแก้วมรกตและพระบางแล้ว พระเจ้าสิริบุญสารก็กลับมาครองนครเวียงจันทน์อีก แต่อยู่ได้ปีเดียวก็สิ้นพระชนม์

ถึงปี ค.ศ. ๑๗๘๑ (พ.ศ. ๒๓๒๔) พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงส่งเจ้านันทะเสนกลับไปเป็นเจ้านครเวียงจันทน์ ทรงพระนามว่าพระเจ้านันทะเสนพรมมะลาว และตั้งเจ้าอินทะวงศ์เป็นอุปราช ส่วนเจ้าอนุวงศ์และเจ้าพรมมะวงศ์ยังคงอยู่เป็นตัวประกันที่กรุงธนบุรี โดยที่พระเจ้านันทะเสนได้ขอเอาพระบางกลับคืนเมืองลาวด้วย

พ.ศ. ๒๓๒๕ (ค.ศ. ๑๗๘๒) ทางกรุงธนบุรีมีการเปลี่ยนแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงย้ายราชธานีมาตั้งที่ฝั่งกรุงเทพฯ ทรงเป็นต้นราชวงศ์จักรีที่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ปี ค.ศ. ๑๗๘๗ (พ.ศ. ๒๓๓๐) ลาวเสียเชียงขวางให้ประเทศเวียดนามในรัชสมัยพระเจ้านันทะเสน อีก ๒ ปีต่อมาเจ้านันทะเสนฟ้องต่อสยามว่าเจ้าอนุรุททะเจ้านครหลวงพระบางไปสมทบกับพม่าและนครเชียงรุ่งเป็นขบถต่อสยาม จึงขออนุญาตยกทัพไปตีหลวงพระบาง และจับเอาตัวเจ้าอนุรุททะ เจ้าอุปราชนาก และเจ้ามันทาตุราชพร้อมด้วยครอบครัวส่งไปกรุงเทพฯ

ปี ค.ศ. ๑๗๙๓ (พ.ศ. ๒๓๓๖) เจ้าอนุรุททะได้กลับไปครองหลวงพระบาง ปีต่อมาก็จัดการฟ้องเจ้านันทะเสนว่าสมคบกับเจ้าเมืองนครพนมทำการติดต่อกับประเทศเวียดนาม จะก่อการขบถ จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้านันทะเสนและพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมลงไปแก้คดีที่กรุงเทพฯ เจ้านันทะเสนสู้คดีอยู่ ๒ ปีก็สิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯนั่นเอง

มหาสิลา วีระวงส์ บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ลาวแต่โบราณฯ ว่าพวกเจ้าลาวในเวลานั้นถูกความอาฆาตบาดหมางครอบงำจิตใจ จึงมองไม่เห็นภัยอันใหญ่หลวงของชาติ มัวแต่แก่งแย่งชิงดีกัน โดยหวังเอาชาติอื่นเป็นที่พึ่ง มีทรัพย์สินเงินทองเท่าไรก็ขนไปให้เจ้านายสยามเพื่อให้ตนได้ชัยชนะ ในที่สุดเงินทองในท้องพระคลังเวียงจันทน์ก็หมดและเจ้านันทะเสนก็สิ้นพระชนม์ไป ฝ่ายเจ้านายสยามกลับร่ำรวยด้วยเงินสินบนของเจ้านันทะเสนและเจ้าอนุรุททะแห่งนครหลวงพระบาง

ปี ค.ศ. ๑๗๙๓ (พ.ศ. ๒๓๓๘) เจ้าอินทะวงศ์ พระอนุชาของเจ้านันทะเสนได้ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์เป็นอุปราช ปี ค.ศ. ๑๗๙๙ (พ.ศ. ๒๓๔๒) พระเจ้าอินทะวงศ์ ได้ให้เจ้าอนุวงศ์เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ปีต่อมาให้ยกทัพไปรบพม่าช่วยสยาม และปี ค.ศ. ๑๘๐๑ (พ.ศ. ๒๓๔๔) ได้ยกทัพไปรบกับพม่าที่เมืองเชียงแสน

เจ้าอินทะวงศ์มีโอรสกี่องค์ไม่มีหลักฐานปรากฏ ทราบแต่ว่ามีราชธิดานามว่าเจ้าฟ้าหญิงกุนฑลทิพยวดี และได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้าอินทะวงศ์ครองเวียงจันทน์ถึงปี ค.ศ. ๑๘๐๓ (พ.ศ. ๒๓๔๖) ก็ถึงแก่พิลาลัย เจ้าอนุวงศ์พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าสิริบุญสารจึงได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเชษฐา ขณะมีพระชนมายุ ๓๗ ปี ทรงพระนามตามศิลาจารึกว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่สาม หรือพระสีหะตะนุ แต่คนทั้งหลายนิยมเรียกท่านว่าพระเจ้าอนุ

เรื่องราวของพระเจ้าอนุเวียงจันทน์ ยังอยู่ในความทรงจำของชาวลาวผู้รักเอกราชไม่รู้ลืม ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์เวียงจันทน์องค์สุดท้ายก็ตาม

เราค่อยทำความรู้จักพระองค์เพิ่มเติมในโอกาสต่อไป !

ผมมีเกร็ดที่น่าสนใจ อันทำให้เวลาที่ผมกรอกแบบพิมพ์ของทางราชการต้องระบุ “สัญชาติไทย” เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่พูดภาษาลาวมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

“…แต่นี้สืบไป ให้เจ้าหน้าที่แต่ละแผนก ทุกหัวเมืองใหญ่น้อย ในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อจะมีการสำรวจสำมะโนครัว หรือหากว่ามีราษฎรมาติดต่อที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ของทางราชการ ให้ปฏิบัติใหม่ โดยลงในช่องสัญชาตินั้นว่า “ชาติไทยในบังคับสยาม” ทั้งหมด ห้ามไม่ให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไท ฯลฯ ดั่งที่ได้ปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด…”

เพียงคำสั่งของข้าหลวงต่างพระองค์ประจำหัวเมืองลาวเท่านั้น ชนชาติลาวที่อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็ได้กลายเป็นชนชาติไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๙๙ (พ.ศ. ๒๔๔๒) เป็นต้นมา

ถึงแม้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว สืบต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ จะได้ปรับปรุงการปกครองถึง ๒ ครั้ง ทรงนำเอาพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา อันเป็นพระราชพิธีที่ถือกันมาตั้งแต่ครั้งปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มาถือปฏิบัติในหัวเมืองลาวกาว พระราชพิธีนี้มีความสำคัญต่อการปกครองมาก เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้านาย ข้าราชการ กรมการต่าง ๆ มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

“พอถึงวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาคือวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๓๗ พระองค์ทรงนำข้าราชการฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน กรมการเมืองอุบลราชธานี และเมืองขึ้นเมืองอุบลไปพร้อมกัน ณ วัดศรีสุวรรณาราม (ในเมืองอุบล) “นิมนต์พระมาประชุมสวดมนต์เลี้ยงพระ ตั้งน้ำ แล้วเอากระบี่ยศซึ่งพระราชทานชุบน้ำ อู้ภาษาเมือง กรมการผู้ใหญ่น้อยต้องนุ่งขาวห่มขาว ไปทำสัตย์สาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา” พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาได้ปฏิบัติเป็นพระราชประเพณีเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยเฉพาะหลังปราบขบถผีบุญ พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้โปรดให้ราษฎรในเขตที่พวกขบถก่อการทำพิธีถือน้ำด้วย”

การปรับปรุงการปกครองในขั้นที่ ๒ เกิดขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งยังไม่มีพระราชบัญญัติปกครองท้องที่จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ จึงมีการตั้งทำเนียบข้าราชการมณฑลลาวกาวเสียใหม่ เหมือนกับมณฑลอื่น ๆ คือโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร แล้วตั้งเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองปลัดเมือง ยกกระบัตร และผู้ช่วยราชการเมืองตามลำดับ

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริแก้ไขลักษณะการปกครองแบบเดิมซึ่งยังบกพร่องอยู่เพราะ “..ลักษณะการปกครองแบบเดิมนิยมให้เป็นประเทศอย่างราชาธิราช (Empire) อันมีเมืองคนต่างชาติเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขต จึงถือว่าเมืองชายพระราชอาณาเขต ๓ มณฑลนั้น (คือมณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน และมณฑลลาวกาว) เป็นเมืองลาว และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชนชาติไทยว่าลาว แต่ลักษณะการปกครองอย่างนั้นพ้นเวลาอันสมควรแล้ว ถ้ายังคงไว้จะให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริให้แก้ไขลักษณะการปกครอง เปลี่ยนเป็นอย่างพระราชอาณาเขต (Kingdom) ประเทศไทยรวมกัน..”

ในปีเดียวกันนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ประกาศให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลราชธานี เมืองศรีสะเกษ และหัวเมืองอื่น ๆ ซึ่งรวมเรียกว่ามณฑลลาวกาวนั้น ให้เรียกว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ

ถึงแม้ว่าจะผ่านการปรับเปลี่ยนการปกครองท้องที่หลายครั้งหลายหน แต่ในส่วนของประชาชนยังคงมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นลาว เป็นเขมร เป็นส่วย เป็นผู้ไท ฯลฯ อยู่ เพราะยังมีความผูกพันกับกรุงเทพฯ น้อยมาก และนี่คือที่มาของสารตราสั่งของข้าหลวงใหญ่มณฑลฯ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ อันทำให้คนลาวเป็นไทยบังคับสยามดังกล่าวข้างต้น

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com