การเมืองเรื่องส่วยในภาคอีสาน

The tribute collection was the main taxation of the Northeast since the Thonburi era, from 2322 B.E. to the reign of King Rama V. It might seem there should be no problem, but in fact, there were lots of problems at every level. The commoners had difficulties finding and collecting the required tributes and sending them to the tribute depot. The assigned department of the province also had trouble delivering the tributes to the capital. It would take months to reach there and to return. But the tribute was the main income for the governors of the provinces, which got no enough government budget; so they took out some of the tributes for their own income and as management expenditures. As a result, there were a lot of misappropriations of the tributes. The tribute portion allowed for the province governors plus the misappropriations would amount to two-thirds; only one third would be delivered to the state.

การเก็บส่วยในอีสานสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่ห้า รัฐบาลเก็บเป็นสิ่งของซึ่งมีมากในท้องถิ่น เว้นเสียแต่ว่าไพร่ส่วยหาสิ่งของที่กำหนดไม่ได้จึงยอมให้จ่ายเงินแทนคนละ ๔ บาทต่อปี ที่ว่าเป็นเรื่องการเมืองก็เพราะในระบบส่วยมีการแย่งชิงส่วยระหว่างเจ้าเมืองกับเมืองหลวงระหว่างเจ้าเมืองกับเจ้าเมืองด้วยกัน ระหว่างเจ้าเมืองกับกรมการเมือง

คู่การต่อสู้ที่ปรากฏบ่อยมากมีหลักฐานคือเอกสารชั้นต้นบ่งบอกว่ามีความพยายามที่จะแย่งชิงเอาส่วยมาเป็นของเมืองหลวงกับเจ้าเมืองในเอกสารช่วงสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่สาม (๒๓๖๗ – ๒๓๙๓) ทางเมืองหลวงให้เจ้าเมืองได้รับส่วยสองในสามส่วน ส่งให้เมืองหลวงหนึ่งส่วน ที่เมืองหลวงแบ่งให้เจ้าเมืองก็เพราะสมัยก่อนปี ๒๔๔๔ (รัชกาลที่ห้า) รัฐบาลไทยมิได้จ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการ จึงให้แบ่งจากส่วยสาอากร เหมือนเป็นค่าจ้าง ต่อมาทางส่วนกลางคงจะรู้ระแคะระคายว่าเจ้าเมืองคงจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าหนึ่งในสาม เพราะจำนวนไพร่ที่เจ้าเมืองแจ้งต่อส่วนกลางต่ำกว่าความเป็นจริง ทางส่วนกลางจึงกำหนดสัดส่วนผลประโยชน์เสียใหม่โดยให้เจ้าเมืองได้รับราวหนึ่งในสาม ส่งเมืองหลวงราวสองในสาม ตั้งแต่ปี ๒๓๙๓ หรือปีสุดท้ายของรัชกาลที่สามเป็นต้นมา เช่น เมืองเรณูนคร ปี ๒๓๘๘ เจ้าเมืองได้รับ ๓๙๕ คน ส่งส่วนกลาง ๒๐๐ คน แต่ปี ๒๓๙๓ เจ้าเมืองได้ ๒๒๒ คน ส่งส่วนกลาง ๔๔๐ คน เมืองสกลนคร เป็นเมืองใหญ่ในปี ๒๓๘๘ เจ้าเมืองได้รับ ๒,๑๖๙ คน ส่งส่วนกลาง ๑,๐๐๐ คน แต่ในปี ๒๓๙๓ เจ้าเมืองได้ ๘๖๙ คน ส่งส่วนกลาง ๑,๗๒๐ คน (หสช. ร.๓ จศ.๑๒๐๙ เลขที่ ๑๕๙ ร.๔ จศ.๑๒๑๖ เลขที่ ๒๖)

ทางส่วนกลางคงดีใจที่ได้รับส่วยมากกว่าเดิมมาก แต่จากการตรวจสอบเอกสารที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสมาสำรวจลาวและภาคอีสานอย่างละเอียด และผู้เขียนได้คำนวณอัตราการเพิ่มของประชากร จึงพบว่าจำนวนไพร่ส่วยในแต่ละเมืองของอีสานที่เจ้าเมืองแจ้งต่อส่วนกลางต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ดังนั้น จำนวนส่วยที่เจ้าเมืองได้รับเฉลี่ย เมื่อรวมที่ส่วนกลางยกให้ร้อยละ ๒๔.๒๐ กับส่วนที่เจ้าเมืองยักยอกไว้ร้อยละ ๔๓.๐๙ จึงสูงมากถึง ร้อยละ ๖๗.๒๘ ส่วนกลางได้รับเพียงร้อยละ ๓๒.๗๒

ดังตัวอย่าง ในปี ๒๓๙๓ เจ้าเมืองสกลนครได้ส่วยที่รัฐบาลยกให้ (ในเอกสารเรียกเลขยก) ๘๖๙ คน (ร้อยละ ๑๕.๙๑) มีไพร่นอกบัญชีที่ยักยอกไว้ ๒,๘๗๔ คน (ร้อยละ ๕๒.๖๑) รวมเจ้าเมืองได้รับ ๓,๗๔๓ คน หรือ ๖๘.๕๒ ส่งส่วยส่วนกลาง ๑,๗๒๐ คน หรือ ร้อยละ ๓๑.๔๘ เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ได้ส่วยที่ส่วนกลางยกให้ ๑,๔๐๑ คน (ร้อยละ ๓๑.๕๕) ไพร่นอกบัญชีที่เจ้าเมืองยักยอกไว้ ๒,๐๓๙  คน (ร้อยละ ๔๕.๙๒) รวมเจ้าเมืองได้รับ ๓,๔๔๐ คน (ร้อยละ ๗๗.๔๘) ส่วนกลางได้รับ ๑,๐๐๐ คน (ร้อยละ ๒๒.๕๒) (สุวิทย์ ธีรศาศวัต ๑:๒๕๕๗;๑๑๐,)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าเมืองยักยอกส่วยได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการสำรวจสำมะโนประชากร (การสำรวจสำมะโนประชากรไทยครั้งแรกมีขึ้นในปลายสมัย ร.๕) จำนวนไพร่ที่ส่วนกลางได้รับคือจำนวนที่เจ้าเมืองรายงานรัชกาลที่สาม พระองค์อาจทรงระแคะระคายว่าจำนวนตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงมาก พระองค์จึงมีรับสั่งให้ตั้งกองสักเลกขึ้นในภาคอีสานตั้งแต่ต้นรัชกาล แต่สักเลกยังไม่เสร็จ ก็เกิดสงครามเจ้าอนุวงศ์ (๒๓๖๙-๒๓๗๑) เสียก่อน

การยักยอกส่วยดังกล่าว มิได้เป็นปัญหาเพราะรัฐบาลไม่รู้แน่ชัด เนื่องจากไม่รู้วิธีการสำรวจสำมะโนครัว ซึ่งเป็นวิธีการของฝรั่งที่แจงนับประชากรทั้งประเทศเป็นรายครอบครัวและนับทุกคน ซึ่งเป็นวิธีที่จะได้ตัวเลขประชากรที่ถูกต้อง ส่วนการสักเลกของไทยทำแบบคร่าว ๆ ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาสำรวจเป็นเมือง ๆ ซึ่งไม่ค่อยได้ตัวเลขที่ถูกต้องเพราะเจ้าเมืองจะบอกให้กำนัน นายบ้าน พาลูกบ้านไปหลบซ่อนในป่าพอกองสักเลกย้ายไปเมืองอื่นจึงกลับมายังหมู่บ้านของตน ปัญหาจำนวนไพร่ที่ถูกต้องจึงสืบมาจนถึงปลายรัชกาลที่ห้า

แต่ปัญหาไพร่ส่วยที่ปรากฏเสมอมาคือเจ้าเมืองส่งส่วยไม่ครบตามจำนวนในบัญชีของส่วนกลาง ซึ่งอันที่จริงจำนวนก็น้อยกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว สาเหตุที่ส่งน้อยกว่าบัญชีมีหลายประการเช่น

๑. เกิดฝนแล้ง ผลเร่วไม่ออกเท่าที่ควร ไพร่จึงได้เร่วมาส่งไม่ครบ

๒. ไพร่ไปมีเมียเมืองอื่น ตามกฎหมายที่ตราในปี ๒๔๐๑ ในรัชกาลที่สี่ กำหนดให้ไพร่มีเสรีภาพที่จะส่งส่วยเมืองเดิมก็ได้ หรือส่งเมืองที่เมียอาศัยอยู่ก็ได้ ตามประเพณีอีสานไพร่จะไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย แต่เวลาเสียส่วยไม่ยอมเสียเมืองพ่อตาแม่ยาย จะเสียเมืองเดิม ส่วยจึงเก็บจากไพร่ที่ภาษาอีสานว่า “เขยสู่” ได้ยากเพราะนายกองที่เขาสังกัดไม่ทราบว่าเขาไปได้เมียอยู่ที่บ้านใดเมืองใด แต่ถึงทราบก็เก็บได้ยากเพราะไปอยู่เมืองที่ไกลมาก การคมนาคมสมัยนั้นก็ไม่สะดวกเช่นไพร่เมืองจำปาศักดิ์ไปเป็นเขยสู่เมืองอื่น ๑๔๓ คน มีอุบล ๓๘ คน ยโสธร ๔ คน ร้อยเอ็ด ๗ คน ศรีสะเกษ ๑๙ คน และสุวรรณภูมิ ๑๕ คน ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ขาดส่งส่วยเป็นจำนวนมาก (หสช.จดหมายเหตุร.๓ จศ.๑๑๙๒ เลขที่ ๑๖)

๓. เกิดจากการที่ขุนนางในกองส่วยเอาส่วยที่ไพร่เขาส่งไปขายเอาเงินมาใช้ก่อน พอถึงกำหนดส่งก็ไม่มีส่งแล้วอ้างกับส่วนกลางต่าง ๆ นานาว่าไพร่ตาย หนีตามตัวไม่ได้ ไปบวชบ้างเป็นบ้าบ้าง ฝนแล้งบ้าง แต่พอสอบสวนความแตกว่าเอาส่วยของหลวงไปใช้ก่อนก็จะถูกส่วนกลางลงโทษ เช่น กรณีของหลวงประสิทธิสงคราม ขุนประสิทธิสงคราม หลวงภักดีไพศาลขุนรณเรศ นายกองส่วยเมืองโคราชเอาส่วยหลวงไปใช้ก่อน ถูกถอดออกจากราชการ เหตุเกิดระหว่างปี ๒๔๙๕ ถึง ๒๔๙๖  (สุวิทย์ ธีรศาศวัต ๑:๑๒๗-๘)

นอกจากปัญหาส่งส่วยขาดจำนวนแล้วยังเกิดจากการตั้งเมืองใหม่ จากปี ๒๔๐๑ ถึง ๒๔๒๕ มีเมืองตั้งใหม่ในภาคอีสานถึง ๒๖ เมือง การตั้งเมืองใหม่เป็นเรื่องการเมืองและส่งผลให้เกิดปัญหาการแก่งแย่งส่วยกันมากระหว่างเมืองเก่ากับเมืองใหม่ ทางส่วนกลางก็มีนโยบายสนับสนุนการตั้งเมืองใหม่เพราะทำให้การปกครอง การเก็บภาษีทั่วถึง รัฐบาลไม่ต้องเสียงบสร้างสำนักงานและจ้างคนมาทำราชการ เจ้าเมืองใหม่ใช้บ้านของตนเป็นทั้งออฟฟิซว่าราชการ ตัดสินคดี และใช้ใต้ถุนบ้านเป็นห้องขังนักโทษ ข้าราชการก็เอาญาติพี่น้องมาเป็น ไม่มีการสอบบรรจุเหมือนในสมัยหลังข้าราชการก็ได้ส่วยเป็นรายได้และยังทำนาทำไร่ด้วย

ตัวอย่างส่วยที่เจ้าเมืองแบ่งให้เช่นเมืองสกลนคร เจ้าเมืองได้ไพร่ ๖๐ คน อุปฮาด ๕๐ คน ราชวงศ์ ๔๐ คน ผู้ช่วยอาญาสี่ได้ไพร่คนละ ๒๐ คน กรมการระดับรองลงไป ๘ ตำแหน่ง คนละ ๑๕ คน ซาเนตร ซานนท์ตำแหน่งละ ๑๐ คน เมืองขวา เมืองซ้าย ตำแหน่งละ ๘ คน ต่ำกว่านี้ได้ตำแหน่งละ ๓  ถึง ๔ คน ไพร่ส่วยที่ได้ไปแทนที่จะส่งส่วยให้ส่วนกลางก็ส่งให้ต้นสังกัด ถ้าไม่มีส่วยก็ส่งเงินคนละ ๔  บาท เงิน ๔ บาทสมัยนั้นซื้อวัวในอีสานได้ ๑ ตัว ถ้าคิดคร่าว ๆ ปัจจุบัน วัวตัวละ ๒ หมื่น เจ้าเมืองได้ไพร่ ๖๐ คน เท่ากับได้วัว ๖๐ ตัว หรือ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี หรือเดือนละ ๑ แสนบาท ก็ไม่น้อย แต่เมื่อดูภาระที่เจ้าเมืองต้องดูแลหากมีการก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้านพัก กำแพงเมือง ถนน บ่อน้ำ รวมทั้งอาวุธสำหรับป้องกันเมือง เจ้าเมืองต้องรับผิดชอบทั้งหมดโดยที่ส่วนกลางไม่เคยมีงบประมาณส่งมาไพร่ส่วยที่ได้รับน่าจะน้อยไปด้วยยซ้ำ

ปัญหาที่เกิดจากการตั้งเมืองใหม่ก็คือเขตแดนเมืองเก่ากับเมืองใหม่ไม่มีแผนที่ที่แน่นอน (ประเทศไทยจ้างชาวอังกฤษชื่อเจมส์ แมคคาร์ธี มาทำแผนที่ถูกต้องตามหลักวิชาภูมิศาสตร์ครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ ๕ ราวปี ๒๔๓๔) และจำนวนคนที่ไปขึ้นกับเมืองใหม่ก็มักจะไม่ลงตัว ผลก็คือเจ้าเมืองเก่าทะเลาะกับเจ้าเมืองตั้งใหม่ในเรื่องเขตแดนและแย่งไพร่กันจนมีเรื่องฟ้องร้องมายังส่วนกลางเนื่อง ๆ

ในส่วนที่เกิดจากการแก่งแย่งไพร่ระหว่างเจ้าเมืองกรมการก็มีกรณีนี้มักเกิดจากเมื่อเจ้าเมืองเก่าตาย หากพระเจ้าแผ่นดินไทยทรงตั้งลูกชายคนโตเป็นเจ้าเมือง มักไม่มีปัญหา แต่ถ้าตั้งน้องชายเมืองเดิมเป็นเจ้าเมืองมักมีปัญหากับลูกชายเจ้าเมือง ตั้งแต่ออฟฟิซว่าราชการถ้าลูกชายได้เป็นเจ้าเมืองก็ใช้บ้านพ่อเป็นออฟฟิซได้เลย แต่ถ้าน้องชายได้เป็นต้องไปหาออฟฟิซใหม่ ปัญหาต่อมาคือบัญชีไพร่ ส่วยลูกชายที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองก็ไม่ส่งให้เจ้าเมืองคนใหม่โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าพ่อเก็บไว้ที่ใหน แต่ถึงเจ้าเมืองใหม่ได้บัญชีไป ก็ไม่แน่ว่าจะได้ไพร่จำนวนไพร่ไปจริง ๆ เพราะลูกอาจไปปลุกระดมไพร่ไม่ให้ไปสังกัดกองเจ้าเมืองคนใหม่ แต่ให้ไปสังกัดกองของลูก ซึ่งถ้าลูกไม่ได้เป็นเจ้าเมืองก็มักจะเป็นอุปฮาดราชวงศ์ หรือราชบุตร

ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดรัฐบาลก็ได้แก้ไขดังนี้

๑. ปัญหาส่วยขาดจำนวน ได้มีการแก้ไขโดยสักเลกเป็นระยะ ๆ ในปี ๒๓๖๗, ๒๓๗๒, ๒๓๗๖, ๒๓๘๐, ๒๓๘๘, ๒๓๙๒, ๒๓๙๖, ๒๔๐๔-๒๔๐๗ แต่วิธีนี้ได้ผลไม่มากเพราะมีการยักย้ายลูกบ้านไปหลบซ่อนตอนไปสักเลก

๒. ปัญหาส่วยขาดจำนวนจริง ๆ เพราะฝนแล้ง หรือเพราะยากลำบากในการหาส่วยมาส่งรัฐบาลแก้ปัญหาโดยลดจำนวนส่วยต่อคนลงเช่นผลเร่วและครั่งเคยเสียคนละ ๑๒ กก. ลดเหลือ ๖ กก.ป่าน ๑๕ กก. ลดเหลือเจ็ดกิโลครึ่ง ทอง ๑ บาทลดเหลือ ๒ สลึง (น้ำหนัก) แต่กรณีที่เจ้าเมืองกรมการเมืองส่งไม่ครบที่ไม่ได้มาจากไพร่ ก็ใช้วิธีทำสารตราสมุหนายกไปเร่งรัดบ้าง เอาตัวนายกองเข้าส่วนกลางขังไว้บ้าง บางที่ก็ส่งข้าหลวงไปเร่งรัดถึงเมืองที่มีปัญหาก็มี

๓. กรณีเจ้าเมืองตั้งใหม่ที่แยกมาจากเมืองเก่ามีปัญหากับเจ้าเมืองเก่าเรื่องไพร่ส่วยและเขตแดน แก้โดยการยุติการตั้งเมืองใหม่ตั้งแต่ปี ๒๔๒๖ เป็นต้นมา

๔. กรณีเขยสู่ และให้เสรีภาพไพร่เลือกสังกัดทำให้เก็บส่วยจากคนกลุ่มนี้ได้ยาก รัฐบาลได้ยกเลิกการให้เสรีภาพดังกล่าวในปี ๒๔๒๗ เป็นต้นมา

สรุป

จะเห็นว่าการเก็บส่วย ซึ่งเป็นการเก็บภาษีหลักของภาคอีสานตั้งสมัยกรุงธนบุรี ๒๓๒๒ ถึงสมัยรัชกาลที่ห้า ดูเผิน ๆ แล้วไม่น่ามีปัญหาอะไรแต่จริง ๆ แล้วมีปัญหาทุกระดับ ตั้งแต่ความยากลำบากของไพร่ในการหาส่วยมาส่งกองส่วย กรมการเมืองก็ลำบากในการลำเลียงส่วยมาส่งเมืองหลวง ใช้เวลาไปกลับหลายเดือน แต่ส่วยก็เป็นรายได้หลักของเจ้าเมืองกรมการเมืองซึ่งไม่มีงบประมาณในการบริหารจากรัฐบาลจึงต้องใช้รายได้ที่รัฐแบ่งให้ในการดำรงชีพและบริหารจัดการผลก็คือมีการยักยอกส่วยเป็นจำนวนมากเข้าเป็นรายได้ของตนเกินกว่าที่ทางการมอบให้ เมื่อรวมทั้งส่วยที่รัฐให้กับส่วยที่ยักยอกคิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสาม ส่งให้รัฐเพียงหนึ่งในสาม

เอกสารอ้างอิง

ธีรชัย บุญมาธรรม (๒๕๓๖) ประวัติศาสตร์สังคมอีสานตอนบน พ.ศ.๒๓๑๘-๒๔๕๐ มหาสารคาม.

บุญรอด แก้วกัณหา (๒๕๑๘) การเก็บส่วยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (๒๓๒๕-๒๔๑๑) วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต (๒๕๒๕) รายงานการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงสมัยรัชกาลที่สาม (๒๓๑๐-๒๓๙๔) กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ขอบคุณภาพจาก httpmaywarina.blogspot.com2013102_14.html.

Related Posts

เฮ็ดกิ๋นแซบ
ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๒)
ศิวนาฏราช ณ พนมรุ้ง ขอท้าว่าไม่ควรพลาดชม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com