ศิวนาฏราช ณ พนมรุ้ง ขอท้าว่าไม่ควรพลาดชม

ศิวนาฏราช ณ พนมรุ้ง ขอท้าว่าไม่ควรพลาดชม


ปราสาทพนมรุ้ง ชีวิตนี้ควรได้ไปทัศนาชนิดกระจะกระจ่างตาสักครั้ง

“ศิวนาฏราช” หรือ พระศิวะร่ายรำ เป็นภาพที่ชาวฮินดูลัทธิไศวนิกายนิยมประดับไว้ที่ศาสนสถานเพื่อยกย่องพระศิวะในฐานะเทพผู้ทรงอานุภาพทั้งสาม คือ ผู้ให้กำเนิดโลก ผู้ปกป้องคุ้มครองโลก และผู้ทำลายเมื่อโลกถึงยุคเข็ญ

การร่ายรำของพระศิวะทำให้โลกหมุนเวียนเปลี่ยนกาลเวลา เช่น เมื่อโลกก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ ชาวฮินดูอธิบายว่าเกิดจาก “ศิวนาฏราช” ซึ่งหากพระองค์ทรงร่ายรำในจังหวะที่พอดีโลกจะสงบสุข แต่หากพระองค์ทรงร่ายรำด้วยจังหวะร้อนเร่า รุนแรง โลกก็จะเกิดกลียุค

มูลเหตุที่เกิด “พระศิวนาฏราช” เล่าไว้ในคัมภีร์ของฝ่ายไศวนิกายว่า มีฤษีชายและหญิงกลุ่มหนึ่ง บำเพ็ญตนอยู่ในป่าตะระคา กระทำการขัดต่อเทวบัญญัติ ด้วยการประพฤติผิดในกาม อย่างที่สมัยใหม่เรียก “มั่วเซ็กส์” ร้อนถึงพระศิวะต้องชวนพระวิษณุลงมาปราบ โดยพระศิวะแปลงกายเป็นโยคีหนุ่มรูปงาม ส่วนพระวิษณุแปลงกายเป็นภรรยาสาวสวย ลงมาสร้างความวุ่นวายในสังคมฤษีที่ป่าตะระคา ด้วยต่างก็มาหลงรักโยคีหนุ่มกับเมียสาว

แต่บรรดาฤษีมากรักจะรุมจีบเพียงใด โยคีและเมียก็ไม่เออออด้วย พวกฤษีจึงโกรธและแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการเสกเสือมาขบกัด โยคีจึงปรากฏตนในร่างขององค์ศิวะเทพ แล้วจับเสือมาถลกหนังทำเป็นฉลองพระองค์ พวกฤษีจึงเสกพญานาคมาพ่นพิษร้ายใส่ พระศิวะจึงจับพญานาคฟาดพื้นแล้วเอามาเป็นสร้อยสังวาล แล้วทำปาฏิหาริย์ร่ายรำ ๑๐๘ ท่า พวกฤษีจำต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ด้วยการเสกอสูรมูยะละคะ หรือยักษ์ค่อมออกมาสู้ แต่ถูกพระศิวะจับทุ่มแล้วเหยียบจนหลังหัก ก่อนเสด็จขึ้นยืนร่ายรำบนหลังยักษ์เสียเลย ทำให้พวกฤษีผู้มากรักขอขมา และสัญญาจะอยู่ในพระโอวาทของพระองค์ตลอดไป

การร่ายรำของพระศิวะอยู่ในสายพระเนตรของพระพรหม ซึ่งประจักษ์ถึงความงดงามของท่ารำอันอ่อนช้อย จึงทูลขอให้พระศิวะทรงร่ายรำอีกครั้ง พร้อมกับบัญชาให้พระฤษีนาม “พระภรตมุนี” ทำหน้าที่บันทึกรวบรวมท่ารำทั้ง ๑๐๘ ท่า ไว้เป็นตำรานาฏยศาสตร์ของมนุษย์สืบไป โดยทูลเชิญพระศรีอุมาเทวี พระชายาของพระศิวะ ให้ทรงเป็นองค์ประธาน พระสุรัสวดี พระชายาพระพรหมทรงดีดพิณ พระอินทร์ทรงขลุ่ย พระวิษณุทรงตีโทน พระพรหมทรงตีฉิ่ง และพระนางลักษมีเทวี ชายาพระวิษณุทรงขับร้อง

ที่เทวาลัยบางแห่งในประเทศอินเดีย เช่น เทวาลัยจิทัมพรัม มีการแกะสลักภาพท่ารำ ๑๐๘ ท่า ตามตำรานาฏยศาสตร์ของพระภรตมุนี เหตุนี้เอง ในพิธีไหว้ครูของชาวนาฏศิลป์และบรรดานักร้องนักแสดง จะมีขั้นตอนสำคัญคือการครอบครู โดยพราหมณ์จะนำหัวโขนรูปฤษีตนหนึ่งครอบศีรษะศิลปินให้เป็นสิริมงคลและความเจริญก้าวหน้า ฤษีตนนั้นคือพระภรตฤษี ซึ่งถือเป็นครูคนสำคัญนั่นเอง

ผมยอมรับโดยดุษณี ต่อวลีเขย่าโลกของ อาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ว่า…See Angkor and die! = หากชีวิตนี้ยังมีลมหายใจ ควรได้ไปชมเมืองพระนคร (Angkor) หรือที่รู้จักกันดีในนาม “นครวัด นครธม” ในกัมพูชา สักครั้งหนึ่งในชีวิต

แต่ผมปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ต่อความเห็นที่ว่า ถ้าได้ชมปราสาทหินหลังงาม ๆ ในกัมพูชา อย่าง นครวัด บายน บันทายสรี ฯลฯ แล้วชาตินี้ก็ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายไปชมปราสาทหินใด ๆ ในโลกใบนี้อีกแล้ว เพราะผมพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

ยกตัวอย่างปราสาทบันทายสรี ที่ได้ชื่อว่า The True Gem of Khmer Architecture (รัตนชาติที่แท้ของศิลปะเขมร และเป็นปราสาทหินที่สร้างด้วยฝีมือช่างระดับ “เจ้าลัทธิรังเกียจที่ว่าง” โดยแท้ คือคุณพี่แกะทุกอณูของก้อนศิลา จนหาที่ว่างได้ยาก เรื่องนี้ผมยอมรับว่าจริง และมีอีกหลายแง่มุมที่คุณมิอาจปฏิเสธ “บันทายสรี” ได้

แต่หากเจาะจงลงไปเฉพาะหน้าบันชิ้นสำคัญ ที่บ่งบอกว่าปราสาทหลังนี้สร้างถวายพระศิวะ หรือพระอิศวร ถือเป็นปราสาทในลัทธิไศวนิกาย ผมขอท้าทายให้ทุกท่านไปชม หน้าบันศิวนาฏราช ณ ปรางค์ประธานประสาทพนมรุ้ง ที่บุรีรัมย์เสียก่อน

แม้ผมจะไม่มีตำแหน่งทางวิชาการโบราณคดีใด ๆ เลย แต่สามัญสำนึก กับดวงตาของสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสไปเห็นหน้าบัน “ศิวนาฏราช” มาหลายที่ ผมขอฟังธงว่า ศิวนาฏราชปราสาทพนมรุ้งนั้น ต้องนับว่าเป็น  ๑ ใน ๓ ศิวนาฏราชชิ้นงามในดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งหากยังมีลมหายใจอยู่ ชาตินี้ โปรดหาโอกาสไปชมเถิด แล้วคุณจะไม่เสียใจเลย

เพราะเป็นศิวนาฏราชที่แกะจาก “ใจหิน” ของหินทรายสีชมพู และมีชำรุดไปบ้างที่พระชงฆ์ (แข้ง) ขวา พระบาทซ้ายนิดหน่อย กับที่พะอุทร (ส่วนท้อง)  แต่นอกนั้นยังสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะพระพาหา หรือท่อนแขน ที่ช่างบรรจงแกะข้างละ ๕ แขน เพื่อบอกว่าพระศิวะกำลังร่ายรำเพื่อสมดุลโลกนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุข ยังอยู่ครบทั้ง ๑๐ แขน แต่ละแขนมีข้อพระกรประดับพระวลัย (สร้อยข้อมือ) อันละเอียดอ่อนช้อยอย่างที่สุด กระทั่งพระมัชฌิมา (นิ้วกลาง) กับพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) ที่จีบเข้าหากัน ช่างยังจำหลักให้เห็นอย่างละเอียดอ่อน

ย้อนขึ้นไปชม “ศิราภรณ์” หรือเครื่องประดับพระเศียรก็งดงามอลังการ ภายในกรอบหน้าบันสองชั้น ประดับดอกไม้น่ารัก กับเพชรทับทรวงอันสุดแสนวิลิศมาหรา หน้าบันนี้อยู่เหนือทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นดังที่ถูกขโมยไปแล้วได้คืนมาภายหลังนั่นเอง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่บอกเราว่า เทวาลัย หรือปราสาทหินในเขตแดนไทย ยังมีอัญมณีน้ำงามซ่อนอยู่มากมาย อยู่ที่เราจะชายตามอง หรือมองข้ามไปด้วยเข้าใจว่างานชิ้นเอกมีอยู่ที่นครวัด นครธม เท่านั้น

หน้าบันศิวนาฏราช เหนือทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ ซุ้มประตูสู่ปรางค์ประธานแค่ลายประดับเสาซุ้มประตูยังชวนตะลึงชมกันชัด ๆ ความงามพระพาหา (ท่อนแขน) และที่ข้อพระกรประดับพระวลัย (สร้อยข้อมือ) อันละเอียดอ่อนช้อยอย่างที่สุด กระทั่งพระมัชฌิมา (นิ้วกลาง) กับพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) ที่จีบเข้าหากัน ช่างยังจำหลักให้เห็นอย่างละเอียดอ่อนแม้ขนาดจะเล็กกว่านครวัดหลายเท่า แต่มิได้หมายความว่าพนมรุ้งจะงามด้อยกว่า

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๙
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

เฮ็ดกิ๋นแซบ
การเมืองเรื่องส่วยในภาคอีสาน
ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๒)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com