กาลเวลาของชาวอีสานในอดีต

ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๖
บทความพิเศษ Special Article

ชาวอีสาน เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่และสวยงามที่เรียกว่า กลุ่มชนวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง หรือกลุ่มชนวัฒนธรรมไทลาว ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง เป็นกลุ่มชนที่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ในการเรียกชื่อเวลาหรือนับกาลเวลา คือการนับปี นับเดือน นับวัน และนับยาม ก็เป็นวัฒนธรรมอันโดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวอีสานในอดีต ซึ่งมีการเรียกชื่อแตกต่างจากภาคกลางโดยสิ้นเชิง แต่มีความเหมือน หรือคล้ายกันกับภาคเหนือของไทย เพราะเป็นกลุ่มชนที่รับสืบทอดวัฒนธรรมร่วมกัน

จากการที่นักปราชญ์หลายท่านได้ศึกษาด้านศิลาจารึกและเอกสารโบราณ แม้กระทั่งสมุดข่อยทำให้ทราบว่า ภาคอีสานเป็นภาคเดียวของไทยที่ใช้วิธีการนับกาลเวลาแบบเดียว คือแบบหนไทยส่วนภาคเหนือซึ่งมีการสืบวัฒนธรรมร่วมกันยังปรากฏว่ามีการใช้ปีนักษัตรแบบเขมร ซึ่งเรียกว่ามีปีเม็งอยู่ ดังปรากฏในศิลาจารึกสมัยราชวงศ์มังราย ซึ่งเหมือนกันกับศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย ส่วนในสมัยอยุธยาใช้ปีนักษัตรแบบขอมอย่างเดียว ซึ่งหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภาคอีสานในอดีตที่อยู่ภายใต้อาณาจักรล้านช้างนั้นยึดมั่นในปีนักษัตรแบบปีหนไทย ไม่ปรากฏการใช้ปีนักษัตรแบบขอมเลย แต่จะปรากฏการใช้ในยุคที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของภาคกลางหรือกรุงเทพฯ ในระยะหลัง ๆ ส่วนศักราชจะใช้ จุลศักราช โดยเขียนว่า สังกราช หรือสังกราสราชา เป็นส่วนมาก ส่วนวัน เดือน ก็มีการใช้ทั้งที่เหมือนหรือคล้ายและที่แตกต่างกับภาคอื่น ๆ ดังจะกล่าวถึงและเปรียบเทียบให้เห็นตามลำดับต่อไป

ปีนักษัตรคือ การนับปีหนึ่ง ๆ ในรอบ ๑๒ ปีโดยมีการกำหนดสัตว์ประจำปีนักษัตรนั้น ๆ ได้แก่หนู วัว เสือ กระต่าย งูใหญ่ งูเล็ก ม้า แพะ ลิง ไก่ หมา หมู ตามลำดับ ซึ่งการนับปีนักษัตรในไทยนั้นมี ๒ แบบคือ

๑. แบบปีหนไทย ซึ่งภาคอีสานและภาคเหนือนิยมใช้ในสมัยก่อน คือการนับปีนักษัตรว่า ไจ้ เป้า ยี่ เหม้า สี ไส้ ซะง้า มด/เม็ด สัน เร้า/เฮ้า เส็ด ไค้/ไก๊

๒. แบบขอม หรือภาคเหนือเรียก ปีเม็ง ซึ่งภาคกลางนิยมใช้ คือการนับปีนักษัตรว่า ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน

การนับศก

การนับศกของชาวอีสานโบราณนั้นเหมือนกันกับภาคเหนือ แต่แตกต่างกันกับภาคกลาง แต่มี ๑๐ ศกเหมือนกันและสามารถเปรียบเทียบกันได้ ในเอกสารโบราณอีสานระยะหลัง ๆ มีการใช้ศกแบบภาคกลางมาก ดังการบอกศักราชของจารึกวัดแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย พ.ศ. ๒๐๗๓ ว่า “๘๙๒ วัดแดนเมืองปลูกปีกดยี่ (ปีขาล โทศก) เดือนห้าออกสิบค่ำ” และจารึกวัดมหาผล ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. ๒๔๐๓ ว่า “จุลสังกราชได้ ๑๒๒๒ ตัว ปีวอก โทศก (ปีกดสัน)” เป็นต้น

การนับปี

การนับปีของภาคอีสานนั้น ใช้วิธีการนับตามระบบปฏิทินแบบปีหนไทย ใน ๑ รอบมี ๖๐ ปี จะใช้ระบบปีศกเป็นแม่มื้อ ๑๐ คือ กาบ – กา และใช้ปีนักษัตรเป็นลูกมื้อ ๑๒ คือ ไจ้ – ไค้ ในการคำนวณโดยให้เรียกแม่มื้อคู่กับลูกมื้อไปตามลำดับ เช่น กาบไจ้ รับเป้า รวายยี่ ไปตามลำดับจนครบ ๕ รอบ จะไปสิ้นสุดที่ กาไค้ แล้วจึงขึ้นรอบใหม่ ดังตารางต่อไปนี้


การนับเดือน

การนับเดือนในระบบปีหนไทยนั้นใช้นับตามระบบจันทรคติเหมือนกับระบบขอม (ภาคกลาง) โดยแบ่ง ๑ ปีมี ๑๒ เดือน แต่คำเรียกชื่อเดือนที่ ๑ ของภาคอีสานและเหนือแตกต่างจากภาคกลาง คือ ภาคอีสานและเหนือเรียก “เดือนเจียง” ส่วนภาคกลางเรียก “เดือนอ้าย” และการนับเดือนของภาคเหนือเร็วกว่าอีสานและภาคกลาง ๒ เดือน คือ เดือนเจียงตรงกับเดือน ๓ ของภาคอีสานและกลาง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานและสาเหตุที่คลาดเคลื่อน ดังตารางเปรียบเทียบต่อไปนี้


การนับวัน

การนับวันในภาคอีสานนั้นมีใช้ ๓ แบบด้วยกัน คือ

๑. นับแบบสัปตวาร หรือแบบภาคกลาง
(ระบบขอม) ได้แก่การนับ ๗ วันเป็น ๑ รอบคือ
วันอาทิตย์ หรือใช้เลข ๑ แทน
วันจันทร์ หรือใช้เลข ๒ แทน
วันอังคาร หรือใช้เลข ๓ แทน
วันพุธ หรือใช้เลข ๔ แทน
วันพฤหัสบดี หรือใช้เลข ๕ แทน
วันศุกร์ หรือใช้เลข ๖ แทน
วันเสาร์ หรือใช้เลข ๗ แทน

๒. นับแบบจันทรคติ คือนับข้างขึ้น ข้างแรมเหมือนภาคกลาง โดยแบ่งเป็นข้างขึ้นและข้างแรมดังนี้
ข้างขึ้น ๑๕ วัน ตั้งแต่ ขึ้น ๑ ค่ำ หรือออกใหม่ ค่ำ ๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันเพ็ง
ข้างแรม ๑๕ วัน สำหรับเดือนคู่ ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๑๕ ค่ำ
ข้างแรม ๑๔ วัน สำหรับเดือนคี่ ตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๑๔ ค่ำ

การนับยาม

การนับยามในภาคอีสานนั้นแตกต่างจากภาคกลางโดยสิ้นเชิง ภาคกลางนั้นเรียกชื่อฤกษ์แทน ส่วนภาคเหนือเรียกชื่อยามคล้ายกัน ซึ่งภาคอีสานแบ่งยามหรือช่วงเวลาใน ๑ วัน (๒๔ ชั่วโมง) ออกเป็น ๑๖ ยาม โดยแบ่งเป็นกลางวัน ๘ ยาม และกลางคืน ๘ ยาม โดยระยะเวลาห่างกันช่วงละ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที และมีชื่อเรียกต่างกันดังนี้


ชาวอีสานนอกจากจะยึดถือยามในเวลากลางคืน ๘ ยามนี้แล้ว ยังนับยามหรือช่วงเวลาตามเสียงไก่ขันในแต่ละคืนอีกด้วย ซึ่งในคืนหนึ่ง ๆ ไก่จะขัน ๓ ช่วงเวลา และชาวอีสานก็เรียกชื่อยามตามช่วงเวลาตามที่ไก่ขันนั้น ได้แก่

๑. ยามไก่ขันกก คือ ไก่ขันครั้งแรก ในช่วงเวลายามตุดซ้าย และยามเข้าหรือยามเค้า
๒. ยามไก่ขันชั้น หรือไก่ขันท้า คือ ไก่ขันครั้งที่ ๒ ในช่วงเวลายามแถใกล้ฮุ่ง
๓. ยามไก่ขันฮวย คือ ไก่ขันครั้งที่ ๓ (จะขันถี่)ในช่วงเวลายามพาดลั่นฮุ่งหรือยามฮุ่ง

จะเห็นได้ว่า การนับกาลเวลาของชาวอีสานในอดีตนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจยิ่ง แต่ในปัจจุบันมรดกทางวัฒนธรรมนี้ได้ถูกลืมเลือนไปกับกาลเวลาและวัฒนธรรมภาคกลาง อันสืบเนื่องมาจากระบบการศึกษาและการปกครอง ทำให้ระบบการนับกาลเวลาของชาวอีสานเหล่านี้มีคนรู้จักน้อยเต็มที (ส่วนมากจะเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ตามชนบทเท่านั้น) ปัจจุบันที่ยังคงเหลือปรากฏอยู่เพียงแค่การนับเดือนเท่านั้นที่ยังคงใช้อยู่เพราะเดือนมีความเหมือนกันกับภาคกลาง แต่ถึงกระนั้นก็ตามคำว่า เดือนเจียง ก็มีคนรู้จักน้อยเต็มที แต่กลับไปรู้จัก เดือนอ้าย ของภาคกลางแทน และชาวอีสานก็เข้าใจว่า เดือนอ้ายเป็นชื่อเรียกเดือนที่ ๑ ของตนเองอีกต่างหาก นับว่าเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com