“ก้าวปีที่เก้า ก้าวมาแล้ว ๑๐๐ ฉบับ ก้าวแกร่งทัพนักคิดนักเขียนทางอีศาน”

“ก้าวปีที่เก้า ก้าวมาแล้ว ๑๐๐ ฉบับ
ก้าวแกร่งทัพนักคิดนักเขียนทางอีศาน”

ประกอบส่วนสรรสร้าง “ทางอีศาน”
ประกอบส่วนการงานสานคิดต่อ
ประกอบส่วนศรัทธาอย่ารีรอ
ประกอบส่วนไม่ย่อท้อต่อพาลใด
ประกอบส่วนประสบการณ์สมานมิตร
ประกอบส่วนงานศักดิ์สิทธิ์คิดฝันใฝ่
ประกอบส่วนปฏิบัติวิวัฒน์ชัย
ประกอบส่วนก้าวไกลไปด้วยกัน.

เมื่อก้าวมาถึงวันนี้ มีหลายเรื่องในรอยทางที่ก้าวมา…

เรื่องหนึ่ง ขณะเตรียมพร้อมออกก้าวเดินเราไปติดต่อ “สายส่ง” เพื่อเป็นตัวแทนการจัดจำหน่าย ด้วยความปรารถนาดี ผู้จัดการสายส่งถามว่า “คุณทำหนังสือแนวนี้ คุณจะเอาเนื้อหาเรื่องราวอะไรมาทำได้ถึง ๘ – ๙ เล่ม…” เขาสงสัยมาก และหนักใจแทนว่าหนังสือแนวนี้ แถมเน้นเผยแพร่เฉพาะภาคอีสาน จะดำเนินกิจการให้ยั่งยืนได้อย่างไร

ยามครุ่นคิดถึงคำถามนี้ เราต้องสรุปทบทวนสาระที่จะนำเสนอว่ามีความตื้น ๆ แคบ ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นที่เขาห่วงใยจริงหรือไม่ แต่ทุกย่างก้าวที่ได้พบผู้รู้ทุกรุ่นวัย พบปราชญ์ของแผ่นดิน แล้วลำเลียงเรื่องราวนำเสนอ มันทำให้เราดิ่งลึกเข้าไปในองค์ความรู้ทุกศาสตร์และศิลป์ ค้นคว้าศึกษา สาวไม่หมดลดความเข้มข้นไม่ได้

หนังสือ “ทางอีศาน” รูปเล่มขนาดกะทัดรัด จำนวนไม่กี่หน้า ต้องตั้งใจอ่านอย่างจริงจังจึงจะเก็บคำเก็บความและอรรถรสต่าง ๆ ได้หมด กระนั้นในช่วงระยะเวลาเดือนต่อเดือนผู้อ่านหลายท่านอ่านไม่ทันคนเขียนคนทำ

เรื่องหนึ่ง แทบทุกครั้งที่พบคุณอัศศิริ ธรรมโชติ นักหนังสือ มือเรื่องสั้นซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติ ด้วยประสบการณ์และต้องการให้กำลังใจท่านจะสำทับเสมอ “…ทำนิตยสารนี่ต้องให้เวลาถึง ๑๐ ปีเลยนะ ถึงจะพิสูจน์ตัวตน ถึงจะติดตลาดได้…”

ได้ยินประโยคนี้ตั้งแต่ออกก้าวเดิน คิดถึงแต่ละฉบับกว่าจะประกอบส่วนปิดเล่มได้ คิดถึงจะครบ ๑ ปีต้อง ๑๒ ฉบับ ๑๐ ปีก็ต้อง ๑๒๐ ฉบับ คิดแล้วต้องสูดลมหายใจให้เข้าเต็มปอดทุกครั้ง

ต่อสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ ต่อสถานการณ์โควิดระบาด ในภาวะสื่อสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจาก และวัฒนธรรมการอ่านที่เพิ่งแตกหน่ออ่อนต้องปะทะกับวัฒนธรรมก้มหน้าดูจอแก้ว เราก็ได้แต่หวังว่าผู้อ่าน โดยเฉพาะสมาชิกประจำของเรา จะช่วยกันขยายจำนวนสมาชิกได้พอรองรับให้กิจการกิจกรรมของเราดำเนินสืบต่อไปได้

ข้อคิดข้อเขียน ภาพถ่าย ลายเส้น และงานของศิลปินทั้งมวลคือหัวใจ คือแก่นแกนของหนังสือ ผู้อ่านคือผู้รู้ผู้เสาะหาความบันเทิงเริงรมย์ คือผู้ตัดสินคุณค่าและชี้ชะตาอายุขัยของหนังสือ กอง บ.ก. คือผู้ประสานงาน จัดสรร ปรุงแต่ง และจัดการธุรการงานเพียงเท่านั้น

มีนักคิดนักเขียน คอลัมนิสต์ ฝ่ายงานศิลปกรรม และโรงพิมพ์ จึงเกิดหนังสือ มีผู้อ่านประคับประคองหนังสือจึงมีลมหายใจอยู่ได้

ในวาระนิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” เดินทางมาถึง ๑๐๐ ฉบับ ปกฉบับนี้จึงนำรูปผู้เป็นสารตั้งต้นขึ้นประดับ นอกจากผู้ยังมีชีวิตและมุ่งมั่นทำงานอยู่ ยังระลึกและคงเกียรติยศท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว

Related Posts

หัวคันไดบ้าน
โลกยุคใหม่ชื่อยุคกราฟีน
สะดืออีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com