หัวคันไดบ้าน

ดูภาพเก่า “เฮือนโบราณ” แบบอีสาน เห็นบ้านยกใต้ถุนสูงมีบันไดพาดกับชานบ้าน ทำให้ย้อนคิดถึงอดีตบ้านเรือนในชุมชนชนบทบ้านนอกคอกนาเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก  เคยเห็นบันไดที่คนอีสานเรียกว่า “หัวคันได” ลองเอามาเขียนเล่าย้อนอดีตดูบ้าง น่าจะได้แง่คิดอะไรดี ๆ ตามแบบฉบับของเสียงเมือง “ทางอีศาน”

ราว พ.ศ. ๒๕๙๐ กว่า ๖๐ ปีมาแล้ว ผู้เขียนยังเรียนอยู่มัธยมต้น เตี่ยกับแม่เปิดร้านขายอาหารจีนอยู่ที่อำเภออำนาจเจริญ ส่วนบ้านเกิดของแม่อยู่ที่อำเภอม่วงสามสิบ ตากับยายและญาติ ๆ ยังอยู่ ช่วงปิดเทอมทุกปีแม่มักจะใช้ผู้เขียนนำสิ่งของเครื่องใช้ของฝากไปเยี่ยมตากับยายและญาติ ๆ ที่หมู่บ้าน“ยางเคลือ” อ.ม่วงสามสิบ เพราะเห็นว่าผู้เขียนเป็นหลานรักของยาย เป็นภาพประทับใจฝังในความจำมาจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนออกเดินทางไปเยี่ยมตากับยาย แม่กับคนงานก็จะขนกระบุง ตะกร้า ชะลอม ที่บรรจุของฝากจนเต็มขึ้นรถประจำทางให้ เพราะผู้เขียนยังเด็กขนของไม่ได้ สั่งคนขับรถและเด็กท้ายรถถึงปากทางเข้าหมู่บ้านนั้นให้ขนของลงให้หมดด้วย จากอำเภออำนาจเจริญถึงม่วงสามสิบราว ๕๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเกือบ ๒ ชั่วโมง เพราะถนนลูกรัง

ผ่านตัวอำเภอมาอีกหน่อยก็ถึงปากทางเข้าหมู่บ้านยางเคลือ รถโดยสารจอดขนของลงจนครบก็มีญาติ ๆ จากหมู่บ้านมารอรับที่จะหาบจะคอนของฝากเดินเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากปากทางประมาณ ๔ – ๕ กิโลเมตร ต้องเดินทางผ่านป่า ผ่านทุ่ง ผ่านป่าละเมาะตามทางเกวียนแคบ ๆ เราเดินกันไปเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อน คุยกันไปตามประสาเด็ก สองข้างทางยังเป็นภาพประทับใจมาจนทุกวันนี้

บางครั้งผ่านต้น “เอ็นอ้า” เป็นพุ่มเล็ก ๆ ออกดอกสีม่วงชูช่อสะดุดตา บางช่วงต้นติ้วสูงเพียงหัวออกดอกสีขาวโพลนไปทั้งป่า (สวยไม่แพ้ดอกซากุระของญี่ปุ่น)  บางช่วงญาติ ๆ ก็จะพาแวะเก็บ “หมากเล็บแมว” ที่เป็นพุ่มมีหนามออกลูกเป็นเม็ดเล็ก ๆ สุกแล้วจะมีสีดำ เก็บมากินเล่นออกรสหวานนิด ๆ หรือบางครั้งก็แวะเก็บ “หมากเดือยไก่” เป็นไม้พุ่มมีลูกสีเขียวยาวรีคล้ายเดือยไก่ รสหวานนิด ๆ แต่ชุ่มคอ

เดินชมนกชมไม้เก็บผลไม้ป่ากินเล่นเพลิน ๆ ไม่นานก็ถึงหมู่บ้าน “ยางเคลือ” ถึงบ้านตายายและญาติ ๆ รอรับอยู่ ขนของขึ้นบนบ้านญาติ ๆ มาห้อมล้อมทักทายพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสา ของฝากจากในเมืองสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านนอกชนบทห่างไกล ไม้ขีดไฟ น้ำมันก๊าด น้ำมันหมู เกลือ น้ำตาล ข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ก็แบ่งปันให้ญาติ ๆ ไปจนทั่วถึง

สักครู่ก็จะได้ยินเสียงไก่ในเล้าใต้ถุนบ้านร้อง จ๊อก ๆ ทุกคนจะรู้ว่าคุณยายลงไปเก็บไข่ในเล้าไก่เตรียมมาทอดไข่ให้หลานรักกิน สูตรไข่ทอดของยายที่ผู้เขียนประทับใจไม่ลืมรสชาติก็คือวิธีทำ ยายจะจุดไฟใส่เตาด้วยฟืนไม่ใช้ถ่าน เอากระทะใบเล็ก ๆ ตั้งไฟ ใส่น้ำเปล่าลงไปเล็กน้อย แล้วเทไข่ที่คนไว้แล้วลงไปใช้ตะหลิวค่อย ๆ คน เหยาะเกลือลงเล็กน้อยพร้อมด้วยหอมแดง คนให้เข้ากันจนสุกแล้วยกขึ้นใส่จาน ดูแล้วน่าจะเรียกว่าคั่วไข่ เพราะยายไม่ใช้น้ำมันเลย สุกแล้วจะได้กลิ่นไหม้ก้นกระทะนิด ๆ กลิ่นหอมแดงหอมอร่อย นี่แหละคั่วไข่สูตรคุณยาย

ไปเยี่ยมยายจะอยู่ ๒ วัน ๓ วัน ตามแต่โอกาส ช่วงกลางวันบางครั้งคุณตาก็จะพาหลานชายลูกเถ้าแก่คนเจ๊กคนจีน ออกไปหว่านแหหาปลา หรือขุดหากะปูตามทุ่งนา หรือให้ญาติ ๆ พาไปหัดดำนา เกี่ยวข้าว หรือนวดข้าว (คนอีสานเรียกว่า ฟาดข้าว) เพื่อให้สัมผัสชีวิตของการทำนา นับว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนอย่างหาอีกไม่ได้แล้ว ดำนาเกี่ยวข้าวผู้เขียนไม่คล่องสู้ญาติ ๆ ไม่ได้ แต่การนวดข้าวด้วยวิธีฟาดข้าวนี้ผู้เขียนชนะขาด

การฟาดข้าวของคนอีสานสมัยก่อนนั้น เขาจะใช้ไม้ท่อนขนาดเล็กกว่าลำแขนยาวประมาณเมตรเศษ ๒ ท่อน ใช้เชือกผูกหัวไม้ทั้ง ๒ ข้าง ห่างกันสักคืบกว่า ๆ  เวลาจะฟาดให้เม็ดข้าวร่วงจากต้นข้าวจะใช้ลำไม้ ๒ ท่อนเอาเชือกที่ผูกหัวไม้พันรอบฟ่อนข้าวให้กระชับแน่นแล้วยกฟ่อนข้าวขึ้นสูงเลยหัวไปข้างหลัง แล้วฟาดฟ่อนข้าวลงกับพื้นแรง ๆ ฟาด ๒ – ๓ ครั้งจนเม็ดข้าวร่วงจากต้นข้าวหมด วิธีจะทิ้งฟ่อนข้าวก็ใช้เหมือนฟาดข้าวแต่เหวี่ยงไปในทางที่จะทิ้งโดยแยกหัวไม้ออกจากกันเหวี่ยงให้ฟ่อนข้าวปลิวไปไกล ๆ ผู้เขียนชำนาญเรื่องเหวี่ยงฟ่อนข้าวไปได้ไกลกว่าเพื่อน

ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมตายายเรื่องที่จดจำแม่นอีกเรื่องหนึ่งคือ ตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงไก่ขัน ซึ่งเด็กในเมืองอย่างผู้เขียนไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก ประมาณเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งไก่จะขันครั้งแรก รับกันจากบ้านนี้ไปบ้านโน้น ยายบอกว่า “นี่ไก่ขันกก”  ประมาณตี ๔ ตี ๕ ไก่จะขันอีกครั้งเรียกว่า “ไก่ขันปลาย” เป็นการบอกเวลาโดยธรรมชาติไม่ต้องมีนาฬิกา

หลังจากไก่ขันปลายตอนตี ๕ ผู้คนชาวบ้านก็จะลุกมาทำกิจวัตรส่วนตัว และเสียงหนึ่งที่ผู้เขียนยังจำก้องในหูคือเสียงตำข้าวด้วยครกมอง (ครกกระเดื่อง)   ครกมอง คือครกตำข้าวที่มีตัวครกขนาดคนโอบ ฝังครึ่งหนึ่งลงไปในดิน มีคานติดสากไม้เนื้อแข็งท่อนเท่าขาในช่วงปลายคาน ส่วนท้ายคานเรียก “หาง” จะถากให้แบนนิดหน่อยใช้เหยียบคานให้กระเดื่องขึ้นลง (ครกกระเดื่องคงเคยเห็นมาบ้าง) เวลาเหยียบตรงทางปลายก็จะกระดกขึ้น แล้วปล่อยหางให้ปลายที่มีสากลงไปตำเม็ดข้าวในครก คนตำข้าวเหยียบคานแล้วปล่อยเสียงไม้กระทบไม้ในตอนเช้า ๆ ในชนบทที่แสนเงียบสงัด เสียงครกจะดังกังวานไปทั่วหมู่บ้านเลย เสียงดัง “จั๊กกะเลย เจิ๊ก” เสียงเหมือนนาฬิกาปลุก ทำให้ต้องรีบลุกจากที่นอน ล้างหน้าแปรงฟันแล้วลงไปช่วยญาติตำข้าวฟังเสียงครกดัง “จั๊กกะเลย เจิ๊ก” จนชินหู เขาบอกว่าถ้าเสียงครกกระเดื่องบ้านไหนดังมากดังนานแสดงว่าลูกหลานบ้านนั้นขยัน น่าเอามาเป็นเขยเป็นสะใภ้

มาถึงยุคนี้คงหาฟังเสียง “จั๊กกะเลย เจิ๊ก” จากครกมองไม่ได้แล้ว

มาอีกเรื่องที่ผู้เขียนยังจำเรื่องความเชื่อภูมิปัญญาชาวบ้านคนรุ่นเก่า คือบ้าน “เฮือน” อีสานโบราณจะเป็นบ้านยกพื้นสูงขนาดท่วมหัวคน ข้างล่างจะเป็นคอกสัตว์ ตัวบ้านใต้ถุนสูงมีชานบ้านยื่นออกมาจากตัวบ้าน มีบันได “หัวคันได” สูง ๓ – ๔ เมตรพาดไว้ตรงชานบ้าน บันไดจะทำจากลำไม้ไผ่ลำใหญ่แข็งแรงหรือไม้เนื้อ แข็ง ถากให้เป็นลำยาวสูงกว่าชานบ้านหน่อยหนึ่งเป็นลำแม่ ๒ ลำ เจาะรูห่างประมาณ ๑ ศอก ทั้ง ๒ ข้าง เพื่อสอดขั้นบันได ตามความเชื่อโบราณจะต้องเป็นขั้นคี่ ๕ ขั้น หรือ ๗ ขั้น

เมื่อทำบันไดเสร็จแล้วจะต้องทำพิธีไหว้พระภูมิบันไดเพราะถือว่าบันไดเป็นส่วนสำคัญของบ้าน โชคดี โชคร้าย อันตรายใด ๆ จะเข้ามาบ้านก็ต้องผ่านบันได การทำพิธีบนบานศาลกล่าวพระภูมิบันไดต้องเชิญผู้ชำนาญผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้ทำพิธีสวดมนต์อธิษฐาน ใช้ด้ายสีขาวหรือสีแดงผูกตรงปลายหัวบันได ช่วงปลายบันไดจะผูกเชือกกับขั้นบันได ปลายอีกข้างหนึ่งผูกไว้กับชานบ้าน เมื่อยามที่เจ้าของบ้านไม่อยู่บ้านหรือตอนกลางคืน เขาจะผลักบันไดให้เอนออกไปจากชานบ้านโดยมีเชือกคอยโยงไว้ ตื่นเช้าจึงดึงบันไดลงมาพาดชานบ้านเหมือนเดิม

การ “เงิกคันได” ออกห่างชานบ้านไม่สามารถกันขโมยได้หรอก แต่เป็นการป้องกันสัตว์ร้าย หมา แมวจะขึ้นบ้านยามกลางคืนหรือตอนไม่อยู่บ้าน เพราะสมัยนั้นชุมชนกับป่ามันอยู่ด้วยกัน สัตว์ร้ายต่าง ๆ เพ่นพ่านหากินยามกลางคืน และเป็นสัญลักษณ์ว่าผ่านบ้านไหนถ้า “เงิกคันได” อยู่ก็แสดงว่าเจ้าของบ้านไม่อยู่ ภาพแบบนี้คงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

Related Posts

โลกยุคใหม่ชื่อยุคกราฟีน
สะดืออีสาน
หัวคันไดบ้าน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com