ก้าวสู่ปีที่ ๑๐ ดั่งบั้งไฟดั้นฟ้ากล้าหาญ

ก้าวสู่ปีที่ ๑๐
ดั่งบั้งไฟดั้นฟ้ากล้าหาญ


[๑]
ไหว้ครู

นิตยสารรายเดือน “อักษรสาส์น” โดย สุภา ศิริมานนท์ บรรณาธิการ และจินดา ศิริมานนท์ ผู้จัดการทั่วไป คือคบไฟที่โชนแสงในความมืด ประกายไฟนั้นได้ส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง แม้วันนี้ก็ยังไม่มอดดับ

หนังสือ “ทางอีศาน” ฉบับ “แฮกหมาน” หมายถึง เริ่มต้นด้วยความสำเร็จนี้ ขอ “ไหว้ครู” โดยนำแนวคิดวิธีปฏิบัติที่ครูผู้บุกเบิกงานด้านสื่อสารมวลชนได้สำแดงเจตจำนงไว้ตั้งแต่ “อักษรสาส์น” ฉบับแรกจนฉบับสุดท้าย (เมษายน ๒๔๙๒ – ตุลาคม ๒๔๙๕) มาตีพิมพ์ เสมอดังการวางดอกไม้ธูปเทียนคารวะครูบาอาจารย์ และบรรดาผู้ถากถางหนทางสายนี้มาอย่างยากลำบาก

ข้อความที่จำหลักหนักแน่นตั้งแต่เมื่อ ๖๓ ปีที่แล้ว…

“บทความต่าง ๆ ทั้งในทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ, ทางสังคม, ในทางวรรณคดีและในทางศิลปะ ในนิตยสารรายเดือน “อักษรสาส์น” นี้ ไม่ใช่เป็นการแสดงข้อคิดโดยเฉพาะเจาะจงแห่งกลุ่มความคิด หรือจารีตและศรัทธา ของกลุ่มใดสำนักใด กลุ่มเดียวสำนักเดียว คณะบรรณาธิการของ “อักษรสาส์น” มิได้คาดหวังว่า ท่านผู้อ่านนิตยสารนี้จะเลื่อมใสเห็นด้วยอย่างสอดคล้องไปทุก ๆ ประการ กับข้อคิดและความรู้สึกเท่าที่ได้ปรากฏในบทประพันธ์เหล่านี้ ผู้เขียนของ “อักษรสาส์น” แต่ละคนก็อาจจะมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่ได้ คณะบรรณาธิการ “อักษรสาส์น” ถือว่า ในการที่นิตยสารนี้จะสามารถอนุเคราะห์ท่านผู้อ่าน เพื่อให้เข้ามีส่วนร่วมรังสรรค์สาธารณมติให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่สังคม ตลอดทั้งเป็นผลอันไพศาลล้ำลึกแก่ประพันธพิภพ และหรือแก่ปริมณฑลแห่งศิลปะนั้น การให้ได้รับฟังข้อคิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน ด้วยความมีจิตใจอันกว้างขวาง บริสุทธิ์ และเป็นธรรม ย่อมจะเหมาะสมวิเศษกว่าการที่จะยึดมั่นและใฝ่ใจเกาะแน่นอยู่แต่เฉพาะเพียงข้อคิด หรือจารีตและศรัทธาของกลุ่มใดสำนักใดกลุ่มเดียวสำนักเดียว เพราะฉะนั้น “อักษรสาส์น” จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะรับรองความคิดเห็นใด ๆ ที่มีปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าที่มีชื่อผู้เขียน หรือไม่มีก็ตาม ภาระที่ “อักษรสาส์น” รับผิดชอบ กำหนดเฉพาะแต่ความถูกต้องแห่งข้อความจริงตามหลักวิชา, กับเฉพาะแต่ภาระที่แสวงหามา และที่พิจารณาอนุมัติให้บทประพันธ์เหล่านี้ได้ปรากฏเพื่อรับการวิเคราะห์ และการวินิจฉัย ของบรรดาท่านผู้อ่านผู้สนใจทั้งหลาย”

หนังสือ “ทางอีศาน” – นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค “…ปรารถนาเป็นมิตรผู้ซื่อสัตย์แห่งจิตสำนึกของผู้อ่าน และเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งสำหรับทวีความก้าวหน้าทางความคิด ในทางการอ่านหนังสือ และโลกทัศน์อันไพศาล”.


[๒]
อีศาน!

อัศนี พลจันทร ใช้นามปากกา “นายผี” ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ เมื่อร่วมกับ จำกัด พลางกูร และสด กูรมะโรหิต ออกหนังสือเอกชน แต่เชื่อกันว่าท่านเขียนหนังสือมาก่อน พ.ศ.๒๔๘๐

“นายผี” คือ พระศิวะ การเรียกเช่นนั้นเพราะแปลจาก “ปีศาจบดี”, นาย คือ บดี, ผี คือ ปีศาจ ตามประวัติ พระศิวะเป็นเจ้านายแห่งผี (“นายผี” เป็นผู้อธิบาย)

งานประพันธ์ของ อัศนี พลจันทร มีความเปลี่ยน แปลงพัฒนามาตามลำดับ “ตอนนั้น (ยุค นิกรวันอาทิตย์ พ.ศ.๒๔๘๗) ผียังเป็นอนาคิสต์ กุลิศ อินทุศักดิ์ (นามปากกาหนึ่ง) อนาคิสต์ทั้งนั้น อนาคิสต์ไม่ใช่ของเลว ขวางโลกไว้ก่อน ตะเข้ฟาดหางเข้าไว้ มันเหมาะกับเมืองไทย บ้าดี บ้าดีชะมัด สนุกฉิบหาย อย่างบางเรื่องของกุลิศ อินทุศักดิ์ ตัวละครกระโดดเข้าหน้าต่าง มานอนเอาตีนชี้เพดาน ใครหนอมาสีบรรเลงเพลงบีโธเฟนนัมเบอร์ไนน์ แล้วนัมเบอร์ไนน์มันสูงที่สุด นั่นละผี…” สุภา ศิริมานนท์ ให้สัมภาษณ์ ถนนหนังสือ พ.ศ.๒๕๒๖

“…ความรักประชาชน การต่อสู้เพื่อประชาชน ความไม่หลงตน และการคัดค้านสังคม” ชลธิรา สัตยาวัฒนา สรุปไว้อีกช่วงหนึ่ง และระบุถึงช่วงสุดท้ายว่า “…เป็นงานที่มีเป้าหมายแน่ชัด เป็นรูปธรรม และเป็นไปตามอุดมคติแบบสังคมนิยมอย่างแนบแน่น…”

ผลงานประพันธ์ด้านบทกวีของ “นายผี” ตั้งแต่ตีพิมพ์เผยแพร่เปิดเผยกระทั่งเสียชีวิต มีประมาณ ๓๐๐ กว่าชิ้น

ผลงานอมตะชิ้นหนึ่งของท่านคือบทกวีชื่อสำนวนว่า อีศาน!

“สมชาย ปรีชาเจริญ” นามปากกาหนึ่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนวิจารณ์ไว้ในหนังสือ พิมพ์สารเสรี (พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๑) ว่า “…บนหน้าหนึ่งของประวัติวรรณคดีไทย อันจักเขียนขึ้นโดยปราชญ์แห่งประชาชนในอนาคต จักต้องจารึกไว้อย่างภาคภูมิ และทรนงว่า ในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๕ เพชรน้ำเอกของวรรณคดี ประเภทกลอนของประชาชนได้ปรากฏออกสู่สายตามวลชน เพชรน้ำเอกชิ้นนั้นก็คือ บทกลอน “อีศาน!” อันเลื่องลือกำจรนามของมหากวีแห่งประชาชนผู้ใช้นามว่า นายผี”

ในปริญญานิพนธ์ ของ สุจิรา คุปตารักษ์ ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ถ้อยคำใน “อีศาน!” ว่า “มีพลังในการสร้างความรู้สึกของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และกินใจ…(โดยเฉพาะ) เมื่อกล่าวถึงความรู้สึกเคียดแค้นของชาวอีสาน ที่ระลึกถึงพฤติการณ์อันเลวร้ายของผู้แทนราษฎรในจังหวัดของตน… ในการพรรณนาความแห้งแล้งของภาคอีสาน “นายผี” ก็ใช้คำและความหมายที่ชวนให้เห็นภาพ…”

ชลธิรา สัตยาวัฒนา เขียนไว้ในหนังสือวรรณคดีปวงชน (พ.ศ.๒๕๑๙) “…นับเป็นบทชี้เน้นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน แสดงให้เห็นว่างานของนายผีพัฒนามาอีกระดับหนึ่งคือระดับที่ใช้คำง่าย สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแนวการเขียนเช่นนี้นับว่ามีอิทธิพลสูงสุดต่อผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่…”

อิทธิพลของ “อีศาน!” ต่อนักกวี ไล่เรียงมาตั้งแต่จิตร ภูมิศักดิ์, เปลื้อง วรรณศรี, นเรศ นโรปกรณ์ (ครั้งนั้นใช้นามปากกา “มนูญ มโนรมย์” เขียนบทกวียอดนิยมในหมู่นักศึกษา “เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง หรือจึงมุ่งมาศึกษา เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤๅ แท้ควรสหายคิด แลตั้งจิตร่วมยึดถือ รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียนฯ”), เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ระวี โดมพระจันทร์, วิทยากร เชียงกูล, สถาพร ศรีสัจจัง, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สมคิด สิงสง, ประเสริฐ จันดำ, วิสา คัญทัพ, วัฒน์ วรรลยางกูร, คมทวน คันธนู, จิระนันท์ พิตรปรีชา ฯลฯ และรวมถึงนักเขียนยุคหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ ทั้งหมดถึงยุคปัจจุบันที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ครบถ้วน

สังเกตงานกาพย์ยานีชิ้นเด่น ๆ ของนักเขียนที่อ้างถึง ย่อมมองเห็นสายธารซึ่งไหลต่อเนื่องกันมา

อิทธิพลของ “อีศาน!” ต่อมหาชนคนอ่านนั้น เรียกได้ว่า หัวใจนับแสนนับล้านดวงของคนอ่านทั่วประเทศ จนถึงวันนี้ยังไม่เคยพ่ายผู้ใดเลย.


[๓]
สุนทรกถา

ในวันประชุมระดมความคิดที่สำนักงาน “ทางอีศาน” ณ ตลาดบางลำภู จังหวัดขอนแก่นนั้น คำสิงห์ ศรีนอก (“ลาว คำหอม”) นักเขียนอาวุโส, ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้กล่าวความคิดเห็นดังแสดงสุนทรกถา ที่ให้ทั้งเนื้อหา ไพเราะ และมีพลัง จึงขอนำมาบันทึกไว้ในบัญชรนี้เพื่อผู้อ่าน “ทางอีศาน” ทุกท่าน

“วันนี้ที่มาร่วมรู้สึกตื่นเต้น ต้องใช้คำนี้ตอนแรกเมื่อปรีดา ข้าวบ่อ เสนอความคิดเรื่องหนังสือทางอีศาน รู้สึกเป็นทุกข์ คิดว่าปรีดาติด “นายผี” ความจริง “นายผี” อิงอีสาน ไม่ใช่อีสานอิง “นายผี” กลัวว่าถ้าทำไม่ดีคนจะคิดว่าเป็นหนังสือกวีนิพนธ์ อาจจะทำให้เกิดปัญหาบ้าง และเป็นคนเสนอว่าอีศานนั้นให้ไปตั้งชื่อก็ได้แต่ควรจะมีนามสกุล อีศานปริทัศน์ อีศานอะไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาวันนี้ปรากฏว่าเป็น “ทางอีศาน” ดีกว่าที่ผมเสนอเสียอีก คุณจะรู้หรือเปล่าคำว่าทางนี้ จริง ๆ แปลว่า ฝ่าย ทางเหนือ ทางใต้ ภาษาอีสาน ทาง แปลว่า ฝ่าย ตอนนี้ถือว่าเป็นการประกาศตัวว่านี้เป็นหนังสือของฝ่ายอีสาน หนังสือของอีสาน

“เมื่อปรากฏตัวอย่างนี้แล้วก็อยากให้ปรากฏตัวอย่างทระนงองอาจ อย่าอ้อมแอ้ม ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นยุควิกฤติของบ้านของเมืองจะอยู่จะไปถึงขั้นนั้นเพราะฉะนั้นเมื่อหนังสือของเราออกในยุคสมัยอย่างนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงตัวตนให้ชัดเจน อย่าอ้อมค้อม อย่ามีปมด้อย ลุกขึ้นอย่างองอาจ มองไปข้างหน้า เสนอความคิดที่เราอยากให้เขาคิด ต้องเป็นผู้นำทางความคิด

“หนังสือทางอีศาน ต้องหาสิ่งใหม่มานำเสนอ ต้องพร้อมที่จะท้าทายปรากฏการณ์ใหม่ ๆ หนังสือจึงจะเด่นขึ้นมา หรือจึงจะเป็นผู้นำได้

“หนังสือทางอีศานต้องมองไปข้างหน้าอย่าห่วงหลังนัก ของเก่าของแก่เอามาเสนอเมื่อไรก็ได้ แต่ทุกครั้งที่เสนอก็ขอให้วิเคราะห์ได้อ่านบทฮีตสิบสองคองสิบสี่ก็น่าสนใจ แต่สิ่งเหล่านี้มันกำลังจะเลือนหาย มันไม่ยึดโยงกับสังคมปัจจุบันเท่าไรแล้ว ถ้าจะรักษาก็ต้องชี้ให้เห็นที่มาที่ไป และต้องนำมาผสานกับอีสานใหม่ให้ยึดโยงกับสังคมปัจจุบันให้ได้ ว่ามันจะมีบทบาทรับใช้ได้อย่างไร สิ่งนี้ขอให้เป็นปรัชญาหรือหัวใจของหนังสือที่จะทำ ถ้าจะทำหยอม ๆ แหยม ๆ ขลาด ๆ กลัว ๆ อย่าทำ

“หนังสือทางอีศานต้องจับประเด็นปัญหาของบ้านของเมืองมาเสนอ สรุปว่าปัญหาของบ้านเมืองตอนนี้ ขอใช้คำว่าวิกฤติจริง ๆ ชี้อะไรไปมันก็วิกฤติ ใครจะทราบบ้างว่าปัญหายาเสพติดที่คนสัมผัสใกล้ชิดจริง ๆ จำนวนล้านกว่าและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ยกเป็นตัวอย่างเท่านั้น ทางอีศานควรจะสนใจในปัญหาปัจจุบันนี้ให้มาก ส่วนอย่างอื่น ๆ ขอให้พิจารณา ผมอยากเห็นหนังสือที่ก้าวหน้า กล้าหาญ ทระนง องอาจ

“นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่อยากจะเห็นในทางอีศาน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ขอให้สิ่งเหล่านี้มีในความคิดของพวกเราที่กำลังจะทำงาน แล้วอย่าคิดว่างานนี้เป็นงานเล็ก งานนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ว่าอาจจะใช้กาลเวลาบ้าง

“ทุกเรื่องต้องวิเคราะห์มาให้หมด ให้เป็นเอกลักษณ์ของทางอีศาน เป็นนิตยสารเชิงวิเคราะห์ ขอให้นำเรื่องปัจจุบันมาวิเคราะห์อย่าอยู่กับของเก่า มิเช่นนั้นจะเป็นนิตยสารโบราณคดี ซึ่งเสียเวลาอ่านมาก อยากให้ทางอีศานยึดโยงกับสังคมปัจจุบัน ขอเอาใจช่วย

“ขอฝากฝังน้อง ๆ ว่า งานนี้เป็นงานใหญ่เป็นงานท้าทาย การเขียน การทำหนังสือต้องพร้อมที่จะท้าทาย เรามีพวกพ้องมากมาย แต่ขอให้ทำด้วยความรักชาติ รักประชาชนที่แท้จริง ด้วยมนต์สองคำนี้ รักชาติ รักประชาชน ไม่ว่าเราจะวิจารณ์อย่างไร ไม่มีใครมาทำลายเราได้”.

ด้วยจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ
พฤษภาคม ๒๕๕๕


[๔]
๙ ปีที่ก้าวผ่าน

ขอบคุณคณะทำงานตั้งแต่รุ่นบุกเบิก นักคิดนักเขียนนักแปล ศิลปินจิตสาธารณะ ผู้อุปถัมภ์ค้ำชูและให้กำลังใจทุกท่าน ที่ประกอบส่วนให้นิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” ได้ทำหน้าที่ตามเป้าประสงค์ที่ปักวางลง และกำลังก้าวสู่ปีที่ ๑๐

เป้าประสงค์ “ทางอีศาน” คือ ศึกษาและนำความรู้จากผู้รู้ จากพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกภูมิภาค ทุกชาติพันธุ์ นำศาสตร์ปรัชญาทุกแขนงออกเผยแพร่ เพื่อความก้าวหน้าทางความคิดจิตสำนึกของผู้คน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุดหน้า มีความสุข สันติ มั่นยืน

เวลา ๙ ปีผ่านมา ข้อเท็จจริงของสภาพ ลักษณะสังคมไทย ทำให้ได้คิดและพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า ประเทศไทยจะเป็นสวรรค์ทันทีถ้าไม่มีคอร์รัปชั่น ถ้าข้าราชการมีคุณภาพคุณธรรม ชาวบ้านสามารถต้มเหล้าปลูกกัญชาเอามาดื่มใช้กันเอง และปราบปรามยาเสพติดได้สิ้นซาก

แต่อุปสรรคปัญหาที่ประเทศไม่เปลี่ยน แปลงพัฒนา เกิดแต่เหตุปัจจัย ที่มาที่ไปเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันฝังรากหยั่งลึก หากเปิดประเด็นวาระแห่งชาติประมวลเสนอได้อย่างคร่าว ๆ ดังนี้

ขุนเขาและป่าไม้น้อยใหญ่ทุกแห่งต้องรักษาให้ตระหง่านง้ำศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้ทุกต้น ทะเล แม่น้ำลำคลองทุกสายต้องหยุดบุกรุกขวางทับ ฟื้นฟู บำรุงรักษา และเสริมขยายให้สดชื่นมีชีวิต ทรัพยากรทั้งบนดินใต้ดินต้องเป็นสมบัติของคนทั้งแผ่นดิน

เยาวชนทุกคนต้องได้รับโอกาสและเข้าถึงการพัฒนาทักษะทุก ๆ ด้านอย่างเท่าเทียม องค์ความรู้ของทุกท้องถิ่นภูมิภาคต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน รัฐต้องมีทิศทางจึงจะบ่มเพาะลูกหลานพลเมืองให้สอดคล้องกับการก้าวเดินไปสู่อนาคต มุ่งให้พวกเขารู้จักรากเหง้าตน รักท้องถิ่น มีความมุ่งมั่นและจินตนาการ

การสาธารณสุขต้องประสานความรู้สากลกับภูมิปัญญาบรรพชน สมุนไพรไทยต้องค้นคว้า สืบทอด ดังบทสรุปของ รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ ที่ว่า “ยาดีที่สุดคืออาหาร โรงพยาบาลดีที่สุดคือครัว หมอดีที่สุดคือตัวเราเอง”

การเกษตรกรรมต้องประณีต ก้าวไกล ปลอดภัยจากสารพิษ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มราคากำไร แต่เพื่ออยู่กับธรรมชาติ ก่อรูปเป็นครัวของโลกโดยคนเล็กคนน้อยทุกภาคส่วนร่วมถือหุ้น ลดเลิกกิจการค้าพาณิชย์อุตสาหกรรมที่ผูกขาดกินรวบ

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต้องเพื่อการกินดี อยู่ดีและชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนคนส่วนใหญ่ เช่น เร่งรัดให้ยานยนต์ทุกชนิดใช้ระบบไฟฟ้าเข้ามาแทนรถที่ใช้น้ำมัน พลังงานลม แสงแดด ต้องได้รับการปลดปล่อยให้ใช้อย่างเสรี

การบริหารงานรัฐการ งานการปกครองและเรื่องความมั่นคงของชาติ เจ้าหน้าที่ประจำมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวก มีจิตใจบริการและเสียสละ เร่งนโยบายกระจายอำนาจ องค์กรชาวบ้านคือหัวขบวนขับเคลื่อนหลัก ไม่ใช่เครื่องมือหรือส่วนประกอบสนองโครงการเฉพาะหน้าที่ฉาบฉวย

นโยบายสำคัญเฉพาะหน้าที่สุดคือ วันนี้ชุมชนหมู่บ้านถูกกดขี่ขูดรีด กดทับ ถูกสูบทรัพยากรและแรงงาน จนคนรากหญ้าแทบไม่เหลือทรัพย์สิน ศักดิ์ศรีแล้ว ที่ดำรงคงอยู่ได้ก็ด้วยสำนึกจิตวิญญาณ ด้วยฮีตคอง ความรับเชื่อศรัทธาที่ถือปฏิบัติกันมา ซึ่งต้องรักษา ฟื้นฟู นำกลับมาสร้างพลังชีวิต สร้างความสามัคคี ชาวบ้านเราต้องเลิกดูถูกตัวเอง เลิกดูถูกกันเอง ร่วมกันเรียนรู้หาทางแก้ไขอุปสรรคปัญหา และสร้างอนาคตด้วยหนึ่งสมอง สองแขนและลำแข้งของตนเอง

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของนโยบายประชาสังคม ซึ่งคนเล็กคนน้อยกำลังศึกษา ลงมือรังสรรค์ สร้างเครือข่าย และท้ายสุด รวมกลุ่ม องค์กร ร่วมร่างนโยบายแห่งชาติ ที่กำหนดโดยประชาชน ปฏิบัติโดยประชาชน และเพื่อประชาชน

ตัวบ่งชี้ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ดูที่ความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่ได้เกิดมาในโลกที่ยุติธรรม ได้อุปโภคบริโภคผลิตผลที่ยุติธรรม ตายในสังคมที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ มาตรวัดเหล่านี้ย่อมสำคัญกว่าตัวเลขผลผลิตมวลรวมประชาชาติ

นิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” นับเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของการขีดร่างนโยบาย และเพียรลงมือปฏิบัติให้บรรลุผล แม้ยากลำบากเพียงใดก็เป็นดั่งบั้งไฟที่ต้องดั้นฟ้าขึ้นไปพบพญาแถนให้ได้อย่างกล้าหาญ

ด้วยจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ
พฤษภาคม ๒๕๖๔

Related Posts

งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” บรรพสอง ‘หนูไฟ เป่าหน’ นักเดินทางผู้ยิ่งยง คงนามไท (ตอนที่ ๑)
(๒) สู่เวิ้งจักรวาฬอันไพศาล
ประวัติและที่มา ทำไมเวลาคนใกล้สิ้นใจต้องให้ท่องคำว่า “อรหัง”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com