งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” บรรพสอง ‘หนูไฟ เป่าหน’ นักเดินทางผู้ยิ่งยง คงนามไท (ตอนที่ ๑)

งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” บรรพสอง ‘หนูไฟ เป่าหน’  นักเดินทางผู้ยิ่งยง คงนามไท (ตอนที่ ๑)

“จางไห่ตื้งซิบสี่                  เป่าปี่ขึ้นเมิ้งผี”
ช่าง (นักดนตรี) สิบสี่ (คน)    เป่าปี่ขึ้น (ไป) เมืองผี (สวรรค์)

            คำประพันธ์ข้างต้นเป็น “ปริศนาคำทาย”  ที่อยู่ในบริบทของวรรณกรรมไทใหญ่
หากยึดตามแนวทางการจำแนกประเภทวรรณกรรมของท่านอาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย เป็นคำประพันธ์ประเภท “ความอ่อน” และจัดว่าอยู่ในหมวดของ ‘ความอ่อนอ้อน’  มีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะในภาษาไตว่า ‘กว๊ามต้า’  ผู้เขียนถอดเสียงให้ตรงกับคำไทยว่า  ‘ความท้า’  ‘ความท้า’ (ทาย)  ที่คัดมานี้ เป็นบทประพันธ์สั้น ๆ ที่มีจังหวะและลีลาคล้ายคำประพันธ์ประเภท “ร่าย” ของไทย  วรรคหนึ่งมี ๕ คำ มีการส่งสัมผัสระหว่างวรรค  เป็น ‘ความท้า’ (ทาย) ที่จัดอยู่ในประเภทหมวดวรรณกรรมสำหรับเยาวชน (ความอ่อน)

            [ผู้สนใจการจำแนกประเภทวรรณกรรม (genre) และการแบ่งหมวดหมู่ผู้ใช้ประโยชน์จากวรรณกรรม  ตามแนวการจัดระเบียบของอาจารย์ชายชื้น โปรดอ่านย้อนทวน มหากาพย์ฯ บทที่ ๓  ลีกลาย ความล่องคง บทขับขานทางไท]                                                            

            อาจารย์ชายชื้นอธิบายว่า ‘กว๊ามต้า’ (ปริศนาคำทาย) ในหมวดวรรณกรรมประเภท ‘ความอ่อน’ ของชาวไทใหญ่นี้ ถือว่าเป็นการฝึกเชาวน์ปัญญา นิยมเล่นกันในระดับเยาวชน  ลักษณะคำประพันธ์ของบท ‘กว๊ามต้า’ ที่คัดมาข้างต้นนี้ จัดว่าเป็นแบบ ‘สองกิ๋วขาด’  สำนวน ‘ทางกวีไต|ไทใหญ่’ เช่นนี้ ยังไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันเท่าไรนัก  ‘ทางกวีไต|ไทใหญ่’  อาจนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับ ‘ทางกวีลาว’ และ ‘ทางกวีไทย (สยาม)’ ได้ ซึ่งจะได้ลงรายละเอียดต่อไป

            [ผู้สนใจด้าน ‘รูปแบบคำประพันธ์’ เป็นพิเศษ โปรดอ่านรายละเอียดในบทต่อไป: มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง บทที่ ๑๗  ทางกวีไท|ไต|ลาว]

            ในบทนี้ จะว่าด้วย ‘เนื้อหาของปริศนาคำทาย’ ข้างต้น เพื่อสื่อสาระสำคัญทางความหมายตามแนวทางมานุษยวิทยา-ชาติพันธุ์วรรณนา ว่าด้วยระบบความเชื่อและพิธีกรรม  ที่ใช้วิธีวิทยาวิจัยสนาม สังเกตการณ์ ‘พิธีกรรม’ อันมีเค้าเงื่อนบ่งชี้ว่าร่วมสายวัฒนธรรมไทอันมาจากต้นรากเดียวกัน โดยสอบเทียบกับการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญทั้งที่เป็น ‘ปฐมภูมิ’ (primary source) และ ‘ทุติยภูมิ’ (secondary source)

            คำตอบของ ‘กว๊ามต้า’ (ความท้า) ข้างต้น มีคำเฉลยว่า

“จุดปู้งขึ้นฝายไว้   เป๋นหนูไฟ้เป่าห้น”
จุดพุ่งขึ้นเร็วไว เป็นหนูไฟ (บ้องไฟ) เสียงดังไปไกล

            คำแปล ‘ความท้า’ และ ‘ความตอบ’ ต่อจากนี้ เป็นการถอดคำและถอดความหมายโดยอาจารย์ชายชื้น ผู้เป็นเจ้าของภาษาโดยตรง:

“(จาง) ‘ไห่ตื้ง’  หมายถึง (ช่าง~นักดนตรี) บรรเลงให้เกิดเสียงสูงต่ำเป็นท่วงทำนอง
แปลตามตัวอักษร ‘ไห่’ แปลว่า ตี; ‘ตื้ง’ หมางถึง พุ่ง, ทะลึ่ง, บังคับลมให้พุ่งออกโดยแรง;    
‘เขิ้งไห่ตื้ง’ หมายถึง เครื่องที่ใช้บรรเลงให้เกิดเป็นจังหวะหรือทำนองเพลง;
ความหมายในที่นี้ คือ เครื่องดนตรี (musical instrument)      
ส่วน ‘จาง’ หมายถึง ‘ช่าง’ ผู้ชำนาญการ หรือผู้เชี่ยวชาญ ในการช่าง การฝีมือ
หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า ‘จาง’ เทียบได้กับคำ ‘ผู้’ หรือ ‘นัก’ ในภาษาไทย ใช้ประกอบหน้าคำอื่น
เช่น ช่างเงิน ช่างทอง ช่างไม้; นักมวย นักเรียน นักพรต
‘จางไห่ตื้ง’  เป็นคำประสม หมายถึง นักดนตรี (musician)
แปลตามตัวอักษรในที่นี้  ช่าง+ไห่ตื้ง = นักดนตรี      
‘ปี่’ เป็นเครื่องเป่าเพื่อบรรเลงเพลง (flute, pipe, oboe)
‘หนูไฟ’ ที่พุ่งขึ้นไปนั้น ในบริบทนี้เป็นอุปลักษณ์ให้จำง่าย น่าสนใจสำหรับเด็ก
(หรือให้เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป)
ส่วนการบรรเลงให้เกิดเสียงดนตรีนั้น ยังใช้ ‘ช่างปี่ (ผู้เป่าปี่) ถึง ๑๔ คน”
[ถอดความหมายตามคำในภาษาไทยมาตรฐาน]

           อาจารย์ชายชื้นชี้ให้เห็นว่า การอ่าน ‘กว๊ามต้า’ โดยทั่วไป จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิปัญญา
“เมื่อเข้าใจความหมายแล้วยังสามารถอ่าน ‘ภาษาเงียบ’ ที่แฝงอยู่ในถ้อยคำอีกด้วย” 
‘ภาษาเงียบ’ ของปริศนาคำทายชุดนี้ในญาณสัมผัสของอาจารย์ชายชื้น คือ
“ท่าทีความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติและภูมิปัญญาไทใหญ่ คือ ปี่ นักดนตรี 
จรวด หรือบ้องไฟ และ เมืองสวรรค์…
แสดงถึงความสำนึกที่มีต่อคุณค่า วิธีการหรือเทคนิคการผลิต ปี่ ดินปืน
กระดาษ จรวด ที่ต้องอิงอาศัยธรรมชาติ ซึ่งมี ไม้ไผ่ ดินหรือวัสดุที่นำมาใช้ทำดินปืน           
กระดาษสาและสิ่งประกอบการทำกระดาษสาสำหรับม้วนดินปืน  ไม้สำหรับทำเป็นค้างเครื่องมือตัดไม้…ฯลฯ”

           การจุดไฟพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วเป็น ‘บ้องไฟ’ ที่เป่าไปได้ไกลถึง ‘เมืองผี’ ในทัศนะอาจารย์ชายชื้น สะท้อนถึงโลกทัศน์ความเชื่อของชาวไทใหญ่ในเรื่อง “ฟ้า…ความเชื่อว่า มีเมืองสวรรค์”    ผู้เขียนขอขยายความว่า ความเชื่อเรื่องฟ้าและเมืองสวรรค์ ในจักรวาลทัศน์ของชาวไทใหญ่ น่าจะเป็น ‘ความเชื่อเรื่องแถน’ นั่นเอง  ‘เมืองผี’ ในที่นี้ก็คือ เมืองของแถนฟ้า แถนหลวง และแถนอื่น ๆ ประดามี รวมทั้ง ‘ผีบรรพชน’  ที่เมื่อจากไปแล้ว ไม่ว่าตายอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด  ก็ต้อง ‘เดินทางไกล’ กลับไปเฝ้าแถนหลวง เมื่อเป็นเช่นนั้น ชุมชนชาวไต|ไทใหญ่ กลุ่มที่เล่น ‘กว๊ามต้า’ ชุดนี้ ก็หาใช่ใครอื่นไกลไม่ หากเป็น “ตื๊นเก่า~ต้นเชื้อเก่า  ปี้อีกน่อง แหล้น่องอีกปี้” ของชุมชนชาว ‘บั้งไฟ’ ในแดน อุษาคเนย์นั่นเอง

กล่าวในเชิงเปรียบเทียบ เด็กที่มีการละเล่นอย่างเดียวกัน มีของเล่นเด็กที่ทำจากวัสดุเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน รวมทั้ง “สนุก” กับการละเล่นนั้น ๆ ด้วยกัน  พวกเขาย่อมมีที่มาจากละแวกบ้านเดียวกัน หรือบ้านเกิดเมืองนอนเดียวกัน  แม้จากบ้านไปไกล ‘เด็กที่ติดของเล่น’ (แม้กระทั่ง ‘ตุ๊กตา’ ในบริบทร่วมสมัย) ก็จะพกพาของเล่น จากบ้านเกิดไปด้วย แล้วก็เอาไปเล่นกันต่อในบ้านใหม่เมืองใหม่ด้วยความผูกพันที่มีมาแต่เดิมชุมชนชาวไต|ไทใหญ่ ที่เล่นกับ ‘หนูไฟ เป่าห้น’ กล่าวในเชิงอุปลักษณ์ ก็น่าจะเป็น “พี่น้องท้องเดียวกัน” กับ พี่น้องชาวลาวในประเทศลาวและคนไทยเชื้อสายลาวในภาคอีสาน ที่ล้วนคุ้นชินกับการเล่น ‘หนูไฟ’ ซึ่งจะลงรายละเอียดต่อไป

            “พี่น้องร่วมอุทร” เหล่านี้ คือผู้คนที่สังกัดอยู่ในระบบความเชื่อและพิธีกรรม ‘บุญบั้งไฟ’  พวกเขาต่างก็ว่ายวนอยู่ใน ‘สายวัฒนธรรมความเชื่อร่วม’ ชุดเดียวกันนี้ และยังคง ‘เล่นกับหนูไฟ’ ทำนองเดียวกันนี้มายาวนานจนถึงทุกวันนี้

            ในภาพรวม ‘พี่น้องแลน้องพี่’ เหล่านี้ ย่อมร่วมกันอยู่ในสายธารประวัติศาสตร์อันสง่างามของ ‘วัฒนธรรมแถน’ และระบบความเชื่อที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน [ผู้สนใจที่จะลงลึกด้านโลกทัศน์ กระบวนทัศน์ และอุดมการณ์แถน โปรดอ่าน ‘บทสังเคราะห์ อุดมการณ์ด้ำ ระบบแถน และกำเนิดรัฐไท’ ใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทฯ, ๒๕๖๑, น.๔๓๓-๔๕๔.]

วัฒนธรรม ‘บุญบั้งไฟ’ ของชนชาติไท|ลาวในอุษาคเนย์
เมื่อกล่าวถึง “บ้องไฟ|บั้งไฟ|หนูไฟ” หลายคนมักจะนึกถึงชนชาติจีน เจ้าตำรับสิ่งประดิษฐ์หลายสิ่งหลายอย่างในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมตะวันออกเป็นอันดับแรก  เพราะมีความรับรู้มาว่า จีนเป็นชาติแรกที่รู้จักการผลิตดินปืนขึ้นใช้  การจุด ‘บั้งไฟ’ ต้องใช้ ‘ดินปืน’
            อาจารย์อรไท ผลดี (๒๕๔๒) ในโครงการวิจัยเรื่อง “บั้งไฟ: ภูมิปัญญาเทคโนโลยีล้ำยุคของชนเผ่าไทสมัยก่อนประวัติศาสตร์” ที่น่าสนใจมากของท่าน ได้เสนอความเห็นพร้อมด้วยหลักฐานชิ้นใหม่ตามการตีความของท่านว่า  ชนชาติไทซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีอายุเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้คิดค้น ‘ดินปืน’ ขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  การณ์นี้เกิดขึ้นก่อนชนชาติจีนเสียอีก ที่เพิ่งจะคิดได้ในสมัยทวารวดี
[อรไท ผลดี, “บั้งไฟ: ภูมิปัญญาเทคโนโลยีล้ำยุคของชนเผ่าไทสมัยก่อนประวัติศาสตร์” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน, ๒๕๔๒.]

            ในทัศนะของอาจารย์อรไท “บั้งไฟ เป็นจรวดโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์”  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเทคโนโลยีล้ำยุคของชนชาวไท ที่คิดค้นขึ้นมาไม่น่าจะต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ก่อนจะแยกย้ายจากกันตามความจำเป็นในยุคสมัยต่าง ๆ  จุดมุ่งหมายในการทำบั้งไฟนั้น เพื่อใช้ในประเพณีขอฝน เนื่องจากชุมชนชาวไททำเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดในการยังชีพคือ ทำนา (ข้าว)  การจุดบั้งไฟในพื้นที่ต่าง ๆ ล้วนมีระยะเวลาใกล้เคียงกันเพื่อใช้ขอฝน จนกลายเป็นประเพณีทางการเกษตรของชนชาติไท  ดังที่มีหลักฐานปรากฏการจุดบั้งไฟขอฝน ทั้งในหมู่ชุมชนชาวไทลื้อ ไทยวน ไทพวน ไทอีสาน ไทลาว ไทดำ ไทแดง และอื่น ๆ

            นอกจากชาวลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และชาวไทยอีสานเชื้อสายลาวในประเทศไทยแล้ว “ตื๊นเก่า~ต้นเชื้อเก่า  ปี้อีกน่อง แหล้น่องอีกปี้” ผู้ใกล้ชิดอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประเพณีจุดบั้งไฟเช่นเดียวกัน คือ ชาวไตลื้อแห่งอาณาจักรเชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) รวมทั้งชุมชนไทลื้อย้ายถิ่น~พลัดถิ่น ที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน

ชาวไตลื้อ มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนามาก่อนหน้าพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ พญามังรายเองก็มีมารดาที่เป็นคนเชื้อสายไตลื้อ  ชาวไตลื้อนับถือสายด้ำบรรพชนสายแม่ ที่ชัดเจนส่วนใหญ่คือ ‘สายนก(ยูง)’ และนับถือ ‘แถนฟ้า’ เช่นเดียวกับชาวลาวแห่งอาณาจักรล้านช้าง-หลวงพระบาง-เวียงจัน  ชาวไตลื้อเรียกบั้งไฟว่า บอกไฟขึ้น เหตุที่ต้องจุดบอกไฟขึ้นฟ้าก็เพื่อบูชาพระอินทร์  พิเคราะห์แล้ว ‘พระอินทร์’ ในประเพณี ‘บอกไฟขึ้น’ ก็คือ ‘พระยาแถน’ (ที่ถูกลากเข้าบาลี)  ชาวไตลื้อดำเนินพิธีนี้เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งจะทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์  ทั้งนี้จากการวิจัยสนามที่เชียงรุ่งโดยผู้เขียนเอง (ชลธิรา ๒๕๒๑) ชาวไตลื้อมีการ ‘จุดบอกไฟดอก’ (ดอกไม้ไฟ) ในงานบุญต่าง ๆ ด้วย

            ได้พบร่องรอยว่า ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เจ้า (การตีความของอาจารย์อรไท ผลดี เข้าใจว่าเทียบเสียงกับ ‘ราชวงศ์โจว’) ชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอาณาบริเวณนี้ก็ ‘จุดบั้งไฟ’ กันแล้ว 

            แม้ว่าเรื่องของเวลาและยุคสมัยรวมทั้ง “ความเป็นชนชาติ” ยังอาจถกเถียงกันได้ด้วยหลักฐานข้อมูลยังไม่แจ่มชัด ผู้เขียนเห็นว่าประเพณีการจุดบั้งไฟน่าจะเป็นภูมิปัญญาร่วมกันในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนพหุชาติพันธุ์ “ชาวไป่เยวี่ย” แห่งมณฑลยูนนาน (แคว้นเตียน) และในอีกบางแว่นแคว้นเช่น กุ้ยโจว หูหนาน และกวางสี ในแดนจีนตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ปัจจุบัน  ในสมัยก่อนมีรัฐชาติแบบสมัยใหม่นั้น อาณาบริเวณนี้เป็นภูมิลำเนาของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบไท  ตั้งชุมชนเป็นบ้านเป็นเมืองครอบคลุมทั้งอาณาจักรไตมาวของไทใหญ่ทางตะวันตก (ในสหภาพเมียนมาร์ปัจจุบัน) อาณาจักรเชียงรุ่งของชาวไตลื้อแห่งสิบสองปันนา (ในประเทศจีนปัจจุบัน) และอาณาจักรแถนของชาวไทดำไทขาวทางฟากฝั่งตะวันออก (ในประเทศเวียดนามปัจจุบัน) และมีชาวไต|ไท|ลาว กลุ่มใหญ่น้อย อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาหลายระลอก ครอบคลุมพื้นที่มาจนถึงเมืองหลวงพระบางในล้านช้าง (ในประเทศลาว) และเมืองเชียงรายและเชียงใหม่ในล้านนา รวมถึงเมืองต่าง ๆ ทางภาคอีสานในประเทศไทยด้วย

            หากเราตามรอยปริศนา ‘ความท้า~จุดหนูไฟขึ้นเมืองผี’ ของชาวไต|ไทใหญ่ต่อไป ก็จะพบว่า

ไม่เพียงชาวไตลื้อในอาณาจักรเชียงรุ่ง ชาวไตยวน (โยนก) แห่งเชียงแสน ในแดนล้านนา ประชากรหลักที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ก็ยึดถือประเพณีงานบุญนี้ด้วย

            ชาวไตยวน ปัจจุบันในล้านนานั้น น่าจะถือได้ว่าสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากชุมชนชาว ‘ไตโยน’ จาก ‘แคว้นโยน’ หรือที่บางเอกสารก็เรียกว่า วงศาไทยเมือง ที่ปรากฏตนในเอกสารประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างชัดแจ้ง  ในการวิจัยสนาม ณ พื้นที่หลายจังหวัดของล้านนา ผู้เขียนพบว่ามีชุมชนชาวล้านนาจำนวนไม่น้อยเรียกตัวเองว่า  “หมู่เฮา” เป็น “เมิง~เมือง” หรือ “คนเมือง”  จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ชุมชน ‘ไทเมิง~ไทเมือง’ ก็คือ ‘ไตโยน’  ซึ่งน่าจะเป็น ไต “ตื๊นเก่า~ต้นเชื้อเก่า  ปี้อีกน่อง แหล้น่องอีกปี้” อีกกลุ่มหนึ่ง ที่โยกย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นกิจลักษณะมาจากอาณาจักรไทดั้งเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ แคว้นโยน น่าจะหมายถึงมณฑลยูนนานปัจจุบัน เมื่อไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

(*ตามความใน ตำนานสิงหนวัติกุมาร ฉบับสอบค้นโดย มานิต วัลลิโภดม, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๖.)

            โดยบัญชาของกษัตริย์ ‘ห้อเทวกาฬ’ ผู้เป็นพ่อ (แปลตรงตัวว่า ‘ฮ่อผิวดำ’ จะเป็นใครหนอ หากสอบเทียบกับ พงศาวดารไทยใหญ่ ?) ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแคว้นโยนท่านนี้ ได้มอบหมายให้ลูก ๆ ‘ชาย ๓๐ หญิง ๓๐’ แยกย้ายไปสร้างบ้านแปงเมือง  ในจำนวนนี้มี ‘สิงหนวัติ’ กับน้องสาว (ร่วมพ่อ) ได้มาแผ้วถางบุกเบิกแปงเมืองขึ้นใหม่ทางตอนใต้ของแคว้นโยน ซึ่งเอกสารตำนานฯ สำนวนที่ชำระเป็นทางการ รวมเล่มตีพิมพ์ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๓ เรียกว่า ‘กรุงราชคฤห์’ 

            สิงหนวัติกุมารกับน้องนางและไพร่พลจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาถึงลุ่มแม่น้ำกก (ชื่อในตำนานสิงหนวัติกุมาร สำนวนฉบับประชุมพงศาวดาร คือ ‘กุกกุฏนที’  ปัจจุบันอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงราย)  เห็นว่าเป็นชัยภูมิมั่นเหมาะ จึงปักหลักสร้างฐาน ก่อตั้งหลักแหล่งใหม่ มีชื่อเมืองเมื่อแรกตั้งว่า เมืองนาคพันธุสิงหนวตินคร (ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๓, น.๒๘๒) ต่อมาเมื่อเมืองขยายตัวเติบใหญ่ในรุ่นหลาน คือ อชุตราช กับ นางปทุมวดี ก็ได้สถาปนา ‘อาณาจักรโยนกนาคนครชัยบุรีศรีช้างแสน’ ขึ้นมาได้สำเร็จอย่างงดงาม

            ใน “ตำนานสิงหนวติกุมาร” ทั้งสองสำนวน ระบุชัดเจนว่า สิงหนวติกุมาร ผู้บุกเบิกสร้างภูมิลำเนาในล้านนา เป็นเชื้อเครือ “วงศาไทยเมือง”:

“ทีนี้จะกล่าวยังวงศาไทยเมืองหนึ่งก่อนแล  ยามนั้น มหาศักราชได้ ๑๗ ตัวปีกดไจ้ ยังมีมหากษัตริย์ฮ่อคนหนึ่งชื่อว่าเทวกาล  ว่าอั้นเป็นใหญ่กว่าไทยทั้งหลาย อยู่เสวยราชสมบัตินครไทยเทศ คือว่าเมืองราชคฤห์นครหลวงแล  ส่วนเมืองอันนั้นก็บริบูรณ์ด้วยราชสมบัติข้าวของเงินคำ ช้างม้าวัวควาย ผู้คนรี้พลมนตรีมากหลาย  ยดยายคัดคั่งบ่สังขยาได้  พอแม่ไก่ไล่ล่าถึงกันแล”

           อาจมีความเป็นไปได้ว่า “หนูไฟ เป่าห้น” และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับ ‘งานบั้งไฟ’ รวมทั้งคีตดนตรีประกอบพิธี ที่ใช้ ‘ช่างปี่’ จำนวนหลายคน เริ่มมีปฏิบัติการที่ ‘นครไทยเทศ’ แห่งนี้ (มีการตีความว่า คือ เมืองต้าหลี่ หรือที่เรียกกันว่า ‘อาณาจักรตาลีฟู’ ในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ)  การคิดค้นบูชา ‘แถน’ ด้วยการจุด ‘บั้งไฟ’ ขอฝน ซึ่งเกิดขึ้นในภูมิลำเนาชาวไทที่บูชาแถน สังกัดอยู่ในสายวัฒนธรรมแถน ได้มีการเดินทางไกล ‘ระลอกหนึ่ง’ อย่างชัดเจน โดยผ่านการนำพาไปด้วยของบรรดาไพร่พล ‘ราชบุตร ๓๐ ราชธิดา ๓๐’ ของกษัตริย์ห้อ ‘เทวกาล’ แห่ง ‘วงศาไทยเมือง’ ดังความว่า: “ราชบุตรผู้ถ้วน ๒ ชื่อว่าสิงหนวติราชกุมาร เหตุว่ามีลักษณะมีกำลังเป็นดังราชสีห์นั้นแล  เมื่อนั้นกษัตริย์ตนพ่อนั้นก็แบ่งราชสมบัติหื้อแก่ลูกทั้ง ๖๐ คนนั้นแล…

ก็แจกยังลูกชายลูกหญิงทั้งหลาย ๒๙ คนนั้น หื้อไปเสาะหาตั้งบ้านแปลงเมืองอยู่ทั่วทิศ…”

            การที่มีประเพณีนี้ในล้านนา ‘การจุดบอกไฟ’ ของชาวไตยวน เป็นป้ายบอกทางให้เรามั่นใจว่า การจุด ‘หนูไฟ’ ‘บั้งไฟ’ ‘บอกไฟฯ’ ฯลฯ ได้เป็นประเพณีของชุมชนชาว ‘วงศาไทยเมือง’ มาเนานานในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอาณาจักรไทดั้งเดิม ที่ได้ก่อรูปการจัดตั้งทางการเมืองเรื่อง “รัฐ” ขึ้นแล้ว ในรูปแบบความเป็น ‘เมือง’ อันเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของโครงสร้างกลไกรัฐไทในระยะ “รุ่งอุษาสาง” (Early Tai State-Formation as ‘Muang’) ดังที่เราได้ขนานนามห้วงเวลานี้ว่า ‘เพรางาย’ คือ ยามอรุณรุ่งของชุมชนชาติพันธุ์ไท~ลาว (อ่านรายละเอียดในมหากาพย์ฯ  บทที่ ๒) 

            ความเป็น ‘เมือง’ ในบริบทของ ‘แคว้นโยน’ มีภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ชัดเจน มีชื่อเรียกในเอกสารประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทที่อ้างอิงและเชื่อถือได้  เป็นที่ประจักษ์ว่า ความตระหนักตนว่าเป็น ‘คนเมือง’ ของชาวไต|ไท นั้น ปรากฏตนในพิกัดพื้นที่ตอนบนของดินแดนแว่นแคว้นในอุษาคเนย์อย่างน้อยก็ตั้งแต่ระยะต้นพุทธกาล ตามที่ปรากฏในเอกสารปฐมภูมิ-ตำนานสิงหนวัติกุมาร คือเมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว  (มหาศักราชได้ ๑๗ ตัวปีกดไจ้)

            ชาวไตยวนในล้านนาปัจจุบันเรียก ‘บั้งไฟ’ ว่า บอกไฟขึ้นเช่นเดียวกับพี่น้องชาวไตลื้อ  เมื่อทำ บอกไฟ แล้วจะนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่วัดเรียกว่า ประเคนบอกไฟ โดยมีเพลงที่ใช้เซิ้งบอกไฟ และมีการแห่เซิ้งบอกไฟไปที่ ก้างบอกไฟ ที่ทำเป็นเสาสูง ใช้ไม้ตีเป็นขั้นบันไดสูงขึ้นไปเพื่อติดตั้งบอกไฟให้สูง เวลาจุดจะได้ส่งบอกไฟให้ขึ้นสูงยิ่งขึ้น  ปัจจุบันชาวไทยวน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ยังคงสืบทอดประเพณี ‘การจุดบอกไฟ’ นี้ไว้เป็นอย่างดี 

            ส่วน ‘ชาวไทพวน’ (หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ‘ลาวพวน’) แห่งอาณาจักรล้านช้าง ก็มีประเพณีจุดบั้งไฟเช่นเดียวกัน  ในเมืองไทยมี ‘ชาวไทพวนพลัดถิ่น’ จากเมืองพวน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๓๗๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ไทพวนที่เป็น ‘เชลยศึก’ เหล่านี้มาตั้งถิ่นฐานอยู่หลายจังหวัดในแดนสยาม  พี่น้องไทพวนก็เป็น ไท “ตื๊นเก่า~ต้นเชื้อเก่า ปี้อีกน่อง แหล้น่องอีกปี้” อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงรักษาประเพณีการจุดบั้งไฟไว้เป็นอย่างดี เช่นที่บ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย  ชาวไทพวนซึ่งมีชื่อเสียงด้านการทอผ้าซิ่นตีนจก ก็จุดบั้งไฟในวันวิสาขบูชาของทุกปี เพื่อบูชา ‘พระยาแถน’ ขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ชาวไทพวนที่นี่ยังเชื่อว่า การจุดบั้งไฟเป็นการบอกกล่าว ‘พระภูมิที่นา’ ว่าถึงเวลาทำนาทำไร่แล้ว

            นอกจากนี้ ก็ยังมี ‘ชาวผู้ไท’ (ผู้ต่าย) แห่งอาณาจักรสิบสองจุไท (จัดว่าเป็นภูมิลำเนาสมัย “ปางก่อเมือง”) ที่ย้ายถิ่นจากบ้านเมืองเดิม (แคว้นโยน~ยูนนาน) มาอยู่ที่เมืองแถง ณ เมืองนาน้อยอ้อยหนู  เมื่อพื้นที่ ‘นาน้อยอ้อยหนู’ แห้งแล้งลง  ผู้ไทบางชุมชนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองวังในเขตเวียงจัน  อยู่เย็นเป็นสุขมาได้พักใหญ่ก็เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันในสมัยรัชกาลที่สาม  ครั้นถูกฝ่ายไทยสยามปราบปราม ชาวเวียงจันรวมทั้งชาวผู้ไทที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนั้นก็ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง  นับแต่นั้นจึงมีชุมชนชาวผู้ไทตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร อุดรธานี และกาฬสินธุ์  ในการนี้เองพี่น้องเหล่านี้ก็ได้พกพาเอา หนูไฟ และประเพณีบุญบั้งไฟติดตัวมาด้วย  สำหรับชาวผู้ไทนั้น ‘งานบุญบั้งไฟ’ นอกจากจะเป็นพิธีกรรมบูชาพระยาแถนเพื่อขอฝนแล้ว ยังเป็นการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งจะทำกันในเดือนหก เพื่อขอฝนให้ตกลงมาทันการลงข้าวกล้าในผืนนา 

            วัสดุสำคัญของการทำ ‘หนูไฟ’  คือการเตรียมดินระเบิด ซึ่งชาวผู้ไทเรียกว่า ‘หมื้อ’  ทางไทใหญ่เรียก ‘ย้าม’ หมายถึง ผงดินระเบิด (‘หมื้อ’ ในภาษาไทใหญ่ คือ สิ่งที่ทำให้ไฟติดได้ง่าย หรือสิ่งที่ทำให้เกิดการเผาไหม้)  เชื้อเพลิงที่ได้จาก ‘หมื้อ’ ซึ่งไทใหญ่เรียก ‘ต้นจื้ก’ ใช้ในการทำไฟ หรือทำให้ไฟกำเนิดขึ้นในสมัยก่อน เครื่องมือนั้นเรียกว่า ‘หมกบอกไฟ’ (กระบอกทำไฟ) ‘กระบอกบั้งไฟ’ ของชาวผู้ไท มีการประกอบและตกแต่งตามแบบแผนหรือ ‘ขนบ’ ที่สั่งสมกันมา เรียกว่า ‘เอ้บั้งไฟ’ 

            ตามทักษะของชาวผู้ไท ‘ดินระเบิด’ ทำจากสารประกอบสามอย่าง คือ ถ่านจากไม้ ดินประสิว และกำมะถัน เมื่อผสมกันตามกรรมวิธีแล้วก็นำ ‘ดินระเบิด’ บรรจุลงใน ‘กระบอกบั้งไฟ’ ซึ่งทำจากไม้ไผ่สีสุก (ไม้ไผ่พันธุ์ลำปล้องใหญ่) แล้วใส่ชนวนระเบิดซึ่งทำจาก ‘ด้ายฝ้าย’ ที่คลุกกับ ‘ดินระเบิด’  จากนั้นก็ตกแต่งบั้งไฟให้สวยงาม โดยนำกระบอกบั้งไฟมา ‘ใส่หาง’ เพื่อให้สมดุลขณะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า (รูปลักษณ์นี้น่าจะตรงกับ ‘หนูไฟ’ ของชาวไทใหญ่)  แล้วใช้ไม้รวก (ไม้ไผ่พันธุ์ที่มีลำเล็กเรียว) มามัดรอบกระบอกบั้งไฟเรียกว่า “โหวต”  ชาวผู้ไทยังมีทักษะพิเศษคือการตัดลำไม้รวกให้มีขนาดยาว-สั้นลดหลั่นลงมา เพื่อให้มีเสียงดังแหลมทุ้มขณะพุ่ง “วื้ด” ลงสู่พื้นดิน  การตกแต่งปิดท้ายด้วยการใช้กระดาษสีประดับปล้องบั้งไฟให้สวยงามทำเป็นรูป ‘พญานาค’ ตามความเชื่อดั้งเดิม  เสร็จแล้วจึงนำเข้ากระบวนแห่ โดยมี ‘การเซิ้งบั้งไฟ’ อย่างสนุกสนานเพื่อนำไปยังบริเวณงานที่ลานพิธี 

            ส่วนการจุดบั้งไฟนั้น ชาวผู้ไททำฐานบั้งไฟที่เรียกว่า ‘ค้างบั้งไฟ’  ไว้ล่วงหน้า  ค้างบั้งไฟมีโครงสร้างเป็นบันไดเพื่อให้คนปีนขึ้นไปจุดชนวนได้  ซึ่งหากจุดบั้งไฟขึ้นได้สูง (ไม่มีปัญหาใด ๆ ระหว่างทาง)  ‘ช่างบั้งไฟ’ ก็จะได้รับการยกย่องโดยชาวบ้านพาแบกขึ้นบ่า แห่แหนฟ้อนรำกันไปทั่วงาน แต่ถ้าบั้งไฟไม่ขึ้น ขึ้นไม่ดี หรือระเบิดแตกก่อนพุ่งขึ้นฟ้า ‘ช่างบั้งไฟ’ ก็จะถูกจับแบกเอาไปโยนลงน้ำ หรือหมกโคลน ถือเป็นจารีตที่ทำกันมาแต่โบราณ

Related Posts

(๒) สู่เวิ้งจักรวาฬอันไพศาล
ประวัติและที่มา ทำไมเวลาคนใกล้สิ้นใจต้องให้ท่องคำว่า “อรหัง”
“เห็ดเผาะ” ฤดูน้ำ ฤดูฝน ฤดูคนรักเห็ด
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com