ครม. เห็นชอบเสนอ “อุทยานธรณีขอนแก่น” เป็นอุทยานธรณีโลก จ่อยื่นยูเนสโก
ขอบคุณข่าวและรูปภาพ จาก ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/politic/2425281
รัฐบาลเห็นชอบเสนอ “อุทยานธรณีขอนแก่น” เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ชู เป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ใหม่ของโลก หวังเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้
วันที่ 21 มิถุนายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบเสนออุทยานธรณีขอนแก่น เป็นอุทยานธรณีโลก ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)
สำหรับอุทยานธรณีขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 1,038 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น คือ อำเภอภูเวียง อำเภอเวียงเก่า และอำเภอมัญจาคีรี ซึ่งอำเภอมัญจาคีรีเป็นอำเภอที่ ครม.เห็นชอบให้เพิ่มรวมอยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีขอนแก่น เนื่องจากเป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์เช่นกัน ซึ่งลักษณะโดดเด่นของอุทยานธรณีขอนแก่น เป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 5 สายพันธุ์ ได้แก่
1. สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni)
2. ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)
3. สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
4. กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus Khonkaenensis)
5. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi)
นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าสัตว์ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ เช่น จระเข้ และปลาโบราณ เป็นต้น รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชิงธรณีวิทยาที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ อุทยานแห่งชาติภูเวียง น้ำตกดาดฟ้า เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนจากนี้ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะยื่นความประสงค์ต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 หากอุทยานธรณีขอนแก่นได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแล้ว จะทำให้อุทยานธรณีขอนแก่นเป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาประเทศ ส่งผลดีภาคการท่องเที่ยวของประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น สร้างความตระหนักรู้และการอนุรักษ์ทรัพยากรของประชาชนในพื้นที่ด้วย
ในช่วงท้าย นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เป็นขอบเขตพื้นที่ที่มีคุณค่าทั้งด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม โดยมีความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การจัดการอย่างมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน ปัจจุบันไทยมีอุทยานธรณีโลกที่ได้รับการรับรองแล้ว 1 แห่ง คือ อุทยานธรณีสตูล เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ส่วนการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก.