ความยากจนและเครื่องชี้วัด
เรื่อง “ความยากจน” นั้น เมื่อจะพูดกันควรทำข้อตกลงกันไว้ก่อนให้ชัดเจน ว่าผู้พูดกำลังจะพูด “ด้านใด” ของเรื่องความยากจน และความหมายเรื่อง “ความยากจน” ที่กำลังจะกล่าวถึง
มิฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจกัน เข้าใจผิดกัน และวิวาทะกันได้ง่าย ๆ เช่น เรื่องความยากจนในด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ กับ เรื่องความยากจนในด้านศาสนธรรม ฯลฯ มันคนละเรื่อง หากนำมาถกในวงเดียวกัน ก็จะพูดกันไม่รู้เรื่อง
ก่อนที่เราจะเสนอความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สังคม เราจึงขอเผยแพร่มุมมองทางทฤษฎีเศษฐศาสตร์เอาไว้ก่อน คำอธิบายนี้มาจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงเป็นคำอธิบายเชิงวิชาการ
“๑. การวัดความยากจนเชิงสัมบูรณ์ เป็นการพิจารณาความยากจนโดยใช้เกณฑ์แบบสัมบูรณ์ เป็นการกำหนดระดับความยากจนที่ชัดเจน โดยคำนวณความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งกำหนดปริมาณเงินหรือรายได้ขั้นต่ำที่มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยจะใช้เส้นความยากจน (Poverty Line) เป็นเครื่องชี้วัดความยากจน เป็นเกณฑ์ที่จะสะท้อนระดับค่าครองชีพขั้นต่ำที่สุดที่มนุษย์จะยังชีพอยู่ได้ ดังนั้นใครที่มีรายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนถือว่าเป็นคนยากจน การหาเส้นความยากจนจะยึดหลักรายได้ที่เพียงพอต่อการบริโภคขั้นพื้นฐาน โดยคำนวณจากจำนวนของแคลลอรี่ของอาหารที่จำเป็นต้องบริโภคและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้า ซึ่งมีหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะจัดทำเส้นความยากจนทางการแสดงถึงเส้นความยากจนที่แบ่งตามเขตพื้นที่ในเขต และนอกเขตเทศบาลของแต่ละภาค
๒. การวัดความยากจนเชิงสัมพัทธ์หรือเชิงเปรียบเทียบ พิจารณาความยากจนโดยเปรียบเทียบระดับรายได้ต่าง ๆ ของประชากรแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นเครื่องชี้สภาวะการกระจายรายได้ การวัดความยากจนเชิงสัมพัทธ์หรือเชิงเปรียบเทียบ มี ๒ วิธี คือ
๒.๑ การเปรียบเทียบระดับรายได้ต่าง ๆ ของประชากรแต่ละกลุ่มว่า มีความแตกต่างในส่วนแบ่งของรายได้ทั้งหมดอย่างไร โดยแบ่งประชากรออกเป็นกลุ่ม ๆ และกำหนดเป็นร้อยละ เช่น กลุ่มที่ ๑ ร้อยละ ๒๐ ของครัวเรือนที่อยู่ช่วงระดับรายได้ต่ำสุดเป็นครัวเรือนยากจนที่สุด กลุ่มที่ ๒ ร้อยละ ๒๐ ของครัวเรือนที่อยู่ในช่วงรายได้สูงขึ้นมาถือว่ายากจนน้อยกว่า กลุ่มที่ ๓ ร้อยละ ๒๐ ของครัวเรือนที่อยู่ในช่วงรายได้สูงขึ้นมาถือว่าฐานะปานกลาง กลุ่มที่ ๔ ร้อยละ ๒๐ ของครัวเรือนที่อยู่ในช่วงรายได้สูงขึ้นมาถือว่าฐานะดี กลุ่มที่ ๕ ร้อยละ ๒๐ ของครัวเรือนที่อยู่ในช่วงรายได้สูงสุดซึ่งสามารถแสดงถึงความเหลื่อมล้ำการกระจายรายได้
๒.๒ การเปรียบเทียบรายได้ของคนจนกับรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ เป็นการเปรียบเทียบว่าใครมีรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศได้
๓. การวัดความยากจนโดยใช้ข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) การวัดความยากจนเชิงคุณภาพ โดยใช้ข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อเน้นคุณภาพชีวิตที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำตัวชี้วัดความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) ซึ่งได้สำรวจจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในระดับครัวเรือน ในหมู่บ้าน นอกเขตเทศบาลตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ จนถึงปี ๒๕๔๐ มีการปรับปรุงเครื่องชี้วัดความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) และสามารถแบ่งได้เป็น ๘ หมวด ได้แก่ สุขภาพอนามัยดี, ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม, ได้รับการศึกษาและรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์, ครอบครัวสุขสบาย, มีอาชีพและรายได้พอเพียง, มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน, มีการพัฒนาจิตใจ, จิตสำนึก และร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ถ้าวัดความยากจนจาก “จปฐ” แปดประการข้างต้นจะได้ข้อสรุปที่น่าเศร้ามากว่าสังคมไทยยากจนมากเหลือเกิน คือไม่สามารถร่วมพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะรัฐบาลห้าม
ตัวชี้วัดห้าหมวดแรกนั้นเข้าใจง่ายว่า เกี่ยวพันกับปัญหาความยากจนชัดเจน
แต่ตัวชี้วัดสามหมวดหลังนี่เข้าใจยากเหมือนกัน
การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน การพัฒนาจิตใจ การมีจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะใช้วัดความจนความรวยกันอย่างไร
หากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน, จิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่ำ นี่จัดเป็นคนจนหรือ?
พูดถึงปัญหาจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก่อน ผู้ที่ทำลายสภาพแวดล้อมร้ายแรงนั้น ส่วนข้างมากคือ “อภิทุนข้ามชาติ” ที่รวยมหาศาล กับพวก “นายทุนนายหน้า” ที่ขายทรัพยากรชาติ เสียเป็นส่วนใหญ่
คนจนส่วนหนึ่งอาจจะขาดจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเขาด้อยโอกาส ไม่มีทางเลือก “ทุน” ที่ร่ำรวยนั่นแหละ เป็นตัวเร่งการทำลายล้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่รับรู้ผลได้ผลเสียเป็นอย่างดี แต่ก็เลือกหนทางที่จะได้กำไรสูงสุด ถึงแม้จะทำลายสภาพแวดล้อมก็ตาม
พูดถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจ หรือเรียกว่าจริยธรรมสังคมก็คงได้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้คิดค้นตัววัดหมวดนี้ คิดกันอย่างไร ?
คิดว่าคนจนพัฒนาจิตใจน้อยหรือ ? คิดว่าคนที่มีฐานะเศรษฐกิจดี จะมีการพัฒนาจิตใจสูงในระดับเดียวกับฐานะเศรษฐกิจหรือ ?
มาถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนุมชน “การพัฒนาชุมชน” ในระบบคิดของหน่วยราชการก็คือ ราษฎรปฏิบัติตามคำสั่งคำชี้นำอย่างว่านอนสอนง่าย ราชการคิดการพัฒนาออกมาในรูปใด สั่งผู้ใหญ่บ้านกำนันลงไป ให้ราษฎรปฏิบัติตามนั้น พอถึงเวลาก็ไปตัดริบบิ้นเปิดงาน จากนั้นก็ไปตรวจงานตามระยะที่ “นาย” จากกรุงเทพฯมาดู
แผนโครงการที่สั่งจากบนลงล่าง มีผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แผนโครงการที่สั่งจากบนลงล่าง มันตรงกับความต้องการของชาวบ้าน แก้ไขปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้ตรงเพียงใด นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน” ของชาวบ้าน หมายถึงว่าต้องทำตามคำสั่ง ตามนโยบายจากบนลงล่าง
ถ้าชาวบ้านไม่ต้องการโครงการพัฒนานั้น ๆ แล้วคัดค้าน นั่นจะกลายเป็นพวกกบฏหัวแข็ง ถ้าชุมนุมต่อต้านถูกจับขังคุก ถ้าเย็นชาไม่เข้าร่วมโครงการพัฒนาของรัฐ ก็ตีความว่าพวกชาวบ้านยากจนจึงขาดจิตสำนึกที่จะมาร่วมพัฒนา
แนวคิดที่กล่าวมาข้างต้นมันล้าหลังมาก ๆ คงจะไม่หลงเหลืออยู่ในหน่วยราชการไทยกันแล้ว
ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาระดับโครงสร้างสังคม
ใครคือคนจน? สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนด “เส้นความยากจน” ไว้ที่รายได้ ๒,๙๒๐ บาท/คน/เดือน หมายความว่า ใครมีรายได้ต่ำกว่านี้ ก็คือยากจน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสสตร์ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ
“การสำรวจความยากจน โดยเทียบกับเส้นความยากจน (ที่ ๒,๙๒๐ บาท/คน/เดือน) พบว่าในระหว่างปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น ๙๖๓,๐๐๐ คน (เกือบหนึ่งล้านคน) จากเดิมมีจำนวนคนจน ๔.๘๔๗ ล้านคนในปี ๒๕๕๘ เพิ่มเป็น ๕,๘๑๐ ล้านคน ในปี ๒๕๕๙ (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ จากจำนวนคนจนในปี ๒๕๕๘)
ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคน แยกเป็นคนจนในเมืองเพิ่มขึ้น ๔๓๖,๐๐๐ คน (หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๔ ของจำนวนคนจนในเมืองในปี ๒๕๕๘) และคนจนในชนบทเพิ่มขึ้น ๕๒๗,๐๐๐ คน (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๗ ของจำนวนคนจนในชนบทปี ๒๕๕๘ )
ถ้ามองในแง่สัดส่วนความยากจนพบว่า สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ ๗.๒๑ (หรือมีคนจน ๗ คนในประชากร ๑๐๐ คน) เป็นร้อยละ ๘.๖๑
ในตลอดช่วงเวลา ๓๐ ปี ภาวะการณ์ที่ความยากจนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้น ๓ ครั้ง ครั้งแรกในปี ๒๕๔๑-๒๕๔๓ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น ๕.๕ ล้านคน ครั้งที่สอง ในปี ๒๕๕๑ ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น ๓๙๘,๐๐๐ คน และครั้งที่สามก็คือครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนความยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก
การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้แตกต่างจากสองครั้งแรก ตรงที่สองครั้งแรกจะเกิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ) แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ แต่รายได้ของพี่น้องคนจนกลับลดลง
ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้จึงอาจจะไม่ใช่วิกฤตตามสถานการณ์ในวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นวิกฤติในเชิงโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันในสังคมมากกว่า
เช่น ในช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๕๗-๒๕๖๐ ค่าจ้างที่แท้จริง (หักอัตราเงินเฟ้อออกแล้ว) ของพี่น้องแรงงานแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย และรายได้ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกรยังคงต่ำกว่าปี ๒๕๕๖ แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๘ ที่ประสบภัยแล้งเล็กน้อย ในขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังเติบโตได้ดี”
เมื่อนำข้อมูลออกมาชี้ว่า จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นมิได้ลดลง ยุทธศาสตร์การจัดการแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ ทำ ๆ กันมาจึงต้องทบทวนตรวจสอบว่า ถูกต้องเหมาะสมดีเพียงใด ได้รับผลสำเร็จดีเพียงใด ยังจะปรับปรุงแก้ไขใหดีขึ้นได้อีกอย่างไรบ้าง
ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
ต้องจัดการแก้ไขเรื่องโครงสร้างด้วย ซึ่งจุดนี้รัฐไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่กล้าทำจริงจัง
แม้การแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างจะเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เสียงกระแสสังคมก็เรียกร้องการปฏิรูปอย่างสูง น่าเศร้าที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดเลยมุ่งเป้าจัดการปัญหาระดับโครงสร้าง
****
คอลัมน์ เบิ่งโลก – เบิ่งไทย นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๙ | มกราคม ๒๕๖๑