การสืบสร้าง “มหากาพย์ชนชาติไท” ในงานเขียนชุดนี้ จะใช้ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่รังสรรค์โดยชนชาวไทเป็นตัวตั้ง อ่านและวิเคราะห์ชิ้นงานวรรณกรรม (Literary work) ที่จงใจคัดสรรมาเป็นการเฉพาะ เพื่อนำมาใช้เป็น “ตัวบท” (Text) ในการตีความ และให้ความหมายใหม่ (ถ้าเป็นไปได้) ด้วยวิธีวิทยาหลังโครงสร้าง-หลังสมัยใหม่ โดยไม่ยึดติด “กรอบ” แต่ทั้งนี้ก็โดยไม่ละทิ้งกระบวนการอ่านตัวเขียนของภาษาไทดั้งเดิม เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในชิ้นงานวรรณกรรม ด้วยการศึกษาเอกสารต้นแบบ ตามด้วยการวิเคราะห์ศัพท์และแปลความหมาย การถอดคำ การอ่านเอาความ รวมทั้งการถอดใจความ ด้วยหลักวิชาทางอักษรศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ อันเป็นแบบแผนดั้งเดิมของการศึกษาวรรณคดีไทยและเอกสารโบราณ ซึ่งก็คือแนวทางหลักและระเบียบวิธีศึกษาอย่างเป็นแบบแผนของสำนักคิดโครงสร้าง-หน้าที่นิยม
ในขั้นตอนนี้ จะเริ่มจากงานวรรณกรรม (ลีกลาย) ของชาวไทใหญ่
วรรณกรรมไทใหญ่
คำว่า วรรณกรรม กับ วรรณคดี ที่ใช้กันในภาษาไทยมีความหมายไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ทั้งสองคำนี้ตรงกับคำ Literature ในภาษาอังกฤษ นัยความหมายใกล้เคียงกันนี้ ภาษาไทใหญ่ใช้เรียกรวมเป็นคำเดียวว่า “ลีกลาย”
|ลีกลาย| เป็นคำประสม
คำว่า “ลีก” ตัวอักษรไทใหญ่หมายถึงสิ่งที่ขีดเขียน (ลิขิต) ออกมาเป็นตัว “หนังสือ” มีความเป็นไปได้ว่า คำ |ลีก[1]| ใช้ในความหมายกว้างคือ เรื่องราวที่เรียบเรียงออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเอามาประสมกับคำ “ลาย” ได้เป็นคำสองพยางค์คือ “ลีกลาย” กลายเป็นคำที่มีความหมายใหม่
คำว่า “ลาย” หมายถึงภูมิปัญญาทุกชนิด ในความหมายกว้างหมายรวมถึง วิธีดำเนินการ วิธีการกระทำต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยภูมิปัญญา วิทยาการซึ่งมีวิวัฒนาการ สืบทอดด้วยปาก สืบต่อกันด้วยมือ นอกจากนี้ คำว่า “ลีกลาย” ยังมีความหมายเฉพาะด้วย คือ หมายถึงงานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ใช้ภาษาเป็นสื่อกลาง ไม่ว่าจะมีเนื้อหาแบบใดก็ตาม มีขอบข่ายรวมถึงงานเขียนทุกชนิด ที่ได้สั่งสมภูมิปัญญาอันสืบต่อกันมาด้วยปาก และกระทำสืบต่อกันมาด้วยมือ (คือการขีดเขียนและจดจาร)
ทัศนะต่อภาษาและวรรณกรรม ของชายชื้น คำแดงยอดไตย :
“ภาษา (ซึ่งเป็น “เสียง” ที่มนุษย์เปล่งขึ้นสื่อสารกัน เป็นสื่อให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต) และวรรณกรรม ของชาติใดก็ดี ย่อมเปรียบประดุจกระจกเงาที่ฉายให้เห็น สภาพแวดล้อมทางสังคม ค่านิยม ตลอดจนทัศนคติของผู้คนในสังคมนั้น ๆ ไม่มากก็น้อย
ฉะนั้นวรรณกรรมไทใหญ่เท่าที่เก็บรักษาไว้ได้ในปัจจุบัน ย่อมเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของสังคมชาวไทใหญ่ และเป็นวรรณกรรมที่มาจากความคิดหรือจิตสำนึก และพื้นภูมิความรู้ของสังคมไทใหญ่ทั้งสิ้น…หากว่าได้เริ่มศึกษาอย่างถูกต้อง อย่างเป็นระบบ น่าจะค้นพบ ‘พื้นภูมิธรรมเดิม’ ของสังคมไทใหญ่ที่กวีได้สอดใส่ไว้…วรรณกรรมของชาวไทใหญ่มีรูปแบบและแก่นสาร รูปแบบเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยการแสดงออกทางการประพันธ์ด้วยการใช้รูปศัพท์ต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน สามารถจับต้องได้และจับกฎเกณฑ์ได้ แต่แก่นสารนั้น หมายถึงเนื้อหาสาระที่ต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดลึกซึ้ง จึงจะเข้าใจถึงความคิด ความฉลาดหลักแหลมของกวี”
ลักษณะของวรรณกรรมไทใหญ่
จากการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมไทใหญ่ ของ ชายชื้น คำแดงยอดไตย ในฐานะเป็นเจ้าของภาษาเอง ลักษณะของวรรณกรรมชาวไทใหญ่ โดยรวม มี ๒ ลักษณะ คือ ความอ่อน และ ความหลวง (ในขั้นตอนนี้จะเน้นเฉพาะลักษณะต้น)
ความอ่อน
“ความอ่อน” ในภาษาไทใหญ่ออกเสียงว่า “กวามอ่อน”
เมื่อบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เรียกว่า “ลีกอ่อน”
หมายถึง วรรณกรรมที่มีลักษณะสามัญ ร้อยเรียงให้มีท่วงทำนอง นำเสนอด้วยการอ่าน หรือการขับขานประกอบดนตรี
“ความอ่อน แบ่งเป็น ๒ ประเภท เรียกชื่อว่า ‘กวามอ่อนอ้อน’ และ ‘กวามอ่อนอ้น’
‘ความอ่อนอ้อน’
|อ้อน| มีความหมายตรงตัว อาจจัดเข้าประเภท (genre) เป็นประเภทสำหรับเด็กอ่อน
แบ่งออกเป็น ๖ ประเภท ได้แก่
๑. กวามอืน (ร้องเอื้อยเลี้ยง) เป็นเพลงกล่อมเด็ก มี ๓ ท่วงทำนอง คือ
– กวามอืนหอบ (ร้องเอื้อยเลี้ยง เวลาอุ้มหอบ)
– กวามอืนเจ (ร้องเอื้อยเลี้ยง เวลาพาดบนหลัง)
– กวามอืนอู่ (ร้องเอื้อยเลี้ยง เวลาไกวเปล)
๒. กวามตบมือว่าเล่น (เพลงปลอบเด็ก)
๓. กวามต่อเล่น (เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก) เช่น กวามต่อหม้นต่อหมี
๔. กวามอุ่งจา (ทำนองนั่งชิงช้า)
๕. กวามปั่นต่ง (เพลงย้อน ร้องวนไม่รู้จบ)
๖. กวามต้า (ความทาย ~ ปริศนา)
‘ความอ่อนอ้น’
|อ้น| หมายถึง อ่อนโยนหรือสุภาพนิ่มนวล
‘ความอ่อนอ้น’ จึงมีความหมายว่าเป็น ‘ลีก’ ~ วรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่มีท่วงทำนองไพเราะ
ดูเหมือนว่า ชาวไทใหญ่จะให้ความสำคัญกับการแต่ง ‘ความอ่อนอ้น’ ในฐานะวรรณกรรมสร้างสรรค์ ที่มีรูปการณ์เป็น “คำประพันธ์” มีการสอดใส่ท่วงทำนองเพลงลงไปบ้าง หรือมีการกำหนดฉันทลักษณ์รูปแบบต่าง ๆ เป็นประเภทสำหรับเยาวชน ผลการศึกษาของอาจารย์ชายชื้น จำแนกได้ถึง ๑๘ ประเภท ได้แก่
๑. กวามแปงสอง (ความชื่นชอบ)
๒. กวามหมาก (หวาก~การสรรเสริญ)
๓. กวามว็อก (กวามวั่ก~ความชื่นชม) มีฉันทลักษณ์ (รูปแบบคำประพันธ์) ๓ แบบ คือ
ว็อกห้าตัว (ว็อก ๕ พยางค์)
ว็อกเจ็ดตัว (ว็อก ๗ พยางค์)
ว็อกเก้าตัว (ว็อก ๙ พยางค์)
๔. กวามล่องชอง (ทำนองล่องห้วย)
๕. กวามล่องคง (ทำนองล่องแม่น้ำสาละวิน) มี ๔ แบบ หรือ ๔ ตอน คือ
ล่องคงตอนบน
ล่องคงตอนกลาง
ล่องคงตอนล่าง
ล่องคงไห้ (ทำนองร้องไห้)
๖. กวามหยอบหย้อน (ทำนองใบไม้ร่วงซึ่งค่อย ๆ ร่วงลงสู่บนดิน)
๗. กวามหลั่นต้าง (ทำนองนาขั้นบันได)
๘. กวามหมอต่า
๙. กวามนกตู้ (ทำนองนกเขาตู้เหิน)
๑๐. กวามนกกือ (ทำนองเสียงเหินของนกเขาชนิดหนึ่ง)
๑๑. กวามเม็ด (เว็ด~ทำนองตกเบ็ดชักเบ็ด)
๑๒. กวามติ่งฮอด (ทำนองดีดซึงหรือพิณ)
๑๓. กวามติ่งตุ้ม (ทำนองดีดซึงที่ทำด้วยไม้ไผ่ปล้องเดียว)
๑๔. กวามตรอ (ทำนองเล่นหรือสีซอ)
๑๕. กวามม้าสิบสอง (ทำนองเสียงเท้าม้า)
๑๖. กวามเจิง (ละครเพลง อุปรากร)
๑๗. กวามซาน (กวามจ้าด~เพลงตามจังหวะละคร) มี ๓ แบบ คือ
กวามซานตีหนึ่ง
กวามซานตีสอง
กวามซานตีสาม
๑๘. กวามป๋านมฺอื่อ (เพลงไทใหญ่ ทำนองสากล)
กวามโหลง (หลวง)
“ความหลวง~กวามโหลง” เมื่อบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เรียกว่า “ลีกโหลง” หมายถึง วรรณกรรมขั้นสูง (วรรณคดี) เป็นชิ้นงานวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นโดยมีท่วงทำนอง (เพลง) กำกับอยู่ด้วยอย่างกลมกลืน เป็นลักษณะการประพันธ์สำหรับอ่านหรือขับเป็นเพลง โดยไม่จำเป็นต้องประกอบกับดนตรี เป็นงานวรรณกรรมที่ใช้คำศัพท์ขั้นสูง มีคำบาลี-สันสกฤต-พม่า และคำศัพท์ที่ใช้ในกลุ่มชนท้องถิ่นปะปนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก “กวามโหลง” แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ‘กวามโหลงโยง’ (ยวง) และ ‘กวามโหลงล้อน’
กวามโหลงโยง
|โยง| (ยวง) หมายถึง ลักษณะเนื้อความบริสุทธิ์ที่เป็นยวง เช่น เงินยวง ยวงเนื้อขนุน
เป็นประเภท (มีเนื้อหา) สำหรับผู้สูงวัย มี ๑๐ ประเภท ได้แก่
๑. กวามแลบ (ร้อยแก้ว)
๒. กวามโหลงแลบ (ร้อยแก้วที่มีความไพเราะ)
๓. กวามเกี้ยว มี ๖ ประเภท ได้แก่
กวามเกี้ยวสามข้อ (กวามเกี้ยว ๓ พยางค์)
กวามเกี้ยวสี่ข้อ (กวามเกี้ยว ๔ พยางค์)
กวามเกี้ยวห้าข้อ (กวามเกี้ยว ๕ พยางค์)
กวามเกี้ยวหกข้อ (กวามเกี้ยว ๖ พยางค์)
กวามเกี้ยวเจ็ดข้อ (กวามเกี้ยว ๗ พยางค์)
กวามเกี้ยวแปดข้อ (กวามเกี้ยว ๘ พยางค์)
๔. กวามเกี้ยวสามแถว (บทกวีสามบรรทัด)
๕. กวามสองกิ๋ว (สองเกลียว) มี ๕ ประเภท ได้แก่
สองกิ๋วกวามเลา
สองกิ๋วต่างไข่
สองกิ๋วขาด
สองกิ๋วเครือ
สองกิ๋วเครือต่างไข่
๖. กวามสามกิ๋ว แบ่งออกเป็น ๖ แบบ คือ
สามกิ๋วกวามเลา
สามกิ๋วต่างไข่
สามกิ๋วขาด
สามกิ๋วเครือ
สามกิ๋วเครือต่างไข่
สามกิ๋วมอน (สิ่งดีเลิศของเนื้อแท้ ที่นิ่มนวล หรืออ่อนหวาน)
๗. กวามเลา (กลมกล่อม)
๘. กวามกิ๋วเก๋น (เป็นเกลียวม้วน)
๙. กวามกิ๋วเก๋นกวามเลา
๑๐. กวามเขียว (เพลิดเพลินเคลิบเคลิ้ม)
กวามโหลงล้อน เป็นประเภท (มีเนื้อแท้ / แก่นสาร)
สำหรับผู้อาวุโส แบ่งออกเป็น ๖ แบบ คือ
๑. กวามก้องก่าย (คำคล้องจอง)
๒. กวามกับถูก (สุภาษิต)
๓. กวามปั๋นปอน (คำให้พร)
๔. กวามย่องยอ (ออป่าหมั่งกะหล่า) (คำชื่นชมยกยอ)
๕. กวามมฺอื่อชื่นหงฮาง (มงคล)
๖. กวามหยาดน้ำ (แผ่ส่วนบุญ / บทคำกรวดน้ำ)
ฉันทลักษณ์ไทใหญ่ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น รวมแล้วมีหลายประเภท ทั้งการประพันธ์สำหรับเยาวชน และสำหรับผู้สูงวัยมีจำนวนสี่สิบกว่าอย่าง (หรืออาจมีมากกว่านั้น) “กวามโหลงโยงสามกิ๋วเครือต่างไข่” เป็นประเภทที่เยี่ยมยอดสูงสุด และเป็นการประพันธ์ที่ประณีตละเอียดอ่อนมาก ทั้งเป็นการอ่านให้ถูกลีลาเสียงอ่านก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการไว้วางน้ำเสียงที่มีกิริยาอย่างละมุนละม่อมมาก
ชิ้นแรกที่คัดสรรให้เป็นตัวอย่าง
วรรณกรรมไทใหญ่ชิ้นแรก ที่คัดสรรมาอ่านร่วมกันในที่นี้ คือ วรรณกรรมต้นแบบประเภทหนึ่งของชาวไทใหญ่ ชื่อ “ความล่องคง” ~ กวามล่องคง (ทำนองล่องแม่น้ำสาละวิน) เฉพาะตอนแรก คือ “ล่องคงตอนบน“ (โปรดย้อนต้นดู ‘ความอ่อนอ้น’ ประเภทสำหรับเยาวชน ข้อ ๕)
“ความล่องคง” วรรณกรรมมุขปาฐะของชาวไทใหญ่
ท่วงทำนองเพลงขับชื่อสั้นได้ความ “ความ ล่องคง” นี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ในแง่ที่มีการประกอบรูปคำเป็น “คำไท” ที่เรียบง่าย ๓ คำ เรียงต่อกันเป็นชื่อเรื่องโดยสื่อความหมายได้อย่างกระชับ นับว่าเป็นองค์ประกอบชื่อที่ยังคงความบริสุทธิ์ (virgin) ของการใช้ “คำไท” ล้วนไว้ได้ โดยปราศจากศัพท์แสงกลิ่นอาย “ชาววัด” คือ ภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาเจือปน พินิจแล้ว ทั้งสามคำนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นศัพท์ที่มีรากมาจากภาษาจีนแต่อย่างใด
ชาวไทใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน เช่นที่เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ก็รู้จักวรรณกรรมชิ้นนี้ดี เรียกชื่อเพลงขับนี้โดยการออกเสียงว่า /กวามล่องคง/ มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า เป็นการบอกเล่าเรื่องราวว่าด้วยการเดินทางล่องไปตามลำแม่น้ำคง ชื่อแม่น้ำนี้เป็นชื่อเรียกของฝ่ายไทใหญ่ ฝ่ายพม่าเรียกว่าแม่น้ำสาละวิน เอกสารประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ มักใช้ทับศัพท์ตามการออกเสียงของพม่าว่า Salween River
ปราชญ์ชาวไทใหญ่ผู้บรรจงคัดสรรวรรณกรรมไทใหญ่ชิ้นนี้มาให้อ่าน คือ ท่านอาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย ท่านให้ความสำคัญกับ “ความล่องคง” ในแง่เนื้อหาสาระเป็นอย่างสูง ท่านถือว่าวรรณกรรมชิ้นนี้เป็น :
“ประวัติศาสตร์โดยย่อของไต ที่เขาเล่าต่อ ๆ กันมา แล้วนักประพันธ์บันทึกไว้”
“ความ ล่อง คง” เป็นชื่อเรียกท่วงทำนองบทกวีนิพนธ์ไทใหญ่ที่มีลักษณะพื้นบ้าน จัดอยู่ในประเภท “ความอ่อนอ้น” ที่เป็น “เพลงขับ” ท่วงทำนองมีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า “ทำนองล่องแม่น้ำสาละวิน” ชนชาวไทใหญ่หรือชาวไตกลุ่มตะวันตก โดยเฉพาะ ไตโหลง|ไตมาว|ไตเหนอ|ไตคำตี่ รู้จักกันดี (เอกสารประวัติศาสตร์ เช่น “พงศาวดารไทใหญ่” ในบางบริบท มีการเรียกขานกันรวม ๆ ว่า “ไทหลวง”)
“ความล่องคงตอนบน” บทไม่ยาวนัก จึงสะดวกต่อการใช้ขับขานกันอย่างแพร่หลาย เพลงขับนี้มีเนื้อความไม่ยาวยืดยาดเช่นประเพณีวรรณกรรมไทย (สยาม) แบบราชสำนัก แม้จะสั้นแต่ก็บอกเล่าเก้าสิบอย่างกระชับชัดเจน ทั้งเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องส่อเค้าให้เข้าใจว่า กวีผู้แต่งบทต้นแบบ รวมทั้งศิลปินผู้ขับเพลง ต่างสามารถจดจำรำลึกเรื่องราวที่ปู่ย่าตายายบอกกล่าวเล่าขานให้รับรู้ไว้ จึงมีการสืบทอดต่อกันมาด้วยเพลงขับ “ความล่องคง” ว่าด้วยเรื่องราวแต่ก่อนเก่าของ บรรพชนไทในห้วงเวลาต้น ๆ ของการสร้างบ้านแปงเมือง เล่าถึงยุครุ่งเรืองก้าวหน้า จนถึงช่วงประสบชะตากรรม ต้องพลัดพรากจากกันแล้วก็ได้มีโอกาสพบกันใหม่ ชื่อเพลงท่วงทำนอง ความล่องคง จึงเรียก “คื้น พ่อมฮ้อมกั๋น กว่าแถ้ง (สามัคคีกันใหม่)”
ในแง่ลักษณะคำประพันธ์ อาจารย์ชายชื้นตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับฉันทลักษณ์ของ “ความล่องคง” ไว้ดังนี้
“ความล่องคง – สำนวนที่คัดสรรมานี้ มันเต็มแบบแผนฉันท์แล้ว จบบทแบบฉันท์แล้ว เป็นแบบ ‘ความล่องคง (ท่วงทำนองความล่องคง)’ จบแล้วไม่มีต่อ”
ส่วนท่วงทำนองการนำเสนอของชาวไทใหญ่นั้น ท่านให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงว่า
“ความล่องคง เป็นเพลงขับร้อง ประกอบดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งไพเราะมาก…”
ท่านได้ประเมินค่าทางศิลปะวรรณกรรมของ “ความล่องคง” ไว้ว่า
“ภูมิปัญญาในการสร้างวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ ของชาวไทใหญ่ ได้จากการเฝ้าพินิจพิจารณาและสังเกตการณ์ธรรมชาติแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง เช่น ทำนองประเภท กวาม ล่องคง (ทำนองล่องแม่น้ำคงหรือสาละวิน) กวีได้มาจากการศึกษาการไหลของน้ำในแม่น้ำ และการล่องไปตามกระแสน้ำ จากนั้นจึงได้นำมาวางเป็นกฎเกณฑ์การประพันธ์ ในทำนองเดียวกับ “ความอ่อนอ้น” ประเภทอื่น ๆ เช่น ‘กวาม หยอบหย้อน’ ท่วงทำนองเพลงได้มาจากภาพและลีลาใบไม้ซึ่งค่อย ๆ ร่วงลงสู่พื้นดิน ‘กวามนกตู้’ ได้ท่วงทำนองมาจากภาพนกเขาตู้เหินพร้อมกันไปกับเสียงขัน เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความประณีตบรรจงในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมของกวีชาวไทใหญ่” ท่านเรียกขานกวีผู้นำเอาท่วงทำนองความล่องคงที่บรรพชนสรรสร้างไว้นั้นมารจนา เพลงขับชื่อ “คื้นพ่อมฮ้อมกั๋น กว่าแถ้ง (สามัคคีกันใหม่)” ท่วงทำนองเพลงชื่อ “ความล่องคง” ว่า “สร่า จอต้า” บทเพลงนี้ ได้ตีพิมพ์ เมื่อ ค.ศ. 1957 ใน “นิตยสาร ไตหนุ่ม” มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (“Tai Youth Magazine”, Rangoon University)
นอกจาก “ประวัติศาสตร์” แล้ว ยังมีนิทานหรือเรื่องต่าง ๆ ที่เขาเล่าต่อ ๆ กันมา นักประพันธ์ได้บันทึกไว้ มีหลายต่อหลายเรื่อง เช่น “โอ้เปี่ยม-สามลอ (ขุนสามลอ-นางอู้เปี่ยม)” เป็นนิทานพื้นบ้าน (อิงการเคลื่อนไหวของพ่อค้าวัวต่าง) ชื่อดัง ที่บรรพชนชาวไต/ไท ถิ่นต่าง ๆ เล่าต่อ ๆ กันมา นักประพันธ์ไตหลวงชื่อดัง “นางคำกู่” ได้บันทึกเป็นบทกวีคำกลอนขึ้น ในไต/ไท ถิ่น (กลุ่ม) ต่าง ๆ ก็มีนักประพันธ์ถิ่นนั้น ๆ บันทึกเป็นภาษาพื้นถิ่นของเขาขึ้นเป็นบทละครก็มี เช่น ไทคำที่ ไทเหนือ (ไทสยาม เรียก “พระลอ”) โดยต่างถือว่า “โอ้เปี่ยม-สามลอ (ขุนสามลอ-นางอู้เปี่ยม)” เกิดในถิ่นของตน
ชื่อ “นางคำกู่” โดยการให้ความหมายของอาจารย์ชายชื้น
|คำ| ในที่นี้ แปลว่า “ทองคำ”.
|กู่| ในที่นี้ แปลว่า “ตูม (ดอก)”.
สองคำนี้รวมเข้าหมายถึง “ดอกตูมซึ่งเป็นทองคำ”. ท่านบอกว่า “นางคำกู่” [(จ.ศ.1215–1279) บ้านแก๊ง เวียงเล้า เมืองนาย] เป็นบุตรสาวของ “เจ้าก๊างเสอ” (จ.ศ.1149–1243) ซึ่งเป็นนักประพันธ์ชื่อดังคนหนึ่งของชาวไทใหญ่”.
จากการนี้ ท่านได้เสริมการวิเคราะห์ คำเรียก หญิง-ชายในสถานภาพต่าง ๆ ไว้ด้วย
|นาง| เป็นคำนำหน้าหญิง.
|จ๊าย| เป็นคำนำหน้าชาย.
|เจ้า| เป็นคำนำหน้าชายและหญิง ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์, ผู้ทรงอำนาจ, ผู้บังคับบัญชา, ผู้ทรงเกียรติ, คนใหญ่คนโต, หัวหน้า. ถ้าเป็นหญิงอาจใช้คู่กับนาง คือ เจ้านาง.
|คิ้ง| เป็นคำนำหน้าผู้สูงอายุ หรือผู้อาวุโสชาย.
|นาย| เป็นคำนำหน้าผู้สูงอายุ หรือผู้อาวุโสหญิง.
[ * ความหมายของคำ |นาย| ในที่นี้ของไทใหญ่ ตรงกับที่มีใช้ในกลุ่มไทดำเมืองแถง เช่น “ปางด้ำนาย” – หมายเหตุโดย ชลธิรา, ผู้สนใจโปรดอ่าน ‘ปางด้ำนาย’ ใน “ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทฯ” (ชลธิรา สัตยาวัฒนา 2565, น.๑๓๙-๑๕๐.]
เฉพาะในด้านเนื้อหาสาระ อาจารย์ชายชื้น อธิบายความหมายที่เป็นสาระสำคัญไว้ว่า
“ความล่องคง เป็น ‘ประวัติโดยย่อ’ ให้นึกออกได้ในตา พอคร่าว ๆ หรือโดยรวมว่า เริ่มตรงไหน ตั้งชาติ สร้างความรุ่งโรจน์ ขยายถิ่นฐานกว้าง สร้างอำนาจครอบงำไปได้ไกลแค่ไหน และมีความเจริญเป็นไทเพียงใด วันนี้เราเชื้อชาติเดียวกัน ได้กลับมาเจอกันใหม่ ขอให้สามัคคีกัน เกินกว่ายุคสมัยก่อนเถิด”
ท่านได้ขยายความ ให้ความหมายเพิ่มเติมอันมีนัยยะสำคัญว่า
“การที่ว่าพอคร่าว ๆ หรือโดยรวมนั้น อาจหมายรวมถึง ‘เชียงดง’ ของพวก Dong และรวมถึง ‘เมืองลาว’ ที่มีเมืองล้านช้าง เวียงจัน ก็เป็นได้”
[1] คำว่า |ลีก| ในแง่ของเสียง บังเอิญพ้องกับศัพท์ |เลข| ในภาษาบาลี ในภาษาไทยสยามยืมมาใช้กันมากและมีที่ใช้ต่าง ๆ กัน เช่น คำว่า |เลข~เลขา~ลิขิต| จึงอาจวิเคราะห์ได้ทางหนึ่งว่าเป็นคำยืม แต่เนื่องจากศัพท์ |ลีกลาย| เป็นคำประสม ซึ่งมีที่ใช้อยู่ในคลังคำภาษาไทใหญ่ที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง เป็นที่รู้จักกันดีและใช้กันทั่วไปมายาวนาน โดยที่คำ |ลาย| เป็นคำไทซึ่งฝ่ายไทสยามและไทลาวก็มีที่ใช้ นักวิชาการไทใหญ่จึงเชื่อมั่นว่า |ลีก| เป็นคำไทดั้งเดิม ที่บังเอิญมีเสียงพ้องกับคำบาลี หาใช่คำยืมไม่.
ปักหมุด หมายหา “ต้นบรรพชนไต”
เพลงขับ “ความล่องคง” สำนวนที่คัดมาใช้ศึกษาในที่นี้ อาจารย์ชายชื้นยังได้ระบุความน่าสนใจภายในบทขับวรรคหนึ่งว่า
“มีการขานชื่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ความทรงจำของชาวไทใหญ่. ท่านคือ “ปู่ยี่ สองหม่อน”.
โดยท่านได้ให้เสียงอ่านตามระบบสัทศาสตร์สากล ถอดคำ ถอดความ และอธิบายขยายความไว้ดังนี้
เสียงอ่าน: Tuen: kau, ngau; poo, Yee; song mon
บทขับ: ตื๊น เก่า เหง้า ปู่ ยี่; สอง หม่อน
ถอดคำ: ต้น(เชื้อ) เก่า เหง้า ปู่ ยี่ สอง ทวด
ถอดความ: ต้นโคตรเหง้าวงศ์ตระกูล ปู่ยี่ สอง(ปู่)ทวด (ปู่ทวดย่าทวด?)
คำอธิบายเสริม: ชื่อ ‘ปู่ยี่’ นี้ ปรากฏตนในฐานะเป็น ‘ต้นบรรพชน’ อันเป็นที่เคารพในหมู่ชาวไทใหญ่ แล้วกวีนำมาขับขานสดุดี…ไม่มีตัวละครอื่นที่ชักนำไปเปรียบเทียบกับชื่อในวรรณกรรมไท|ลาวดั้งเดิมเรื่องอื่น ๆ
ถ้าการถอดเสียงจากเพลงขับถูกต้องตามทำนองโดยเสียงไม่เพี้ยนจากชื่อจริง
ถ้าการถอดคำศัพท์จากเอกสารที่บันทึก “ความล่องคง” ก็ถูกต้องตามอักขรวิธี ไม่ผิดพลาดไปจากรูปคำดั้งเดิมอันเป็นต้นเค้า
ชื่อ “ปู่ยี่” ควรถูกปักไว้เป็น “หมุดหมายสำคัญ” เบื้องต้นว่า ท่านเป็นใคร มีตัวตนตั้งมั่นอยู่ที่ไหน และได้ทำอะไรไว้บ้าง จนเป็นที่เล่าขาน สดุดี และนบนอบ อีกทั้งยังควรสาวหาต่อว่า คำสร้อยที่ตามชื่อ “ปู่ยี่” ว่า “สองหม่อน” นั้น หมายถึงใคร หรืออะไร มีความหมายอื่นใดต่างจากที่ท่านตีความไว้หรือไม่ และ|หรือ มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงต้องเป็นเลขนับจำนวนสอง ในคำว่า “หม่อน”
ในบริบทคำขับนี้ |หม่อน| แปลว่าอะไร หมายถึง “ทวด” ที่รวมทั้ง ‘ปู่ทวดย่าทวด’ หรือไม่ หรือยังอาจหมายถึงใคร ทั้งในเอกสารภาษาไทพื้นบ้าน ภาษาลาว และภาษาอื่นที่อาจสาวไปถึง
อาจารย์ชายชื้นลงท้ายบทศึกษาที่เคร่งครัด ตามแบบฉบับของท่านว่า
“ข้อพรรณนาของผมยังเป็นแบบพื้นฐาน แบบชาวบ้าน ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ เพียงแนะนำให้ผู้สนใจได้ศึกษา”
ในโอกาสนี้ จึงขอฝากเรียนท่านผู้อ่านที่สนใจโปรดช่วยกันอ่าน “ความล่องคง” เพื่อติดตามหา “ปู่ยี่ สองหม่อน” ร่วมกันด้วย
บทศึกษา “ความล่องคง” ในฐานะวรรณกรรม ด้วยการแปล ‘คำต่อคำ วรรคต่อวรรค’
ท่านอาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย ซึ่งเป็นผู้คัดสรรวรรณกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาศึกษา เป็นผู้คัดบท ถอดเสียงอ่านตามระบบสัทศาสตร์สากล ถอดคำ แปล และถอดความแบบ ‘คำต่อคำ วรรคต่อวรรค’ และอธิบายความหมายให้เราได้ศึกษาในที่นี้
Moeng: hau: pee; nong. kai kan tae. naw: < (ต้นฉบับโคลงกลอนไทใหญ่)
เมิ้ง เฮ้า ปี้ น่อง ไก๋ กั๋น แต้ น้อ < (เสียงอ่านไตมาตรฐานตามต้นฉบับ)
เมือง เรา พี่ น้อง ไกล กัน แท้ หนอ < (คำแปลคำต่อคำ)
เมืองของเรา พี่น้องกัน ช่างอยู่ไกลกันแท้หนอ < (คำแปลเป็นภาษาไทยกลาง)
khan; se tung. Moeng: yarn poen; tae,
ขั้น เส ทุ่ง เมิ้ง หยาน เปิ้น แต่,
กั้น เสีย ทุ่ง เมือง ห่าง ผู้อื่น ก่อตั้ง,
ทุ่งที่ราบโล่งซึ่งเปิ้น (ชนชาติอื่น) ก่อตั้งเป็นเมืองขึ้น ก็ขวางกั้นไว้
Hau: tsang, kan. au nam. saue, tau; khau; saue, tsarn; pah: lae, (pah:lae,)
เฮ้า จั่ง กั้น เอ๋า น่ำ สะอื่อ เต้า เข้า สะอื่อ จ้าน ป๊า แหล่ (ป๊าแหล่)
เรา จึ่ง ทำด้วยลำบาก เอา น้ำ ใส่ คนโท ข้าว ใส่ กระสอบ พา เที่ยว (นำเที่ยว)
เราจึงพากเพียรนำน้ำใส่คนโท นำข้าวใส่กระสอบ พาเที่ยว
hah tsoe. Khoe: tharn; paw: mau: yau. // (tsoe.khoe:) (tharn;paw:)
หา เจ้อ เค้อ ถ้าน ป๊อ เม้า เย่า. (เจ้อเค้อ) (ถ้านป๊อ)
หา เชื้อ เครือ ถึงขนาด พอ เมา แล้ว. (สายพันธุ์วงศ์ตระกูล/เชื้อสาย) (จนกระทั่งถึง)
หาสายพันธุ์ วงศ์ตระกูล มาตลอดจนมึนงงแล้ว
Hoh khoe: mee: naue: Tibet thang
โห เค้อ มี้ นะอื๊อ ตี้เป้ด ถัง
หัว เครือ มี ใน ทิเบต พักอาศัย
ต้นวงศ์ตระกูลมีในถิ่น (ชนชาว) ทิเบต อาศัยอยู่
Hang khoe: moe: pheo Moeng: thai:
หาง เค้อ เม้อ แผว เมิ้ง ไท้
หาง เครือ ไป ถึง เมือง ไทย
ท้ายวงศ์ตระกูลไปถึงเมืองไทย
Tsao, kau nau: naue: thung. Yohn: Keu sarp, tah; /
จ่าว เก๋าเน้า นะอื๊อ ทุ่ง โย้น เก๋ว สาบ ต้า,
มัวแต่ ปะปน ใน ทุ่ง โยน เอราวดี ใกล้เคียง ท่า
สลับซับซ้อนกันอยู่ในทุ่งที่ราบโล่งโยนกบริเวณลุ่มแม่น้ำเก๋ว
Khuen: theu; pheo hot; Lao: yoo, //
คื้น เถ้ว แผว ฮอด ล้าว หยู่.
คืน เที่ยว ไป ถึง ลาว อยู่
กลับเที่ยวไปสู่ถึงถิ่นที่ ลาว อาศัยอยู่
Khoe: hoe, tsoe. tuen: ngoen; say poo, hau: khah; (hau:khah;)
เค้อ เห่อ เจ้อ ตื๊น เหงิ้น สาย ปู่ เฮ้า ข้า (เฮ้าข้า)
เครือ เหงื่อ เชื้อ ต้นเชื้อ เงื่อน สาย ปู่ เรา ข้า (พวกเรา)
ต้นโคตรวงศ์ตระกูล เชื้อสายปู่ พวกเรา
mee: wai. naue: thung. lin tsau; Sang:thoy:
มี้ ไว่ นะอื๊อ ทุ่ง หลิน เจ้า ซ้างท้อย,
มี ไว้ ใน ทุ่ง ดิน เจ้า ซางท้อย
มีไว้ในทุ่งที่ราบโล่งดินแดน ซ้างท้อย
Haw kham: pohk: phaeng haw saeng khat: lohm: yoo, hang: koy: (hang:koy:)
หอ ค้ำ โป๊ก แผง, หอ แสง คัด ล้ม หยู่ ฮั้ง ก๊อย (ฮั้งก๊อย)
หอ ทองคำ ปลูกตั้ง ขึ้นอยู่กับ หอ แสง ขัด/ต้าน ลม อยู่ เอง ลำพัง (อิสระ/เป็นไท)
หอคำตั้งขึ้น, หออัญมณี (หยกเพชรพลอย ทะนงศักดิ์) ชูฟ้าอยู่อิสระ
Naue: thung. yoy: foe poeng, tsueng; parn moe; suen: kon, //
นะอื๊อ ทุ่ง ย้อย เฝอ เปิ่ง จื้ง ป๋าน เหม้อ ซื้น ก่อน.
ใน ทุ่ง พู่ห้อย เปีย ครอบงำ ประเทศ ยุค/สมัย เมื่อ วานซืน ก่อน
ในทุ่งที่ราบโล่งที่คนเปียผมเป็นพู่ห้อยขึ้นปกครองประเทศในอดีตนานมาแล้ว
Tuen: kau, ngau; poo, Yee; song mon,
ตื๊น เก่า เหง้า ปู่ หยี้ สอง หม่อน
ต้นเชื้อ เก่า เหง้า ปู่ ยี่ สอง ทวด
ต้นโคตรเหง้าวงศ์ตระกูล ปู่ยี่ สอง (ปู่) ทวด (ปู่ทวดย่าทวด?)
On phae; toen: foe: larm: hot; lay moeng:
อ๋อน แผ้ เติ๊น เฟ้อ ล้าม ฮอด หลาย เมิ้ง,
นำหน้า แพร่ ยื่นออก (แตกแขนง/เปล่งปลั่ง) ลาม ไปถึง หลาย เมือง
นำหน้าแพร่กระจายยื่นออกไปกว้างขวางทั่วหลายประเทศ
Tok: ka yarnkan sut: ton: kham: son: tae, haw hoeng:
ต๊ก ไก๋ หยานกั๋น ซุด ต๊อน ค้ำ ซ้อน แต่ หอ เฮิ้ง
ตก ไกล ห่างกัน สุด เหลือเกิน ทองคำ ทบซ้อน ก่อตั้ง หอ มีเป็นจำนวนมาก
ตกไกลห่างจากกันไปเหลือเกิน ไปก่อตั้งอาณาจักรที่รุ่งเรือง/มีเป็นจำนวนมาก
Moeng: kau; hay: haw naw, tsaw; (hay:haw)
เมิ้ง ก้า ฮ้าย หอ หน่อ จ้อ (ฮ้ายหอ)
เมือง เก้า อาณาจักร หอ หน่อ ชูสลอน (ราชอาณาจักรร่วม)
สมาพันธ์นวรัฐ (เมืองเก้าฮ้ายหอ) มีพระราชวังเป็นยอดชูสลอน
Parn thung. Mao: lae; luem tsau; Keng:mai, //
ป๋าน ทุ่ง มาว แหล้ หลืม เจ้า เก๊งไหม่.
ยุค/สมัย ทุ่ง แม่น้ำมาว และ แผ่นดิน/ดินแดน เจ้า เชียงใหม่
สมัยทุ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำมาวและดินแดนอาณาจักร เชียงใหม่
Moe; nai. tuen: kau, pee; ik, nong. lae; nong. ik, pee; (moe;nai.)
เหม้อ ไน่ ตื๊น เก่า ปี้ อีก น่อง แหล้ น่อง อีก ปี้ (เหม้อไน่)
เมื่อ นี้ ต้นเชื้อ เก่า พี่ อีก น้อง และ น้อง อีก พี่ (วันนี้)
วันนี้พี่อีกน้องและน้องอีกพี่ ซึ่งสืบต้นโคตรวงศ์ตระกูลเก่าแก่
lai; soo, khop; khuen: khwai, an lai; kah: ngark; kan moe; wan: suen: /
ไหล้ สู่ คอบ คื้น ไขว่ อัน ไหล้ ก๊า งาก กั๋น เหม้อ วั้น ซื้น,
ได้ สู่ ครบรอบ คืน ไขว้ อัน ได้ คานเทียมลาก ง้างออก กัน เมื่อ วัน ซืน
ที่ได้พลัดพรากกันวันก่อนเมื่อวาน ได้กลับมาพบกันอีก
Kam: nai. khuen: lai; thop: kan tsohm: ton:
ก๊ำ ไน่ คื้น/กลับ ไหล้ ทบ กั๋น จ๊ม ต๊อน
ครั้ง นี้ คืน ได้ พบ กัน ชม เหลือเหิน/พิเศษ
ที่ได้กลับมาพบกันครั้งนี้ ชื่นใจเหลือเกิน
yoeng; ngay: kham: son: kiu, saeng nguen:
เหยิ้ง ง้าย ค้ำ ซ้อน กิ่ว แสง งื้น
เลียนแบบ คล้าย ทองคำ ทบซ้อน แร่เงินบริสุทธิ์ หยกเพชรพลอยอัญมณี เงิน
เปรียบเสมือน ทองคำ แร่เงินบริสุทธิ์ เพชรพลอยอัญมณี รวมเข้าเป็นแหวนเงิน
khuen: phom. hom: kan kwah, thaeng;
คื้น พ่อม ฮ้อม กั๋น กว่า แถ้ง
คืน/กลับ พร้อม รวม กัน ไป เพิ่ม/เติม
กลับสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อไปอีก
Paeng: hak. loe moe; suen: kon, /
แป๊ง อั่ก เหลอ เหม้อ ซื้น ก่อน,
ชอบพอ รัก เหลือ เมื่อ ซืน ก่อน/เดิม
รักใคร่กลมเกลียวกันมากขึ้นกว่าเมื่อวันก่อน
loe moe; suen: kon, //
เหลอ เหม้อ ซื้น ก่อน[2].
เหลือ เมื่อ ซื้น อน/เดิม
มากขึ้นกว่าเมื่อวันก่อน.
[2] สร่า จอต้า “นิตยสาร ไตหนุ่ม” มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (“Tai Youth Magazine, Rangoon University) ค.ศ.1957.
ขั้นตอนต่อไปในการอ่าน “ความล่องคง”
ในระหว่างที่ทอดระยะให้ท่านช่วยคิดค้น เสาะหา “ปู่ยี่ สองหม่อน” และตั้งข้อสันนิษฐาน ผู้เขียน (ชลธิรา) ก็จะ ‘สืบค้น’ เพื่อสาวหา “บรรพชนต้นไท” และ ‘ปรับรื้อสร้าง’ ประวัติศาสตร์ชนชาติไท ด้วยวิธีวิทยาการศึกษาอีกแบบหนึ่ง ในแนว “หลังโครงสร้าง-หลังสมัยใหม่” ตามที่ได้เตรียมการและเกริ่นกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว (ในตอนที่ ๓)
ทั้งนี้ การสืบสานในขั้นตอนต่อไป จะพยายามยกร่างจาก “ภาพลบเลือน” เกลื่อนด้วย “มายาคติ” ทบท่าวสั่งสมกันมาในตำนานและพงศาวดารเมืองต่าง ๆ เท่าที่พอจะประมวลได้ แล้วเสนอให้เห็น “อรุณรุ่งของชนชาติไท” ในภาพรวม
*****
เพื่อให้เข้าใจง่าย การอ่าน เสียงไทใหญ่ กรุณาดู
Standard Roman scripts for Tai speaking sound ; TAI SPEAKING SOUND (Analyzing text); และ หลักการปริวรรตอักษรไทใหญ่เป็นอักษรไทยมาตรฐาน (ย่อ)
*****
ข้อมูลทั้งหมดในตอนนี้ เอื้อเฟื้อโดย
ชายชื้น คำแดงยอดไตย ในจดหมาย (อีเมล์) แลกเปลี่ยนความรู้กับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา
ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2018.
ภาคผนวก
หลักการปริวรรตอักษรไทใหญ่
(อยู่ในหน้าถัดไป)
ขอบคุณภาพจาก
ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย. (2561). เข้าถึงได้จาก: https://pantip.com/topic/38317432.