คำตัดสินใหม่ของ “สมเด็จพระพันวษา”
ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: บทความ
ผู้เขียน: ศิวกานท์ ปทุมสูติ
การศึกษาเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรมอย่างเชื่อมโยงกับชีวิต สังคม และวัฒนธรรม เป็นความคาดหวังอย่างยิ่งของการปฏิรูปการศึกษา แต่เราก็ยังไปกันไม่ถึงไหนเลยในเรื่องนี้ เพราะอะไรหรือ ท่านผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายลองใคร่ครวญพิจารณากันดูเถิด เราอาจเป็นตัวละครที่กุมขังพัฒนาการของตนเองไว้ในกรอบเกณฑ์ วิธีการ หรือขนบแห่งความคิดอ่านอันใดบ้างที่ไม่เอื้อต่อการก้าวเดินไปข้างหน้า
บทเสภาที่ยกมาเป็นบุคลาธิษฐานและบทเสภาแปลงที่ข้าพเจ้าแต่งแทรกขึ้นในความเงียบงำต่อไปนี้ข้าพเจ้าเพียงซุกซ่อนความปรารถนาที่จะชักชวนท่านผู้อ่านที่กำลังเฝ้ามองบานหน้าต่าง ให้เบี่ยงเบนสายตามาที่บานประตู แล้วรู้ว่าจะทำอะไรด้วยอิสระในดวงใจของท่าเองเท่านั้น
เริ่มกันที่…
ลำดับจับความ, ตอน : สมเด็จพระพันวษาชำระความเรื่องนางวันทอง (ขุนช้างขุนแผน. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. น.๘๖๐-๘๖๖) ความตอนนี้สืบเนื่องจากขุนช้างฟ้องร้องขอนางวันทองคืนจากขุนแผน สมเด็จพระพันวษาทรงไต่สวนทวนคดีที่เป็นเหตุยืดเยื้อกันมานานระหว่างขุนช้างกับขุนแผนในกรณีแย่งชิงนางวันทอง ท้ายที่สุดก็ทรงดำริแล้วมีพระดำรัสว่า
๏ มันเกิดเหตุทั้งนี้ก็เพราะหญิง
จึงหึงหวงช่วงชิงยุ่งยิ่งอยู่
จำจะตัดรากใหญ่ให้หล่นพรู
ให้ลูกดอกดกอยู่แต่กิ่งเดียว
อีวันทองตัวมันเหมือนรากแก้ว
ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว
ใครจะควรสมสู่อยู่กลมเกลียว
ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้
ดังนั้นพระองค์จึงตรัสถามนางวันทองว่าจะเลือกอยู่กับใคร นางวันทองเกิดความละล้าละลังหวั่นไหวกริ่งเกรงในพระราชอาชญา เหลียวดูขุนช้างก็ทำหูตามีเลศนัยว่ากุมเหตุผลสำคัญของคดีความอยู่ แม้ “พระหมื่นไวยใช้ใบ้ให้แม่ว่า บุ้ยปากตรงบิดาก็หลายหน” ก็ตาม วันทองก็ยังหมองจิตคิดเวียนวนจนใจไม่กล้าทูล หากทูลไปว่าจะเลือกอยู่กับขุนแผน ก็กริ่งเกรงพระไวยจะเดือดร้อนด้วยเหตุที่ไปขึ้นเรือนขุนช้างแย่งชิงนางมาให้ขุนแผนโดยอุกอาจ
๏ ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์
หาได้ยินวันทองทูลขึ้นไม่
พระตรัสความถามซักไปทันใด
หรือมึงไม่รักใครให้ว่ามา
จะรักชู้ชังผัวมึงกลัวอาย
จะอยู่ด้วยลูกชายก็ไม่ว่า
ตามใจกูจะให้ดังวาจา
แต่นี้เบื้องหน้าเด็ดขาดไป
เมื่อสมเด็จพระพันวษาทรงสำทับมาอีกครั้งอีกคราเช่นนี้แล้ว นางวันทองก็มิอาจนิ่งใบ้ต่อไปได้อีก
๏ นางวันทองรับพระราชโองการ
ให้บันดาลบังจิตหาคิดไม่
อกุศลดลมัวให้ชั่วใจ
ด้วยสิ้นในอายุที่เกิดมา
คิดคะนึงตะลึงตะลานอก
ดังตัวตกพระสุเมรุภูผา
ให้อุธัจอัดอั้นตันอุรา
เกรงผิดภายหน้าก็สุดคิด
จะว่ารักขุนช้างกระไรได้
ที่จริงใจมิได้รักสักนิด
รักพ่อลูกห่วงดังดวงชีวิต
แม้นทูลผิดจะพิโรธไม่โปรดปราน
อย่าเลยจะทูลเป็นกลางไว้
ตามพระทัยท้าวจะแยกให้แตกฉาน
คิดแล้วเท่านั้นมิทันนาน
นางก้มกรานแล้วก็ทูลไปฉับพลัน
ความรักขุนแผนก็แสนรัก
ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน
สารพันอดออมถนอมใจ
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา
คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่
เงินทองกองไว้มิให้ใคร
ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก
ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว
ทูลพลางตัวนางระเริ่มรัว
ความกลัวพระอาญาเป็นพ้นไป
คำกราบทูลของนางวันทอง นับเป็นช่องทางที่ดีที่สุดที่นางเลือกได้ขณะนั้น เป็นถ้อยคำกลาง ๆ และเป็นสัจจริงทุกประการ จะควรหรือมิควรอย่างไรก็ “ตามพระทัยท้าวจะแยกให้แตกฉาน” แต่ครั้นพระพันวษาได้ทรงฟังเช่นนั้นแล้ว สถานการณ์กลับกลายเป็น…
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ
ฟังจบแค้นคั่งดังเพลิงไหม้
เหมือนดินประสิวติดกับเปลวไฟ
ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง
จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้
น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง
ออกนั่นเข้านี่มีสำรอง
ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก
จอกแหนแพเสาสำเภาใหญ่
จะทอดถมเท่าไรไม่รู้สึก
เหมือนมหาสมุทรสุดซึ้งซึก
น้ำลึกเหลือจะหยั่งกระทั่งดิน
อิฐผาหาหาบมาทุ่มถม
ก็จ่อมจมสูญหายไปหมดสิ้น
อีแสนถ่อยจัญไรใจทมิฬ
ดังเพชรนิลเกิดขึ้นในอาจม
รูปงามนามเพราะน้อยไปหรือ
ใจไม่ซื่อสมศักดิ์เท่าเส้นผม
แต่ใจสัตว์มันยังมีที่นิยม
สมาคมก็แต่ถึงฤดูมัน
มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง
จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์
ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน
สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ
ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว
หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่
หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย
อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา
กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น
คนอื่นรู้ว่าแม่ก็ขายหน้า
อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา
ก็จะหาเมียให้อย่าอาลัย
หญิงกาลกิณีอีแพศยา
มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย
ที่รูปสวยรวยสมมีถมไป
มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้
เร่งเร็วเหวยพระยายมราช
ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี
อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี
อย่าให้มีโลหิตติดดินกู
เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน
ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่
ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู
สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย
หลังจากผู้อ่านต่างได้สดับคำตัดสินของสมเด็จพระพันวษาจบลงแล้ว “ใครรู้สึกอย่างไรบ้าง” หรือ “ใครอยากแสดงความคิดเห็นอะไรบ้าง” ลองคิดวิเคราะห์ท่าทีของสมเด็จพระพันวษาเชื่อมโยงกับสังคมไทยในอดีต แล้วมองเห็นอะไร ได้คิดอะไรอย่างไรก็ตามแต่ใจท่าน แต่ในภาวะรู้สึกรู้สาของกวีคนหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกขัดใจอย่างยิ่ง กระทั่งเขียนบทเสภาแปลงจากคำตัดสินเดิมให้เป็นคำตัดสินใหม่ ดังต่อไปนี้…
โดยแทรกบทเสภาแปลงต่อไปนี้แทนคำตัดสินของสมเด็จพระพันวษาทั้งหมด ด้วยการแต่งให้รับสัมผัสกับบทที่มาก่อนหน้าที่ว่า “ความกลัวพระอาญาเป็นพ้นไป” และเริ่มความบทแปลงจากวรรคคำตัดสินเดิม “ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพฟังจบ” ด้วยคำตัดสินสำนวนใหม่ไปจนกระทั่งจบลงท้ายด้วยคำว่า “ชัย” ดุจเดียวกัน
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ
ฟังจบสบช่องวินิจฉัย
ดำริเห็นวันทองผุดผ่องใจ
มิแค้นชายใดมองแต่ดี
พระพักตร์เอิบอิ่มพริ้มโอษฐ์
ปลื้มโปรดฉายชัดถนัดถนี่
ตรัสพลางชมพลางนางคนนี้
รู้ที่สูงต่ำไม่ก้ำเกิน
อำนาจตัดสินใจกูให้เลือก
เหมือนเสกเชือกเป็นหงส์ให้พาเหิน
กลับไม่รีบถีบโถมพนมเนิน
เทิดเทินพระอาชญาฟ้าดิน
ทั้งที่นัยน์ตามึงมันฟ้อง
ปองใจอ้ายขุนแผนจนหมดสิ้น
ยังรักษาหน้าอ้ายช้างไม่ราคิน
ถ้อยคำดั่งน้ำรินสุมาลี
ฉลาดนักหลักแหลมแย้มว่า
ให้กูพิพากษาได้เต็มที่
สมแล้วแก้วกุลสตรี
เป็นศรีสุพรรณพารา
กูรู้ว่ามึงรักขุนแผน
ควรจะสมรักแสนเสน่หา
อ้ายขุนก็จงหยุดเพิ่มภรรยา
ให้เกียรติเพศมารดาไม่หยามใจ
อันมนุษย์สุดเลิศประเสริฐสุด
คือให้เกียรติมนุษย์ยืนหยัดได้
เสมอศีลเสมอธรรมอำไพ
กูให้มึงรับไปอีวันทอง
ส่วนว่าอ้ายช้างจงฟังกู
อย่าขี้ตู่เมียเขามีเจ้าของ
แม้มึงจะรักไม่เป็นรอง
ยกย่องวันทองยิ่งหญิงทั้งปวง
ผิดศีลผิดธรรมกรรมวิบาก
ด้วยพิษโศกโรคราคมันหนักหน่วง
ร้อยเล่ห์เพทุบายร้ายลวง
ชิงช่วงที่ออพลายมันไปทัพ
ห่อกระดูกผีป่ามาปดโป้
ทึ้งโพธิ์เสี่ยงทายทำสับปลับ
ว่าสิ้นแล้วแก้วพลายมลายลับ
ซ้อนซับซื้อใจนางศรีประจัน
ใช้เงินใช้เงื่อนงำปล้ำปลุก
สนุกบนทุกข์วันทองนั่น
หญิงที่ไร้ทางออกตรอกทางตัน
มึงจงเห็นใจมันปลดพันธนา
มั่งมีศฤงคารเป็นล้านโกฏิ
สาวโสดมากมายจงใฝ่หา
หยุดนอกรีตผิดกามกินน้ำตา
ใช้ปัญญายกจิตวิญญาณชาย
อย่าโกรธอ้ายไวยรักมารดา
มันพามาให้พ่อด้วยใจหมาย
ให้ครอบครัวอบอุ่นพ้นฝุ่นทราย
ปรองดองกันทุกฝ่ายไม่ร้าวราน
รู้หยุดรู้ยอมกันบ้างเถิด
เกื้อเกิดความรักสมัครสมาน
ให้คำกูเด็ดขาดดังปาดตาล
สั่งเสร็จเสด็จผ่านทวารชัย
(บทเสภาแปลง โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ, ๒๕๕๔)
บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของความคิดอ่านเหนือดินแดนแห่งปัญญา ข้าพเจ้าเชื่ออย่างสุจริตใจว่าการศึกษาเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรมที่ดี จะต้องเปิดประตูบานใหม่ให้อนุชนได้มีโอกาส ‘คิดใหม่’ และ ‘คิดต่าง’ อย่างมีคุณค่าไม่รู้จบ ซึ่งความปรารถนานี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ คาบสมุทรแห่งอารยธรรมในมโนสำนึกของผู้ใหญ่ใจกว้าง จะต้องพร้อมตื่นและเบิกบานไปกับความงอกงามใหม่ ๆ ทั้งในทางวรรณคดี วรรณกรรม และวัฒนธรรมชีวิตที่ดีกว่า