จาก “บารายปราสาทสระกำแพงน้อย” ในแผ่นดินศรีชยวรมัน สู่ “แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒” ในแผ่นดินพระทรงธรรม

พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
(ขอบคุณภาพจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)

จาก “บารายปราสาทสระกำแพงน้อย” ในแผ่นดินศรีชยวรมัน

สู่ “แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พุทธศักราช ๒๕๖๒” ในแผ่นดินพระทรงธรรม*

* บทความเรื่องนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ โดยเรียบเรียงขึ้นก่อนการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ในการเรียบเรียงครั้งนี้ผู้เขียนได้ใช้พระปรมาภิไธยล่าสุดของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รวมถึงการใช้คำราชาศัพท์บางคำด้วย

“พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสทรงชมเชยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้จัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเพื่อนำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พุทธเจดีย์สถาน และทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เสร็จเรียบร้อยอย่างสมพระเกียรติ”

“ในนามของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ โดยขอเชิญชวนทุกภาคส่วนหลอมรวมใจกันจัดพระราชพิธีให้สำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ในทุกขั้นตอน ด้วยความรักสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว และทุ่มเทอย่างสุดกำลังเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป”

(ที่มาของข่าวในพระราชสำนัก : https://workpointnews.com)

ปวงข้าพระพุทธเจ้าในร่มพระบารมีต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

สระน้ำหรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดเทพปราสาทสระกำแพงน้อย ขณะจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการปรับภูมิทัศน์ใหม่ในปีมหามงคล พุทธศักราช ๒๕๖๒ (ขอบคุณภาพจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ)

ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน พระราชประเพณีการสืบราชสมบัติมีการทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง “สมมติ” เจ้านายพระองค์ใดเป็นรัชทายาทได้ และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๓๔ มีการกำหนดว่าผู้สืบราชสมบัติเป็นพระราชธิดา ก็ได้ โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งยังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๖๐)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยอย่างใหญ่หลวงของคนไทยทั้งมวล ต่อมาในวันที่ ๑ ธันวาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในนามประชาชนชาวไทยได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นทรงราชย์ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร เป็นรัชกาลที่ ๑๐ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ขอทรงพระเจริญ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง ซึ่งเป็นที่ปีติยินดีแก่ประชาชนทั่วหล้า ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญและศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งที่จะต้อง จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณี ที่ใช้ในพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตสืบต่อกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แห่งเมืองสุพรรณบุรี ประกอบด้วย สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ เป็นสระน้ำโบราณอยู่ในปริมณฑลเดียวกัน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ใกล้กับลำน้ำท่าว้า ลำน้ำสายเก่าของแม่น้ำสุพรรณบุรี จนกระทั่งภายหลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เริ่มตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้การพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ จากจังหวัดสำคัญ ๆ จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงได้มีการตักน้ำในพื้นที่ทั้ง ๗๗ จังหวัด ไปรวมกับน้ำจากแม่น้ำสายประวัติศาสตร์ที่ สำคัญของไทยทั้ง ๕ สาย คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำราชบุรี และ แม่น้ำเพชรบุรี รวมเรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” เพื่อนำไปทำน้ำสรงมุรธาภิเษกและใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

สระน้ำก่อนพัฒนาสระน้ำหลังพัฒนา เพื่อการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นในอนาคต

ในพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการใช้พื้นที่ของบารายหรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์บริเวณ ปราสาทสระกำแพงน้อย ภายในวัดเทพปราสาท สระกำแพงน้อย ซึ่งมีศาสนสถานสำคัญ คือ ปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านกลาง ตำบลขะยุง อำเภอเมืองศรีสะเกษ ห่างจากตัว จังหวัด ๘ กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือติดถนนบน เส้นทางสายศรีสะเกษ – อุทุมพรพิสัย ปราสาท หินสระกำแพงน้อยประกอบด้วยปรางค์และวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้เดิมเป็นศาสนสถานมาก่อน แล้วต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาจมีการบูรณะ หรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ สังเกตได้จากการมีสถาปัตยกรรมแบบบายนอยู่ด้วย สิ่งก่อสร้างดังกล่าวเรียกกันในสมัยนั้นว่า “อโรคยศาล” หมายถึง สถานพยาบาลหรือสุขศาลา (สุขตาลัย) ประจำชุมชนนั่นเอง มีสระน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากรุด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปทั้งสี่ด้านอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถือได้ว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ดังที่ภราดร ศรปัญญา และคณะ ได้รจนาไว้ว่า “สระกำแพง คือบารายศิลากั้น, เป็นขั้นขั้น ทอดตะพัง ขังน้ำได้, ทั้งคนอยู่ คนผ่าน สำราญใจ, เป็นที่พัก รักษาไข้ ระหว่างทาง”

จากที่กล่าวมา ปราสาทสระกำแพงน้อย ถือว่าเป็นศาสนสถานที่เกิดจากพระราชกรณียกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะในอินเดีย คือทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทรงก่อสร้างศาสนสถาน ศิลาจารึก ศาลาพักแรมทาง โรงพยาบาลในดินแดนต่าง ๆ มากมาย

ผู้เขียนในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เห็น ว่าท่านอาจทำพระองค์ให้มีบทบาทมากกว่า พระเจ้าอโศกในประวัติศาสตร์อินเดียเสียด้วยซ้ำไป พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทหรือหินยาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งสอนให้บุคคลช่วยตนเองเป็นข้อใหญ่ โดยผู้อื่นนั้นมิอาจจะช่วยเหลือได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สอนให้บุคคลมีจิตเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การที่พระเจ้าอโศกทรงกระทำสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อแสดงถึงความมีพระทัยเมตตากรุณาต่อประชาชน เพื่อทำให้ประชาชนเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและอำนวยความสะดวกสบายแก่ประชาชนอีกโสดหนึ่งด้วย ส่วนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั้นทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาเช่นเดียวกันแต่เป็นลัทธิมหายาน ประกอบด้วยพระพุทธเจ้าหลายพระองค์และพระโพธิสัตว์ผู้ซึ่งยังไม่ยอมเข้าสู่นิพพาน แต่จะคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์สู่นิพพานก่อน แล้วพระองค์จะเสด็จตามไปเบื้องหลัง

จากความสำคัญดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทหินสระกำแพงน้อยและบารายได้มีมาตลอดรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งอาจใช้เป็นน้ำที่ใช้ประกอบพิธีกรรมเพื่อการรักษาในสถานที่แห่งนี้ จนกระทั่งภายหลังอาณาจักรเขมรโบราณเสื่อมอำนาจ พื้นที่แถบนี้ก็ร่วงโรยรกร้างไป จนกระทั่งมีการตั้งบ้านแปงเมืองในอาณาบริเวณจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน ได้แก่ยุคเมืองศรีนครลำดวน เมืองขุขันธ์ จนถึง

เมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน เรื่องราวเล่าขานความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทสระกำแพงน้อยและบารายยังคงเล่าสืบต่อกันมา รวมทั้งมีปรากฏในหลักฐานประเภทต่าง ๆ ด้วย ภายหลังปราสาทแห่งนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัดเทพปราสาทสระกำแพงน้อยมาจนถึงปัจจุบัน

Related Posts

บทกวี : ความรักพาเรากลับบ้านเสมอ
เที่ยวไปตามความ (ใฝ่) ฝัน – ๑
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 7
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com