จิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง ภาพฉายวิถีชีวิตคนอุบลฯในอดีต
วัดเป็นสถานที่รวบรวมศิลปะแต่ละสมัยไว้ได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาพจิตรกรรมฝาผนัง” พระอารามเก่า ๆ มักมีภาพจิตรกรรมฝาผนังยุคที่วัดนั้น ๆ สร้างขึ้นมาปรากฏอยู่ และแน่นอนว่า ช่างเขียนภาพในโบสถ์ วิหารต่าง ๆ ย่อมเป็นช่างเขียนชั้นดี อย่างน้อยก็ดีที่สุดเท่าที่ทางวัดนั้น ๆ จะเฟ้นหามาได้
จิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดทุ่งศรีเมือง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่คนชื่นชมกันมาก
วัดทุ่งศรีเมืองตั้งอยู่ตำบลในเมือง อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี ตัวเลขจากสำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ระบุปีสร้าง พ.ศ.๒๓๕๖ ตรงกับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมระบุผู้สร้างว่าคือ พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล สังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ)
ปัจจุบันที่วัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ อาทิ หอไตรที่สร้างใน พ.ศ.๒๓๘๙ โดยช่างที่เป็นพระภิกษุสงฆ์มาจากเวียงจันทน์ หอไตรทำด้วยไม้อยู่กลางน้ำ มีเสาจำนวน ๒๕ ต้น หลังคาแบบจั่วลดชั้น หลังคามุงกระเบื้องประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นทันทีที่โผล่เข้าไปก็จะสัมผัสได้ถึงความไม่ธรรมดา
คำว่า “หอไตร” ที่เราเรียกกันสั้น ๆ นั้น มาจากคำเต็มว่า “หอพระไตรปิฎก” ซึ่งก็คืออาคารที่เก็บพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนานั่นเอง เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เก็บพระไตรปิฎกอย่างเดียว หากแต่เก็บคัมภีร์ ตำรับตำราต่าง ๆ รวมกันไว้มากมาย ส่วนที่ต้องสร้างไว้กลางน้ำนั้นก็เพราะว่า เพื่อป้องกันสัตว์จำพวกปลวก มอดที่ชอบกัดกินหนังสือ
สมัยก่อนคัมภีร์ต่าง ๆ เราจารลงในใบลาน เขียนลงในสมุดข่อย วัสดุเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอาหารอันโอชะของมอด ปลวก บรรพชนของคนไทยเล็งเห็นแล้วว่า ถ้าขืนนำเอาหนังสือต่าง ๆ เก็บรวมกันไปในห้องหับเผลอเมื่อใดก็เมื่อนั้น จะถูกกองทำลายล้างจำพวกมอดปลวกจัดการได้รวดเร็วอย่างน่าใจหาย
ในปัจจุบัน แม้เราจะจัดพิมพ์หนังสือเป็นอีบุ๊กกันแล้ว เราไม่คงต้องสร้างหอไตรกลางน้ำกันอีกแล้วก็จริง แต่มรดกของบรรพชนที่แสดงถึงภูมิปัญญาก็ยังมีเสน่ห์ มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสถาปัตยกรรม ดังนั้นหอไตรตามพระอารามต่าง ๆ พระอาจารย์เจ้าอาวาสจึงมักให้ความสนใจรักษาไว้เป็นพิเศษ
วัดทุ่งศรีเมือง นอกจากมีหอไตรสวยงามแล้ว ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองซึ่งประดิษฐานอยู่ใน “หอพระพุทธบาท” ภายในอาคารนี้มีสิ่งที่กล่าวขานชื่นชมกันมาก คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในภาพเหล่านั้น เป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เรื่องราวที่นำมาวาดนั้น มีทั้งภาพเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก จากชาดกอื่น ๆ พระมาลัย รวมทั้งเรื่องสังข์ศิลป์ชัยด้วย
ภาพจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดก อย่างกัณฑ์หิมพานต์ ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ที่มาจากเมืองกลิงครัฐ เมื่อประชาราษฎร์ของพระองค์ทราบข่าวต่างไม่พอใจพากันโกรธแค้นเเละขับไล่ พระเวสสันดรจึงต้องไปอยู่เขาวงกต ภาพนี้แม้บางจุดจะเลือนไปบ้างเพราะกาลเวลา แต่ก็เป็นภาพที่ได้อารมณ์เป็นอย่างดี
ภาพเล่าเรื่องในหอพระพุทธบาท นอกจากเป็นภาพเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีภาพวิถีชีวิตชาวบ้านแทรกเข้ามาให้เห็นด้วย ว่ายุคสมัยที่ภาพวาดเกิดขึ้นนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชาวเมืองอุบลเป็นอย่างไรกัน เป็นต้นว่า ชาวบ้านหาปลาอยู่ในแม่น้ำ ในภาพคล้ายๆ กำลังทอดแหอยู่ใกล้ ๆ กันก็มีสาว ๆ ลงอาบน้ำที่ริมท่า ดูเหมือนจิตรกรจะจงใจวาดให้เห็นกุ้ง ปู ตัวโต ๆ แสดงถึงความอุดมสมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่นำมาเป็นอาหาร
การจับฉากริมแม่น้ำมาวาด เท่ากับจับเอาภาพวิถีชาวบ้านสมัยก่อนมาเผยให้เห็นได้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แหล่งน้ำเป็นแหล่งอาหาร การใช้น้ำอุปโภคบริโภค ใช้น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม และภาพที่ไม่อาจมองผ่านไปได้เลยก็คือ ภาพชาวจีนพายเรือ ในเรือมีขวดขนาดใหญ่วางอยู่เบื้องหน้า ๒-๓ ใบ น่าจะเป็นเรือขายของนั่นเอง แต่จะขายอะไรนั้นไม่กล้าคาดเดา สิ่งที่เห็นกันแน่ ๆ ชัด ๆ ก็คือ บอกได้ว่าคนจีนเข้ามาทำมาค้าขายในเมืองอุบลฯ อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยที่สร้างหอพระพุทธบาทนั่นแล้ว
หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ในแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๓ เราทราบกันดีว่า พระองค์ทรงปรีชาสามารถด้านการค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค้าขายกับจีน การเดินทางค้าขายระหว่างสยามกับจีนทำให้ชาวจีนรู้จักประเทศสยาม รู้จักความอุดมสมบูรณ์ของสยาม และทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางเข้ามาตั้งรกรากในสยาม รวมทั้งเมืองอุบลด้วย
ชีวิตผู้คนในอดีต สมัยก่อนกล้องถ่ายภาพยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นถ้าเราอยากรู้เรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพชน ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
.
คอลัมน์ อีศานโจ้โก้ เรื่อง : สัจภูมิ ละออ ภาพ : พยงค์ มูลวาปี
นิตยสาร “ทางอีศาน” ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220