จีนาภิวัตน์กับอาเซียน ๒ ทุนจีนรุกไทย (จบ)
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: รายงาน “ทางอีศาน”
Column: Report : “Esan Way”
ผู้เขียน: ทองแถม นาถจำนง เรียบเรียง
ภาพจาก: http://stocksonwallstreet.net/
การค้าไทย-จีน
จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้เปรียบดุลการค้ากับทุกประเทศ สำหรับไทยเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนได้กำหนดนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ GREAT WESTERN DEVELOPMENT STRATEGY เป็นนโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกคือ มณฑลยูนนาน และกวางสี (แต่ไทยถือว่าอยู่ในภาคใต้ของจีน) จีนได้ให้ความสำคัญในการใช้เป็นฐานรุกเข้ามาในตลาดไทยและอาเซียน โดยจีนมีนโยบายว่าภายใน ค.ศ. ๒๐๒๐ จะทำให้อาเซียน เป็นตลาดเดียวกับจีน โดยใช้ข้อตกลง FTA จีน-อาเซียนซึ่งภาษีเป็นอัตราศูนย์ โดยจะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นตลาดภายในของจีน (DOMESTIC MARKET) สำหรับสินค้าขาออกผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน ซึ่งเป็นการขนส่งผ่านแม่น้ำโขง เป็นสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่น ลำไยแห้ง น้ำมันพืชและผลไม้สด เป็นต้น สำหรับสินค้าขาเข้าเป็นพืชจากจีน เช่น ผัก ผลไม้ และกระเทียมเป็นต้น
เส้นทางขนส่ง ไทย-จีน
๑. เส้นทาง R3W ผ่านด่านศุลกากรแม่สายจังหวัดเชียงราย ต้องผ่านเข้าประเทศพม่าที่เมืองท่าขี้เหล็ก และผ่านถึงเมืองจิ่งหง หรือเชียงรุ่งในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา
๒. เส้นทาง R3E ผ่านด่านศุลกากรเชียงของจังหวัดเชียงราย ต้องผ่านเข้าประเทศลาวที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาว และผ่านเข้าจีนต่อไป
๓. เส้นทางขนส่งทางแม่น้ำโขงผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน แม่น้ำโขงในภาษาไตลื้อเรียกว่า “แม่น้ำล้านช้าง” และคนจีนเรียกว่า “หลางชานเจียง” มีความยาว ๔,๙๐๙ ก.ม. ภายใต้ข้อตกลงการพัฒนาแม่น้ำโขงของ GMS ประเทศจีนได้พัฒนาและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขงสำหรับท่าเรือหลักของจีน คือ ท่าเรือกวนเล่ย ที่เมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ่ง ที่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ตลอดทั้งปี มายังท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
๔. เส้นทางขนส่งผ่านเวียดนาม เป็นการขนส่งทางถนน โดยผ่านด่านศุลกากรหนองคายหรือด่านศุลกากรบึงกาฬ ผ่านเข้าประเทศลาว ใช้เส้นทางหมายเลข ๑๓ และหมายเลข ๘ เข้าประเทศเวียดนาม ผ่านกรุงฮานอยถึงชายแดนจีนที่ด่านโยวยีกวน หรือด่านมิตรภาพของจีน โดยสามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับเมืองนานหนิง มณฑลกวางสีของจีน
สรุปเนื้อหาหนังสือ “ทุนจีนรุกอาเซียน”
ดร.อักษรศรี (อติสุธาโภชน์) พานิชสาส์น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการขยายตัวของ “ทุนจีน” ในอาเซียนไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือเรื่อง “ทุนจีนรุกอาเซียน” สรุปย่อแก่นเนื้อหาได้ดังนี้
“รายงานของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าในปี ๒๐๑๐ การลงทุนของจีน (Outward FDI) ในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าถึง ๒,๕๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่าจากปี ๒๐๐๓ ซึ่งมีมูลค่าเพียง ๒๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ไม่รวมการลงทุนด้านการเงิน) อาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนยอดนิยมของจีนเป็นอันดับ ๓ รองจากฮ่องกง และออสเตรเลีย และปัจจุบันจีนเป็นผู้ลงทุนเป็นอันดับหนึ่งในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เป็นผู้ลงทุนอันดับ ๔ ในประเทศไทย ในขณะที่อาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับ ๔ ของจีนในปัจจุบัน รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ปัจจัยที่สนับสนุนให้การลงทุนของจีนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่
๑. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ ๑๑ ของจีน (ปี ๒๐๐๖-๒๐๑๐) หันมาส่งเสริมและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เดินออกไป” (走出去) เช่น การเพิ่มความคล่องตัวในการอนุมัติโครงการลงทุนในต่างประเทศ การตั้งหน่วยประสานงานโดยเฉพาะการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว และมาตรการที่น่าสนใจอีกมาตรการคือ ส่งเสริมการออกไปลงทุนตั้ง “นิคมเศรษฐกิจการค้า” ของทุนจีนในต่างประเทศ เพื่อให้ทุนจีนได้รวมตัวกันในต่างประเทศในลักษณะ “คลัสเตอร์จีน” เช่น นิคมของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอมตะจังหวัดระยองของไทย
๒. ความต้องการหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันสินค้าจีน
๓. รัฐบาลมีความเข้มงวดกับโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และความเข้มข้นของมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น
๔. ค่าจ้างแรงงานในจีนที่สูงขึ้น และภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ของจีนต้องให้สวัสดิการที่ดีต่อลูกจ้างจีนมากขึ้น เป็นต้น
ปัจจัยที่สนับสนุนให้การลงทุนของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้น
๑. ความตกลงการค้าเสรี CAFTA (China-ASEAN FTA) มีผลอย่างเต็มที่เมื่อต้นปี ๒๐๑๐ ครอบคลุมสินค้าส่วนใหญ่ที่มีการค้าขายระหว่างจีน-อาเซียนกว่าร้อยละ ๙๒ จึงเป็นโอกาสทองของเอกชนจีน
๒. ภาษีนำเข้าที่ลดลงภายใต้ความตกลง CAFTA ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่ลดลง
๓. ผู้ประกอบการจีนสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี FTA ที่อาเซียนลงนามกับประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น
๔. ความตกลง CAFTA เป็นปัจจัยเอื้อสำหรับผู้ประกอบการจีนในการลงทุน FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ)
๕. สาขาบริการที่เอกชนจีนมีความสามารถโดดเด่น เช่น กิจการรับเหมาก่อสร้าง จะเข้าไปเจาะธุรกิจดังกล่าวในอาเซียนได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ “รุกลงใต้ของจีน”
จีนเริ่ม “รุกลงใต้” อย่างจริงจังตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ โดยเริ่มทำความตกลง CAFTA กับอาเซียน และมีผลบังคับให้ลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเหลือร้อยละ ๐ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๐๑๐ ยกเว้นประเทศซึ่งเข้าอาเซียนใหม่คือ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม จะมีผลบังคับในปี ๒๐๑๕
ผู้นำจีนออกเดินสายเยือนประเทศในอาเซียนเป็นประจำเพื่อเบิกทางให้กองทัพนักลงทุนจีน โดยเฉพาะมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศในอาเซียนที่มีมูลค่าการค้ากับจีนมากที่สุด อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรจำนวนมากและขนาด GDP ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนอกจากนี้จีนยังผลักดันกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) หรือ Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation (PBG) ในปี ๒๐๐๗ โดยมี ๓ มณฑลสำคัญทางใต้ของจีนเข้าร่วมกลุ่ม ได้แก่ กวางตุ้ง กวางสี และไหหลำ โดยจีนประกาศให้มณฑลกวางสีเป็นประตูสู่อาเซียน มีการจัดงานแสดงสินค้า China ASEAN Expo เป็นประจำทุกปี แผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ ๑๒ ยังตั้งเป้าอัดฉีดงบประมาณ ๒.๖ ล้านล้านหยวนเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ปัจจุบันอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมณฑลกวางสี
ทุนจีนรุกอาเซียนด้วย High Speed Train และโครงข่ายคมนาคม
จีนได้ดำเนินการวางโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งสู่อาเซียนในกลุ่มประเทศอินโดจีนซึ่งมีความก้าวหน้าที่สำคัญดังนี้
๑. ท่าเรือของจีน โดยจีน เพื่อจีน ในแผ่นดินพม่า
๑.๑ การสร้างท่าเรือน้ำลึกและคลังเก็บน้ำมันดิบที่เกาะ Made เมืองเจียวเพียว ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี ๒๐๑๒
๑.๒ การก่อสร้างท่อส่งน้ำมันดิบที่จะลำลียงน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ด้วยความยาวท่อ ๘๐๐ กิโลเมตรจากเมืองเจียวเพียวไปสิ้นสุดที่มณฑลยูนนาน คาดว่าจะสามารถขนส่งน้ำมันได้ถึง ๒๒ ล้านตันต่อปี
๑.๓ การก่อสร้างท่อก๊าชธรรมชาติคู่ขนานไปกับท่อน้ำมันดิบ คาดว่าจะสามารถขนส่งก๊าชธรรมชาติได้ถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
๒. รถไฟความเร็วสูง (๑๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จากมณฑลยูนนานของจีนมุ่งสู่ทางออกมหาสมุทรอินเดียที่เมืองเจียวเพียว ประเทศพม่าด้วยเงินลงทุน ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯระยะทางประมาณ ๙๙๗ กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ
๓. รถไฟความเร็วสูง (๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จากเมืองบ่อหานของจีน-เวียงจันทร์-ด่าน Mu Gia ชายแดนลาว-เวียดนาม ระยะทางประมาณ ๔๒๑ กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้รัฐบาลใหม่ของลาวยังลังเลในการดำเนินการตามความร่วมมือกับจีน ด้วยประเด็นของเงื่อนไขการขอสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการ ๒ ข้างทางรถไฟข้างละ ๕ กิโลเมตร และเงื่อนไขให้มีคนงานจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างรางรถไฟเข้ามาในลาวเพื่อก่อสร้างเป็นราย “ครอบครัว” (สมมุติครอบครัวละ ๑๐ คน ๕๐,๐๐๐ ครอบครัว ก็เท่ากับ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรลาว)
๔. รถไฟ (ความเร็วธรรมดา) จากมณฑลกวางสี-ฮานอย ระยะทางประมาณ ๓๙๖ กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ใช้การได้จริงแล้ว
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีความสะดวกยิ่งขึ้นในการคมนาคมกับประเทศจีน โดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๓ จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศจีนที่ใกล้ที่สุดในปัจจุบัน จากชายแดนจังหวัดนครพนม ผ่านเส้นทางคมนาคมR12 ของลาวถึงชายแดนจีนที่ด่าน “ผิงเสียง” ระยะทางประมาณ ๘๓๑ กิโลเมตร นอกจากนี้เส้นทางนี้ยังเป็นจุดเชื่อมโยงภาคอีสานของไทยไปออกสู่ทะเลด้วยระยะทางที่ใกล้ที่สุดเพียง ๒๗๐ กิโลเมตร ผ่านลาวและเวียดนาม ที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอาง (VungAng)
เศรษฐกิจมณฑลจีน
จีนแบ่งการปกครองอย่างเป็นทางการออกเป็น ๒๒ มณฑล (ไม่รวมไต้หวัน) กับอีก ๔ มหานครและ ๕ เขตปกครองตนเอง ผู้เขียนได้พยายามนำประเด็นสำคัญ ๆ ของมณฑล มหานครและเขตปกครองพิเศษของจีนที่น่าสนใจมาเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจประเทศจีนมากขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง เป็นเขตปกครองตนเองที่มีระบบการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” คือฮ่องกงสามารถมีอิสระในการบริหารงานด้วยตนเองทั้งด้านระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ การเงินแบบทุนนิยม ระบบกฎหมาย และอำนาจศาลยุติธรรม ยกเว้นใน ๒ เรื่องสำคัญที่จีนแผ่นดินแม่จะดูแลให้คือ การทหารและการต่างประเทศ ความมีอิสระที่สำคัญอีกอย่างคือ ฮ่องกงไม่ต้องส่งรายได้ภาษีใด ๆ ให้แผ่นดินแม่ ปัจจุบันฮ่องกงประสบความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชั่นจนเป็นดินแดนที่ปลอดคอร์รัปชั่นอันดับต้น ๆ ของโลก
ไต้หวัน ปัจจุบันยังมีความขัดแย้งทางการเมืองกับจีน โดยจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ในขณะที่ไต้หวันยืนกรานว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีชื่อว่า “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China) ไม่ใช่เมืองขึ้นของจีน เศรษฐกิจไต้หวันมีขนาด GDP ใหญ่ติดอันดับ ๒๖ ของโลก ด้วยประชากรประมาณ ๒๓ ล้านคน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีอุตสาหกรรมโดดเด่นที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ โดยมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น ACER เป็นต้น ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๑๓ ของไต้หวัน
จีนตะวันตก เป็นดินแดน “Landlocked” คือดินแดนที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล มี ๑๒ มณฑล รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายพัฒนาภาคตะวันตก 西部 大 开 放 ตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ เช่นการทุ่มงบประมาณสร้างเขื่อนยักษ์ “สามโตรก” (Three Gorges Dam) การพัฒนาเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำแยงซีเกียงหรือฉางเจียง ส่งผลให้ท่าเรือชุ่นทาน ท่าเรือที่สำคัญของจีนตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตรมีความคับคั่งของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในปริมาณที่พอ ๆ กับท่าเรือคลองเตยของไทย และฉุด GDP มณฑลฝั่งตะวันตกเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ ๑๐ มาโดยตลอด
จีนผงาด
นับตั้งแต่ปี ๑๙๗๙ รัฐบาลจีนได้เริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจ และปรับเปลี่ยนจากระบบวางแผนจากส่วนกลางที่ภาครัฐเข้าไปควบคุมทุกอย่างมาเป็น ระบบที่ค่อย ๆ ผ่อนคลายนำกลไกตลาดมาใช้และเน้นการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) พร้อมกระตุ้นให้มีการแข่งขัน (Competition) มากขึ้นโดยเริ่มทดลองในบางพื้นที่ก่อน แล้วค่อยขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยระยะเวลาเพียง ๓๐ กว่าปีปัจจุบันเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก จึงเป็นที่สนใจของสังคมโลกในการศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่เรียกว่า “จีนโมเดล” (China Model) ประเด็นสำคัญคือจีนไม่เลือกใช้สูตรสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดตามแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกที่เรียกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus)หากแตจีนกลับเลือกที่จะกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ตามแนวทางของตนเอง จนมีผู้เรียกว่า “ฉันทามติปักกิ่ง” (Beijing Consensus) ซึ่งนักวิชาการชื่อ โจชัว คูเปอร์ราโม (Joshua Cooper Ramo) เป็น คนแรกที่เริ่มใช้คำศัพท์นี้ในปี ๒๐๐๔
นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้หยิบยกกรณี “เศรษฐกิจหมาน้อย” (小 狗 经济) ซึ่งสามารถนำแผงลอยจีนสู่บริษัทข้ามชาติได้อย่างน่าทึ่งมาให้ศึกษา เป็นศัพท์ที่ศาสตราจารย์ Zhong Peng Rong นักเศรษฐศาสตร์ของจีนกำหนดขึ้น เป็นคำอธิบายพัฒนาการและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า เฉพาะด้านของแต่ละเมือง/แต่ละท้องถิ่นในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นมณฑลต้นกำเนิดธุรกิจเอกชน เนื่องจากที่นี่ได้กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าเฉพาะด้านในระดับประเทศของจีนได้อย่างน่าทึ่งด้วยหลักการ “แบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน” พร้อม ๆ กับการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น เหมือนกับการแบ่ง หน้า ที่กันทำในขณะล่าเนื้อของหมาสายพันธุ์ “ไฮยีนา” แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมการทำธุรกิจของคนจีนคือความขยัน บากบั่น มัธยัสถ์ ประหยัด จิตใจแน่วแน่ทรหดอดทน
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์จีนยังมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศของจีนมีมากขึ้นด้วย การกระจุกตัวของ GDP ซึ่งมากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็น GDP ของ ๕ มณฑลขนาดใหญ่เป็นหลักคือ กวางตุ้ง เจียงซู ซานตง เจ้อเจียงและเหอหนาน รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปียังอยู่ในระดับต่ำ (อยู่ในอันดับ ๙๐ ของโลก) การเติบโตของจีนในปัจจุบันเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
จากสภาพปัญหาข้างต้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (๒๐๑๑-๒๐๑๕) จึงมุ่งแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ดังกล่าว ด้วยมาตรการที่สำคัญดังนี้
๑. หันมาเน้น “เศรษฐกิจภายในประเทศ” ของจีนเอง จากเดิมที่พึ่งพาการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ
๒. มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและมุ่ง Going Green เพื่อให้เป็น “จีนเขียวจีนสะอาด”
๓. มุ่งเน้นการพัฒนา “ภาคบริการ” ให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ภาคการค้าการบริการของจีนมีมูลค่าติดอันดับ ๑ ใน ๓ ของโลกภายใน ๕ ปี
๔. มุ่งพัฒนา “เศรษฐกิจทะเลมหาสมุทร” หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า 海 洋 经济 โดยขณะนี้จีนอ้างว่ามีอาณาบริเวณนอกชายฝั่งทะเลมากถึง ๓ ล้านตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลราว ๓๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร อีกทั้งทรัพยากรใต้ทะเลมหาศาล ซึ่งนโยบายนี้อาจมีนัยซ่อนเร้นด้านความมั่นคงของจีนด้วย โดยเฉพาะทะเลจีนใต้ซึ่งยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบัน
จีนาภิวัฒน์… ไทยรู้อะไร… ยังต้องรู้อะไร ?
ผู้เขียน (ดร.อักษรศรี (อติสุธาโภชน์) พานิชสาส์น) ได้ศึกษารวบรวมและทบทวนเอกสารผลงานวิชาการภาษาไทยเกี่ยวกับจีนศึกษาด้านเศรษฐกิจ ทั้งในรูปแบบหนังสือที่มีการตีพิมพ์ ๑๑๐ เล่ม วิทยานิพนธ์ ๖๕ ชิ้น งานวิจัย ๗๑ ชิ้น และบทความวิชาการอีกประมาณ ๒๐๐ ชิ้น พบว่าส่วนใหญ่เน้นเรื่องเศรษฐกิจจีนในภาพรวม และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีนในภาพกว้างส่วนงานวิเคราะห์เชิงลึกด้านอื่น ๆ มีน้อยมาก
ดังนั้นไทยจึงควรศึกษาเศรษฐกิจจีนในเชิงลึกมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับกระแสจีนาภิวัตน์ได้แก่ สาขาการเงินการธนาคาร การประกันภัยการค้าบริการ การขนส่งโลจิสติกส์ พลังงาน รวมทั้งกฎหมาย/กฎระเบียบด้านเศรษฐกิจ เช่นระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในจีน เป็นต้น
ปัญหาสำคัญคือ นักวิจัยหรือนักวิชาการด้านเศรษฐกิจจีนของไทยยังมีไม่มากพอ รวมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรเศรษฐกิจจีนโดยตรงก็ยังมีน้อยมาก
จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รวบรวมมานี้ คงช่วยให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรวมกว้าง ๆ และตื่นตัวเตรียมรับผลกระทบจากบทบาททางเศรษฐกิจของจีนที่จะมีต่ออาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้