นักบิน
ทางอีศาน ฉบับที่๙ ปีที่๑ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: บ้านเมืองเรื่องของเรา
Column: Esan natives in Yala
เรื่องและภาพ: สฤษดิ์ ผาอาจ

มีฝันให้ก้าวเดินไปตามฝัน
ฝ่าฟันดั้นด้นให้คนเห็น
สุดท้ายปลายฝันนั้นชัดเจน
ขีดเส้นด้วยใจแกร่งแรงศรัทธา
หวังดาวคว้าดาวด้วยใจเด็ด
แม้เหน็ดเหนื่อยมิหน่ายในค้นหา
แน่นหนักเหนือขุนเขาพสุธา
สุดขอบฟ้าฤๅ กั้นหากมั่นคง

ผมเขียนบทกวีนี้ให้เขา หลังจากแวะเวียนไปนั่งพูดคุยกันสามสี่ครั้ง หมดกาแฟไปหลายแก้วเบียร์อีกหลายขวด ครั้งล่าสุด ในวันที่เวิ้งฟ้าเป็นสีฟ้าสลับขาว เขาพาผมบินไต่ตีนเมฆชมเมืองยะลา

วันที่ผมได้รู้จักเขาคนนี้ เพื่อนที่เป็นนายตำรวจคนหนองบัวลำภูโทรหาผมตั้งแต่ตะวันยังไม่พ้นเหลี่ยมเขาว่า ให้เข้ามาในโรงเรียนตำรวจภูธร ๙ หน่อย จะแนะนำเพื่อนให้รู้จัก แดดร่มลมตกวันนั้นผมจึงขับรถออกจากที่ทำงานผ่านวงเวียนศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่ล้อมรอบด้วยศาลจังหวัดยะลาสถานีตำรวจ ศาลากลาง ผ่านสำนักงานป่าไม้จังหวัดไปตามถนนพิพิธภักดี แล้วตบไฟเลี้ยวซ้ายเข้าไปในโรงเรียนตำรวจภูธร ๙

ณ โรงเรียนตำรวจภูธรแห่งนี้ ผลิตนักเรียนพลตำรวจออกไปรับใช้ประชาชนทั่วประเทศมาสี่สิบกว่าปีแล้ว ปัจจุบัน ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ศูนย์ซักถามผู้ก่อความไม่สงบที่ถูกทางการจับได้ และเป็นที่พักของเหล่านักรบหน่วยต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาประจำการอยู่มิได้ขาด บางครั้งเดินขวักไขว่สวนกันไปมา เผลอเหยียบเท้ากันเข้าจะได้ยินเสียงอุทาน “เอ่อะ !” หรือไม่ก็ “ฮ่วย !” เพราะเหล่านักรบที่ว่ามีคนอีสานบ้านเฮาอยู่เป็นจำนวนมาก

ที่โรงเรียนตำรวจภูธรแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยบินตำรวจ จังหวัดยะลา สถานที่นัดพบกันในค่ำวันนั้น และเพื่อน ๆ ที่นั่งรออยู่ก่อนแล้วมีทั้งที่เป็นตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวร หัวหินประจวบคีรีขันธ์ ช่างเครื่องของหน่วยบิน และนายตำรวจคนหนองบัวลำภูที่อยู่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษสั้น ๆ ว่าหน่วยอีโอดี (EOD: Explosive Ordnance Disposal)

พวกเขาเคร่งเครียดจากภารกิจ และแต่ละคนจากบ้านต่างเมืองมาไกล บางคนมีลูกอ่อน บางนายเมียยังสาว บักหำน้อยบางคนเป็นลูกคนสุดท้อง เมื่อได้มานั่งดื่มกิน พูดจาภาษาเดียวกันทำให้ผ่อนคลายความเครียดและคลายความคิดฮอดคิดถึงบ้านลงได้บ้าง และมีบ่อยครั้งที่อารมณ์รื่นเริงถึงขีดสุดแล้วคว้ากีตาร์มาคลอเพลง โอ่ลำดีดพิณ เป่าแคน ซึ่งนักรบลูกอีสานบ้านเฮาเหล่านี้ต่างมีความสามารถในทางศิลปินอยู่อย่างหลากหลาย เหมือนที่คุยกันติดปากว่า “ซุมเฮาอยู่หม่องใด๋ม่วนหม่องนั้น”

ในค่ำวันนั้น พวกเราสี่ห้าคนนั่งอยู่ในบริเวณที่พักของหน่วยบินตำรวจ จังหวัดยะลา “เขา” คนที่ผมจะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักเดินเข้ามาสมทบในภายหลัง เขาเป็นหนุ่มใหญ่ ร่างสูงบึกบึนเกินเกณฑ์มาตรฐานชายไทย ผิวคล้ำ หน้าตาคมเข้มเหมือนคนใต้โดยทั่วไป พูดจาเสียงดังฟังชัดหันไปหาลูกน้องที่เป็นช่างเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่เป็นคนใต้ก็แหลงใต้ “ชับเปรี๊ยะ” (ชัดเจน) หันมาหาช่างเครื่องที่เป็นบักหำน้อยคนอุบลราชธานีก็เว้าลาว “จ้อย ๆ ”

ยิ่งได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับเขาในหลายเรื่องในบางเวลา ผมยิ่งรู้สึกว่าเขาคนนี้ไม่ธรรมดา เขาเป็นนักอ่านตัวยง ไม่ใช่อ่านแบบผ่าน ๆ แต่อ่านซ้ำหลาย ๆ รอบ และอ่านแล้ว “เคี้ยว” เขามีความจำเป็นเลิศ สามารถยกตัวอย่างตัวบทในหนังสือมาแสดงประกอบทัศนะได้อย่างไม่ติดขัด และหนังสือที่เขาประทับใจที่สุดคือหนังสือแนวการเมือง ที่นักรัฐศาสตร์ไทยพูดถึงมากที่สุดเล่มหนึ่ง และ “อ่านยาก” เล่มหนึ่ง นั่นคือหนังสือที่เขียนโดย นิโคไล มาคิอาเวลลี ชื่อ “The Prince เจ้าผู้ปกครอง” แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์

เขาเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสุไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ด้วยความฝันที่อยากจะเป็นทหารจึงสมัครสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร. และผ่านรอบแรก แต่ในรอบสามร้อยคนสุดท้ายเขาไม่ผ่าน เขาผิดหวัง แต่ไม่ย่อท้อ เขาตั้งปณิธานไว้ในใจว่าหากสอบเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนายร้อยทหารหรือตำรวจเขาจะไม่กลับบ้าน และในปีนั้นเองที่เขาใช้ความมุมานะพยายามอย่างเต็มที่ เขาอ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำ

“นั่งอ่านหนังสืออย่างเดียว ไม่ลุกเข้าห้องน้ำไม่ออกไปไหนถึงเจ็ดชั่วโมงติดต่อกัน ผมเคยทำมาแล้ว”

เขาเปลี่ยนมาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจและได้เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจสมใจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ และในปี พ.ศ.๒๕๓๔ กรมตำรวจ (ในสมัยนั้น) มีการสมัครสอบคัดเลือกเพื่อนำว่าที่นายร้อยตำรวจตรีหมาด ๆ จำนวน ๕ คน ไปฝึกอบรมเป็นนักเรียนการบินที่ศูนย์ฝึกการบิน สถาบันการบินพลเรือน (สนามบินบ่อฝ้าย) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเขาเป็นหนึ่งในห้าที่สอบผ่านได้ไปเป็นนักเรียนการบิน โดยใช้เวลาฝึกอบรมอยู่หนึ่งปี

ชีวิตราชการนายตำรวจนักบินปีกหมุนของกรมตำรวจนาม “อำนาจ บุญเหลือง” ในช่วงแรก ๆ นั้นวนเวียนอยู่ทางปักษ์ใต้เป็นส่วนใหญ่ เขาเคยอยู่หน่วยบินในจังหวัดสงขลา ในอำเภอทุ่งสงจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดยะลา หลังจากนั้นก็วกกลับไปประจำการที่กรุงเทพฯ และมีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะเพื่อเค้นเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาทำประโยชน์อย่างเต็มที่อีกครั้ง เขาต้องสอบแข่งขันกับคนอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อไปประจำอยู่กับกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก ในช่วงที่แยกตัวจากอินโดนีเซียเป็นรัฐเอกราชใหม่ ๆ

“ผมเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ผมท่องศัพท์ ฟังซีดี” เขาเล่าถึงความหลังเมื่อครั้งเตรียมตัวสอบแข่งขันเขามีความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ มาตั้งแต่อายุขวบกว่า ๆ และเขาบอกว่าเขาเป็นผู้ที่มีสมาธิดีคนหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สามารถสอบผ่าน ได้ไปติมอร์ตะวันออกสมใจ และเมื่ออยู่ที่นั่นเขาได้ไปเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติมอีกสองภาษา นั่นคือภาษาเตตุ้ม (Tatum Language) และภาษามลายูกลาง โดยเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยการหาซื้อหนังสือพจนานุกรมมาอ่าน ซื้อแผ่นซีดีมาฟัง และฝึกฝนจากประสบการณ์จริงด้วยการสื่อสารกับคนพื้นเมือง เขาเรียนรู้พร้อมกันทีเดียวสามภาษา นั่นคือต้องเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษด้วย

เขาใช้เวลาสามเดือนทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน จนสามารถสื่อสารภาษาท้องถิ่นกับชาวพื้นเมืองได้อย่างคล่องแคล่ว

“หากเฮามุ่งมั่น เอาจริงเอาจังกับมันอีหลี บ่ว่าเรื่องอิหยัง มันบ่เกินขีดความสามารถเฮาดอกแม่นบ่อาจารย์” เขาเว้าลาวกับผม

พ่อเขาเป็นคนศรีสะเกษแม่เป็นคนนครศรีธรรมราช แต่ย้ายครอบครัวมาอยู่นราธิวาสตั้งแต่เขายังไม่เกิด เขาบอกว่าได้เว้าลาวจริง ๆ จัง ๆ ก็คือตอนเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะมีเพื่อนรุ่นเดียวกันคือรุ่นที่ ๔๔ เป็นคนอีสานบ้านเฮาอยู่หลายคน

เขาวกกลับมาประจำการที่กองบินตำรวจจังหวัดยะลาในคราวนี้ได้หนึ่งปีแล้ว และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของที่นี่ ยศของเขาในขณะนี้คือพันตำรวจเอก (พ.ต.อ.) ตำแหน่ง นักบิน (สบ ๕) นับว่าเขาเติบโตในอาชีพราชการได้อย่างรวดเร็วกว่าใครหลาย ๆ คน สำหรับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งรวมกันแล้วประมาณแปดหมื่นกว่าบาท

“เงินประจำตำแหน่งนักบินนี้เขาให้เยอะอยู่เพราะมันเป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจที่พยายามรักษากำลังคนไว้ในระบบ ไม่ให้ไหลไปอยู่เอกชน” เขาบอก

อีกประมาณสิบห้าปีข้างหน้าเขาจะเกษียณอายุราชการ ผมว่าคนที่มากความสามารถอย่างเขาคนนี้คงเป็นอีกหนึ่งนายพลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผมคิดในใจว่าจะต้องหาโอกาสสักวันเพื่อเชิญเขาไปเป็นวิทยากรให้ความรู้และแรงบันดาลใจกับนักศึกษาของผม ผมประทับใจในความมุ่งมั่น ขยัน อดทน และความสำเร็จของเขา

วันที่ผมได้มีโอกาสนั่งเฮลิคอปเตอร์ครั้งแรกของชีวิตก็มาถึง ผมอยากหาภาพมุมสูงของเมืองยะลามาฝากท่านผู้อ่าน “ทางอีศาน” ครับ จึงลองเปรยกับเขาดูว่าหากมีภารกิจบินในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ผมขอโดยสารไปด้วยคนจะได้ไหม เขาไม่ปฏิเสธ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะให้ผมขึ้นลำไหนเพราะ ฮ. ของที่นี่มีอยู่สามลำ แต่ละลำจะมีภารกิจประจำ ทั้งการสนับสนุนภารกิจการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งเป็นเครื่องสำหรับให้นักบินใหม่ได้ฝึกบิน และสแตนด์บายไว้หากได้รับการประสานขอสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น

ช่วงบ่ายวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผมเตรียมกล้องถ่ายรูปพร้อมสมุดบันทึกลงย่าม แล้วขับรถเข้าไปในโรงเรียนตำรวจภูธรเก้า วนไปจอดไว้ข้าง ๆ โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยบินตำรวจพบกับนายดาบตำรวจชื่อแดงผู้เป็นช่างเครื่อง วันนี้น้องเขาไม่ได้ขึ้นบินไปกับ ฮ. ลำไหน

“คอยจักครึ่งชั่วโมงเด้ออ้าย ท่านอำนาจเพิ่นพาท่านเลขาฯ ไปนราธิวาส” น้องแดงรีบบอกผม “คอยขึ้นกับเครื่องเพิ่นนั่นล่ะ”

วันนี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปรดน้ำศพนาวิกโยธินที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ท่านเลขาฯมีภารกิจในสามจังหวัดเช่นนี้บ่อย ๆ และ พ.ต.อ. อำนาจก็เป็นกัปตันให้กับท่านอยู่เสมอ

ราวบ่ายสองโมง เสียงเครื่องยนต์และใบพัดเฮลิคอปเตอร์ลำที่ผมจะได้ขึ้นนั่งก็ตวัดฉีกอากาศมาแต่ไกล วันนี้แดดจ้า ท้องฟ้าค่อนข้างเตียนเมฆเฮลิคอปเตอร์ลำสีขาวคาดน้ำตาลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติค่อย ๆ ร่อนลง และเมื่อสกีแตะพื้นไม่กี่นาที ท่านเลขาธิการ ศอ.บต. ก็ก้าวออกจากเครื่อง ผมเก็บภาพนั้นไว้ และเมื่อท่านขึ้นรถที่จอดรออยู่และเคลื่อนออกไปแล้ว น้องแดงก็ให้สัญญาณผมวิ่งก้มหัวไปขึ้นเครื่อง

เมื่อผมนั่งเก้าอี้ด้านหลังนักบินเรียบร้อยแล้วกัปตันอำนาจชี้ให้สัญญาณผมครอบหูฟังเพื่อสื่อสารกันด้วยวิทยุที่อยู่ในตัวเครื่อง

“อาจารย์ได้ยินเสียงผมบ่” เป็นประโยคแรกที่เขาทักทาย ผมตอบว่าได้ยินครับ พลางขยับหูฟังและไมโครโฟนเก้ ๆ กัง ๆ “ถ่ายเก็บไว้หลาย ๆ โลดเด้อ ค่อยเลือกเอาทีหลัง”

เสียงเครื่องยนต์เริ่มดังแรงขึ้น กัปตันอำนาจค่อย ๆ ยกคันบังคับดึงเครื่องขึ้นจากพื้น ผมเริ่มกดชัตเตอร์สลับกับก้มมองทัศนียภาพเบื้องล่าง เขาพาผมบินผ่าน ศอ.บต. ที่อยู่คนละฟากถนนกับหน่วยบิน ผ่านสถานีทดลองยาง ยะลา แล้วอ้อมไปทางทิศตะวันตกผ่านสวนสาธารณะพรุบาโกย บินเลียบแม่น้ำปัตตานีที่คดเคี้ยวรอบเมืองยะลาทางด้านทิศเหนือ อ้อมไปทางทิศตะวันออกผ่านตลาดเก่าที่พี่น้องมุสลิมตั้งชุมชนอยู่หนาแน่น และอ้อมกลับมายังโรงเรียนตำรวจภูธรเก้า แล้วกัปตันอำนาจค่อย ๆ บังคับเฮลิคอปเตอร์น้ำหนักเกือบสองตันลำนั้นให้ร่อนลงแตะพื้นอย่างนุ่มนวลอีกครั้ง

และเมื่อพวกเราออกจากตัวเครื่องเรียบร้อยแล้วเขาก็บอกผมว่า

“ไปครับอาจารย์ ไปกินข้าวนำกันก่อน ผมสั่งให้เด็กน้อยซื้ออาหารอีสานบ้านเฮาไว้คอยแล้ว”.

Related Posts

ปัญญา จารีต ศีลธรรม
ผญา: คองคอย
สี่ตำนานครูเพลงอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com