ชมปราสาทหินพิมาย เสพกลิ่นอายวัชรยาน
“ก็เสร็จข้าม แม่นํ้า ลำสะแทก
เป็นลำแยก จากมูล ศูนย์กระแส
สิ้นเขตแดน พิมายเมือง ชำเลืองแล
เข้าแขวงแคว เมืองลาว ชาวอรัญ”
ความใน “นิราศหนองคาย” ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ระบุว่าเมื่อพ้นเขตเมืองพิมายออกไปถึงลำสะแทกนั้นเป็นเขตเมืองลาว พิมายจึงเป็นหน้าด่านสำคัญสู่แผ่นดินอีสานซึ่งเคยถูกผนวกเป็นดินแดนลาวล้านช้างมาช้านาน กอปรกับได้เห็นปราสาทข้าวหลังใหญ่ในงาน “จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ ๒๕๕๘” ที่นำเอารูปแบบปราสาทหินพิมายมาเป็นโครงสร้างในการสร้างปราสาทข้าวขนาดใหญ่ ในกาลนี้จึงใคร่นำท่านผู้อ่านเปิดผ้าม่านกั้งเรื่องราวของปราสาทหินพิมาย โบราณสถานอันเป็นร่องรอยความรุ่งเรือง ณ จุดรอยต่อก่อนเข้าสู่ถิ่นอีสานอันเป็นเมืองลาวชาวอรัญ
ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทหินในอารยธรรมขอมโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ อำ เภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในกาลนี้ผู้เขียนขอชวนท่านผู้อ่าน “ชมปราสาทหินพิมาย เสพกลิ่นอายวัชรยาน” โดยสะท้อนสาระสำคัญผ่านเรื่องราว ๕ ประเด็น ได้แก่ เรียนรู้ภูมิประวัติ ปริทรรศน์วิมายะปุระ ตามรอยวัชรยาน แผนผังจักรวาลสู่ความหลุดพ้น และมณฑลพระชินพุทธะ
เรียนรู้ภูมิประวัติ
เมืองพิมายมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ล้อมรอบด้วยลำนํ้าหลายสาย ทิศตะวันตกมีลำนํ้ามูลไหลโอบไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทิศใต้มีลำนํ้าจักราชไหลไปทางทิศตะวันตก และมีสาขาคือลำนํ้าเค็มไหลผ่านท่านางสระผมทางด้านใต้ของเมืองไปบรรจบกับแม่นํ้ามูล บนพิกัดภูมิศาสตร์ระหว่างเส้นรุ้ง ที่ ๑๕ องศา ๑๓ ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๒ องศา ๓๐ ลิปดาตะวันออก จากสภาพชัยภูมิที่ตั้งทำให้เมืองพิมายเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีลำนํ้าสำหรับรองรับการอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงและมีเส้นทางการคมนาคมในการติดต่อกับชุมชนโดยรอบทั้งทางบกและทางนํ้า
จากหลักฐานพัฒนาการชุมชนในเขตลุ่มแม่นํ้ามูลตอนบน พบว่า ที่ต้นลำนํ้ามูลด้านตะวันตก ที่ลำเชิงไกร ลำธารปราสาท และลำจักรราช มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เช่นที่บ้านปราสาทและบ้านหลุมข้าว อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอายุประมาณกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนตั้งแต่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก ยุควัฒนธรรมทวารวดี และยุควัฒนธรรมเขมรที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
บริเวณลุ่มนํ้ามูลตอนบนนี้ เริ่มมีหลักฐานการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งเป็นยุควัฒนธรรมทวารวดี ที่มีพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลัก และปรากฏชื่อของเมืองพิมายในจารึกเขมรตั้งแต่สมัยพระเจ้าอิศานวรมันที่๑ (พ.ศ.๑๑๕๙ – พ.ศ.๑๑๘๐) แห่งอาณาจักรเจนละ กล่าวถึงคำว่า “ภีมะปุระ” และพบในจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน (ราว พ.ศ.๑๑๕๐ – พ.ศ.๑๑๕๙) สะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของเมืองพิมายและการรับวัฒนธรรมเขมรเข้ามาในดินแดนลุ่มแม่นํ้ามูลตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมืองพิมายได้มีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองศูนย์กลางวัฒนธรรมเขมรในลุม่ น้ำมูล เมื่อมีการสถาปนา “ราชวงศม์ หิธรปุระ” ขึ้นในเขตที่ราบสูงโคราช และมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๓) โดยปรากฏชื่อเมืองพิมายในจารึกปราสาทพระขรรค์ ความว่า “จากเมืองหลวงไปยังเมืองวิมาย (มี) ที่พักพร้อมด้วยไฟ ๑๗ แห่ง” และมีประติมากรรมรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ปราสาทหินพิมายอีกด้วย
จากการศึกษาจารึกเกี่ยวกับเมืองพิมายสันนิษฐานว่า เมืองพิมายน่าจะเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๕๓ – พ.ศ.๑๕๙๓)
เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๖๕๖ – หลัง พ.ศ.๑๖๘๘) อาณาจักรขอมเกิดการจลาจล และเกิดสงครามกับอาณาจักรจามปา จนต้องสูญเสียอาณาจักร ต่อมา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้กู้อิสรภาพจากจาม ขึ้นครองราชย์และสร้างเมืองพระนครหลวง มีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางทรงเปลี่ยนคติการนับถือจากลัทธิเทวราชาเป็นพุทธราชา โดยพระองค์เป็นพุทธราชาที่มีฐานะเหมือนพระโพธิสัตว์ที่มีเมตตา แล้วโปรดให้มีการสร้างอโรคยศาลจำนวน ๑๐๒ แห่ง และธรรมศาลาจำนวน ๑๒๑ แห่ง เพื่อแสดงถึงบารมีของพระองค์ตามคติดังกล่าว
การเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ส่งอิทธิพลต่อคติการสร้างศาสนสถานในยุคนั้นด้วย โดยเฉพาะการปรากฏชื่อรูปเคารพ “กมรเตงชคตวิมายะ” ซึ่งหมายถึงพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นประธานของปราสาทหินพิมาย ที่มีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา
จนในที่สุด ปราสาทหินพิมายได้ลดบทบาทความสำคัญลง หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งเป็นยุคที่อาณาจักรขอมเริ่มเสื่อมอิทธิพลทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม
ปริทรรศน์วิมายะปุระ
เมืองพิมาย มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บนพื้นที่ขนาดกว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร ล้อมรอบไปด้วยคูเมืองและกำแพงเมือง มีสระนํ้าสำคัญที่ขุดขึ้น ๕ สระ อยู่นอกกำแพงเมือง ๒ สระคือ “สระเพลง” ด้านทิศตะวันออก และ “สระโบสถ์” ด้านทิศตะวันตก ส่วนภายในกำแพงเมืองมี ๓ สระ คือ “สระแก้ว” “สระขวัญ” และ “สระพลุ่ง” เป็นระบบการชลประทานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับชุมชนขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองพิมายในฐานะที่เป็นที่ตั้ง “ปราสาทประจำราชวงศ์มหิธรปุระ” คติสัญลักษณ์ในการออกแบบปราสาทหินพิมายจึงน่าจะเป็นทั้งสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญของราชวงศ์มหิธรปุระและคติความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย จากแผนผังของปราสาท ทั้งตำแหน่งที่ตั้ง การวางผัง การออกแบบ รวมถึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย
โคปุระชั้นนอก และกำแพงแก้ว ก่อด้วยหินทราย โดยใช้หินทรายสีขาวในส่วนที่ต้องการรับนํ้าหนัก กำแพงแก้วเป็นกำแพงหินทรายสูง ๕ เมตร หนาประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ส่วนบนทำเป็นรูปบัวควํ่า โคปุระมีลักษณะเป็นอาคารรูปกากบาท ช่องประตูอยู่ตรงกับมุขทั้ง ๔ ของห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน มีประตูผ่านเข้าออก ๓ ทาง โดยตรงกลางเป็นทางเข้าหลัก โคปุระด้านทิศใต้เชื่อมต่อกับสะพานนาคราช สลักจากหินทรายเป็นนาค ๗ เศียร มีรัศมีแผ่ติดกัน เป็นศิลปะแบบนครวัด (พ.ศ.๑๖๕๐ – พ.ศ.๑๗๑๕)
บรรณาลัย อยู่ด้านทิศตะวันตกระหว่างโคปุระชั้นในกับชั้นนอก สร้างเป็นอาคาร ๒ หลัง วางตำแหน่งเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยให้ช่องว่างระหว่างบรรณาลัยทั้งสองหลังอยู่ตรงกับตำแหน่งทางเข้าของโคปุระทั้งสองชั้น
โคปุระชั้นใน และระเบียงคด ก่อเป็นอาคารมีหลังคาคลุมยาว ต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปราสาทประธาน ก่อด้วยหินทรายแดง มีโคปุระทั้ง ๔ ด้าน แผนผังของโคปุระชั้นในเป็นอาคารรูปกากบาท มีมุขยื่นออกไปทั้ง ๔ ทิศ โดยมุขข้างยื่นออกไปต่อกับระเบียงคด ส่วนมุขด้านในและด้านนอกทำเป็นซุ้ม ประตูทางเข้าหลัก ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับมุขทั้ง ๔ ด้านของห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน
ปรางค์พรหมทัต ตั้งอยู่หน้ามุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลงสูงประมาณ ๑๖ เมตร ภายในประดิษฐานประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าพรหมทัต อันเป็นที่มาของชื่ออาคารหลังนี้
ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่หน้ามุขด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน สร้างด้วยหินทรายสีแดง สูงประมาณ ๑๕ เมตร ด้านทิศเหนือบนฐานเดียวกันมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในขุดพบศิวลึงค์ขนาดเล็ก จึงเรียกว่าหอพราหมณ์
ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของแผนผังปราสาท เป็นรูปแบบปราสาทศิลปะเขมรแบบบาปวนต่อนครวัด (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗) สร้างด้วยหินทรายสีขาว สูง ๒๘.๕ เมตร ปราสาทประธานตั้งอยู่บนฐานเขียงและฐานบัวที่สลักลวดลาย ส่วนวิมานตั้งอยู่บนฐานบัวอีกชั้นหนึ่งซึ่งมีการสลักลวดลายถึงเรือนธาตุ มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีมุขทั้ง ๔ ด้าน แต่ละมุขมีบันไดและประตูเข้าสู่ห้องครรภคฤหะยกเว้นมุขด้านใต้ที่เชื่อมกับมณฑปซึ่งเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุข ๓ ด้าน มีบันไดและประตูอยู่หน้ามุข ยกเว้นด้านทิศใต้ไม่มีบันได
ยอดปราสาทประธานถัดจากเรือนธาตุ เรียกว่าชั้นเชิงบาตร ทำเครื่องยอดเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกัน ๕ ชั้น ประดับด้วยกลีบขนุน และเศียรนาค ที่ชั้นแรกมีรูปครุฑสลักตรงกลางทั้ง ๔ ทิศ ความสำคัญของปราสาทประธานคือ การเป็นศูนย์กลางของการออกแบบสถาปัตยกรรม และสะท้อนคติสัญลักษณ์ในการสร้าง
การศึกษาจารึกและรูปแบบทางศิลปกรรมแสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายเป็นพุทธสถาน ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖) และเจริญรุ่งเรืองมาถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘) โดยหลักฐานที่สำคัญของการกำหนดคติทางศาสนาคือ ภาพจำหลักบนทับหลังของประตูชั้นในรอบห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายวัชรยาน รวมถึงการพบโบราณวัตถุในคติพุทธศาสนาวัชรยานจำนวนมาก เช่น กระดิ่งสัมฤทธิ์ วัชระสัมฤทธิ์ พระวัชรสัตว์ทรงวัชระและกระดิ่ง แม่พิมพ์ พระพิมพ์ พระรัตนตรัยมหายาน พระพุทธรูปตรีกาย จึงเป็นสิ่งบ่งบอกได้ว่าปราสาทหินพิมายเป็นพุทธศาสนสถานคติวัชรยานในดินแดนลุ่มนํ้ามูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ตามรอยวัชรยาน
ปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานที่สร้างตามคติพุทธศาสนา โดยมีพระพุทธรูปนาคปรกศิลา นามว่า “กมรเตงชคตวิมายะ” เป็นประธานในห้องครรภคฤหะ เดิมเชื่อว่าเป็นคติพุทธศาสนานิกายมหายานเพราะเข้าใจว่า “วัชรยาน” เป็นนิกายหนึ่งของมหายาน แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนาและปรัชญาศาสนา จะเห็นว่า “วัชรยาน” เป็นนิกายที่แยกออกจาก “มหายาน” อย่างชัดเจน
การเกิดขึ้นของ “วัชรยาน” เป็นพัฒนาการทางปรัชญาความเชื่อ เกิดหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมื่อพุทธสาวกมีความเห็นที่แตกต่างในพระธรรมวินัย จึงมีการรวมกลุ่มของคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่ง เรียกตนว่า “มหาสังฆิกะ” ต่อมาพัฒนาเป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งมีความเชื่อว่า “นามและรูปของพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตระ ไม่อาจดับสูญ” ต่อมาได้มีการนำเอาแนวคิดแบบตันตระมาประยุกต์เทคนิค วิธีการ เครื่องมือ และอุบายธรรมในการสั่งสอนเกิดเป็น “นิกายวัชรยาน” นิกายนี้จึงเป็นการพัฒนาตนเองจากการฝึกตนตามแนวคิดพุทธตันตระกับความเชื่อฮินดู เพื่อนำไปสู่ความรู้แจ้งของพุทธภาวะ นอกจากการพัฒนาปรัชญาความเชื่อแล้ว ยังมีการยอมรับความเชื่อทางไสยศาสตร์ และความเชื่อนอกพุทธศาสนาเข้ามามากกว่าพุทธศาสนานิกายเถรวาท ทำให้เกิดการประสานความเชื่อกับระบบคิดดั้งเดิม ในอาณาจักรขอมโบราณพุทธศาสนานิกายวัชรยานได้เข้ามาสวมทับเพื่อรองรับคติใหม่จากเทวราชาเป็นพุทธราชาของ “ราชวงศ์มหิธรปุระ” ได้อย่างลงตัว
พุทธศาสนานิกายวัชรยานนั้น นับถือพระพุทธเจ้า ๖ พระองค์ มีตำแหน่งและทิศประจำได้แก่ พระไวโรจน อยู่ศูนย์กลาง พระอักโษภยพุทธะประจำทิศตะวันออก พระรัตนสัมภวพุทธะประจำทิศใต้ พระอมิตาภพุทธะประจำทิศตะวันตก พระอโมฆสิทธิพุทธะประจำทิศเหนือ ซึ่งพระชินพุทธะนี้จะมีทั้งมิติแห่งอิตถีเพศ ธาตุ ขันธ์ กิเลสธรรมพาหนะประจำองค์ สี เสียง ท่าทาง พระโพธิสัตว์ในรูปสัมโภคกาย เทพในรูปสัมโภคกาย ความดุร้ายรวมถึงตัวแทนของพระพุทธเจ้าในรูปมนุษย์ ซึ่งนำมาสู่การตีความภาพทับหลังประดับประตู ภายในวิมานมุขทิศใต้ของปราสาทประธานของปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นทับหลังชิ้นสำคัญที่สุดของศาสนาคารแสดงภาพกมรเตงชคตวิมายะและพระชินพุทธะ ๖ พระองค์ตามคติวัชรยาน นอกจากนี้ทับหลังของปราสาทประธานอีก ๓ ด้าน ต่างแสดงรูปเทพเจ้าในนิกายวัชรยาน ได้แก่ ด้านทิศตะวันตกแสดงภาพพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งเป็นพระชินพุทธเจ้าประจำทิศตะวันตก ด้านทิศเหนือแสดงภาพพระเหวัชระ ด้านทิศตะวันออกแสดงภาพพระสังวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าในสกุลอักโษภยพุทธะที่ประทับอยู่ทิศตะวันออกตามคติวัชรยาน จะเห็นได้ว่า ภาพจำหลักทับหลังเหล่านี้สะท้อนถึงกลิ่นอายแห่งวัชรยานที่อบอวลอยู่ทั่วมณฑลแห่งห้องครรภคฤหะ
แผนผังจักรวาลสู่ความหลุดพ้น
จักรวาล ในภาษาบาลีใช้ว่า “จกฺกวาฬ” มีความหมายว่า “เป็นไปดุจล้อรถ” คือมีสัณฐานกลม มีขอบเสมอกันเหมือนล้อรถ การพิจารณาระบบจักรวาลในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบพุทธจึงไม่ได้มองเฉพาะในแนวดิ่ง คือจากฐานอันเป็นภูมิชั้นตํ่าขึ้นสู่ยอดอันเป็นภูมิชั้นสูงเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาแผนผังในแนวระนาบ เหมือนการพิจารณาล้อรถที่วางราบอยู่อีกด้วย
เมื่อพิจารณาลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทประธาน และอาคารประกอบของปราสาทหินพิมาย จะเห็นลักษณะโครงสร้างการกำหนดแผนผังจักรวาล มีปราสาทประธานแทนด้วยเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล มีโคปุระ ระเบียงคด กำแพงแก้ว สระนํ้า และอาคารประกอบอื่น ๆ ล้อมรอบ หมายถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์และทะเลสีทันดร ซึ่งเป็นแบบแผนความเชื่อหลักของศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลจากจักรวาลทัศน์แบบพุทธ แต่มีข้อสังเกตคือ ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทที่กำหนดแนวแกนในทิศเหนือ-ใต้ ที่เต็มไปด้วยภาพสลักและประติมากรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนา การสร้างปราสาทหินพิมายจึงเป็นการสร้างโดยใช้คติสัญลักษณ์แบบใหม่ ที่ต่างจากแนวคิดเดิมที่ให้ความสำคัญกับแนวแกนในทิศตะวันออก – ตะวันตก
จากพุทธปรัชญาของพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนสู่ภาวะเหนือโลกหรือโลกุตระ สอดรับกับแนวคิดการกำหนดจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ศาสนสถานจากทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ ที่สะท้อนปรัชญาการเดินทางเข้าสู่โลกุตรภูมิ โดยให้การเวียนว่ายเกิดดับในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุดประดุจพระอาทิตย์ที่ต้องขึ้นลงจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ซึ่งถูกกำหนดเป็นทิศรอง แต่ทิศทางที่มุ่งสู่ทิศเหนืออันเป็นโลกุตระถูกกำหนดเป็นทิศหลัก เพื่อสะท้อนปรัชญาที่แตกต่าง การวางแผนผังจักรวาลของปราสาทหินพิมาย โดยกำหนดจุดเริ่มต้นจากทิศใต้อันเป็นทิศที่ตั้งของชมพูทวีป อันเป็นที่อาศัยของมนุษย์โลก ผ่านสะพานนาคราชและโคปุระชั้นต่าง ๆ อันหมายถึงการเข้ามาเกิดใหม่ในภพภูมิที่สูงขึ้น จนถึงที่สุดแห่งโลกุตระที่หมายถึงพระนิพพาน การกำหนดแนวแกนในทิศเหนือ-ใต้ จึงเป็นการกำหนดแผนผังของปราสาทหินพิมายในคติ “แผนผังจักรวาลสู่ความหลุดพ้น”
มณฑลพระชินพุทธะ
นอกจากการวางแผนผังปราสาทหินพิมายให้สอดคล้องกับแนวคิดแห่งการหลุดพ้นสู่โลกุตรภูมิแล้ว ปราสาทหินพิมายยังแสดงให้เห็นถึงความเป็น “มณฑล” ซึ่งคำนี้ มาจากคำว่า “มันดาลา” เป็นภาษาสันสกฤต “มันดา” หมายถึง “แก่นศูนย์กลางหรือที่นั่ง” โดยใช้ในความหมายควบคู่ไปกับคำว่า “โพธิ” คือการบรรลุธรรม ซึ่งชี้ถึงสถานที่นั่งภายใต้ต้นโพธิ์อันที่ซึ่งการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ได้เกิดขึ้นส่วนคำว่า“ลา”หมายถึง “วงล้อที่หลอมรวมแก่น” ดังนั้น “มันดาลา” จึงแปลว่า “ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ในขณะที่รู้แจ้ง” ผังแห่งมณฑลพระชินพุทธะนี้จะปรากฏในมโนทัศน์ของวัชราจารย์ หรือครูอาจารย์ในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน สำหรับคนไทยเราเรียกคำว่ามันดาลา เป็นสำเนียงไทยว่า “มณฑล” ซึ่งก็มีความหมายสอดคล้องกัน
จากร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับ “วัชรยาน” ที่ปรากฏในทับหลังของห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน ได้สะท้อนความเป็นมณฑลของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ที่มีความเชื่อใน ๒ รูปแบบ ได้แก่ “วัชรธาตุมณฑล” คือ “มณฑลแห่งความรู้” และ “ครรภธาตุมณฑล” คือ “มณฑลแห่งหลักจักรวาลและสรรพสิ่งที่จัดให้ธรรมชาติเป็นไปอย่างมีระเบียบ”
จากภาพจำหลักทับหลังห้องครรภคฤหะ ได้แก่ ด้านทิศตะวันตกแสดงภาพพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งเป็นพระชินพุทธเจ้าประจำทิศตะวันตก ด้านทิศเหนือแสดงภาพพระเหวัชระ ด้านทิศตะวันออกแสดงภาพพระสังวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าในสกุลอักโษภยะที่ประทับอยู่ทิศตะวันออก และด้านทิศเหนือแสดงภาพพระวัชริน สะท้อนให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายเป็น “วัชรธาตุมณฑล” ของพระชินพุทธะที่สถิตปกครองทิศทั้ง ๕ ในสวรรค์ของแต่ละพระองค์เชื่อมไปสูค่ วามเปน็ มณฑลของวัชรยานที่สะท้อนให้เห็นถึงคติเกี่ยวกับ “โลกแห่งความหลากหลายด้วยแสงแห่งความรู้”
ความส่งท้าย
เพราะในทุกย่างก้าวที่ได้เข้าสัมผัสปราสาทหินพิมาย เริ่มต้นด้วยความอลังการที่ได้เสพสุนทรียรสในความงามของงานศิลปะ และสถาปัตยกรรมจากศรัทธาของบรรพชน ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การตีความถึงปรัชญา ให้ภาพสะท้อนถึงคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม อันเป็นมรดกที่สั่งสมมาจากบรรพกาล สืบต่อมาจนเกิดเป็นความลงตัวสอดรับกับภูมิวัฒนธรรม ความเข้าใจใน “โลกแห่งความหลากหลายด้วยแสงแห่งความรู้” ในความเป็นวัชรธาตุมณฑล สู่การกำหนดก้าวต่อไปอย่างไม่ไร้รากของสังคมไทย เพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์และยั่งยืนในอนาคต จากการเรียนรู้เรื่องราวมิติสัมพันธ์ ผ่านการตีความและเข้าใจในปรัชญาการวางผังก่อสร้างปราสาทหินที่เป็นพุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ได้เปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้เพื่อให้ท่านได้ “ชมปราสาทหินพิมาย เสพกลิ่นอายวัชรยาน”
เอกสารอ้างอิง
ธิดา สาระยา. (๒๕๓๕). เมืองพิมาย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
ปัญญา ใช้บางยาง. (๒๕๔๘). พระโพธิสัตว์เป็นมาอย่างไร. กรุงเทพฯ : รติธรรม.
ศศิธร จันทร์ใบ. (๒๕๔๕). การศึกษาคติการออกแบบปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (๒๕๔๗). พระชินพุทธะห้าพระองค์. กรุงเทพฯ : ส่องศยาม.
เอเดรียน สนอดกราส. (๒๕๔๑). สัญลักษณ์แห่งพระสถูป. แปลโดย ภัทรพร สิริกาญจน และคณะ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ อมรินทร์วิชาการ.