ชวนเพื่อนอ่านหนังสือ ตามรอยวีรชนประชาด้วยก้าวที่กล้า สโมสร ‘ 19 (รำลึกครบรอบ 25 ปี ” อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้ พ.ศ. 2539-2564)
# ชวนเพื่อนอ่านหนังสือ
ตามรอยวีรชนประชาด้วยก้าวที่กล้า สโมสร ‘ 19 (รำลึกครบรอบ 25 ปี ” อนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้ พ.ศ. 2539-2564)
อ่านเล่มนี้จบเมื่อ 3 วันที่แล้วเพราะตอนแรกตั้งใจว่าจะไปร่วมงานครบรอบ 25 ปี ที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วย แต่โชคไม่ดีที่โควิดระบาดรอบสอง มิตรสหายบางท่านส่งข่าวมาว่าความไม่แน่นอนของการจัดงานมีสูง จึงขอรีวิวหนังสือแทนละกันนะคะ
เพื่อนท่านใดที่ชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองและสังคม เราคิดว่าน่าจะชอบหนังสือเล่มนี้นะคะ เราเองชอบหนังสือเล่มนี้มากเพราะเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนนักปฏิวัติที่เขียนด้วยนักปฏิวัติผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ตั้งแต่หลังปี 2490 – 2527 โดยตรง มิใช่เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลของนักวิชาการอย่างเดียว ดังนั้นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้จึงมีชีวิต ทุกบรรทัดของการบอกเล่าเต็มไปด้วยเลือดเนื้อ อารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณ และอุดมการณ์อันเข้มข้นของผู้อยู่ในสนามรบ ขณะอ่านจึงรู้สึกเสมือนว่าบรรดานักปฏิวัติหรือสหายผู้รักชาติในอดีตทั้งหลายมิได้อยู่ห่างไกลจากปัจจุบันของเราเลย หากกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าเพื่อบอกเล่ากระแสธารการต่อสู้ของประชาชนในอดีต ซึ่งเคยมีหมุดหมายที่การสร้างสรรค์สังคมยุติธรรม ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กรรมกร รวมถึงคนเล็กคนน้อยที่มีอาชีพอื่น ๆ ทั้งในเมืองและชนบท, ผู้ประกอบสร้างเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
หนังสือเล่มนี้แบ่งกว้างๆได้เป็น 4 ส่วน ส่วนแรกกล่าวถึงประวัติการก่อตั้งสโมสร ’19 ของนักปฏิวัติหรือสหายผู้รักชาติที่เคยเคลื่อนไหวอยู่บริเวณอีสานใต้และการก่อตั้งอนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน – อีสานใต้ ส่วนต่อมาเป็นการให้ภาพของขบวนประชาชนที่ใช้การปฏิวัติเป็นเครื่องมือเพื่อการสร้างสรรค์สังคมดีงามผ่านรัฐสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) ส่วนนี้มีการให้ไทม์ไลน์ (ช่วงเวลา) และรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับพลวัตของขบวนประชาชนตั้งแต่ปี 2491-2527 ส่วนถัดไปเป็นบทสัมภาษณ์และบันทึกของนักปฏิวัติในอดีตผู้เคยทำงานในเขตอีสานใต้ จากนั้นส่วนสุดท้ายจึงจบลงด้วยการนำเสนอทัศนะและข้อเสนอแนะที่มีต่อการสานต่อภารกิจของสโมสร ’19 ในปัจจุบัน
เนื่องจากว่าตัวเราเองเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาในยุคสงครามเย็น เวลาเราอ่านหนังสือเล่มนี้จึงอินมาก เป็นการอินทั้งในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกเท่าๆกับการอินข้อเท็จจริง เราจำได้ว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลา 19 ในธรรมศาสตร์ด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์นั้น เรากำลังเรียนอยู่ชั้น ป.3 มั้งค่ะ เราเห็นจากจอโทรทัศน์ขาวดำที่บ้าน พ่อบอกเราว่ารัฐบาลกำลังปราบคอมมิวนิสต์ คำว่าคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้นชวนให้นึกถึงปีศาจร้าย มีการแจกเอกสารโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาลที่บอกว่าหากคอมมิวนิสต์รบชนะ ประชาชนจะไม่มีความสุขเพราะคอมมิวนิสต์จะบังคับให้พวกเราทำงานหนักจนป่วยตายเหมือนในเขมร นอกจากนี้ในระดับหมู่บ้านยังมีการซุบซิบนินทาลูกคนจีนในหมู่บ้านที่ไปเรียนกรุงเทพว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย เราเองเวลาจะไปซื้อขนมที่ร้านลูกคนจีนก็กลัวมาก กลัวคอมมิวนิสต์จะหลอกไปฆ่า ความกลัวคอมมิวนิสต์หนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อครูที่โรงเรียนสอนให้เต้นจินตลีลาเพลงต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามด้วยการเต้นซูลูร่วมกับลูกเสือชาวบ้าน (ที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์) อย่างไรก็ตามความเข้าใจเรื่องอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ของเราเริ่มดีขึ้นเมื่อเราได้เรียน ม.ช. เพื่อน ๆ นักกิจกรรมหลายคนทำให้เรารู้ว่าอุดมการณ์ของสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์มิได้ชั่วร้ายอย่างที่รัฐบาลสมัยที่เราเป็นเด็กกล่าวอ้าง ที่สำคัญการเรียนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นตอนปี 2 ได้ให้ความกระจ่างแก่เราในเรื่องนี้มาก และนับแต่นั้นเป็นต้นมาเราจึงเริ่มสนใจประวัติศาสตร์การเมือง ที่มิได้เขียนขึ้นจากอุดมการณ์ของรัฐ
เมื่อได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ (“ตามรอยวีรชนประชาด้วยก้าวที่กล้า สโมสร ’19 “) จึงรู้สึกว่าได้ค้นพบความจริงอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยรู้เลยในวัยเด็ก บทสัมภาษณ์ของอาชิต นักปฏิวัติผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นอะไรที่ดีงามมาก ๆ อ่านแล้วซาบซึ้ง เข้าใจถึงความหมายของการอุทิศตนและการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น บันทึกศึกร่มเกล้าก็ทำให้เราตระหนักถึงคำว่าการเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง บันทึกตามรอยที่มั่นแดงทำให้เรารู้จักการใช้ศิลปะในการเผยแพร่ชุดความคิดหรืออุดมการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นอกจากนี้บทสัมภาษณ์และบันทึกอื่น ๆ ก็ไขข้อสงสัยว่าทำไมขบวนประชาชนที่ใช้การปฏิวัติจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนรากหญ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคอีสาน
ล่วงมาถึงยุคสมัยนี้ที่เด็กรุ่นใหม่กำลังต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะให้การเรียนรู้ที่ดีแก่ขบวนประชาชนยุคใหม่นะคะ เพราะไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นโดยปราศจากฐานรากหรือรอยต่อทางประวัติศาสตร์เลย เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นจากผลพวงของเหตุการณ์หนึ่งเสมอ ความพ่ายแพ้ของขบวนประชาชนที่เป็นนักปฏิวัติในอดีตแม้ว่าได้จบลงในแง่เหตุการณ์แล้ว แต่ในแง่จิตวิญญาณ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เรากลับรู้สึกว่ามิได้หายไปไหน จิตวิญญาณอันกระตือรือร้น มุ่งมั่นต่อการสร้างสังคมใหม่ยังคงสถิตอยู่กับประชาชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาในหมู่นักปฏิวัติ, ประชาชนคนรุ่นก่อน พวกเขาเหมือนกันตรงที่ต้องอดทนอยู่กับรัฐบาลอำนาจนิยมที่คิดแต่จะกดขี่ ข่มเหง และเอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าใด
อยากให้เพื่อน ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อเรียนรู้ถึงวัตรปฏิบัติและอุดมการณ์ของนักปฏิวัติ, คนรุ่นก่อนที่บางส่วนยังคงสืบสานภารกิจทางอุดมการณ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จริงอยู่ที่ว่าการสร้างสรรค์สังคมดีงามด้วยการปฏิวัติตามอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์เป็นไปไม่ได้แล้วในปัจจุบันกระนั้นก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดสังคมนิยมเท่าทัน และทันสมัยเสมอสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาความไม่เท่าเทียมของผู้คนในสังคม