เรื่องจากปก ฉบับที่ 13 : บุญบั้งไฟ

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
Column: Cover Story
ผู้เขียน: กอง บ.ก.
ภาพปก: ครูเบิ้ม (ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์)


บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน ๖ หรือเดือน ๗ อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาหลักเมืองและแถน ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

“เดือนหก ทำบุญวันวิสาขบูชา มีการเทศน์ตลอดวันตลอดคืน มีการเวียนเทียน ในเดือนนี้มีงานบุญสำคัญอีกคือบุญสัจจะ หรือบุญบั้งไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและขอฝน มีผลทางอ้อมให้รู้จักผสมดินปืน และให้ประชาชนมาร่วมสนุกกันได้อย่างสุดเหวี่ยง ก่อนจะลงมือทำนาซึ่งเป็นงานหนักประจำปี นอกจากนี้ก็มักจะมีการบวชนาคพร้อมกันไปด้วย ตอนกลางคืนมักจะมีการตีกลองเอาเสียงดังแข่งกัน เรียกว่า “เส็งกลอง” บางตำราก็ว่าต้องมีพิธีพระพุทธรูปฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ตลอดจนมีการถือน้ำพระพิพัฒน์ต่อพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า และต่อแผ่นดิน

๏ ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนหกแล้ว
ให้เอาน้ำวารีสรงโสด
ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย
อย่าได้ละเบี่ยงบ้ายปัดป่ายหายหยุด
มันสิสูญเสียต่ำไปเมื่อหน้า
จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า
เอาบุญไปเลื่อย ๆ อย่าถอยหน้าหย่าเสีย ๏”

(“ของดีอีสาน” เรียบเรียงรวบรวมโดย จารุบุตร เรืองสุวรรณ)

“บุญเลิศ สดสุชาติ (๒๕๒๖:๓) เขียนถึงประเพณีบุญบั้งไฟไว้ว่า บั้งไฟมีความเกี่ยวพันกับชีวิตคนอีสานในฐานะเป็นพิธีขอฝน บั้งไฟทำหน้าที่รับใช้คนภาคอีสานมานานจนนับเป็นประเพณีที่สำคัญในฮีตสิบสองหรือประเพณีประจำสิบสองเดือน เรียกว่าบุญเดือนหก นับว่าเป็นพิธีขอฝนที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกที่สุด มีจำนวนคนร่วมงานมากที่สุด ลงทุนมาก มีประเพณีประกอบหรืองานเสริมติดตามมาอีกหลายงาน เช่น งานบวชนาค งานฮดสรงน้ำพระสงฆ์ สรงน้ำพระพุทธรูป การเส็งกลองการผูกเสี่ยว ตลอดจนการต่อสู้ศิลปะมวยไทยกล่าวได้ว่าชาวอีสานใช้บั้งไฟเป็นสื่อในการชักนำประชาชนไปทำบุญ เป็นสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพระยาแถน ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า ชาวบ้านเชื่อกันว่าเมื่อได้จุดบั้งไฟไปถวายพระยาแถนแล้ว ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล ชาวไร่ชาวนาก็ลงมือไถหว่าน ปักดำข้าวกล้าต่อไป

ประเพณีบุญบั้งไฟน่าจะมาก่อนพุทธกาล ซึ่งภายหลังคนไทยเราได้รับวัฒนธรรมพุทธศาสนาจึงทำพิธีนี้มีพระภิกษุสงฆ์เข้ามาเป็นประธาน และฮดสงฆ์ ตลอดจนหามพระสงฆ์แห่บั้งไฟด้วย ประเพณีบุญบั้งไฟนี้จะมีเฉพาะชาวอีสานซึ่งสืบประเพณีมาจากบรรพบุรุษในสมัยโบราณเท่านั้น ภาคอื่นไม่เห็นมีทำบุญบั้งไฟกันเลย” (ข้อมูลจากเว็บไซต์วัดกลาง อำเภอพนมไพร)

บั้งไฟ บ้องไฟ บอกไฟ

คำว่า “บั้งไฟ” ในภาษาอีสานได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายคน เช่น อร่ามจิต ชินช่าง อ้างอิงจาก เจริญชัย ชนไพโรจน์ ว่า “บั้ง” หมายถึง สิ่งที่เป็นกระบอก เช่น บั้งทิง สำหรับใส่น้ำดื่ม บั้งข้าวหลาม บั้งไฟ เป็นต้น

บั้งไฟ จึงหมายถึง ดอกไม้ไฟชนิดหนึ่งมีหางยาว เอาดินประสิวมาคั่วประสมกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียด เรียกว่า หมื่อ หรือ ดินปืน แล้วเอาหมื่อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่น เจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ เอาไม้ไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื่อโดยรอบ ๆ เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อไปเป็นหางยาวสำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน เรียกว่าบั้งไฟ

สรุปว่าบั้งไฟคือ การนำกระบอกไม้ไผ่ เลาเหล็ก ท่อพลาสลอน หรือเลาไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ตามอัตราส่วนที่ชั่งกำหนดไว้แล้วประกอบท่อนหัวและท่อนหางเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เพื่อนำไปจุดให้พุ่งขึ้นสู่อากาศ จะมีควันและเสียงดัง บั้งไฟมีอยู่หลายประเภทตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย (อร่ามจิต ชินช่าง ๒๕๓๑:๓๔)

ส่วน จรัส พยัคฆราชศักดิ์ ได้ให้ความหมายบั้งไฟ หมายถึง กระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุเชื้อเพลิง (ดินปืน) สำหรับจุดให้ติดไฟพุ่งขึ้นไปในอากาศบั้งไฟกระบอกหนึ่งประกอบด้วยท่อนหาง ท่อนหัวเป็นส่วนที่บรรจุเชื้อเพลิง จึงมีขนาดใหญ่กว่าท่อนหาง บั้งไฟมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น บั้งไฟโมด บั้งไฟม้า บั้งไฟจินาย บั้งไฟดื้อ บั้งไฟตะไล บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน พลุดอกไม้ เป็นต้น (จรัส พยัคฆราชศักดิ์ ม.ป.ป.:๒๗๗)

ดังนั้นบั้งไฟ หมายถึง บั้งไม้ไผ่หรือปัจจุบันนิยมใช้บั้งหรือท่อพลาสลอน แล้วแต่ขนาดของบั้งไฟที่จะทำ นำมาบรรจุดินปืนหรือหมื่อ ที่คั่วผสมตำจนเข้ากันดีแล้วนำมาตำหรืออัดใส่กระบอกที่เตรียมไว้ให้แน่นที่สุด แล้วนำไปมัดใส่ไม้ไผ่ขนาดบางที่ได้รูปร่างสวยทำเป็นหางบั้งไฟ จากนั้นตกแต่งให้สวยงาม อาจจะมีลูกบั้งไฟรอบ ๆ ส่วนหัวก็ได้ ซึ่งจะทำจากบั้งไม้ไผ่ขนาดเล็ก เมื่อตกแต่งสวยงามแล้วจะเป็นบั้งไฟที่สมบูรณ์ (ข้อมูลจากเว็บไซต์วัดกลาง อ.พนมไพร)

ส่วนภาคกลางแต่ก่อนนิยมเรียก “บ้องไฟ” แต่ปัจจุบันก็ใช้ “บั้งไฟ” ตามคำอีสานจนคุ้นชินแล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาวอีสานส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่าการจุดบั้งไฟมีเฉพาะในภาคอีสานและ สปป.ลาว เท่านั้น อันที่จริงประเพณีการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้าเพื่อเรียกฝนนั้น มีในคนไทและคนตระกูลภาษาไทกะได กลุ่มอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทโยน(ล้านนา) ไทลื้อ (ดูเรื่อง “จิบอกไฟ”), ไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน จุดบอกไฟในปอยเจดีย์ทราย เดือนมิถุนายน (กลุ่มอื่น ๆ มีในชนชาติผู้ญัย อำเภอซิ่งเหญิน มณฑลกุ้ยโจว-รอยต่อระหว่างกุ้ยโจว-ยูนนาน-กวางสี มีเทศกาล “จุดบอกไฟน้อย”) เป็นต้น

บั้งไฟมีมาตั้งแต่เมื่อใด

ประเพณีเกี่ยวกับการขอฝนจาก “ผีฟ้า” (แถน) มีมานานก่อนที่ชนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิจะรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากชมพูทวีป ดังที่ “ทางอีสาน” อธิบายไว้ในเรื่องสงกรานต์แล้ว

จารีตประเพณีตามฤดูกาลของชนพื้นเมืองตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบันลงมาจนถึงสุวรรณภูมิมีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากมีวิถีชีวิตเพาะปลูกข้าว จารีตประเพณีเกิดจากวิถีชีวิตและสิ่งจำเป็นเพื่อให้การผลิตอุดมสมบูรณ์

ในช่วงว่างจากงานเพาะปลูก ก็จะมีประเพณีไหว้ผีบรรพบุรุษ (เปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าคล้ายประเพณีเช็งเม้งของชาวจีน) แล้วต่อเนื่องไปถึงการไหว้ผีฟ้า (แถน) ตระเตรียมทำนาฤดูกาลต่อไป ซึ่งในยุคดึกดำบรรพ์มีการบูชากบ-เขียด เทศกาลที่ต่อเนื่องกันนี้ เมื่อชาวไทย, ลาว, แขมร์ รับพราหมณ์และพุทธศาสนา จึงเรียกว่า “สงกรานต์”

ระยะเวลาการจัดงานรูปธรรมนั้น แตกต่างกันไปตามการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ เช่น ชาวจ้วงชาวผู้ญัย ในกวางสี, กุ้ยโจว จะจัดงานในช่วงมีนาคม-เมษายน ส่วนชาวไท, ลาว, แขมร์ ที่อยู่ต่ำ
ลงมาจัดในเดือนเมษายน

เมื่อตระเตรียมการทำนากันแล้ว ก็จะต้องแจ้งข่าวให้ “ผีฟ้า” (แถนหลวงฟ้าคื่น) รู้ว่าถึงเวลาจะต้องให้ฝนตกลงมาแล้ว ชาวไท (ไทโยน, ไทลาว, ไทลื้อ, ลาว) มีประเพณีจุดบั้งไฟ, จิบอกไฟ ขอฝนจากแถน

คำว่า “แถน” ปัจจุบันทางอีสานยังแพร่หลายมีคนรับรู้เข้าใจเรื่องแถนมากกว่าทางภาคเหนือ

ซึ่งแต่เดิม ทางล้านนาก็นับถือ “แถน” เหมือนทางอีสานเช่นกัน แต่ปัจจุบันความรับรู้เรื่องแถนของชาวล้านนาน้อยลงไปมาก

ประเพณีขอฝนจากแถนนั้นมีมาเก่าแก่มากแต่ “บั้งไฟ” นั้นจะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากเทคโนโลยีการทำ “ดินปืน” แพร่หลาย จนเป็นความรู้ที่ทราบกันทั่วไปแล้ว

ปัญหาว่า “บั้งไฟ” เริ่มมีขึ้นนานเพียงใดแล้ว ? คำตอบจึงอยู่ที่ว่า “ชาวสุวรรณภูมิรู้จักใช้ดินปืนเมื่อไหร่ ?”

“ดินปืนค้นพบโดยชาวจีนโดยบังเอิญในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ซีจิ้น) แต่ยังไม่ได้มีการใช้อย่างจริงจัง คงนำมาใช่ในลักษณะของพิธีกรรมขับไล่สิ่งชั่วร้าย และงานเฉลิมฉลองอย่างดอกไม้ไฟนั่นเอง แต่ชาวจีนเริ่มจะใช้ดินปืนอย่างจริงจังในสมัยราชวงศ์ซ่ง เพราะมีหลักฐานว่ากองทัพราชวงศ์ซ่งได้ประดิษฐ์อาวุธระเบิดแบบพกพา (ระเบิดขว้าง) ปืนไฟแบบจุดสายชนวน (แต่มิได้ใช้ระบบไกยิงอย่างปืนไฟในยุคหลัง เพียงแต่ใช้การจุดสายชนวนเท่านั้น) และเครื่องยิงที่ใช้กระสุนยิงแบบอัดดินปืนแล้ว

แต่สาเหตุที่ดินปืนแพร่หลายไปสู่ดินแดนตะวันตกนั้น มีเหตุจากการรุกรานของพวกมองโกล เมื่อพวกมองโกลพิชิตแผ่นดินจีนทางเหนือได้สำเร็จแล้ว ก็ได้นำบรรดาช่างปืนใหญ่และปืนไฟจากจีนไปเป็นกำลังสำคัญในการขยายดินแดน โดยพวกมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ใช้อาวุธดินปืนในการสงคราม จากนั้นจึงแพร่หลายเข้าไปในยุโรป สำหรับรูปแบบอาวุธปืนไฟทรงกระบอกนั้น มีมาแต่เริ่มสมัยซ่งแล้ว แต่ประดิษฐ์อาวุธปืนโดยอาศัยระบบไกยิง (Trigger) ขึ้นในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์หมิง

ปืนคาบศิลาเริ่มปรากฏขึ้นในประเทศสเปนแต่จะรู้จักกันดีในนามของ ปืนคาบชุด (MATCH LOCK) ในทศวรรษที่ ๑๕๐๐ แต่ทหารเจนนิสซารี่ของจักรวรรดิออตโตมานก็ปรากฏว่ามีการใช้ปืนคาบศิลาในช่วงทศวรรษที่ ๑๔๔๐ แล้ว เทคโนโลยีปืนคาบศิลาได้พัฒนาขึ้นในยุโรปตะวันตกอย่างรวดเร็ว และเกิดอาวุธที่มีประสิทธิภาพการทำลายล้างมากกว่าแต่ก่อน ทำให้เกิดการแสวงหาวัตถุดิบดินปืนซึ่งทำให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมขึ้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ทหารราบของยุคกลางได้มีการใช้อาวุธดินปืนชนิดหนึ่งเรียกว่า “ปืนใหญ่ที่ยิงด้วยมือ” ถึงอย่างไรก็ดี อาวุธดังกล่าวก็ยุ่งยากในการใช้ซึ่งต้องใช้เวลานานในการบรรจุกระสุนปืน และไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพในการยิง เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ปืนสั้นขึ้น และในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ปืนคาบศิลาก็ได้เข้ามาแทนที่หอกยาว ซึ่งเคยเป็นอาวุธหลักของทหารราบในสมัยนั้น” (“วิกิพีเดีย”)

ตามหลักฐานฝ่ายไทย สยามเริ่มใช้ปืนไฟในการสงครามสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ ๒๐๗๗ – ๒๐๘๔)

เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๑ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งกรุงหงสาวดี ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟในการรบเป็นครั้งแรก

แต่แม้จะยังไม่มีปืนคาบศิลาใช้ คนไทย-ลาวก็อาจจะรู้จักทำดินปืน ใช้ทำประทัด ดอกไม้เพลิงแล้ว จึงต้องตรวจสอบบันทึกเอกสารให้มากขึ้นว่ามีบันทึกไว้อย่างไรบ้าง

จากการตรวจสอบวรรณคดีล้านนา-ล้านช้าง ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดเรื่อง “ท้าวฮุ่ง” (ประเมินว่าน่าจะแต่งในพุทธศตวรรษที่ยี่สิบ) ไม่พบเรื่อง“บั้งไฟ” “บอกไฟ”

ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ปรากฏว่าสยามมีเทคโนโลยีหล่อปืนใหญ่ จนสามารถส่งไปขายญี่ปุ่นได้ เทคโนโลยีด้านดินปืนน่าจะเจริญขึ้นมากแล้ว

อนุมานอย่างกำปั้นทุบดินก็อาจประเมินว่า “บั้งไฟ” ควรจะพัฒนาขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่เทคโนโลยีปืนใหญ่แพร่หลายในสุวรรณภูมิ

เรื่อง “พญาคันคาก” ร่องรอยประเพณีดึกดำบรรพ์ก่อนรับวัฒนธรรมพุทธ

บุญบั้งไฟหรือบุญเดือนหก ทุกวันนี้มีเนื้อหาทางพุทธศาสนาเข้มข้น…

แต่ในยุคดึกดำบรรพ์ คงจะเป็นประเพณีบูชาผีฟ้า (แถน) เรียกฝน โดยมีพิธีกรรมบูชากบ-เขียดเป็นเนื้อหาหลัก

ชาวจ้วงในกวางสี ชาวผู้ญัยในกุ้ยโจว สมัยโบราณเคารพบูชา “ตูเปี๊ยะ” (ตัวฟ้าผ่า) – เทพแห่งฟ้าผ่า ว่าเป็นผู้ดูแลฝนฟ้าและลม

“ตูเปี๊ยะ” มีมโหระทึกประจำกาย เมื่อจะเรียกฝนให้ตกก็จะตีมโหระทึก

แม่ของ “ตูเปี๊ยะ” คือแม่ตะวัน (ตรงกลางหน้ากลองมโหระทึกมีลายตะวัน)

ลูกของ “ตูเปี๊ยะ” คือ กบ (รวมทั้ง เขียด อึ่ง) ที่ร้องส่งเสียงให้ตูเปี๊ยะส่งฝนตกลงมาเมืองมนุษย์

ในตำนานของชาวจ้วงนั้น “ตูเปี๊ยะ” มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ด้านร้ายคือบางปีก็ไม่เรียกให้ฝนตกทำให้เกิดภัยแล้ง ผู้คนอดอยากหิวโหย ผู้คนพยายามหาวิธีเรียกฝน ขอฝน “ตูเปี๊ยะ” ส่งกบลงมาสอดแนมพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์จับกบได้แล้วเค้นถามวิธีเรียกฝนของตูเปี๊ยะ จนทราบว่าตูเปี๊ยะมีมโหระทึกใช้เรียกฝน มนุษย์จึงหล่อมโหระทึกใช้ตีเรียกฝนขึ้นบ้าง

ชาวจ้วง ชาวผู้ญัย ยังมีพิธีบูชากบ-เขียด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

เมื่อ “พุทธ” มาไล่ “ผี” ก็ต้องแปลงเรื่องของกบ คันคาก (คางคก) กับแถนให้เป็นนิทานชาดกทางพุทธศาสนาไป

นิทานพญาคันคากรบแถนนั้น ปรากฏในกลุ่มชนลาว พญาคันคากรวบรวมบรรดาสัตว์ต่าง ๆ รบชนะแถนได้ บังคับให้แถนต้องส่งฝนตกลงมาทุกปีโดยเมื่อถึงกำหนดฤดูการทำนาจะจุดบั้งไฟส่งนาคขึ้นไปบอกพญาแถน

ส่วนทางไทลื้อนั้น ผู้ที่ขึ้นไปรบพญาแถนเป็นมนุษย์ชื่อ “พญาวัน”

“วันพญาวัน” เป็นการเรียกเพื่อรำลึกถึงวีรชนชื่อ “พญาวัน”

ตำนานต่าง ๆ ของชนชาติในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได มีแตกต่างกันไป ตามภาวะแวดล้อมการพัฒนาในช่วงประมาณหนึ่งพันปีที่ผ่านมา ส่วนที่อยู่ใกล้วัฒนธรรม “ฮั่น” (“จีนแท้”) ก็รับปรับแปลงไปทางหนึ่ง ส่วนที่รับวัฒนธรรมชมพูทวีปไปมากก็รับปรับแปลงไปอีกทางหนึ่ง

แต่ถ้าเราย้อนดูถึงยุคดึกดำบรรพ์ ก็พอจะเห็นร่องรอยที่ใกล้ชิดกันได้ เช่นเรื่องการบูชากบ, เรื่องพญาคันคาก และเรื่องการไม่ปิดบังทางเพศแห่แหนรูปอวัยวะเพศชาย รูปแสดงการร่วมเพศอันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความอุดมสมบูรณ์เป็นต้น

ในพิธีกรรมเซิ้งบั้งไฟ มีสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า “บักแบ้น” หรือ “ปลัดขิก” ในอีสาน หรือ “ขุนเพ็ด” ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์

สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุนี้อวัยวะเพศ และเพศสัมพันธ์จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเพณีบูชาผีฟ้า ขอฝน ขอความอุดมสมบูรณ์

นิทานพญาคันคาก

เรื่องพญาคันคาก อักษรธรรม ๓ ผูก วัดมัชฌิมาวาส บ้านนานางวาน ต.ม่วงใหญ่ กิ่งอ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี

เรื่องย่อ
“ณ เมืองแห่งหนึ่งชื่อเมืองชมพู มีเจ้าเมืองชื่อพระเจ้าเอกราช และพระมเหสีคือ พระนางสีดา ครองเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติลงในครรภ์พระนางสีดา และประสูติออกมาเป็นคันคาก (คางคก) บิดามารดาไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้ เมื่อคันคากเป็นหนุ่มก็อยากจะมีเมีย พระอินทร์สงสารจึงช่วยเหลือโดยเนรมิตปราสาทไว้ใจกลางเมืองชมพู และนำนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่มาไว้ในปราสาทแล้วชุบให้คันคากมีรูปร่างงดงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกกันครองเมืองชมพูสืบไป

พญาคันคากครองเมืองมานาน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองแห้งแล้งอดอยาก พญาคันคากสั่งให้พญานาคและปลวกไปรบกับพญาแถน มีกองทัพสัตว์ต่าง ๆ เช่น กิ้งกือ ตะขาบ แมงป่อง ช่วยรบด้วยจนชนะพญาแถน พญาคันคากสั่งให้พญาแถนแต่งน้ำฝนให้ตกลงในเมืองชมพูแล้วเอาข้าวทิพย์เม็ดเท่ามะพร้าวไปปลูกให้เมืองมนุษย์ เสร็จแล้วเลิกทัพกลับมาเมืองชมพู เมืองนั้นจึงบริบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาชาวเมืองชมพูพากันเกียจคร้าน มิได้ทำยุ้งฉางไว้คอยรับข้าวทิพย์ เอาแต่มีดพร้าฟันเม็ดข้าว เม็ดข้าวจึงเล็กลง ดังที่เห็นในทุกวันนี้”

ในเนื้อเรื่องละเอียดเล่าว่าเมื่อพญาแถนเห็นผู้คนเคารพนับถือพญาคันคากมากก็เคียด แกล้งไม่ส่งฝนตกลงมาถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือน จนโลกมนุษย์สุดจะทนทานต่อไปได้ ระดมกองทัพกบเขียดจะรบกับพญาแถน

๏ แต่นั้นพระก็วางความให้ฝูงสัตว์กบเขียด
สูอย่าช้าไปพู้นก่อนพล เทียวเทอญ
เมื่อนั้นเสิน ๆ เต้นพึงคณากบเขียด
คื่น ๆ เค้าทะยานเต้นซู่ตัว
เดียรดาษล้นเต็มท่งนาหลวง พุ้นเยอ
อือทือกองเท่าภูเขากล้า
โขบโยบเสียงฮ้องนี่นัน พุ้นเยอ
ฝูงชาวเมืองแถนผ่อเห็นกัวย้าน ฯ

สุดท้ายพญาคันคากรบชนะแถน พญาแถนยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขแล้ว พญาคันคากสั่งสอนและกำหนดให้แถนต้องส่งฝนตกทุกปี เนื้อความดังต่อไปนี้

๏ พอเถิงขวบฟ้าปีใหม่เดือนหก
ให้ฝนตกลงมาซู่ปีจิงแท้
พอเถิงเดือนห้ากาลฤดูปีใหม่
ฝนจิ่งฮวยซุ่มหญ้าเขียวอ้วนป่งใบ
เดือนหกขึ้นฝนฮวยฮำแผ่น
ฟ้าใหม่ตั้งฤดูถ้วนถ่ายแถม นั้นแล้ว
คันว่าเดือนแปดแล้วฝนลง
อำแผ่นดินนั้น ดินอ่อนขึ้นเมืองบ้านซุ่มเย็น
ท่านจักผายปลูกข้าวกล้าหว่านดำนา แลเด
พอเดือนเจ็ดไถฮุดแต่งแปลงตากล้า
ยูท่างทำนาสร้างบูฮานฮีตเก่า
ฮอดเดือนเก้านั้นแล้วประสงค์ได้แต่งดำ เจ้าเอย
เถิงเดือนสิบมาแล้วฝนลินพื้นแผ่น
สัสสานิข้าวกล้าอ้วนดังเทา นั้นแล้ว
ฮอดเดือนสิบเอ็ดมาแล้วเป็นฮวงตกถอก
เม็ดข้าวท่อหมากพร้าวต้นท่อลำตาล
ฮวงมันยาวค่าสามวาแง้น
ยามเมื่อข้าวแก่แล้วสุกเฮื่อเต็มนาเมื่อใด
เขาเกี่ยวจากข้วนเมือเล้าซู่ฮวง
เก็บเกี่ยวแล้วแปลงก่อเป็นลอม
นางแม่โภสพฮุ่งเฮืองลามเล้า
ตีฟาดข้าวในลานเข็นแก่
เป็นกุ้มข้าวสูงพ้นแต่งดี ฯ

บรรยากาศเล่น “บั้งไฟ” ในเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่”

วรรณคดีที่บันทึกเรื่องบั้งไฟไว้มากที่สุดคือเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” อาจจะเล่ากันมาตั้งแต่พันปีที่แล้ว เป็นเรื่องแผ่นดินถล่ม กลายเป็นหนองหานน้อย มีเรื่องผูกโยงเป็นเรื่องความรักของพระเอกนางเอก

แต่เรื่องนี้มาแต่งเป็นวรรณคดีเมื่อใด ยังหาข้อตัดสินสรุปไม่ได้ ที่แน่นอนคือ “ตัวอักษร” “คำประพันธ์” พัฒนารุ่งเรืองขึ้นหลังจากวัฒนธรรมพุทธรุ่งเรืองแล้ว

ในฉบับวรรณคดี พญาขอมสั่งให้เล่นบั้งไฟ “ตามฮีตเค้าเฒ่าเก่าคองหลัง กูจักพาสูทำแต่งบุญแปงสร้าง” ฮีตคองเล่นบั้งไฟเป็นของโบราณ แต่ในเรื่องผาแดง-นางไอ่ นี้ เป็นคำประพันธ์ที่แต่งขึ้นหลังจากรับวัฒนธรรมพุทธเถรวาท กลายเป็นการ “ทำบุญ” ทางศาสนาไปแล้ว และสังคมมี “กระดาษเจี้ยคำ” ไว้ใช้แล้ว งานบุญบั้งไฟที่ใหญ่โตขนาดนั้นต้องคนระดับกษัตริย์จึงจะทำได้

ตามเนื้อเรื่อง เมื่อนางไอ่ ธิดาพญาขอมเติบโตเป็นสาว พระยาขอมเห็นว่า นางไอ่ ธิดาสาวผู้มีเรือนร่าง และใบหน้าอันสิริโฉม หาหญิงใดในหล้ามาเปรียบเทียบมิได้ ปัจจุบันเธอก็โตเต็มสาวแล้วจึงมีใบฎีกาแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ ให้ทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะธีตา หรือเมืองหนองหาน ต้นลำน้ำปาวในปัจจุบัน เพื่อจุดถวายพญาแถนผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้าบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่งหากบั้งไฟเมืองไหนขึ้นสูงกว่าเพื่อนก็จะได้ นางไอ่ธิดาสาวผู้เลอโฉมไปเป็นคู่ครอง

พระยาขอม ได้กำหนดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก เป็นวันงาน ทำให้เจ้าชายเมืองต่าง ๆ ทำบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน มาจุดแข่งขันกันอย่างมากมายบุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มโหฬารพอถึงวันงานผู้คนก็หลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งยังมีการแข่งขันตีกลอง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “เส็งกลอง” กันอย่างครึกครื้น หนุ่ม-สาวต่างจ่ายผญาเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน

“บุญบั้งไฟ” ในครั้งนี้ แม้ “ท้าวผาแดง” จะไม่ได้รับฎีกาบอกบุญเชิญให้นำเอาบั้งไฟไปร่วมงานด้วยก็ตาม แต่ “พระยาขอม” ว่าที่พ่อตาก็ให้การต้อนรับ “ท้าวผาแดง” เป็นอย่างดี

การจุดบั้งไฟแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนานทุกคนใจจดจ่ออยากรู้ว่าบั้งไฟเจ้าชายเมืองไหนชนะและได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟครั้งนั้นท้าวผาแดง และพระยาขอม มีเดิมพันกันว่า ถ้าบั้งไฟท้าวผาแดง ชนะบั้งไฟ พระยาขอม แล้ว ก็จะยก นางไอ่ ธิดาสาวให้ไปเป็นคู่ครอง

ผลปรากฏว่า บั้งไฟของ “พระยาขอม” ไม่ขึ้นจากห้าง ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “ซุ” ส่วนของท้าวผาแดง แตก (ระเบิด) คาห้าง คงมีแต่บั้งไฟของ “พระยาฟ้าแดด” เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของ “พระยาเซียงเหียน” แห่งเมืองเซียงเหียนเท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง ๓ วัน ๓ คืนจึงตกลงมา แต่พระยาทั้งสองนั้นเป็นอาว์ของ “นางไอ่” เป็นอันว่าเธอจึงไม่ตกเป็นคู่ครองของใคร

คำประพันธ์บรรยายฉากเล่นบั้งไฟ มีดังนี้

๏ เฮาจักตามฮีตเค้าเฒ่าเก่าคองหลัง
กูจักพาสูทำแต่งบุญแปงสร้าง
เดือนหกขึ้นวันเพ็งสิบห้าค่ำ
กับทั้งเบิกแผนกพร้อมวันซ้ำส่งบุญ
จักได้มีการเล่นไฟหางบั้งหมื่น
กับทั้งมีบวชพร้อมสรงน้ำราชครู…
เซียงเหียนพร้อมไวเปียงไปไส่
บอกให้ได้ไฟบั้งหมื่นปลาย
กับทั้งไฟตะไลพร้อมไฟพะเนียงเป็นดอก…
พากันตกแต่งสร้างผามกว้างซ่วงสูง
ฝูงหนึ่งให้ได้ไม้เสาใหญ่ปุกผาม
บ้านน้ำฆ้องสามพาดพันดอน
ให้เขาหาตงกอนก่อผามมุงหญ้า…
แล้วจึงปุนแปงให้ไผมันฮู้ฮ่อม
ตกแต่งค้ำกันไว้สู่เฮือน
บ่ให้เคืองค่าฮ้อนเมืองใดมาสู่
พลูหมากพร้อมไว้แต่ไกล
คนหญิงให้หาแพรค้นหูก
ทุกทั่วหน้ามาพร้อมสู่คน
บ่ให้เขินขาดแท้สรรพสิ่งแนวใด
คนซายไปหากินคั่วแลนเห็นเหม่น
ให้สูพากันเข้าดงหนาหาคั่ว
ให้สูไปเที่ยวคั้วหาไว้ใส่บุญ
ทั้งเข้าปุ้นลอซ่องยาคู
ปูปลาผักฟักแฟงหาไว้
วัวควายพร้อมกวางฟานสัตว์ป่า
ให้สูหาแต่งไว้ไหส้มไข่ปลา
นานาพร้อมสุราหาใส่
ไหใหญ่ต้มดองไว้สู่เฮือน…
ตั้งหากงามเหลือล้นไฟหางเคียนคาด
เขาก็พันกระดาษเจี้ยคำหุ้มห่อดี
มีทั้งสับดอกไม้ใส่ตามหาง
ตั้งหากงามเอาเหลือดังสิบินเมือฟ้า
เป็นที่ผากฎแท้ไฟหางบั้งใหญ่
มีทั้งไฟลูกท้าวชาวบ้านหมื่นขุน
เขาหากปุนแต่งเอ้ปิดกระดาษลิงลาย
บ่อาจคันณานับมากมายเหลือล้น
นับแต่ไฟหางได้พันปลายบั้งหมื่น
ไฟดอกไม้สามฮ้อยใส่เกวียน…
เดียรดาษล้นคนเข้าคั่งโฮม
มีทั้งสมณาเจ้าไหลมาเดียรดาษ
ฝูงหมู่พิณพาทย์ฆ้องดังก้องสนั่นเมือง
ฟังยินเสียงคื่นเค้าเขาแห่ไฟหลวง แลเยอ
ฝูงหมู่ไทกลองเส็งเป่าชะในไปหน้า
บางผ่องยอขาฟ้อนตามทางแอะแอ่น
บองพ่องเสพพาทย์ฆ้องดังก้องขื่นระงม
ฟังยินทมทมก้องเสียงกลองซอขลุ่ย
พิณพาทย์พร้อมทั้งไค้พ่องระบำ
มีทั้งลำและฟ้อนย้อนแย่งตามทาง
บางพ่องวางมวยตบต่อยตีกันเล่น
ลางคนเต้นสักคะโยนเยงปีบ”

“เล่น” หรือ “บุญ”

ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่มียุติอย่างไรถือเอาเรื่อง ตำนานผาแดง – นางไอ่ เป็นหลัก ชาวบ้านมักพูดเสมอว่า เล่นบุญบั้งไฟ เล่นบุญเดือน ๖ บ้าง ดูแล้วไม่น่าจัดเป็นบุญ เพราะพูดว่า “เล่น” ศัพท์ “บุญ” ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่าเล่นชะรอยจะเป็นการทำเล่นสนุกในทางลัทธิเท่านั้นเพียงเป็นประเพณี ลัทธิเก่าก็ทิ้งไม่ได้ทำกันทุกปีเพราะบรรพบุรุษ เรียกว่า “บุญบั้งไฟ” จำเป็นได้เรียกกันว่าบุญมานานแล้ว (พระอริยานุวัตร ๒๕๒๖:๔๒-๔๓)

ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ

• ประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ในหมู่บ้าน เพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)

• เมื่อตกลงจัด ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า “เตินป่าว” ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า “สลากใส่บุญ” เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่าง ๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศาสนาเข้าไปด้วยเช่น การบวชและการฮดสงฆ์

• ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ (ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว) บอกบุญให้บ้านเรือน ๓-๔ หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง (ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน
เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่) ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ

• ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำหรือ “ผาม” หรือ “ตูบบุญ” ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริงยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ

• ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย “ฉบับ” ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ลูกมือพระไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิวเรียกว่า การทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา

การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ(ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด

นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน (ข้อมูลจาก ISSANGATE.COM)

การเอ้บั้งไฟ

การเอ้บั้งไฟคือ การตกแต่งบั้งไฟให้สวยงามลักษณะการเอ้บั้งไฟทั่วไปเป็นดังนี้

๑. ใส่กู่โหวด ซึ่งทำจากไม้ไผ่ มีขนาดยาวสั้นต่างกัน เพื่อให้เกิดเสียง

๒. ใส่หัวนาคหรือหัวหงส์ที่หัวบั้งไฟ แล้วติดแถบหลัง ติดทองและติตพวงมาลัย

๓. ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ด้วยกระดาษสี เช่นกระดาษเงิน กระดาษทอง ตามท่อนหัวและลำตัวของบั้งไฟ ชาวบ้านหรือช่างแกะลวดลายตามลำตัวเป็นรูปลายไทยบ้าง พญานาคบ้าง นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผ้าไหม ผ้าลายขิด มาประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ตัวบั้งไฟนิยมทำเป็นรูปกระจังเทพพนม ลายดอกไม้เป็นเถา ฯลฯ มีการนำเทคนิคสมัยใหม่มาใช้โดยทำเป็นนาคเล่นน้ำด้วยหลังจากเอ้บั้งไฟเสร็จสวยงามจนเป็นที่พอใจแล้วจะมีการสมโภชบั้งไฟประจำคุ้มครองของตนเอง มีการเล่นสนุกสนาน มีการแห่แหนอย่างเอิกเกริกใหญู่โต (ข้อมูลเว็บไซต์ วัดกลาง อำเภอพนมไพร)

ชนิดของบั้งไฟอีสาน

บั้งไฟมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการทำ อาจแยกเป็นแบบใหญ่ ๆ และที่นิยมทำกันมาก

มี ๓ แบบ คือ
๑. แบบมีหาง
๒. แบบไม่มีหาง
๓. บั้งไฟตะไล

แบบมีหาง เป็นมาตรฐาน เรียกว่า “บั้งไฟหาง” มีการตกแต่งให้สวยงาม เมื่อเวลาเซิ้งเวลาจุดจะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สูงมาก ควบคุมทิศทางได้เล็กน้อย

แบบไม่มีหาง เรียกว่า “บั้งไฟกล่องข้าว” รูปร่างคล้ายกล่องข้าวเหนียว ชนิดมีรางตั้งเป็นแฉกถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนก็คล้ายจรวดนั่นเอง

บั้งไฟตะไล มีรูปร่างกลม มีไม้บาง ๆ แบน ๆทำเป็นวงกลมรอบหัวท้ายขอบบั้งไฟ เวลาพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง

บั้งไฟทั้ง ๓ แบบ ที่กล่าวมาถ้าจะแยกย่อย ๆ ตามเทคนิคการทำและลักษณะรูปร่างของบั้งไฟจะแยกออกเป็นประเภทได้ ๑๓ ชนิด ดังนี้ คือ

๑. บั้งไฟโบด (โหวด) จุดเพื่อฟังเสียงโบดของกระบอกไม้ไผ่ที่มัดวางรอบ ๆ
๒. บั้งไฟม้า จุดเพื่อให้พุ่งไปตามทิศทางที่กำหนด
๓. บั้งไฟช้าง (กระโพกหรือตะโพกหรือประทัด) จุดเพื่อให้เกิดเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงช้าง
๔. บั้งไฟจินาย จุดเพื่อดูความสวยงามในการพุ่งขึ้น
๕. บั้งไฟตะไล จุดเพื่อดูความสวยงามในการพุ่งขึ้น
๖. บั้งไฟตื้อหรืออีดื้อ จุดเพื่อเป็นองค์ประกอบในการจุดบั้งไฟใหญ่
๗. บั้งไฟพลุ จุดเพื่อฟังเสียงดังเป็นเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงสัตว์ หรือเสียงระเบิด
๘. บั้งไฟดอกไม้ จุดเพื่อให้เกิดแสงสีสวยงามเวลากลางคืน
๙. บั้งไฟฮ้อย (ร้อย) จุดเพื่อเสี่ยงทาย น้ำหนักดินปืนประมาณ ๘ กิโลกรัม
๑๐. บังไฟหมื่น น้ำหนักดินปืนประมาณ ๑๒กิโลกรัม
๑๑. บั้งไฟแสน น้ำหนักดินปืนประมาณ ๑๒๐ กิโลกรัม
๑๒. บั้งไฟล้าน น้ำหนักดินปืนประมาณ ๕๐๐ กิโลกรม
๑๓. บั้งไฟสิบล้าน (บั้งไฟโกฏิ) น้ำหนักดินปืนประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม

ชนิดของ “บอกไฟ” ล้านนา

บอกไฟในล้านนามีหลายชนิด ดังนี้
๑. บอกไฟขึ้น (บอกไฟยาว)
๒. บอกไฟเข้าต้ม
๓. บอกไฟจักจั่น
๔. บอกไฟจักจ่า
๕. บอกไฟช้างร้อง
๖. บอกไฟดอก
๗. บอกไฟดาว
๘. บอกไฟต่อ
๙. บอกไฟต่อต่าง
๑๐. บอกไฟต่าง
๑๑. บอกไฟท้องตัน
๑๒. บอกไฟเทียน
๑๓. บอกไฟบ่าขี้เบ้า
๑๔. บอกไฟยิง
๑๕. บอกไฟนกขุ้ม
๑๖. บอกไฟหมื่น บอกไฟแสน

บอกไฟขึ้น หรือบอกไฟยาว ถือเป็นบอกไฟที่ชาวล้านนานิยมอีกประเภทหนึ่ง นอกจากจะจุดถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังมีการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นเลิศของบรรดาช่างทำบอกไฟหรือ สล่าบอกไฟ อีกด้วย

การสมโภชบั้งไฟ

วันสุกดิบ ก่อนวันเเห่บั้งไฟหนึ่งวันหรือวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน พร้อมนำเอาเหล้าไปด้วยจำนวนมากส่วนหนึ่งใช้เซ่นสรวง สมัยก่อนมักจะจุดบั้งไฟเสี่ยงกันที่นี่

บั้งเสี่ยงเป็นบั้งไฟขนาดเล็ก จุดเพื่อเสี่ยงทายดูถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น (ชาวจ้วงใช้วิธีพยากรณ์จากศพเขียดที่ถูกฝังไว้เมื่อวันพิธีปีที่แล้ว) จากนั้นก็ดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน (งานนี้มีเฉพาะผู้ชายที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี)

ปัจจุบันนี้นิยมไปรวมคณะกันที่วัด คณะเซิ้งบั้งไฟแต่ละคุ้มแต่ละคณะจะนำบั้งไฟของตนพร้อมด้วยขบวนแห่มายังหมู่บ้านที่เเจ้งฎีกา โดยจะแห่ไปรวมกันที่วัดทำบุญเลี้ยงพระที่วัด

วันนี้อาจมีการบวชนาค สรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ด้วย ถ้าบ้านใดมีนาคที่จะบวชก็จะทำพิธีในวันนี้การแห่นาคนี้นิยมให้นาคนุ่งห่ม ประดับประดาสวยงามและให้นั่งม้ารอบวัด มีคณะถือฆ้องโหม่งใหญ่ตีนำหน้าและยิงปืน จุดตะไลตามหลัง อานม้าจะผูกกระพรวนเกรียวกราว ต้องมีคนจูงบังเหียนข้างละคน มิฉะนั้นนาคจะตกจากหลังม้า การแห่นาคเช่นนี้นับว่าเชิดหน้าชูตา ถ้าไม่มีม้าให้นาคนั่งถือว่าน้อยหน้า

ผู้ใดมีความศรัทธาจะสรงน้ำพระภิกษุรูปใดต้องแห่พระรูปนั้นพร้อมกับนาค การสรงน้ำพระภิกษุนี้ เรียกว่า ฮดสรง การสรงน้ำพระมีการถวายจตุปัจจัยหรือสังฆบริภัณฑ์ เช่น ถวายเตียงนอนเสื่อสาด หมอนอิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำ พานรองและสำรับคาวหวาน ผ้าไตร ฯลฯ

การฮดน้ำพระนี้เป็นพีธีอย่างหนึ่งที่พระภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศขั้นจึงจะได้รับการสรงน้ำ ถ้าพระภิกษุรูปใดได้รับการสรงน้ำพระภิกษุรูปนั้นจะได้รับคำนำหน้าชื่อใหม่

ครั้นแห่ประทักษิณได้สามรอบแล้ว จะนิมนต์พระรูปนั้นนั่งบนแท่น ซึ่งทำลวดลายด้วยหยวกกล้วยแล้วสรงด้วยนำอบ น้ำหอม ครั้นเสร็จจากการสรงน้ำแล้วจึงอ่านประกาศชื่อพระรูปนั้นให้ทราบทั่วกัน

วันโฮม ปัจจุบันนี้นิยมรวมตัวกันที่วัด วันแห่บั้งไฟตอนเช้าจะมีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นจะนำขบวนเเห่ไปคารวะเจ้าพ่อมเหศักดิ์หลักเมือง เจ้าพ่อปูตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน แล้วขบวนแห่บั้งไฟทุกคณะจะไปตั้งแถวตามแนวถนน แห่ไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดการกำหนดไว้ ในขบวนแห่บั้งไฟจะมีตัวบั้งไฟที่ตกแต่ง (เอ้) อย่างสวยงาม ขบวนฟ้อนรำที่เรียกว่าเซิ้งบั้งไฟนำขบวนไปด้วย บั้งไฟแต่ละขบวนจะประกอบด้วย ขบวนเซิ้งนำหน้า ขบวนแสดงความเป็นอยู่ (อาชีพ) ขบวนตลกขบขัน

ในสมัยก่อนการแสดงออกเรื่องเพศเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์นี้

มีการเซิ้งออกท่าทางต่าง ๆ ของการร่วมเพศอยู่ด้วย อาจมีการเอา บักแบ้น ผูกรอบเอวไว้หลายอัน มีสายสำหรับชักให้กระดกขึ้นได้ การแห่บั้งไฟผู้ร่วมขบวนนั้นดูเหมือนจะตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ปรกติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง หรือเอาโคลนพอกหน้า ขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสาโทมากิน การเซิ้งจะมีคนจ่ายกาพย์ และคนตีกลองให้จังหวะเซิ้งอยู่กลางขบวนฟ้อน เพื่อให้ผู้ฟ้อนเซิ้งได้ยินเสียงจังหวะและคำกลอนลำกาพย์เซิ้งได้ชัดเจน

การจุดบั้งไฟจะจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อน เพื่อเสี่ยงทายพืชผลทางการเกษตรจะดีเลวหรือไม่อย่างไรหากบั้งไฟจุดขึ้นดีแสดงว่าพืชผลข้าวน้ำจะบริบูรณ์ดี ถ้าบั้งไฟจุดไม่ขึ้นก็ทายว่าน้ำจะมาก พืชไร่ในที่ลุ่มจะเสียหายและถ้าบั้งไฟขึ้นไประเบิดแตกกลางอากาศทายว่าฝนฟ้าน้อยเกิดทุพภิกภัยทั่วไป

หลังจากจุดบั้งไฟเสี่ยงทายแล้ว ก็จะจุดบั้งไฟที่นำมาแข่งขันทั้งบั้งไฟหมื่นและบั้งไฟแสน ก่อนจุดจะต้องเอาเครื่องประดับบั้งไฟออก การจุดชนวนใช้เวลาไม่กี่นาที บั้งไฟก็จะพุ่งไปในอากาศเมื่อบั้งไฟขึ้นจะมีเสียงดังวี๊ดคล้ายคนเป่านกหวีดหากบั้งไฟของคณะใดขึ้นสูงก็เป็นผู้ชนะ ถ้าบั้งไฟของคณะใดไม่ขึ้นแตกเสียก่อนช่างบั้งไฟจะถูกจับโยนลงโคลนตม หรือบางครั้งก็จะจับเพื่อนหรือผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยไปโยนลงโคลน ทั้งนี้ไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลังจากจุดเสร็จแล้วจะมีการมอบรางวัลแก่บั้งไฟที่ขึ้นสูงตามลำดับ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com