#ชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี ฉบับที่ ๓

#ชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี

ฉบับที่ ๓ “พ่อ”

ลูกรัก

ทุกวันปีใหม่ ลูกหลานเหลนจะพากันไปกราบขอพรปู่กับย่า ตอนนั้นท่านมีลูก 14 คน หลาน 39 เหลน 40 กว่า ท่านเป็นพี่คนโต มีน้องชายน้องสาวอีก 6 คน บรรดาหลาน ๆ ญาติพี่น้องของปู่และย่ามากันหมด เต็มบ้าน

จำได้ไหมว่า พ่อเคยเล่าในจดหมายถึงลูกที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มาร่วมงานวันปีใหม่เหมือนที่เคยตอนยังเด็ก พ่อเขียนว่า ปู่สอนลูกหลานทุกปี เนื้อใหญ่ใจความมี 3 อย่าง คือ ให้เป็นคนดี เพราะคนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ให้ตั้งใจเรียน เพราะมีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน ให้รักพี่น้องไม่เห็นแก่ตัว เพราะโลกวันนี้อยู่ลำบาก แต่หากพี่น้องรักกัน ทุกข์ยากเพียงใดก็จะอยู่รอดได้

พ่อโชคดีที่เป็นลูกของปู่ ผู้เป็นแบบอย่างชีวิต ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตอาสาเพื่อสังคม เห็นใจคนจน ไม่เห็นด้วยกับความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

ปู่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ชอบสนทนากับลูกหลานเรื่องการบ้านการเมือง ปู่ดูข่าวทีวี เมื่อเห็นนักการเมืองบางคนที่ปู่ไม่ชอบ ปู่จะกดรีโมทเปลี่ยนช่องทันที พร้อมกับวิจารณ์ตามแบบฉบับของท่าน

จำได้ไหม ทุกครั้งที่เรากลับไปบ้านวันปีใหม่ ปู่มักจะพูดคุยกับหลานโดมและขวัญนาน ๆ จนเป็นที่เล่าขานในหมู่ญาติ คงเป็นเพราะหลานสองคนนี้ฟังด้วยความอดทน และตั้งคำถามปู่แบบเสวนาเป็น อะไรไม่รู้ก็ถาม ปู่คงหาคู่สนทนาแบบนี้ได้ไม่บ่อยนัก

พ่อพาปู่กลับไปบ้านเกิดที่เวียดนามตอนปู่อายุ 82 แล้ว ยังแข็งแรง เดินเหินสะดวก ปู่นั่งเครื่องจากสกลนครมาลงที่ดอนเมือง แล้วเราก็เดินทางต่อไปฮานอย เช่ารถพร้อมคนขับไปบ้านเกิดของปู่ ห่างออกไปประมาณ 300 กว่า ก.ม. นอนที่วินห์คืนหนึ่ง ไปเดินกินลมชมทะเล แล้วจึงเดินทางไปต่อถึงอำเภอกันล็อค และเข้าหมู่บ้านไตรเล

ญาติพี่น้องดีใจมาก เราไม่ได้แจ้งให้ใครทราบก่อน เพราะไม่ทราบว่าจะแจ้งอย่างไร ไม่มีโทรศัพท์ ไม่ทราบที่อยู่ชัดเจน เราพักที่บ้านเกิดของปู่หนึ่งคืน และที่วัดอีกคืนหนึ่ง ไปโบสถ์มิสซาวันอาทิตย์ คนเต็มวัด บ้านหลังนั้นตอนนี้มีหลานเหลนของทวดอาศัยอยู่

ปู่พูดภาษาเวียดนามของท้องถิ่นนี้ได้ดีพอสมควร แม้เป็นภาษาที่เก่าไปแล้ว ภาษาเวียดนามในท้องถิ่นเองก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อมทางสังคม และได้รับอิทธิพลจากภาษาเวียดนามกลางมากขึ้น ตอนอยู่ที่ฮานอย ปู่ดูทีวีบ่นว่า เข้าใจภาษากลางเพียงบางส่วนเท่านั้น

พ่อเองไม่รู้ภาษาเวียดนามพอที่จะสื่อสารได้เป็นเรื่องเป็นราว รู้เป็นคำ ๆ จำจากที่ได้ยินเขาพูดกันที่บ้านระหว่างญาติพี่น้องทางปู่เท่านั้น โดยเฉพาะกับย่า (แม่ของปู่) ที่พูดไทยได้ไม่มากนัก ที่บ้านเกิดของปู่ พ่อก็พยายามสื่อสารกับพวกเด็ก ๆ แต่ไม่ค่อยได้ผล เสียดายว่าไม่ได้เรียนภาษาเวียดนามจริงจัง

มีครั้งหนึ่ง ก่อนพาปู่ไปบ้านเกิดท่าน พ่อไปเวียดนามกับแซร์จิโอ เรกัซโซนี ผู้แทนของ CCFD องค์กรทุนจากฝรั่งเศส ที่ฮานอย เราได้พบกับมาย จี โธ รัฐมนตรีมหาดไทยของเวียดนาม พ่อแนะนำตัวเองเป็นภาษาเวียดนามว่า “พ่อของผมเป็นชาวเวียดจากฮาตินห์” ท่านดีใจมาก ตอบเป็นภาษาเวียดนาม แล้วพ่อก็ขอร้องให้พูดภาษาฝรั่งเศส ท่านบอกว่า ผู้นำสำคัญของเวียดนามต่างก็มาจากภาคกลางแถวๆ ฮาตินห์ วินห์ ทั้งนั้น ท่านโฮ จี มินท์ รวมทั้งท่านและพี่ชาย คือ เลอ ดึก โธ ซึ่งเป็นผู้นำเจรจาสงบศึกกับสหรัฐอเมริกา จนได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับเฮนรี คิสซิงเกอร์ แต่ท่านปฏิเสธ บอกว่า สงครามยังไม่จบ อเมริกาละเมิดสัญญาหลายอย่าง

เมื่อเสร็จจากไปเยี่ยมบ้านเกิด กลับมาฮานอย พ่อให้ปู่กลับกรุงเทพฯ คนเดียว เพราะต้องไปธุระงานเรื่องประมงให้อานิ่มที่ไฮฟอง และงานขององค์กรพัฒนา CCFD ด้วย โชคดีที่พบผู้จัดการธนาคารไทย จำไม่ได้ว่าธนาคารไหน ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน พ่อก็ฝากขอให้เขาช่วยดูแลปู่ให้ด้วยเผื่อมีอะไรฉุกเฉิน เขาก็รับปากและช่วยเหลือเป็นอย่างดี ปู่เล่าว่า เขามีน้ำใจมากตลอดการเดินทาง เมื่อถึงดอนเมือง เขายังพาออกไปและรอจนพบอานางที่ไปรับ เขาจึงได้แยกตัวไป

หนึ่งสัปดาห์ที่อยู่กับปู่ที่เวียดนาม นับว่าเป็นระยะเวลานานที่สุดในชีวิตที่ได้อยู่กับท่าน ตอนพ่อยังเด็กปู่ก็ต้องไปทำงานที่ต่าง ๆ นาน ๆ กลับบ้านทีอย่างที่ได้เล่า พ่อเองก็ออกจากบ้านไปอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่อายุ 10 ขวบ กลับบ้านตอนปิดเรียน จากนั้นอายุ 18 ก็ไปเรียนต่างประเทศ และไม่ได้กลับไปอยู่บ้านอีกเลย

ตลอด 7 วัน พ่อได้สัมภาษณ์ปู่แบบสนทนากันตามปกติ ถามเกี่ยวกับชีวิตโดยละเอียด ไม่ได้เอาเทปไปบันทึกเสียง มีแต่สมุดโน้ตเล่มเล็กไว้จด ส่วนใหญ่คุยกันระหว่างเดินทางบ้าง ที่ได้สัมภาษณ์จริงก็ตอนพักที่โรงแรม ตอนกินข้าว

พ่อได้จัดพิมพ์เรื่องราวชีวิตของปู่ด้วยกระดาษอาร์ทสี่สี พร้อมรูปของปู่ โดยเฉพาะที่ไปเวียดนาม เป็นข้อเขียนในลักษณะที่ปู่เป็นคนเล่าเรื่องของตนเอง แล้วจัดพิมพ์ในโอกาสครบรอบ 84 ปีของปู่

จำภาพเช้าวันที่ 1 มกราคมที่เราไปกราบปู่ได้ดี ปู่นั่งแจกหนังสือบันทึกชีวิตของท่านให้ลูกหลานทีละคนด้วยใบหน้ายิ้มอิ่มเอิบ ภูมิใจ พร้อมกับอวยพรลูกหลานแต่ละคน

หลายคนรีบเปิดอ่าน ไม่นานก็เห็นบางคนตาแดง ร้องไห้ บอกว่า ไม่ทราบว่าปู่มีชีวิตยากลำบากมากมายเพื่อลูกหลานขนาดนี้ เคยได้ยินท่านเล่าเป็นเรื่อง ๆ พอมาได้อ่านอย่างต่อเนื่องจึงมองเห็นภาพของปู่ ผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อลูกหลานและสังคม

พินัยกรรมมรดกปู่ย่า พ่อเป็นคนบันทึก ไม่ได้มีคนเซ็นเป็นพยานอะไร เมื่อท่านทั้งสองถึงแก่กรรม ก็มีการจัดแบ่งมรดกโดยพ่อไม่ได้นำเอาพินัยกรรมมาเปิด เพราะรู้ ๆ กันหมดว่า พ่อแม่มีอะไรที่ไหนและท่านเคยเปรย ๆ ว่าอะไรยกให้ใคร ท่านเตรียมตัวไว้หมดไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน ทำกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งของธกส.และส่วนตัวในชุมชน เป็นเงินมากพอเพื่อจัดงานศพโดยไม่ให้ลูกหลานเดือดร้อน

พี่น้องของพ่อไม่มีใครว่าอะไรเมื่อพ่อบอกว่าไม่ได้เอาพินัยกรรมมาและเนื้อหาพินัยกรรมบอกอย่างไร ไม่มีใครโต้แย้งแสดงอาการอย่างใด เพราะทุกคนได้รับหมด ยกเว้นพ่อคนเดียว ด้วยความสมัครใจของพ่อเอง

พ่อได้สิ่งดีที่สุดจากปู่ย่าแล้ว ได้ชีวิต ได้พันธุกรรม ได้แบบอย่างคุณธรรม บุญบารมีที่ท่านได้สร้างไว้ก็พอใจแล้ว โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในพระเจ้า ที่ปู่จะพูดเสมอว่า “ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัย”

การลาจากการเป็น “บาทหลวง” นั้น นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับครอบครัว พ่อแม่ญาติพี่น้องและชุมชนชาวคริสต์บ้านเกิด ทุกคนคาดหวังในตัวพ่อสูงมาก สูงเกินไป หวังมากก็ผิดหวังมาก จนยอมรับการเปลี่ยนแปลงชีวิต การตัดสินใจของพ่อไม่ได้

เป็นเรื่องที่ชาวคริสต์อนุรักษ์นิยมรับไม่ได้ (scandal) ถือว่าทรยศ เป็นคนไม่ดี ทำให้พ่อแม่พี่น้องเสียชื่อเสียง ขณะที่ปู่ไม่พูดอะไร ไม่ฟูมฟายเหมือนหลายคน บอกแต่ว่า “ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัย” (thy will be done) ปู่ปล่อยวางให้ทุกอย่างอยู่ในมือของพระเจ้า แล้วแต่พระองค์จะทรงเมตตานำพาไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ปู่คงฟังคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ซึ่งเป็นน้องของตาของพ่อ ที่อธิบายให้ทุกคนแบบปลอบใจว่า อย่าไปเข้าใจว่า หลานชายท่านสึกเพราะผู้หญิงเลย เขาไปเพราะมีความคิด “บ้า ๆ บอ ๆ” ที่ไปเล่าเรียนมามากกว่า ท่านหมายถึงความคิดใหม่ๆ ที่พ่อได้จากการเรียนที่โรมหลังสังคายนาวาติกันที่สอง ที่ “ใหม่” จริง ๆ จนพ่อไม่สามารถทนอยู่ ในพระศาสนจักรที่คนส่วนใหญ่ยังคิดแบบอนุรักษ์นิยมได้

คุณพ่อศรีนวลท่านทราบดี เพราะเคยได้ยินได้ฟังความเห็นพ่อในที่ประชุม และได้เห็นความขัดแย้งระหว่างพ่อกับคุณพ่อคนอื่น ๆ บ่อยครั้ง

คุณพ่อคงได้อธิบายว่า เขาสึกไปก็จริง แต่ในความเชื่อของคาทอลิก เขายังเป็น “พระตลอดนิรันดร์” เขาเพียงแต่ได้รับการยกเว้นจากหน้าที่ทางศาสนา และสามารถแต่งงานได้ แต่ถ้าวันหนึ่งพระศาสนจักร มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจจะขอให้กลับมาทำหน้าที่อีกก็ได้ หรือทุกวันนี้ในกรณีฉุกเฉินก็อาจทำบางพิธีกรรมได้

พ่อได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจากพระสันตะปาปาให้สึกได้ ในหนังสือที่คุณพ่อเยซุอิตที่บ้านเซเวียร์ช่วยเขียนถึงกรุงโรมให้นั้นก็บอกว่า ในสถานะ “ฆราวาส” พ่อน่าจะทำงานเพื่อสังคม เพื่อเพื่อนมนุษย์ได้ไม่น้อยไปกว่าในหน้าที่ของบาทหลวง คงต้องให้คนอื่นประเมินว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ หลังจากที่ได้ “ออกมา” กว่า 40 ปี

มีคนที่คุ้นเคยมาก่อนที่ยังเรียกพ่อว่า “คุณพ่อ” หรืออาจเรียกเพราะเป็นคำที่คนที่ในสังคมไทยเรียก “ผู้ใหญ่” ที่เคารพนับถือกันก็เป็นได้ ซึ่งพ่อก็ยินดี แต่ส่วนใหญ่เรียกอาจารย์ หรือด็อกเตอร์มากกว่า

ปู่มีเพื่อนที่เรียกว่า “เสี่ยว” มาก ไปที่ไหนก็ผูกเสี่ยว อย่างที่บ้านนาเพียง บ้านค้อ ที่นาทม บ้านแพง ที่ปู่ไปซื้อปลาร้าเป็นประจำ ที่บ้านนาหัวบ่อ ตอนไปขายก๋วยเตี๋ยวที่พรรณานิคม ส่วนที่สกลนครปู่มีเสี่ยวเป็นตำรวจคนหนึ่ง ชื่อ “ชำนาญ” ที่ทำให้อุ่นใจได้ว่าไม่ถูกใครรังแกได้ง่าย ๆ พ่อว่าจะไปตามหาลูกหลานลุงชำนาญดู

ความเป็นเสี่ยวของปู่ทำให้ครอบครัวลูกหลานกลายเป็นพี่น้องกันหมด พึ่งพาอาศัยกัน ไปมาหาสู่กันจนถึงทุกวันนี้ ลูกหลานของเสี่ยวมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยแซฟ หลายคนก็พักที่บ้าน บางคนก็พักที่บ้านยายบ้านญาติ พึ่งพาอาศัยกันเหมือนญาติสนิทจนถึงทุกวันนี้

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ บันทึกชีวิต 15/11/22

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com