#ชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี
ฉบับที่ ๔ “พ่อ”
ลูกรัก
ปู่กลัวย่าไหม คงไม่มั้ง แต่ก็เกรงและรักย่าแน่ ตอนที่ย่าป่วยไปโรงพยาบาลที่สกลนคร ทุกครั้งปู่จะไปเยี่ยม ตอนเช้าจะให้จ๊อบ ลูกนายโก้ ซึ่งเป็นลูกลุงโกก ลูกชายคนโตของปู่ย่า จ๊อบเป็นเหลนคนโปรด ทวดจะให้ไปส่งข้าวต้มให้ย่าทุกเช้า ให้เงินค่ารถโดยสาร ไปถึงสกลนครก็นั่งรถเมล์ไปโรงพยาบาล ทวดจะให้รางวัลเหลนทุกครั้ง
ครั้งสุดท้ายที่ย่าป่วยไปนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติ ปู่คงคิดถึง จึงบอกลูกหลานว่าตัวเองไม่สบาย ขอให้ส่งไปโรงพยาบาล ลูกหลานก็จัดให้ เข้าใจว่าปู่คงคิดถึงย่ามากกว่า เพราะอาการก็ไม่เห็นเป็นอะไรมาก จึงขอให้ทางโรงพยาบาลจัดห้องใกล้ๆ กับที่ย่าพักอยู่ จะได้เดินไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกันง่าย
นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ปู่ไปโรงพยาบาล เพราะอยู่นานอาทิตย์กว่า อาการเริ่มไม่ดี หมอแนะนำให้ส่งไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปู่บอกว่า “พอแล้ว พาพ่อกลับบ้าน” ปู่รู้ว่า วาระสุดท้ายมาถึงแล้ว ท่านอายุ 88 ปี คงรู้ว่าชีวิตนี้อยู่มาเพียงพอ ปู่กลับไปนอนที่บ้าน อาการทรุดลง 10 วันท่านก็จากไป อายุ 88 ปี
ปู่เคยบอกย่าหลายครั้งว่า “ให้พ่อไปก่อนนะ ถ้าแม่ไปก่อน พ่อคงอยู่ไม่ได้” ปู่โรแมนติกไม่น้อย หวานกับย่าจนบั้นปลายชีวิต ถ้าไม่หวานคงไม่ได้พยานรัก 14 คนหรอกนะ
ตลอดชีวิตท่านเคยเจ็บป่วยหลายครั้ง ท่านมีโรคประจำตัวคือหอบหืด แต่ก็แปลกที่เมื่ออายุมากขึ้น เลย 60 โรคนี้หายไป เคยถามปู่เหมือนกันว่า หายได้อย่างไร ท่านตอบว่าไม่ทราบเหมือนกัน ไม่ได้กินยาอะไร อาจเป็นเพราะเลิกสูบบุหรี่ หรือว่าอาจเป็นเพราะเลิกทำงานหนัก มีเวลาพักผ่อนมากกว่าแต่ก่อน
ปู่บอกว่า อาหารการกินก็ปกติ พ่อเห็นปู่ทานอาหารค่อนข้างน้อย คงจะจริงตามที่โบราณว่าไว้ กินน้อยตายยาก กินมากตายไว ปู่กินลาบดิบใส่เลือดเดือนละครั้ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “เพื่อถ่ายท้อง”
พ่อคิดเองว่า อาจเป็นเพราะตลอดชีวิต ปู่กินอาหารจากธรรมชาติ ไม่ได้แปรรูป ไม่ได้สะสมสารเคมีจากอาหารสดอาหารแห้ง อาหารสำเร็จจากตลาด ฟาสฟู้ด อาหารขยะอย่างในปัจจุบัน
ที่บ้าน คนทำอาหารคือย่าและบรรดาพี่สาวของพ่อ ต่อมาก็น้องสาวของพ่อ ซึ่งล้วนมีฝีมือที่สืบทอดมาจากย่า โดยเฉพาะการตำน้ำพริกสูตร “แม่คำปุน” นั้นอร่อยนัก พ่อเองก็ได้แต่ช่วยไปเด็ดผักอีตู่ (ใบแมงลัก) ในสวนหลังบ้าน ปกติมีหน้าที่นึ่งข้าว ส่วนอาหารที่ช่วยได้อย่างมากก็ปิ้งปลา ต้มไข่ ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น
แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้ คือปู่มีฝีมือการทำกับข้าวระดับเชฟทีเดียว โดยเฉพาะการทำโหยย อาหารเวียดนามนั้นอร่อยแบบทำหม้อใหญ่เท่าไรก็ไม่เหลือ โหยยทำได้กับเนื้อหมูหรือเนื้อหมา แต่ปกติก็หมู มีเครื่องเทศสมุนไพรใส่ลงไปในหม้อที่มีขาหมู ตีนหมู กระดูกหรือส่วนอื่นๆ สับเป็นชิ้น มีวิธีทำที่วันนี้หาดูได้ในยูทูบ แต่พ่อดูแล้วเอามาทำ ยังไงก็อร่อยสู้สูตร “คุณพ่อจำนง” ไม่ได้ แบบที่วันนี้เขาเรียกว่า “ละลายในปาก”
อีกคนที่ฝีมือทำลาบก้อยและอาหารต่างๆ ที่ใครได้ชิมแล้วต้องยกนิ้วให้ว่าฝีมือระดับเชฟมิชเชลลิน คือพี่โกก พี่ชายคนโต หรือลุงโกกของลูก เวลามีงานบุญงานใหญ่ ต้องเรียกใช้บริการของเชฟโกก เพราะไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง สร้างชื่อเสียงไว้มากในหมู่วงศาคณาญาติ
พ่อได้ซื้อทัวร์ชาวคาทอลิกให้ปู่ไปแสวงบุญที่กรุงโรม ไปตุรินบ้านของนักบุญยอห์น บอสโก แล้วไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์อิสราแอล เมื่อกลับมา พวกเราไปรับปู่ที่ดอนเมือง นั่งมาในรถ ปู่ดีใจภูมิใจมาก ขอบคุณและบอกพ่อว่า “ตอนนี้พ่อนอนตายตาหลับได้แล้ว”
ตอนที่พ่อบวชแล้วกลับไปทำงานเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัครเทวดามีคาแอลที่ท่าแร่นั้น คิดอยู่แล้วว่า คงบวชต่อไปได้อีกไม่นาน และคิดว่าคงต้องไปเรียนต่อ แต่ให้ทางศาสนจักรส่งไปคงไม่ทำ เพราะกลัวว่า เมื่อจบมาอาจสึก หรือไม่กลับมาทำงาน
พ่อสนใจเรื่องความเชื่อของคนพื้นบ้าน เรื่องวัฒนธรรม จึงคิดอยากไปเรียนด้านนี้ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐ ได้หาข้อมูลแล้วติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยเยล เขาตอบมาว่ายินดีให้เข้าเรียนปริญญาเอกได้ แต่จะหาทุนจากที่ไหน ระหว่างนั้น พ่อก็หาข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีที่หมู่บ้านริมหนองหาร โดยขอให้ปู่ช่วยประสานให้พ่อไปศึกษาที่บ้านนาแก้ว ไปสัมภาษณ์เฒ่าจ้ำ คนกลางระหว่างคนกับผี นางรำ แล้วไปสัมภาษณ์คนทรงที่มีผีใหญ่หนองหารเป็น “เจ้า” อยู่ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
ทุกขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ มีงานบุญบ้าน บรรดาลูกๆ ของผีใหญ่ที่เรียกว่า “ลูกจริง” คือคนที่เคยเจ็บป่วยแล้วผีใหญ่ไปช่วยให้หายป่วย โดยให้คนป่วยนั้นรับผีน้อยในหนองหารมาอยู่ด้วย ถ้าต้องการกินของเซ่นไหว้ ให้เรียกว่า “ลูกเลี้ยง” ตอนนั้นมีรวมกันประมาณ 300 คน พ่อไปสังเกตการณ์งานเลี้ยงผีที่บ้านของเจ้าผีใหญ่ที่บ้านนาแก้ว
เขาปลูกเพิงหมาแหงนในบริเวณบ้าน นั่งให้บรรดาลูก ๆ มาคารวะ แล้วผลัดกันออกไปรำรอบวงไปมาทั้งวัน ส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว อายุไม่มาก คนที่นั่นบอกว่า เด็ก ๆ เหล่านั้นปกติขี้อาย แต่เมื่อมาในพิธีก็เหมือนอยู่ในภวังค์ ไม่รู้ตัว เจ้าใหญ่ไม่ดื่มเหล่า ดื่มแต่น้ำอัดลมสีดำ
ปู่ทราบดีว่า พ่อต้องการไปเรียนต่อที่อเมริกา และกำลังเตรียมข้อมูล พ่อเชื่อว่าปู่น่าจะรู้สึกแล้วว่า ยังไงพ่อคงอยู่ในสภาพนักบวชในศาสนจักรแบบนั้นไม่ได้ วันหนึ่งคงต้องไป และอาจไปเป็นอาจารย์ที่ไหนสักแห่งก็เป็นได้
ที่สุด พ่อก็หาทุนที่ไหนไม่ได้ เพราะการเรียนสามสี่ปีคงต้องใช้ทุนไม่น้อย จึงได้ติดต่อไปที่เยอรมัน ไปที่ครอบครัวที่เคยช่วยเหลือพ่อตอนที่เรียนที่โรม ครอบครัวนี้ได้ติดต่อไปที่มหาวิทยาลัยเยซุอิตที่มิวนิก พ่อส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้ ที่เยอรมันรู้กันว่าไม่มีค่าเล่าเรียน ไม่ว่าระดับไหน แต่ต้องดูแลตัวเองเรื่องค่ากินอยู่
ทางครอบครัวก็ขอทุนที่สังฆมณฑลมิวนิกให้พ่อได้ไปพักอาศัยที่วัดแห่งหนึ่งชานเมืองมิวนิก ไปช่วยงานวัดในวันอาทิตย์ วันธรรมดาก็ไปเรียน ทางสังฆมณฑลให้เงินค่าครองชีพมาด้วยส่วนหนึ่ง แม้ไม่มากนักแต่ก็พอให้อยู่เรียนจนจบปริญญาเอกได้ในเวลาเพียง 2 ปี แม้ต้องเรียนและเขียนวิทยานิพนธ์วันละ 12 ชั่วโมง
ประมุขของสังฆมณฑลมิวนิกในขณะนั้น คือ พระคารดินัลโยเซฟ รัตซิงเกอร์ ซึ่งต่อมาได้ไปเป็นผู้บริหารสำคัญที่วาติกัน แล้วได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่มิวนิกพ่อไม่ได้พบท่าน ไม่ได้รู้จักเป็นส่วนตัว
พระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ประมุขมิสซัง ทราบว่าพ่อต้องการไปเรียนตั้งแต่ท่านเห็นจดหมายจาก “เยล” แล้ว (เขาส่งไปที่สำนักมิสซัง ท่านเห็นเข้าพอดี) ท่านไม่ได้ว่าอะไร หรือถามอะไร จนเมื่อพ่อได้คำตอบสุดท้ายจากเยอรมัน จึงได้ไปเรียนท่านให้ทราบถึงการตัดสินใจไปเรียน ท่านก็อนุญาต แต่ก็ไม่ได้ให้อะไรพ่อเพื่อช่วยการเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอะไรอื่น
วันหนึ่ง ปู่ขับมอเตอร์ไซค์ไปที่บ้านพัก พ่อออกไปพบ ปู่ยื่นซองหนึ่งให้ ไม่ได้ว่าอะไร แล้วก็จากไป พ่อเปิดซองพบเงินจำนวนหนึ่ง เพียงพอเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินไปเยอรมัน พ่อยืนมองพ่อขับรถมอเตอร์ไซค์จากไปน้ำตาซึม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเรียนจบ และสึก พ่อไปสอนที่ธรรมศาสตร์ ปู่จึงพูดว่า “ขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัย” ปู่ยังทันได้เห็นพ่อลาออกจากธรรมศาสตร์ ไปทำงานเอดส์ที่เชียงใหม่ เป็นผู้จัดการโครงการเอดส์ของไทย-ออสเตรเลีย ต่อมาของยูนิเซฟในเขตลุ่มน้ำโขง และเป็นผู้อำนวยการโครงการเอดส์ของสหประชาชาติในเอเชีย แปซิฟิก
สุดท้าย เมื่อพ่อลาออกจากยูเอ็น ไปสมัคร ส.ว. ปู่อายุ 87 เป็นคนวิ่งเต้นประสานกับเสี่ยว ญาติพี่น้อง คนรู้จักให้สนับสนุนพ่อ ปู่จัดงานเลี้ยงที่บ้าน เชิญใครต่อใครมา พาพ่อไปพบคนโน้นคนนี้ ทั้ง ๆ ที่พ่อไม่ได้ขอร้อง เพราะเห็นว่าปู่อายุมากแล้ว ทุกวันก่อนเลือกตั้ง พ่อไปหาเสียงกลับบ้านดึก ปู่จะออกมาชะเง้อชะแง้แลดูด้วยความห่วงใยว่า ลูกกลับมาหรือยัง ปู่กลัวลูกชายถูกคนดักยิง ซึ่งปกติ ปู่นอนแต่หัวค่ำและหลับไปนานแล้ว
ปู่อยากเห็นลูกชายได้เป็น ส.ว. ก่อนจากไป แต่ท่านก็ไม่ได้เห็น ท่านจากไปในระยะที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งว่า พ่อสอบตก แม้จะได้คะแนนเกือบห้าหมื่น แบบ “เสียงดีแต่มีคะแนนไม่พอ”
ไม่ใช่องุ่นเปรี้ยว แต่มองชีวิตเป็นบวก แม้ไม่ได้เป็น ส.ว. พ่อก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้าน ไปอยู่กับพ่อแม่แทบทุกเสาร์อาทิตย์ที่กลับไป “หาเสียง” ยังจำภาพที่ตื่นแต่เช้า นั่งผิงไฟในเดือนธันวาคมอากาศหนาวกับพ่อแม่สามคน ไม่ได้พูดจาอะไรกัน ปล่อยให้หัวใจพูดมากกว่า
ไม่ได้เป็น ส.ว. ก็ไม่เป็นไร ได้ไปอยู่ใกล้บุพการีตั้งเกือบปี เหมือนกับไปส่งท่าน เพราะปลายเดือนเมษายน 2543 ปู่จากไป สามอาทิตย์ต่อมาในเดือนพฤษภาคม วันวิสาขบูชา ย่าก็ไปด้วย
พ่อบอกปู่ที่หน้าศพว่า “ขอบคุณพ่อที่ให้ชีวิตลูก ขอบคุณสำหรับแบบอย่างและแรงบันดาลใจ ความเสียสละที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้ดี มีความเจิรญก้าวหน้าในชีวิต ลูกไม่ได้มรดกเป็นทรัพย์สินจากพ่อ แต่ได้อะไรยิ่งใหญ่กว่านั้น คือความรักของพ่อ ที่ทำให้ลูกมีวันนี้”
พ่ออาจจะเป็นพ่อที่ดีให้ลูกอย่างปู่ไม่ได้ แต่ก็ขอให้แบบอย่างชีวิตของปู่เป็นพลังให้ลูกเช่นเดียวกัน
รักลูก-พ่อ
เสรี พพ บันทึกชีวิต 17/11/22