บทเรียนชีวิต (๕)

บทเรียนชีวิต(๕)

ฉบับที่ ๕ “แม่”

ลูกรัก

หลังจากที่ปู่จากไป พิธีฌาปนกิจทางศาสนาเสร็จสิ้น ยังมีการสวดภาวนาที่บ้านตอนค่ำอีกสามวัน แต่ก็มีเพียงญาติพี่น้องลูกหลานและคนที่สนิทกันเท่านั้น

หลังจากนั้นก็ยังมีการสวดภาวนาต่ออีกทุกคืน แต่ก็มีเพียงสมาชิกในครอบครัว คืนหนึ่ง หลังการสวดภาวนา พ่อนั่งอยู่กับย่าและญาติพี่น้อง พ่อถามย่าว่า “เคยเบื่อพ่อบ้างไหมครับแม่” แม่ตอบว่า “เคย” แล้วแม่ก็หันไปมองภาพปู่ในกรอบรูปใหญ่ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะใกล้ๆ เหมือนกับเกรงใจปู่ แล้วหันกลับมาบอกว่า “แต่ก็เพียงสั้น ๆ” “เบื่อพ่อทำไมครับ” พ่อถาม “พ่อกรนดัง แม่นอนไม่ค่อยหลับ” แม่ตอบ แล้วก็ยิ้มเศร้า ๆ

พ่อรู้ว่า ปู่กับย่ารักกันมาก ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเกือบ 70 ปี ย่าแต่งงานกับปู่ตอนอายุยังไม่ถึง 15 สมัยโน้นคงไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้ใหญ่จัดการให้ แต่ไม่ถึงกับที่เรียกกันว่า “คลุมถุงชน” ที่ฟังจากย่าเล่า เขาก็ไม่ได้บังคับเสียทีเดียว ถ้าหากไม่ชอบจริง ๆ ก็ปฏิเสธได้ ย่ายังบอกด้วยว่า ที่จริง ปู่เขารักชอบอีกคนหนึ่ง ย่าบอกชื่อด้วย แต่เมื่อผู้ใหญ่เขาแนะนำและสนับสนุน ปู่กับย่าเลยได้แต่งงานกัน

ย่าเล่าเรื่องเก่ง ละเอียด แต่ละเรื่องกินเวลานานกว่าจะจบ อย่างเรื่องราวของบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องนี่ ย่าเล่าได้เป็นวัน ๆ ลูกหลานคนไหนสนใจก็นั่งฟังนอนฟังได้เสมอ อย่างลูกทั้งสองของพ่อที่เห็นคุยกับย่าได้เป็นวัน ๆ ย่าคงดีใจที่มีหลานสนใจฟังเรื่องราวที่ท่านเล่า

ย่าเป็นลูกนายเฮียนกับนางทองจันทร์ หรือที่ใคร ๆ เรียกว่าบาฝ้าย นายเฮียน (เล็ก) เป็นลูกหัวปีของนายเฮียนใหญ่หรือนายหนู กับนางหนูนา ผู้เป็นหลานเจ้าเมืองสกลนคร ตามเอกสารของมิชชันนารีที่ท่าแร่ นางหนูนาเป็นบุตรสาวคนโตของนางแก้วอุบล พรหมสาขา ณ สกลนคร กับขุนวรวุฒิ รองเจ้าเมืองสกลนคร นางหนูนาไม่ยอมแต่งงานกับคนที่ผู้ใหญ่หมายหมั้นไว้ หนีจากเมืองสกลนครไปอยู่ท่าแร่ ไปขอพึ่งพาอาศัยคุณพ่อเจ้าวัด ทางพ่อแม่ให้คนไปตามก็ไม่ยอมกลับ จึงถูกตัดจากวงศ์ตระกูล “พรหมสาขา ณ สกลนคร” แต่ต่อมาก็ได้นามสกุลพระราชทาน “ศรีวรกุล” นี่คือต้นตระกูลศรีวรกุล ซึ่งเป็นของย่า (แม่ของพ่อ) ที่ต่อมาแต่งงานกับปู่จึงได้นามสกุล พงค์พิศ ที่ปู่เป็นต้นตระกูลเช่นเดียวกัน

นายหนูกับนางหนูนามีลูก 9 คน มีอยู่ 2 คนที่ได้บวช คือ คุณพ่อศรีนวล และคุณพ่อคำจวน ลูกหลานตระกูลศรีวรกุลมีอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นญาติ เป็นคนเชื้อสายเวียดนามที่ได้สัญชาติไทย และขอใช้นามสกุล “ศรีวรกุล” (เช่นเดียวกับ “พงค์พิศ” ที่ไม่ใช่ทุกคนเป็นญาติโดยตรง แต่ได้ขอใช้นามสกุล)

นายหนูกับนางหนูนา ทวดของพ่อ คือเจ้าของบ้านหินร้าง ที่ตั้งอยู่ริมถนนราษฎร์เจรญ เส้นผ่ากลางหมู่บ้าน เป็นหินที่ชาวบ้านเรียกว่าหินแฮ่ที่เขาทำเป็นแผ่นขนาดอิฐบล็อค เอามาสร้างบ้าน สร้างกำแพง บ้านร้างนี้มีต้นไทรขึ้น อาจทำให้หลายคนคิดถึงวัดพุทธบางแห่ง หรือนครวัดที่กัมพูชา ทุกวันนี้ตึกหินนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ หรือแลนด์มาร์กหนึ่งของท่าแร่ไปแล้ว

คนที่ได้อาศัยที่บ้านหลังนี้เป็นคนสุดท้าย คือ ป้าจูมมาลี ลูกสาวคนสุดท้อง หรือว่าน้องสาวของตาของพ่อ ซึ่งพ่อก็พอจำได้ว่าทันได้เห็นท่านตอนที่ยังเด็กมาก สนิทกับลูกของท่าน เพราะป้าจูมมาลีมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่คำปุนของพ่อ

ส่วนนางทองจันทร์ หรือบาฝ้าย ยายของพ่อ เป็นลูกสาวขององหมื่นเดช (อง เป็นคำที่เรียกผู้อาวุโสในภาษาเวียดนาม) ต้นตระกูล “อุดมเดช” หนึ่งในตระกูลใหญ่นายฮ้อยฐานะดีของท่าแร่ และเจ้าของหนึ่งในสี่ตึกทรงโคโลเนียลสีเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ของท่าแร่

ปู่กับย่ามีลูก 14 คน ที่มีลูกมากคงไม่ใช่เพราะสมัยนั้นรัฐบาลส่งเสริมให้มีลูกมาก มีเงินตอบแทนให้ด้วย แต่เพราะความเชื่อในพระเจ้าที่ “แม้แต่นกกระจอกไม่ได้ทำนาเกี่ยวข้าว พระเจ้าก็ทรงเลี้ยงมัน คนเราไม่มีค่ามากกว่านกกระจอกหรือ” นอกนั้น การคุมกำเนิดเป็นความผิดต่อหลักศาสนา ชาวคริสต์จึงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ (เหมือนที่เราเห็นประชากรฟิลิปปินส์ที่เคยมีพอๆ กับไทย วันนี้มี 110 ล้าน ไทยเรามี 70 ล้าน ห่างกันถึง 40 ล้านในเวลาไม่กี่สิบปี เพราะฟิลิปปินส์นับถือศาสนาคริสต์)

ย่าเรียนจบป. 4 เขียนหนังสือสวย อ่านง่าย และมักเขียนจดหมายถึงลูกๆ เสมอ พ่ออยู่กรุงโรมก็มีย่ากับพี่สาวพ่อ (ป้าจิว หรือครูรำไพ) ที่เขียนจดหมายส่งข่าวพ่อบ่อย ย่าเขียนไม่เกินสองหน้ากระดาษ แต่พ่อก็ดีใจมากทุกครั้งที่ได้รับจดหมายย่า เพราะสมัยนั้นไม่มีช่องทางอื่นใดที่จะรู้ข่าวจากเมืองไทย ข่าวทางทีวีก็มีเมื่อเกิดรัฐประหาร หรือเหตุการณ์สำคัญๆ เท่านั้น

ย่าพูดแต่ภาษาลาว หรือภาษาอีสาน ไม่ยอมพูดไทย เพราะพูดทีไรลูกหลานที่ฟังอยู่พากันหัวเราะ ถ้ามีแขกที่ไม่ใช่คนอีสานมาบ้าน ย่าก็มักจะไม่พูดอะไร อาจเพียงตอบคำถามสั้นๆ และขอให้ลูกหลานพูดหรือตอบแทน แต่ถ้ามีปู่อยู่ด้วยก็สบาย เพราะปู่พูดเอง แม้ลูกหลานขำหัวเราะเพราะพูดทองแดงไทยผสมลาว ทั้งคำและสำเนียง ปู่ก็เฉยๆ พูดต่อไปสบายๆ แบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พ่อโดนย่าตีบ่อย ย่าทำงานบ้านหนัก เลี้ยงลูก วันหนึ่งเตรียมอาหารสามมื้อ อยู่พร้อมหน้ากัน 7-8 คนจะกินอะไร ตอนปู่ไปจับปลาหนองหาร หรือทำเนื้อ ก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ช่วงเวลาอื่นย่าก็ลำบากมากที่ต้องไปตลาด ไปหาซื้ออาหารสดมาทำกับข้าว

หน้าที่ของแม่ลูก 14 คนนี้ต้องพูดถึงตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด เลี้ยงลูกเล็ก ๆ จนโต เป็นภาระและงานที่หนักมาก ย่าเล่าให้พ่อฟังโดยละเอียด “สามวันสามคืน” (สำนวนแปลว่าต่อกันนาน) ว่าเกิดพ่อมาอย่างไร เลี้ยงมาอย่างไร

ย่านั่งเล่านอนเล่าให้พ่อฟังตอนที่พ่อลาออกจากยูเอ็น ป่วยด้วย 4 โรค คือ ความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันสูง และไทรอยด์ หมอให้ยามาห่อใหญ่ บอกให้ไปกินแทนข้าว พ่อลาออกจากยูเอ็น เพราะอยู่ไปคงได้มะเร็งอีกโรคเป็นแน่ ทิ้งยาลงถังขยะ กลับไปขอต่อชีวิตด้วยภูมิปัญญาของพ่อแม่ของตนเอง

พ่อไม่ได้พูดแบบกลอนพาไป หรือตีฝีปาก แต่อยากบอกลูกว่าเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ว่า ที่ป่วยด้วยโรคทั้งสี่นั้นเป็นเพราะระบบสุขภาพพัง ต้องฟื้นฟูทั้งระบบ และไม่มีวิธีไหนดีเท่ากับวิธีธรรมชาติ ต้อง “คืนสู่รากเหง้า” “คืนสู่ธรรมชาติ” และ “คืนสู่สามัญ” (back to basics)

ตอนที่ทำงานที่ยูเอ็น โรเบิร์ต เบนนูน เพื่อนชาวออสเตรเลีย คนที่เอาชื่อพ่อไปเสนอ ไปสมัครเป็นผู้อำนวยการนั่นแหละ ยังเคยแซวเล่นว่า เป็นไง ยิ่งสูงยิ่งหนาวใช่ไหม ใช่ หน้าที่การงานสูง เงินเดือนสูง ความดันก็สูงตามไปด้วย เพราะความรับผิดชอบและความเครียดที่สูงติดเพดาน แต่ “หนาวมากจนเป็นไข้” ว่างั้น

อยากสารภาพว่า ที่สูงกว่าและเป็นสาเหตุหนึ่งของความดันโลหิต คือความดันทุรัง แต่ไม่ใช่ความดื้อรั้นอะไร เป็นความดันทุรังเรื่องการงานที่ไม่รู้จักพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดูแลสุขภาพ การกินการอยู่ ปล่อยให้เป็นเรื่องรองเรื่องเล็กที่ลืมไปเลย คิดถึงแต่เรื่องงานอย่างเดียว

ย่าเล่าว่า ต้นเดือนมกราคม อากาศหนาว ย่าปลุกปู่ให้ไปหาหมอตำแย เพราะลูกคนที่เจ็ดกำลังจะออกมาแล้ว ปู่ไปไม่ทัน พ่อด่วนออกมาก่อน โดยปู่ทำหน้าที่หมอตำแยเอง ซึ่งย่าบอกว่า ปู่เคยทำคลอดให้ลูกหลายคน เพราะหมอตำแยมาไม่ทัน ย่าเล่าว่า พ่อเกิดมามีลักษณะแปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไปหลายอย่าง ที่พ่อคงไม่เล่าที่นี่

ย่าคลอดแล้วก็อยู่ไฟ คือนอนบนแคร่ไม้ไผ่ มีถ่านไฟอยู่ด้านล่าง เพื่อให้ร่างกายอุ่นอยู่เสมอ ปู่ต้องไปเตรียมหาฟืนมาไว้ ไม่ใช่ฟืนแบบไหนก็ได้ ต้องเป็นฟื้นที่ไม่มีควันอย่างไม้มะขาม ไม้สะแก อาบน้ำต้มใบหนาด ใบมะขามและข่า อยู่ไฟสองสามสัปดาห์ เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ ประเพณีว่าอย่างนั้น

ต้องดื่มน้ำสมุนไพรร้อน ๆ กินข้าวจี่ หรือข้าวเหนียวปิ้งกับเกลือกับปลาขาวตัวเล็ก เหล่านี้เป็นประเพณีความเชื่อแต่โบราณ ซึ่งบางอย่างการแพทย์แผนปัจจุบันก็บอกว่าควรปรับเปลี่ยนเสีย การอยู่ไฟก็เลิกไป อาหารการกินก็ให้มีครบห้าหมู่ เพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีนมให้ลูก

แต่ในกรณีของพ่อยังเกิดและเติบโตมาด้วยการดูแลแบบโบราณ ที่หมอตำแยไม่ได้ทำเพียงการมาช่วยทำคลอด แต่มาช่วยดูแลทั้งแม่และลูกไประยะหนึ่ง โดยไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไร ถือเป็นหน้าที่ แต่ก็มักมีการตอบแทนในรูปแบบข้าวของกินของใช้มากกว่าเป็นเงิน หรือไปช่วยลงแขกดำนาเกี่ยวข้าวให้หมอตำแย หมอยาและคนที่ทำงานเป็นจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน

พ่อคงไม่ต้องเล่ารายละเอียดทั้งหมดที่ย่าเล่าให้ฟัง อยากบอกเพียงว่า ที่เห็นแม่ของตนเองเลี้ยงน้อง ๆ ท่านทำอย่างไร นอกจากให้นมตนเองแล้ว เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มให้ข้าว โดยเอาข้าวเหนียวนึ่งมาเคี้ยวให้ละเอียด เพราะสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องปั่นเครื่องบดอย่างวันนี้ เอาข้าวที่เคี้ยวแล้วหมกใบตองไปทำให้สุกโดยคลุกขี้เถ้าร้อน ๆ เสร็จแล้วแม่ก็นั่งกับพื้น ให้ลูกมานอนหงายบนหว่างขา หันหัวไปทางแม่ แล้วก็เอาข้าวป้อนเข้าปากลูกพร้อมกับน้ำ โดยใช้นิ้วหยิบน้ำผสมข้าวเพื่อไม่ให้ข้นเกินไป ลูกก็กินไปร้องไห้ไป คงอยากกินนมมากกว่า

พ่อและพี่น้องทุกคนโตมาด้วยขี้ปากแม่นี่เอง มีน้ำลายเป็นเอนไซม์ช่วยย่อย เป็นข้าวสีแดง เพราะย่าเคี้ยวหมาก

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ 20/11/22

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com