ชาวนุง ในเวียดนาม
The Nung people in Vietnam
อาจารย์ทองแถม นาถจำนง เชิญให้ผมช่วยเขียนเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได เนื่องจากมีข้อมูลภาษาจีนเรื่องนี้อยู่มากมายที่ชาวไทยในประเทศไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้อ่าน และผู้รู้ภาษาจีนที่จะสนใจค้นคว้าเรื่องเหล่านี้ก็มีน้อย
ผมจึงจะเขียนอะไรสั้น ๆ ในแต่ละเดือนตามนโยบายของกองบรรณาธิการ “ทางอีศาน” เพื่อที่จะปรับให้ “ทางอีศาน” มีเนื้อหาหลากหลายและอ่านง่ายขึ้น
เดือนแรกนี้ ผมขอเสนอเรื่องของ “ชาวนุง” ที่อยู่ในเวียดนามเป็นเรื่องแรก โดยแปลมาจากหนังสือ “ชนชาติและปัญหาชนชาติในเวียดนาม” หน้าที่ ๑๖๘ 《越南的民族与民族问题》第 168 页
ชาว “นุง” ตำราภาษาไทยมักจะเรียกว่า “ไทนุง” แต่อาจารย์ทองแถมบอกว่า เคยคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการชาวนุงหลายท่าน พบว่า พวกเขาเรียกตัวเองว่า “นุง” หรือ “คนนุง” มิได้เรียกตัวเองว่า “ไท”
ปัจจุบันนี้คนนุงในกวางสี ถูกรวมเรียกว่า “ชนชาติจ้วง” ไปแล้ว แต่ในเวียดนามยังถูกจัดแยกเป็นชาติพันธุ์นุง
ดั้งเดิมคนนุงเป็นเผ่าใหญ่ทางภาคใต้ของกวางสีและในภาคเหนือของเวียดนาม ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ผู้นำของเผ่านุง นำพาคนพื้นเมืองกลุ่มไท-กะได เผ่าต่าง ๆ ก่อการลุกขึ้นสู้ต่อต้านราชสำนักซ่งใต้ โดยมีผู้นำชื่อในภาษาจีนเรียกว่า “หนงจื้อเกา” ชื่อในภาษาเวียดนามเรียกว่า “หนุ่งตรีเกา” จัดตั้งเป็นกองทัพใหญ่ยึดได้เมืองหนานหนิง แล้วยกทัพลงไปล้อมตีเมืองกวางเจา (อดีตราชธานีของก๊กหนานเยวี่ย) แต่ตีกวางเจาไม่แตก ต้องกลับมาตั้งมั่นที่หนานหนิง แล้วต่อมาราชสำนักจีนราชวงศ์ซ่ง (และถูกตีกระหนาบโดยราชสำนักเวียดด้วย) ปราบปราม “หนงจื้อเกา” ได้สำเร็จ คนนุงจำนวนมากต้องหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ในยูนนาน (จังหวัดเหวินซาน)
อาจารย์ทองแถม บอกว่านักวิชาการชาวนุงให้ข้อมูลอาจารย์ว่า “นุง” มาจากคำว่า หนอง (หนองน้ำ) ที่เรียกกันว่า “คนนุง” (คนหนอง) เพราะชอบอยู่ใกล้น้ำ ชาวนุงในภาคใต้ของยูนานเรียกทะเลสาบเตียนฉือแถบคุนหมิงว่า “หนองเหนอ (เหนือ)” และเรียกทะเลสาบเอ๋อไห่ที่เมืองต้าหลี่ (ตาลีฟู) ว่า “หนองแส” (แส ในภาษานุงแปลว่า ไกลโพ้น)
ภาษานุงมีคำศัพท์โบราณใกล้เคียงกับคำลาว-ไท จำนวนมาก เช่นเรียกดวงจันทร์ว่า “อีเกิ้ง”
ชนชาตินุง
ชนชาตินุง (หนุ่ง – ในภาษาเวียดนาม , หนง – ในภาษาจีน) ชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เป็นชนชาติใหญ่อันดับที่สาม มีประชากรประมาณ ๙ แสนกว่าคน ชนชาติไต้นุง (บทความนี้ยังเรียกกลุ่มชนชาติโท้ในเวียดนามว่า “พวกไต้นุง” คนโท้มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนนุงมาก…ผู้แปล)
ชนชาตินุง และชนชาติจ้วง ในประเทศจีนมีความใกล้ชิดดั่งเครือญาติ ที่ได้แยกย้ายกันตั้งที่อยู่อาศัยตามชายแดนจีน-เวียดนาม
คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก่อนทศวรรษที่ ๖๐ รัฐบาลเวียดนามขณะนั้นเรียกพวกเขาว่าชนชาติจ้วง แต่หลังจากเกิดสงครามจีน-เวียดนาม ความสัมพันธ์เสื่อมโทรมลง ได้เปลี่ยนคำเรียกเป็น “ชนชาตินุง” แม้ว่าในยุคปัจจุบัน(ไตนุงกับนุงและเผ่าอื่น ๆ ….ผู้แปล) จะมีพัฒนาแยกแตกต่างกันและมีชื่อเรียกชนชาติต่างกันไป แต่ทางภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และมรดกวัฒนธรรมยังคงรักษาการลักษณะร่วมกันได้ สรุปแล้วมีลักษณะร่วมกันมากกว่าลักษณะแตกต่าง สามารถมองรวมเป็น “ชนชาติข้ามพรมแดน” ได้
ชนชาตินุงและชนชาติไต้นุง (โท้) มีประชากรรวมประมาณ ๒ ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามทุ่งราบและเชิงเขาในแถบชายแดนจีน-เวียดนาม เช่น หลางเซิน กาวบั่ง บั๊กก๋าน ท้ายเงวียน บั๊กยาง เตวียนกวาง เป็นต้น ปลูกข้าวและข้าวโพดเป็นหลัก หัตถกรรมพื้นบ้านและการปศุสัตว์ค่อนข้างเจริญ
คนเผ่าไต้นุง (โท้) โยกย้ายเข้าไปอยู่ในเวียดนามนมนานมากแล้ว และได้รับอิทธิพลจากชาวเวียดมาก ส่วนชาวนุงนั้นโยกย้ายเข้าไปอยู่ในเวียดนามภายหลัง นับจากปัจจุบันไม่เกิน ๘-๙ รุ่นอายุคน มีประวัติศาสตร์ประมาณ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปี (ชาวนุง) จึงมีลักษณะร่วมกับชาวจ้วงมากหน่อย
ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวไต้นุงกับชนชาตินุง
หลักการสำคัญที่สุดซึ่งรัฐบาลเวียดนามใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างชนชาติไต้นุงและชนชาตินุง คือช่วงระยะเวลาที่มาอยู่ในเวียดนาม (ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงทางภาคเหนือของเวียดนาม ) ยาวนานก่อน-หลัง
ชนชาติไต้นุงอยู่อาศัยในเวียดนามเป็นระยะยาวนาน (กว่าชนชาตินุง) ส่วนพวกนุงนั้นอพยพเข้ามาเวียดนามเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ชาวเหล่า (จีนโบราณตั้งแต่ยุคสามก๊กลงมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง เรียกคนพื้นเมืองแถบกวางสี กุ้ยโจว ว่า “เหล่า”…ผู้แปล) ที่อยู่อาศัยในดินแดนเวียด (ประเทศเวียดนาม) ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์คือชาวไต้นุง ส่วนพวก “เหล่า” ที่อพยพเคลื่อนย้ายลงมาจากกวางสีและยูนนาน (ในภายหลัง) ก็คือชาวนุง ชาวนุงในดินแดนประเทศจีนเป็นส่วนประกอบหลักของของชาว “จ้วงใต้” นับแต่โบราณมาก็ใกล้ชิดกับพวกไต้นุง (โท้) ที่อยู่ในดินแดนประเทศเวียดนามเหมือนฟันกับริมฝีปาก แม้ในช่วงมีสงคราม (ระหว่างจีนกับวียดนาม) ก็มิได้ตัดสายสัมพันธ์การไปมาหาสู่และการเกี่ยวดองแต่งงานกัน พวกไต้นุง (โท้) กับนุงในเวียดนามนั้นมีภาษาและวัฒนธรรมร่วมกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก ดังนั้นในเวียดนามจึงนิยมใช้คำว่า “ไต้นุง” เป็นคำเรียกรวม ๆ ทั้งพวกไต้นุงและพวกนุง
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาตินุง กับชนเผ่าชาติไตนุง (โท้) ใกล้ชิดกันมาก ชาวไต้ (โท้) บางกลุ่มกลาย (เปลี่ยน) มาจากชาวนุง เช่น ในจังหวัดเตรียนกวาง ดั้งเดิมมีจำนวนชาวนุงมากกว่าชาวไต้ (โท้) แต่ต่อมาจำนวนชาวไต้ (โท้) กลับกลายเป็นมากกว่าชาวนุง ชาวไต้ (โท้) ที่กลายเปลี่ยนเป็นนุงนั้น ก็ยังจดจำได้ว่าบรรพชนของตนเป็นพวก “จ้วงนุง” (คือนุงที่เคยอยู่ในกวางสี-จ้วง) หรือ “ฟู่นุง” (คนนุงจากเมืองฟู่หนิง富宁 ในยูนนาน) เมื่อสิบ-ยี่สิบปีก่อน มีชาวนุง (ในเตรียนกวาง) เคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพในท้องที่อื่น คนในครอบครัวเดียวกัน พี่ชายลงทะเบียนเป็นชาวไต้ (โท้) แต่น้องชายลงทะเบียนเป็นชาวนุงก็มี เส้นแบ่งระหว่างไต้ (โท้) กับนุงแยกกันยากมาก
ชนชาติไต้ (โท้) เป็นสาขาพัฒนาการสาขาพัฒนาการสาขาหนึ่งของพวก “ไป่เยวี่ย” (เยวี่ยร้อยจำพวก) มีรากเหง้าเดียวกับชาวนุงใกล้ชิดกันมาก สื่อภาษากันได้ และมีวัฒนธรรมร่วมกัน ในช่วงทศวรรษที่ ๘๐ ในหลางเซิน บั๊กก๋าน ชาวไต้ (โท้) ร้อยละ ๕๔.๕ กับชาวนุงร้อยละ ๔๐ ความสัมพันธ์เป็นลุงป้าน้าอากัน
ชาวไต้นุง (โท้) กับชาวจ้วงใต้ (ชาวนุงในกวางสี) แยกจากกันในทางการเมืองภายหลังสมัยราชวงศ์ซ่ง จดหมายเหตุประวัติศาสตร์ “ซ่งสื่อ” มีบันทึกมากมายเกี่ยวกับเมื่อเวียดนามก่อตั้งราชวงศ์ของตนแล้ว ได้ค่อย ๆ ขยายอำนาจขึ้นไปในเขตของ “ชาวเหล่า” ทางเหนือ จากการต่อต้านของชาวเหล่าและการปรามของราชวงศ์ซ่ง ในที่สุดชาวเวียดนามจึงกำหนดอาณาเขต (ก๊ก) แค่เพียงเทือกเขาด้านใต้ของถิ่นอาศัยชาวเหล่า อาณาเขตพรมแดนนี้ได้แบ่งพวกชาวเหล่า (จ้วงใต้) ให้ขึ้นอยู่กับศูนย์อำนาจทางการเมืองที่ต่างกัน ได้แก่ พวกจ้วงใต้ (ชาวนุงเป็นองค์ประกอบหลัก) กับพวกไต้นุง (โท้) ในเวียดนาม จนถึงปัจจุบันนี้ชาวจ้วงในตอนใต้กวางสีส่วนใหญ่ยังเรียกตัวว่า “โท้ 土” (“土” จีนอ่านว่า ถู่ แปลว่า ดิน หรือหมายถึงคนพื้นที่) ส่วนพวกไต้นุงในเวียดนาม ก็เรียกตนเองว่า “โท้” เช่นกัน จนกระทั่งปี ๑๙๕๙ รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศจัดชนชาติในประเทศเวียดนามเป็น ๖๔ ชนชาติ จึงได้ใช้ชื่อเรียกชนชาตินี้ว่า “ชนชาติไต้นุง” อย่างเป็นทางการ
การกระจายตัวของชาวนุงในจีน
ชาวนุงกระจายตัวอยู่ตามแนวชายแดนของหลายมณฑล ชาวนุงดั้งเดิมอยู่ใน กวางโจว กวางสี กุ้ยโจว และยูนนาน ชื่อนำหน้า “นุง-หนง” อาจมีที่มาจากชื่อ “เผ่า” (นุง) วัฒนธรรมประเพณีของชาวนุงนั้นคล้ายกับชาวไต้นุง (โท้) โดยพื้นฐาน ใช้ภาษาเดียวกับชาวไต้นุง (โท้) ปัจจุบันใช้อักษรลาตินเป็นภาษาเขียนของพวกตน
ชาวนุงทำการเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยปลูก ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น การเลี้ยงสัตว์ค่อนข้างเจริญ ได้เพาะพันธุ์พันธุ์ดี เช่น หมูดำแห่งเหมิงคัง และ หลางเซิน ม้าแห่งกางบั๋ง มีชื่อเสียงมากในเวียดนาม การเลี้ยงใช้วิธีปล่อยตามธรรมชาติเป็นหลัก โดยเลือกหุบเขาที่มีพืชพรรณบริบูรณ์ ป้องกันลมฝนได้ ล้อมคอกฝูงวัวไว้ให้เติบโตตามธรรมชาติ เมื่อจะใช้จึงต้อนกลับบ้าน ส่วนสัตว์เลี้ยงในบ้านเลี้ยงไว้ใต้ถุนเรือน
ชาวนุงและชาวไต้นุง (โท้) กินข้าวเป็นหลักบางครั้งก็กินข้าวโพด ช่วงวันหยุด วันตรุษ วันสารทก็จะทำขนมที่ทำจากแป้ง ต้อนรับแขกด้วยเหล้า แต่ไม่เคี้ยวหมาก มีประเพณีการกะเทาะฟัน มีประเพณีในการเลี่ยมทองฟันหน้าเมื่อชายหญิงโตเป็นผู้ใหญ่
วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวนุง
ในด้านเครื่องแต่งกาย หญิงชาวนุงตัดเสื้อผ้าเองโดยทอและย้อมสีผ้าด้วยตนเอง สีที่ย้อมส่วนใหญ่จะเป็นสีเข้ม เสื้อที่ตัดเย็บจะเป็นเสื้อคอปกแนวตั้ง แขนไม่เย็บกี่ สีเสื้อจะเป็นสีเข้มหรือสีอ่อนก็ได้ กางเกงผู้ชายก็เช่นกัน ขากางเกงและเอวใหญ่ หญิงชาวเผ่าไต้นุง (โท้) จะใช้กระโปรงยาวถึงเท้า (ไม่เหมือนกับเครื่องแต่งกายของหญิงชาวนุงที่เย็บกว้างและใส่สบาย) และไม่ชอบสีเข้ม
ด้านอาหารการกิน ชาวไต้นุง (โท้) กินเนื้อวัว เนื้อหมา แต่ชาวนุงนั้นไม่กิน กระทั่งว่าห้ามนำเนื้อวัวเข้าบ้านด้วย
***
คอลัมน์ ชาติพันธุ์วรรณา นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๕ | กันยายน ๒๕๖๐
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220