เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)

เงินพดด้วง หรือเงินหมากค้อ

ฉบับนี้จะพามาทําความรู้จักกับเงินตราอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เงินพดด้วง” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเงินกลม มีขา ๒ ข้าง เป็นเงินที่คนไทยสยามผลิตใช้กันมาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยอยุธยา จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากนั้นไทยสยามได้หันมาผลิตเหรียญเงินแบนแบบประเทศตะวันตกแทนเงินพดด้วงในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงทําให้เงินพดด้วงหมดความสําคัญในฐานะของเงินตราลงตั้งแต่บัดนั้น

คำว่าเงินพดด้วงนี้ในอดีตเรียกกันตามลักษณะของเงินว่า “เงินขดด้วง” เพราะมีลักษณะคล้ายกับตัวด้วงที่นอนขดอยู่ สมัยต่อมาเรียกกันเพี้ยนเป็น “เงินพดด้วง” ทําจากโลหะเงินค่อนข้างบริสุทธิ์ประมาณ ๙๕-๙๘% มีหลากหลายขนาดตั้งแต่สี่บาท สองบาท หนึ่งบาท กึ่งบาทหรือสองสลึง สลึง เฟื้อง สองไพ หนึ่งไพ และครึ่งไพ

คนลาวอีสานรู้จักเงินตราชนิดนี้ในชื่อว่า “เงินหมากค้อ หรือเงินบักค้อ” ที่เรียกกันเช่นนั้นก็เพราะว่ารูปร่างของเงินพดด้วงคล้ายกับเมล็ดหมากค้อหรือลูกตะค้อที่ชาวอีสานรู้จักกันดียิ่งถ้าใครเคยผ่านวิถีชีวิตบ้าน ๆ ในวัยเด็ก ซึ่งในอดีตขาดสิ่งของเครื่องเล่นที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบันเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายมักแกะเอาเปลือกหุ้มเมล็ดลูกหมากค้อออก จนเห็นเนื้อด้านในมีสีคล้ายกับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เด็ก ๆ จะนําเอาเมล็ดนี้มาทําเป็นต่างหูหรือตุ้มหู ขาสองข้างของเมล็ดหมากค้อช่วยหนีบใบหูเอาไว้เป็นเครื่องเล่นที่คนอีสานในวัยเด็กรู้จักกันดีจนเอาลักษณะดังกล่าวนี้มาเรียกเงินตราที่มาจากแดนสยามว่า “เงินหมากค้อ”

เงินหมากค้อเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางในดินแดนแถบภาคอีสาน ในช่วงสมัยรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ภายหลังสยามได้ยกทัพเขาปราบปรามหัวเมืองแถบภาคอีสาน และประเทศลาวตอนกลางลงมาจนถึงตอนใต้ ซึ่งเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจําปาสัก ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ จนกระทั่งสามารถปราบปรามอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และเผาเมืองเวียงจันทน์อันเป็นศูนย์กลางทางการปกครองลงได้จากนั้นมาสยามจึงได้ เข้าปกครองดินแดนแถบภาคอีสานในปัจจุบันและดินแดนของลาวบางส่วนทําให้มีการนําเงินตราของสยามมาใช้ในดินแดนดังกล่าวมากขึ้น

แม้ว่าอาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรจะตกเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๒ ดังได้กล่าวมา แต่ราชสำนักของล้านช้างยังดูแลเรื่องการปกครองภายในอยู่เป็นปกติเพียงแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้สยามเท่านั้น อาณาจักรล้านช้างยังคงใช้เงินตราที่ผลิตขึ้นเอง โดยที่อาจมีเงินพดด้วงของสยามเข้ามาใช้จ่ายบ้าง ผ่านการค้าที่มีมากขึ้นแต่เงินพดด้วงก็เป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อยเนื่องจากนำเข้ามาใช้ไม่มากนัก

แต่หลังจากราชสํานักล้านช้างเวียงจันทน์ถูกทําลายลงแล้ว เงินตราที่เคยผลิตใช้ก็มีน้อยลง เงินพดด้วงหรือเงินหมากค้อของสยามจึงเข้ามามีบทบาทในดินแดนภาคอีสานที่เคยอยู่ในการปกครองของล้านช้างเวียงจันทน์จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในมูลค่าของเงินตราชนิดนี้มากขึ้น แต่ก็มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีใช้ไม่ทั่วถึงเนื่องจากดินแดนภาคอีสานและลาวอยู่ไกลจากศูนย์กลางทางการปกครองของสยามที่อยู่กรุงเทพมหานครจนชาวบ้านต้องผลิตเงินลาดออกมาใช้จ่ายเองดังได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว

ด้วยเหตุผลข้างต้นเงินพดด้วงหรือเงินหมากค้อที่พบในพื้นที่ภาคอีสานรวมถึงลาวบางส่วน จึงเป็นเงินพดด้วงสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ เป็นส่วนมาก ส่วนเงินพดด้วงสมัยรัชกาลที่ ๑-๒ นั้นพบเจอได้น้อยมากและขนาดที่พบมักเป็นขนาดหนึ่งบาท ส่วนขนาดเล็กหรือใหญ่กว่านั้นพบเจอได้น้อยเช่นกัน

วิธีการผลิตเงินพดด้วงที่มีลักษณะเหมือนกับตัวด้วงนอนขดหรือเหมือนเมล็ดหมากค้อนั้น จะนำเงินมาหลอมเทลงในเบ้าหลอมรูปทรงรี จากนั้นจึงนําแท่งเงินที่หลอมได้มาตอกลิ่มตรงกลางแล้วใช้ค้อนตีพับเข้าทั้งสองด้านจึงทำให้เงินพดด้วงคล้ายกับมีขา ๒ ข้าง

หลังจากนั้นจึงนํามาตอกตราที่สําคัญสองตราคือ ตราด้านบนตอกตราแผ่นดินหรือตราประจําราชวงศ์ ในที่นี้คือตราจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ส่วนตราหน้าตอกตราประจํารัชกาล หรือตราพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์ เช่น ตราอุณาโลมของรัชกาลที่ ๑, ตราครุฑของรัชกาลที่ ๒, ตราปราสาทของรัชกาลที่ ๓ และตรามงกุฎของรัชกาลที่ ๔

แม้จะมีการยกเลิกการใช้เงินพดด้วงอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ความว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๔๗ เป็นต้นไปให้ยกเลิกการใช้เงินพดด้วงทุกชนิด และภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่ออกประกาศนี้ไปจนถึงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๔๘ ให้เจ้าพนักงานทั่วพระราชอาณาจักรยอมรับเงินพดด้วงจากราษฎรที่นำมาแลกเป็นเงินเหรียญบาทหรือนำมาส่งเป็นภาษีอากรและรายได้อื่น ๆ ของรัฐบาล และยังให้พนักงานกรมธนาบัตรรับเงินพดด้วงที่มีผู้นำมาแลกเป็นธนบัตรด้วย ปรากฏว่ามีราษฎรจํานวนมากนําพดด้วงมาแลกทุกวัน แต่การแลกเปลี่ยนและเก็บเงินพดด้วงเข้าพระคลังมหาสมบัติหาได้สิ้นสุดตามกำหนดนั้นไม่ ปรากฏว่ายังคงมีเงินพดด้วงตกค้างอยู่กับราษฎรอีกจํานวนมาก เสนาบดีจึงมีประกาศลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๔๙ ว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติรับแลกพดด้วงจากราษฎรต่อไปอีก โดยเจ้าพนักงานจะจ่ายเงินเหรียญบาทให้แลก คิดค่าส่วนลดเป็นค่ายุบหลอมซึ่งจะได้พิมพ์เป็นเงินเหรียญบาท การแลกพดด้วงเข้าพระคลังก็ยังคงยืดเยื้อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการออกประกาศฉบับสุดท้ายลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๕๑ กําหนดให้การรับแลกเงินพดด้วงได้เพียงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๕๑ เพื่อให้เป็นการยุติ ดังนั้นการใช้เงินพดด้วงของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นระยะเวลากว่า ๖๐๐ ปีก็เป็นอันสิ้นสุดการใช้ลง

สำหรับราษฎรชาวอีสานที่มีการเก็บเงินพดด้วงไว้คงยากที่จะมีการนำมาแลกคืน เนื่องจากขาดการรับรู้ข่าวสารจากทางราชการหรือการเดินทางลําบาก ดังนั้นเงินพดด้วงจึงตกค้างอยู่กับคนอีสานจํานวนหนึ่งกลายเป็นมูลมรดกตกทอดให้ลูกหลานได้เบิ่งแยง ว่าเงินหมากค้อของคนอีสานหรือเงินพดด้วงของไทยสยามมีลักษณะอย่างใด

ปัจจุบันเงินตราชนิดนี้เริ่มหาชมยากแล้วครับ เพราะถูกหลอมและสูญหายไปเสียมาก จึงได้นําความรู้เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๐)

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

ผักหวานบ้าน-ผักหวานป่า
ตำนานพญาศรีโคตรตะบอง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com