ชาวลาวในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์จีน
ชนชาติเกอเหล่า
ทางอีศาน ฉบับที่๕ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: บทความพิเศษ
Column: Special Article
ขอเสนอผลการค้นคว้าของผมเรื่องคำว่า
“คนลาว” จากเอกสารภาษาจีนโดยสรุป ดังนี้
ผมเสนอสั้น ๆ เอาข้อสรุปรวบยอดเลย หากท่านเชื่อก็สืบค้นหาข้อมูลละเอียดได้ หากท่านไม่เชื่อก็ควรสืบค้นข้อมูลละเอียดไว้โต้แย้ง
ชนพื้นเมืองตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (ฮวงโห) คือ หัวเซี่ย (จีนแท้) ส่วนชนพื้นเมืองในดินแดนใต้แม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) นั้นมีมากมายหลายเผ่า คำเก่าแก่ที่สุดที่จีนเรียกชื่อเผ่าของพวกนี้คือ “ผู” 濮 (ช่วงก่อตั้งราชวงศ์โจวประมาณพันหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาล) คำนี้ปัจจุบันหมายถึง บ่าว, ทาส แต่ในสมัยโจวอู่หวางผู้สถาปนาราชวงศ์โจวตะวันตกนั้น ชนเผ่าผูเป็นพันธมิตรช่วยโจวอู่หวางรบเอาชนะราชวงศ์ซาง
ช่วงต่อมาตั้งแต่กลางราชวงศ์โจวตะวันตกลงมาจนถึงราชวงศ์โจวตะวันออก หรือชุนชิว-เลียดก๊ก (ตั้งแต่ช่วง ๕ ศตวรรษ BC ถึง ๗๗๐ BC) ชาวผู แยกสายพัฒนาเป็นสองสาย กลุ่มหนึ่งพัฒนาขึ้นเป็นชนเผ่า ฉู่ 楚 ชื่อนี้คนไทยสมัยก่อนมักเขียนว่า “ฌ้อ” กลุ่มนี้รับอิทธิพลจากจีนตงง้วนมาก
อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ต่ำลงมาจากชาวฉู่ จีนเรียกพวกนี้ว่า เยวี่ย 越 ตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ลงมาจนถึงเวียดนามภาคเหนือ จีนเรียกชนพื้นเมืองแถบนี้รวม ๆ กันว่า เยวี่ย
พวกเยวี่ย มีมากมายหลายกลุ่ม จีนเรียกรวม ๆ กันว่า ไป่เยวี่ย (เยวี่ยร้อยจำพวก)
และมีชื่อเรียกแยกย่อยลงไป เช่น พวกเยวี่ยในกวางตุ้งจีนเรียกว่า “หนานเยวี่ย” 南 越 พวกเยวี่ยในกวางสีจีนเรียกว่า “ลั่วเยวี่ย” หรือ “ลักเยวี่ย” 骆 越 (คำว่า 骆 บางท่านเชื่อว่าตรงกับคำว่า “นก”)
ไป่เยวี่ยเป็นกลุ่มใหญ่มาก หนึ่งในกลุ่มนี้คือบรรพชนของกลุ่มชนชาติที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะได (นักวิชาการจีนเรียกว่าตระกูลภาษา ต้ง-ไถ) ผมอยากให้มองว่าชื่อกลุ่ม “ไป่เยวี่ย” หมายถึงกลุ่มวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อชนชาติ
มาถึงยุคราชวงศ์ฮั่น (๒๐๐ BC – ค.ศ ๑๐๐) จีนไม่เรียกชื่อ เยวี่ย แล้ว หันไปนิยมเรียกชนพื้นเมืองทางภาคใต้ว่า Lak 骆
พอถึงยุคราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจผี) ยุคราชวงศ์จิ้น (ก๊กของสุมาเอี๋ยน) คือในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา จีนก็เปลี่ยนความนิยมอีกช่วงนี้นิยมเรียกว่า LAU 僚
อักษรตัวนี้ คนทั่วไปมักอ่านว่า “เหลียว” 僚 แต่จริง ๆ แล้วโบราณเขาอ่าน “เหล่า”
ทั้งคำว่า 骆 และ 僚 เป็นการถอดเสียงจากภาษาชนพื้นเมือง
จนกระทั่งในยุคราชวงศ์ถัง (คริสต์ศตวรรษที่ ๗-๑๐) ชื่อ “เหล่า” เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด
ชื่อ “เหล่า-ลาว” เริ่มเรียกกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๓ ดังนั้นชื่อ “ลาว” จึงเก่ากว่าชื่อ “ไท” มาก (นักวิชาการจีนส่วนใหญ่เชื่อว่า คำว่าไท หรือ ไต ปรากฏครั้งแรกในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ราชวงศ์หนานซ่ง-ซ่งใต้)
แต่คำ “เหล่า” นี่ก็เหมือนกับคำ “ไป่เยวี่ย” คือเป็นกลุ่มใหญ่มาก คนพื้นเมืองในแถบ เสฉวน, ฉงชิ่ง, หูหนาน, กุ้ยโจว, กวางตุ้ง, กวางสี, ไหหลำ, จีน เรียก “เหล่า” หมด
แล้วเวลาเรียกกลุ่มย่อย ๆ ก็ใช้ชื่อสถานที่เติมเข้าไปหน้าคำว่า “เหล่า” เช่นเรียกพวก “เหล่า” ในจังหวัดหนานผิงว่า “หนานผิงเหล่า” จดหมายเหตุประวัติศาสตร์ “ถังซู” บันทึกว่าชาวหนานผิงเหล่ามีประชากรสี่พันกว่าครัวเรือนจังหวัดหนานผิงหรือหนานผิงโจวปัจจุบันคืออำเภอฉีเสี้ยน นครฉงชิ่ง (จุงกิง)
พอถึงยุคราชวงศ์ซ่ง จีนก็เลิกเรียก “เหล่า” ไปเฉย ๆ หันไปนิยมเรียกชนพื้นเมืองทางภาคใต้ว่า “หมาน” 蛮
ยุคต่อ ๆ มาจีนเรียกปะปนกัน ใช้ทั้ง หมาน 蛮 , อี๋ 彝 , เหมียว (แม้ว) 苗 และปรากฏชื่อ กลุ่มย่อยมากขึ้น เช่นชื่อเผ่า “ไท” เริ่มปรากฏในยุคราชวงศ์ซ่งใต้
คำว่า “ลาว” ที่หมายถึงชนชาติลาวและประเทศ สปป.ลาวนั้น เกี่ยวพันอย่างไรกับคำว่า“เหล่า” 僚 ที่จีนเรียกชนพื้นเมืองภาคใต้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป.
…………….
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
– “ลาว” กลุ่มชาติพันธุ์ก่อนเรียกตัวเองว่า “ไต-ไท”
– ผู้ไตในอำเภอหม่ากวน มณฑลยูนนาน
– คนเหล่า (Lao) เคลื่อนเข้าสู่เสฉวน