ชื่อพันธุ์ข้าวโบราณของอีศาน

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖ เดือนธันวาคม ๒๕๕๙

Image by ImageParty from Pixabay

มรดกภูมิปัญญาเรื่องข้าวของคนไทยนั้นอัศจรรย์เหลือเกิน ประเทศไทยเรามีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองถึง ๑๗,๐๐๐ เชื้อพันธุ์ !

แต่ปัจจุบันนิยมปลูกข้าวพันธุ์ที่ทางราชการพัฒนาปรับปรุงมีอยู่ไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้น

คนปัจจุบันนอกจากไม่เคยลิ้มรสข้าวพันธุ์พื้นเมืองเก่า ๆ แล้ว แม้แต่ชื่อพันธุ์ข้าวก็อาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟัง

ข้าพเจ้ากำลังสนใจค้นคว้าเรื่อง “ขวัญ” หาอ่านคำเรียกขวัญโบราณเท่าที่จะหาได้มาศึกษาค้นคว้า ได้พบหนังสือ e-book เรื่อง “สู่ขวัญ ในใบลานอีสาน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามอ่านเรื่องคำสู่ขวัญข้าว พบชื่อข้าวสมัยก่อนหลายสิบชื่อ จึงอยากบันทึกไว้สะกิดใจเยาวชนคนรุ่นใหม่สักหน่อย

ขออนุญาตยกคำสู่ขวัญข้าวมาลงเป็นตัวอย่างสามบท เฉพาะตอนที่กล่าวถึงชื่อพันธุ์ข้าวเท่านั้น

คำสู่ขวัญข้าว ต้นฉบับใบลาน บ้านสูงเนิน ตำบลเนินยาง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

ปริวรรตโดย : สมัย วรรณอุดร

ศรี ศรี มื้อนี้แม่นมื้อสันวันเฮา ข้อยจิงสู่ขวัญข้าวในนาตามภาษา ข้าวกล้าดำหล้านั้นข้าวงัน ฮวางซันนั้นข้าวหมากกอก ดำขอกนั้นข้าวหมากเขือ เม็ดเจือข้าวป้องแอ้วแลแข้วงู เป็นฮวางฮูข้าวปลาหลาด เม็ดอาดข้าวหมากโพ เม็ดโป้ข้าวขี้ช้าง ข้าวขว้างแลข้าวกะแสนดอ ฮวางแดงข้าวจ้าว แก่ฟ้าวนั้นข้าวดอ หอมสบพอข้าวดำน้อย หอมคีค้อยข้าวจอมนาง ฮวางแดงข้าวเลือดแฮด เกี่ยวตากแดดป่องแซง เม็ดขาวแดงข้าวดอกไม้ อยู่เบื้องใต้ข้าวแดงหลวง เป็นฮวางข้าวงาช้าง เม็ดขวางข้าวหมากเค็งเม็ดเป่งข้าวปลาซิวเอือง เม็ดเหลืองข้าวนํ้านมงัว ข้าวกาบยางแลข้าวพั้ว ลำดั้วข้าวพิมลายเม็ดดำข้าวกํ่าอำทำ ขี้กาดังซาวซีข้าวหมากหิ่งแข็งยิ่งนั้น ข้าวลอดเกียนเสียน (เลียน) ดูอาดกะต่า ฝูงไทนาเข้าเลือกไว้ กำอยายใต้โคสาหินะมาเยอ ขวัญเฮย (ขวัญ) ข้าวเหนียวไปตกเมืองล้านช้าง ก็ให้ม้างกันมามื้อนี้วันนี้…”

ในนี้มีชื่อพันธุ์ข้าวอีสานดังนี้

. ข้าวงัน ๒. ข้าวหมากกอก ๓. ข้าวหมากเขือ ๔. ข้าวป้องแอ้ว ๕. ข้าวแข้วงู ๖. ข้าวปลาหลาด ๗. ข้าวหมากโพ ๘. ข้าวขี้ช้าง ๙. ข้าวขว้าง ๑๐. ข้าวกะแสนดอ ๑๑. ข้าวจ้าว ๑๒. ข้าวดอ ๑๓. ข้าวดำน้อย ๑๔. ข้าวจอมนาง ๑๕. ข้าวเลือดแฮด ๑๖. ข้าวป่องแซง (บ่องแซง) ๑๗. ข้าวดอกไม้ ๑๘. ข้าวแดงหลวง ๑๙. ข้าวงาช้าง ๒๐. ข้าวหมากเค็ง ๒๑. ข้าวปลาซิวเฮือง ๒๒. ข้าวนํ้านมวัว ๒๓. ข้าวกาบยาง ๒๔. ข้าวพั้ว ๒๕. ข้าวพิมลาย ๒๖. ข้าวกํ่า ๒๗. ข้าวหมากหิ่ง ๒๘. ข้าวลอดเกียน (หรือลวดเกวียน)

 

ในคำสู่ขวัญข้าวฉบับวัดบ้านดอนสวน ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ปริวรรตโดย : ราชันย์ นิลวรรณาภา สอบทานโดย : สมัย วรรณอุดร มีชื่อพันธุ์ข้าวอีสานที่ต่างไปจากคำสู่ขวัญฉบับข้างต้นดังนี้

มาเยอต้นชันนั้นข้าวเจ้าก็ให้มามื้อนี้ แก่กว่านั้นข้าวดอก็ให้มามื้อนี้ วันนี้หอมสอกอเข้าอีน้อยก็ให้มามื้อนี้ หอมค้อย นั้นขวัญเข้าจอมนางก็ให้มาบัดนี้ เม็ดบางข้าวอีเต่าก็ให้มาบัดนี้งอแงเข้าแข้วงูก็ให้มาบัดนี้ ใบบูนั้นขวัญข้าวลี้นกก็ให้มา กกต่านั้นข้าวเบียก็ให้มา ถองเฮียนั้นขวัญข้าวขวาหลวงก็ให้มาบัดนี้ เป็นฮวงงามข้าวเลิดแฮดก็ให้มาบัดนี้ แซด ข้าวหมากหิ่งก็ให้มา ปิงซิงข้าวกาบสายก็ให้มา เม็ดอยายข้าวหมากกอกก็ให้มา ซอแซกใดขวัญข้าวลวดเกวียนก็ให้มา งามเสียนเลียนขวัญข้าวหมากแหนงก็ให้มา เม็ดแมงแซงข้าวขี้กาก็ให้มา เม็ดหวานั้นข้าวพายอวยก็ให้มา เม็ดน้อยข้าวหมากโภก็ให้มา เม็ดเมานั้นข้าวหางช้างก็ให้มา เม็ดไขว่ขวางข้าวเม็ดปองแซงก็ให้มา เม็ดแดงนั้นข้าวฮว้าก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ฮวงใหญ่ลว้าขวัญข้าวหมากเขือก็ให้มา ฮวงซ้อนข้าวเหมิดโลด ก็ให้มาบัดนี้ มาเยอ ขวัญข้าวโคดข้าวขว้างอยู่เมืองหงสาก็ให้มาบัดนี้ มาเยอขวัญข้าวจ้าวอยู่นาเหนือและเมืองห้อฮาดก็ให้มา ตัดขาดสะเด็นตกก็ให้มา คานหลาวหักคาก็ให้มา นกน้อย ได้คาบคว่าบินหนีก็ให้มา…”

๒๙. ข้าวอีน้อย ๓๐. ข้าวอีเต่า ๓๑. ข้าวลี้นก (หรือลิ้นนก) ๓๒. ข้าวเบีย (หรือเปี้ย) ๓๓. ข้าวขวาหลวง ๓๔. ข้าวกาบลาย ๓๕. ข้าวหมากแหนง ๓๖. ข้าวขี้กา ๓๗. ข้าวพายอวย ๓๘.ข้าวหางช้าง ๓๙. ข้าวฮว้า ๔๐. ข้าวด้ามพร้า ๔๑. ข้าวกะแสน ๔๒. ข้าวหมากมอน

คำสู่ขวัญข้าวจากหนังสือ : ข้าวในศิลปะและวัฒนธรรม (เอกสารเผยแพร่ลำดับที่ ๑ ของมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เขียนโดยสุกัญญา สุจฉายา) ยังมีชื่อพันธุ์ข้าวที่ต่างออกไปอีกเช่น

“…วันนี้แม่นวันดี จึงไปเชิญเมธีและนักปราชญ์ ขึ้นนั่งอาสน์คูนขวัญ มาขวัญเอย ต้นชันนั้นข้าวเจ้า แก่ฟ้าวนั่นข้าวดอ หอมสมพอข้าวอี่น้อย หอมค้อย ๆ ข้าวจอมนาง เม็ดบางข้าวอีกเตาะ เงะเงอะข้าวเขี้ยวงู ใบปูนั้นลิ้นนกกกตํ่านั้นข้าวเปี้ย ถัดเลยนั้นข้าวขาว รวงยาวนั้นข้าวเลือดแรด แซดแซดข้าวหมากริ่ง ปิงสิงข้าวกาบลาย เม็ดผายข้าวหมากกอก ซอกแซกข้าวลอดเกวียน งามเสียนเลียนข้าวหมากแย่งเม็ดแบ่งข้าวขี้กา เม็ดหนาข้าวกาบอ้อย เม็ดน้อยข้าวหมากโพ เม็ดใหญ่โตข้าวหางช้าง เม็ดข่วยขว้างข้าวป้องแซก เม็ดแดงข้าวเร้า รวงใหญ่ล้าวข้าวหมากเขือ เม็ดเจือข้าวด้ามพร้า แก่ช้าข้าวขี้ตม ใบสมพมข้าวหมากม่วย รวงซ้วยร้วยข้าวนางเก้า ข้าวทังหลายฝูงนี้ อย่าหลีกลี้นานวัน ให้พากันมาสามือนี้วันนี้…”

๔๓. ข้าวอีกเตาะ ๔๔. ข้าวขาว ๔๕. ข้าวหมากแย่ง ๔๖. ข้าวกาบอ้อย ๔๗. ข้าวป้องแซก ๔๘. ข้าวเร้า ๔๙. ข้าวขี้ตม ๕๐. ข้าวหมากม่วย ๕๑. ข้าวนางเก้า

จากคำสู่ขวัญข้าวเพียงสามบท พบชื่อพันธุ์ข้าวอีสาน ๕๑ พันธุ์ และนี่น่าจะเป็นชื่อที่มีชื่อเสียงโด่งดังนิยมปลูกกันมาก ส่วนที่เป็นชื่อสายพันธุ์ย่อยและพันธุ์เฉพาะถิ่นน่าจะมีอีกมาก

พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทยมีอยู่ในทุกภาคและมีเป็นจำนวนมหาศาล ถ้าชาวไทยทอดทิ้งมรดกภูมิปัญญานี้ไปก็น่าเสียดาย

ยังโชคดีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะไม่มีผู้ปลูกสืบทอดและสูญพันธุ์ไปในที่สุด แม้เกษตรกรบางส่วนยังให้ความนิยมบริโภคข้าวพื้นเมืองก็ตาม แต่ไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกได้ตามความต้องการ กรมการข้าวได้รวบรวมเชื้อพันธุ์ข้าวไว้กว่า ๒๔,๐๐๐ เชื้อพันธุ์ เป็นพันธุ์พื้นเมืองประมาณ ๑๗,๐๐๐ เชื้อพันธุ์ เก็บรักษาไว้ที่ธนาคารเชื้อพันธุ์ในศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี พันธุ์ข้าวที่เก็บรักษาไว้นี้จะรักษาคุณภาพได้สูงสุด ๕๐ ปี เพื่อเป็นหัวเชื้อในการนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย เพื่อเร่งสนองพระราชดำรัส อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่อไป

เกษตรกรที่สนใจอยากปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง โปรดแจ้งศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ใด ซึ่งมีอยู่ห้าสิบแห่งทั่วประเทศไทยเพื่อให้ศูนย์ฯ เหล่านั้น ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาได้เพาะปลูกอย่างเพียงพอต่อไป

นอกจากภาคราชการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้แล้ว ภาคประชาชนก็มีผู้ใส่ใจรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีสานนั้น ก็มีผู้รวบรวมอนุรักษ์ไว้หลายแห่ง เช่น คุณบุญส่ง มาตขาว ที่กุดชุม(เบอร์โทรศัพท์ ๐ – ๘๑๓๐ – ๐๑๖๕) มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจำหน่ายดังนี้ (ข้อมูลจาก google)

ข้าวสันป่าตอง ข้าวขาวกุง ข้าวดอดำ ข้าวดอขาว ข้าวอีด่าง ข้าวเจ้าแดง ข้าวอีโต่น ข้าวอีตก ข้าวหอม ข้าวอีป้อม ข้าวอีมอม ข้าวหมากโพธิ์ ข้าวเจ้าสะกุย ข้าวอีบิด ข้าวกํ่าน้อย ข้าวดอน้ำผึ้ง ข้าวกำปั้น ข้าวหอมนิล ข้าวเจ้าแดง ข้า วเจ้าเหลือง ข้าวมะลิแดง ข้าวกาบยาง ข้าวอู่คำ ข้าวดอฮี ข้าวดอลาว ข้าวฮ่าวแดง ข้าวดอกติ้ว ข้าวอีหนอนน้อย ข้าวขี้ตมใหญ่ ข้าวพม่า ข้าวคำผาย ข้าวเจ้าพวงเงิน ข้าวปลาเข้ง ข้าวปลาซิว ข้าวดอใหญ่ ข้าวหมากข่วง (มังกรแดง) ฯลฯ

Related Posts

ฮูปแต้มวัดโพธาราม นาดูน
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)
คน และการเปลี่ยนผ่าน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com