ฮูปแต้มวัดโพธาราม นาดูน

วัดโพธาราม บ้านดงบัง หมู่ที่ ๕ ตําบลดงบัง อําเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม บริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นเมืองโบราณ มีคูนํ้าคันดินล้อมรอบ พบแท่งศิลาแลงกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พบไหโบราณและกระปุกช้างเป็นจํานวนมาก

ชาวลาวเวียงจันทน์อพยพเข้ามาตั้งหมู่บ้านเรียกกันว่าบ้านดงบัง คาดว่าชาวบ้านสร้างวัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ชื่อว่าวัดโพธิ์ทอง แต่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “วัดดงบัง” หอไตรและสิมเก่าสร้างอยู่กลางสระน้ำ เมื่อชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว พระครูจันดีเจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ ได้สร้างสิมใหม่เป็นสิมบกขึ้นแทน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๑

สิมวัดโพธารามมีฮูปแต้มทั้งผนังด้านนอกและด้านใน ช่างแต้มคือ ช่างสิงห์ และจารย์ซาลาย และคณะศิษย์หลายคน

ช่างสิงห์เกิดตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาใช้นามสกุล “วงศ์วาด” ช่างสิงห์ บ้านเดิมอยู่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาอพยพมาอยู่ที่บ้านคลองจอบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตําบลลานสะแก อำเภอพยัคฆภูมิพิสิย จังหวัดมหาสารคาม) ช่างสิงห์มีภรรยาชื่อนางป่ง คนบ้านดงบัง บุตรชายชื่อ นายลี ได้สืบสอดงานช่างแต้ม

ฮูปแต้มวัดโพธารามเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวใช้สีของผนังสิมเป็นสีพื้น สีที่ใช้มีสีน้ำเงิน ฟ้า เขียว เหลือง แดง ดํา และขาว วรรณะสีโดยรวมแล้วเป็นสีเย็น ภาพที่ต้องการเน้นให้สะดุดตา จะเขียนสีตรงกันข้ามติดกัน เช่น สีครามตัดเส้นด้วยสีนํ้าตาล ส้ม และดํา เป็นต้น

เทคนิคในการเขียนรูปคน ปราสาทราชวังรูปต้นไม้ บางส่วนใช้วิธีการทาบแบบแล้วร่างด้วยมือ แล้วจึงลงสีในส่วนที่ร่างไว้แล้ว รูปฉากหลังของภาพ เช่น ภูเขา โขดหิน ป่าไม้ ใช้วิธีระบายสีโดยไม่มีการร่างภาพก่อน เทคนิคระบายสีใช้หลายวิธีเช่น แต้ม ประ หรือกระทุ้ง แต่ภาพต้นไม้ พุ่มไม้บางภาพ เมื่อระบายสีแล้วมีการตัดเส้นภายหลัง

เรื่องที่เขียนมีพุทธประวัติ, พระเวสสันดรชาดก, พระมาลัย, วรรณคดีสินไซ โดยเขียนตอนสําคัญ ๆ ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีและแทรกภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน

ฉบับเดือนนี้จะนําฮูปแต้มเรื่องพระเวสสันดรมาให้ชมกันก่อน

เรื่องพระเวสสันดรเขียนอยู่ที่ผนังรีด้านทิศเหนือของผนังด้านนอก ต่อเนื่องผนังสกัดหน้าด้านนอกซีกด้านซ้ายของประตู (ขวามือผู้ดู) ผนังสกัดด้านในซีกด้านขวาของประตู (ซ้ายมือผู้ดู) และผนังรีด้านทิศเหนือของผนังด้านใน การลำดับเรื่องดูสับสน เพราะช่างแต้มเขียนภาพเล่าเรื่องแบบต่อเนื่อง ไม่แบ่งภาพออกเป็นตอน ๆ เขียนเชื่อมโยงพื้นที่ฉากหลังให้ต่อเนื่องกันแสดงลำดับก่อนหลัง โดยการวาดตัวละครเอกซ้ำหลายตัวบนหนึ่งผนัง

มีภาพสอดแทรกสะท้อนเรื่องราวชีวิตคนในท้องถิ่นไว้จํานวนมาก เช่น ภาพทํานา หาปลา ตําข้าว ปั้นฝ่าย อยู่ไฟ ฮดสรง การละเล่นในงันเฮือนดีเป็นต้น ภาพเหล่านี้มีคุณค่ามากต่อการศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของผู้คนในชุมชน

(ภาพและข้อมูลจาก “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน” ฉบับเพิ่มเติม เล่ม ๒)

***

ฮูปแต้มอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖ | ธันวาคม ๒๕๕๙

Related Posts

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)
คน และการเปลี่ยนผ่าน
คักแท้แท้ แพรอีโป้ (มหัศจรรย์ ผ้าขาวม้า)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com