ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)

บทความโดย: Guy Intarasopa


สงครามระหว่างพม่าและอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทำให้อาณาจักรอยุธยาถึงกาลสูญสิ้น การยกทัพของพม่าในครั้งนี้ตีกระนาบกรุงศรีอยุธยาทั้งจากทิศเหนือและทิศใต้ โดยตีหัวเมืองเหนือและกวาดต้อนผู้คนลงมาตั้งแต่เชียงตุง เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก จนถึงกรุงศรีอยุธยา ทางใต้นั้นก็เข้าตีระนอง เพชรบุรี กาญจนบุรีแล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน ศึกครั้งนี้พม่าหวังจะทำลายกรุงศรีอยุธยาไม่ให้ฟื้นตัวได้ ผู้คนชาวสยามล้มตายเป็นอันมากและถูกจับไปเป็นเชลยอีกหลายหมื่นคน

ดังนั้นดินแดนภาคกลางของสยามจึงแปนเปล่าไปจากผู้คน บางเมืองรกร้างว่างเปล่าถึงกลับกลายเป็นเมืองร้าง แต่ก็เป็นที่สงสัยว่าเหตุใดพระเจ้าตากสินจึงใช้เวลาไม่นานนักในการกอบกู้เอกราชและรวบรวมดินแดนของสยามและยกทัพตีแว่นแคว้นอื่นได้ดินแดนมามากมาย

หลากหลายเหตุผลของสำเร็จนั้นมาจาก
๑.ได้ทุนทรัพย์จากพ่อค้าชาวจีน ด้วยเหตุที่พระเจ้าตากสินทรงมีเชื้อสายจีน ทำให้รวบรวมทุนทรัพย์จำนวนมากซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเมือง

๒.หัวเมืองบางส่วนของอยุธยาแต่เดิมไม่ถูกพม่าตีและยึดคือ หัวเมืองชายทะเลตะวันออกเช่นจันทบุรีหรือจันทบูร หัวเมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองใต้

๓.กองทัพจีนยกทัพรุกรานทางตอนเหนือของพม่า ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมาตีกรุงธนบุรี แม้นว่าเพิ่งสร้างเมืองใหม่ก็ตาม ข้อนี้น่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการต่างประเทศ ที่อาศัยสัมพันธ์ทางการทูตให้จีนช่วยตีพม่าด้านเหนือ เพื่อให้สยามพลิกฟื้นบ้านเมืองได้อย่างไม่พะว้าพะวง

๔.ทุนทรัพย์ที่รวบรวมได้ใช้จ้างทหารรับจ้างชาวตะวันตกเช่น ฝรั่งเศส ฮอลันดา อังกฤษ ซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงซื้ออาวุธที่ทันสมัยใช้ในกองทัพด้วย

แม้นจะรวบรวมแผ่นดินสมัยอยุธยาให้เข้ากลับมาดังเดิมแล้ว แต่หามีผู้คนอยู่อาศัยไม่ ด้วยเหตุถูกพม่าจับไปเป็นเชลยเสียหมดและล้มตายในสงครามก็มาก รอบๆสยามในขณะนั้นคงไม่มีผู้คนที่ใดจะมากเท่ากับอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งบัดนี้แตกแยกกัน จนแยกออกเป็น ๓ อาณาจักรคืออาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๒๕๗

การแตกแยกและทำสงครามระหว่างกันระหว่างอาณาจักรล้านช้าง ได้ทำให้อาณาจักรลาวอ่อนแอลง สยามในสมัยธนบุรีนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ทั้งสองอาณาจักรเปลี่ยนไปแล้ว พระเจ้าตากสินไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์อยุธยาซึ่งเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ล้านช้าง ส่วนแม่ทัพคนสำคัญคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและพระยาสุรสีห์นั้นเล่า ก็ล้วนมีเชื้อสายมอญปนสยาม จึงหาต้องคิดมากที่จะยกทัพตีล้านช้างเพื่อกวาดต้อนพลเมืองลาวมาเติมเต็มดินแดนที่รกร้างผู้คนในภาคกลางของสยาม

มูลเหตุที่สยามอ้างในการทำสงครามกับล้านช้างคือเรื่องพระวอพระตา(จะเล่าให้ฟังในตอนหลัง) ที่ขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสารแห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ แล้วหนีลงมาตั้งเมืองแล้วขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่พระเจ้าสิริบุญสารก็ยกทัพตามตี มูลเหตุนี้สยามใช้อ้างในการทำสงครามกับล้านช้าง ซึ่งน่าจะทำสงครามกับเฉพาะอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ แต่พอเอาเข้าจริงสยามยกทัพตีทั้งอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และบังคับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางอยู่ใต้การปกครองของสยามด้วย

การเทครัวชาวลาวเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ผมจัดไว้เป็น ๓ ครั้งใหญ่ๆคือ

ครั้งที่๑ สมัยกรุงธนบุรี ในปีพ.ศ.๒๓๒๒ เทครัวชาวลาวจำนวนหลายแสนคนเข้าสู่ภาคกลางของสยามโดยเฉพาะแดนกันชนพม่า เช่น เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี

ครั้งที่๒ เกิดขึ้นหลายระลอกในสมัยรัชกาลที่๑ ของสยาม โดยเฉพาะในปีพ.ศ.๒๓๓๔ กวาดต้อนผู้คนจากดินแดนสิบสองจุไทซึ่งส่วนมากเป็นไทดำหรือลาวโซ่ง ดินแดนพวนซึ่งเป็นไทพวน และจากที่อื่นๆลงมาอีกหลายระลอก

ครั้งที่๓ ในสมัยรัชกาลที่๓ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ น่าจะเป็นการเทครัวชาวลาวที่มากที่สุดเป็นประวัติกาลและถือเป็นการเทครัวครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งได้ส่งผลให้ประเทศลาวมีประชากรเพียง ๗ ล้านคนในปัจจุบัน

เหตุการณ์เทครัวครั้งสำคัญนี้ต่อไปผมจะเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์แต่ละครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนลาวที่ถูกกวาดต้อนมานั้นนำไปไว้ที่ใดบ้าง รวมทั้งประวัติศาสตร์อื่นที่น่าสนใจ

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com