ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
บทความโดย: Guy Intarasopa
เส้นทางการเดินทัพตีเวียดนามของกองทัพสยาม ในปีพ.ศ.๒๓๗๖
วันนี้ผมคงจะได้มีโอกาสเล่า สงครามที่ว่ากันว่าเป็นสงครามสร้างชาติสยาม ในชื่อ “อานาม(อันนัม)สยามยุทธ์” สงครามว่าด้วยการขยายดินแดนและแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนลาวและเขมรของสยามและดายเวียดหรือเวียดนาม
สงครามที่เกิดขึ้นนี้มีบันทึกหลักฐานไว้ค่อนข้างชัดเจนในหนังสือราชการทัพของทั้งสองฝ่าย และเป็นสงครามยืดเยื้อยาวนานกว่า ๒๐ ปีตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๓๗๖-๒๓๙๐ แต่กลับถูกพูดถึงน้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย จนบางคนบางท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวียดนามและไทยเคยรบกันมาขนาดนี้
มูลเหตุหรือฉนวนสงครามครั้งนี้ มีหลายสาเหตุด้วยกัน ผมขอแยกเป็นประเด็นดังต่อไปนี้
๑.การยกทัพของสยามในปี พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ปราบปรามเวียงจันทน์อย่างรุนแรง กระทั่งเวียงจันทน์ซึ่งเวียดนามถือเป็นเมืองประเทศราชด้วยนั้นถูกเผาวอดไปทั้งเมือง สร้างความไม่พอใจให้เวียดนามอย่างมาก
๒.หลังจากเวียดนามมีความเข้มแข็งได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจของตัวเองเข้ามาในดินแดนเขมรและลาวซึ่งสยามอ้างความเป็นเจ้าประเทศราช กระทั่งในสมัยรัชกาลที่๒ เวียดนามมีพระราชสาส์นมาขอเมืองพุทไธมาศ(ชื่อไทย)หรือบันทายมาศ(ชื่อเขมร)หรือฮาเตียน(ชื่อเวียดนาม) คืนจากรัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นสยามไม่กล้าเปิดศึกกับเวียดนาม เหตุเพราะกำลังเริ่มมีศึกกับพม่า จึงไม่อยากเปิดศึกสองทาง รัชกาลที่๒ จึงยอมตามที่ขอ แต่ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้แก่สยาม
๓.ในราวปีพ.ศ.๒๓๗๕ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเจ้าวังหน้าซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามปราบเวียงจันทน์สิ้นพระชนม์ลง จักรพรรดิมินหมางของเวียดนามในขณะนั้นทรงสนิทสนมกับเจ้าวังหน้าองค์นี้ จึงส่งราชทูตและเครื่องบรรณาการมากราบพระศพ แต่รัชกาลที่๓ ไม่ให้เข้าเฝ้า ราชทูตเวียดนามจึงทิ้งเครื่องราชบรรณาการลงในแม่น้ำแสดงความไม่พอใจ ความทราบถึงรัชกาลที่๓ ทรงไม่พอพระทัยอย่างมาก ส่งกำลังออกติดตามราชทูตเวียดนามเพื่อจับตัวมาลงโทษ แต่ตามไม่ทัน
ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๗๖ รัชกาลที่๓ จึงทรงมีพระราชบัญชาให้ยกทัพใหญ่เข้าตีเวียดนามในหลายๆด้าน แต่ด้านหลักๆคือเข้ายึดเมืองพุทไธมาศหรือฮาเตียนคืน จากนั้นจึงเข้าตีเมืองไซ่ง่อน ในครั้งนั้นสยามแบ่งทัพออกเป็น ๔ เส้นทางหลักๆ ตามแผนที่คือ
หมายเลข 1 กองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(อดีตคือพระยาราชสุภาวดี) แม่ทัพใหญ่ของสยามยกพลไปตามคลองสำโรง ล่องน้ำบางปะกงไปเมืองปราจีน จากนั้นเดินทัพบกเข้าเขมรที่พระตะบอง พนมเปญ นัดพบกับทัพเรือเข้าตีเมืองโจดก(เมืองที่อยู่ปากแม่น้ำโขง ท้ายโตนเลสาบ) เกณฑ์คนจากสยาม ๕๐,๐๐๐ คน(ส่วนมากเป็นคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมารวมกับทหารมอญ) เกณฑ์คนจากโคราชและหัวเมืองลาวอีก ๒๐,๐๐๐ คน เกณฑ์หัวเมืองเขมรอีก ๒๐,๐๐๐ คน รวมเป็นพลประมาณ ๙๐,๐๐๐ คน
หมายเลข 2 กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ บุนนาค) ยกพลเรียบอ่าวไปตีเมืองฮาเตียนหรือพุทไธมาศ เกณฑ์ทหารจากกรุงเทพฯและหัวเมืองริมน้ำ ๑๕,๐๐๐ คน เกณฑ์ทหารจากเมืองจันทบุรี ตราด และเขมรอีก ๕,๐๐๐ คน รวมเป็นพลประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน
หมายเลข 3 กองทัพบกของพระมหาเทพ ยกพลไปเมืองนครพนม เข้าตีเมืองเหง่อานของเวียดนาม โดยไปเกณฑ์หัวเมืองลาวตะวันออกคือแถบสะหวันนะเขต จำปาสัก ๑๐,๐๐๐ คน และกองตำรวจจากกรุงเทพฯอีก ๔,๐๐๐ คน รวมเป็นพลประมาณ ๑๔,๐๐๐ คน
หมายเลข 4 กองทัพบกฝ่ายเหนือของเจ้าพระยาธรรมา(สมบุญ) ให้ยกขึ้นไปทางเมืองพิชัย ปากลาย หลวงพระบาง ให้ยกกำลังไปเกลี้ยกล่อม หรือตีหัวเมืองเล็กๆในลาวเหนือใกล้กับหลวงพระบางเอามาไว้ในเขตไทยให้หมด
ให้เกณฑ์ทัพไทยหัวเมืองเหนือ เมืองพิษณุโลก 1,000 คน เมืองสวรรคโลก 500 คน เมืองสุโขทัย 600 คน เมืองพิจิตร์ 140 คน เมืองพิชัย 500 คน ปากเหือง 200 คน กองทัพเมืองเพชรบูรณ์ เมืองหล่มศักดิ์ เมืองแก่นท้าว เมืองเลย สี่หัวเมืองเป็นคน 1,390 คน กองทัพเมืองแพร่ 500 คน เมืองน่าน 2,500 คน ภายหลังกองทัพนี้ได้กวาดต้อนคนพวนมาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งนำมาไว้ที่สุโขทัย(พวนบ้านหาดเสี้ยว) น่าน(พวนบ้านฝายมูล) และอีกหลายๆที่
ส่วนการรบและผลของสงครามซึ่งมีเรื่องราวมากมายนั้น จะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)
จักรพรรดิเวียดนมและเหล่าเสนาอำมาตย์ทหารเวียดนามที่ประจำบนกำแพงเมือง