ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)

บทความโดย: Guy Intarasopa

แผนที่แสดงการเดินทัพของสยามในการยกทัพเข้าตีล้านช้าง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๒๒

การเทครัวชาวลาวล้านช้างครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๓๒๒

มูลเหตุที่แท้จริงแห่งการยกทัพตีล้านช้างและกวาดต้อนผู้คนลงสู่ภาคกลางของสยามในครั้งนี้นั้นคือต้องการผู้คน แรงงาน ทหาร เพื่อเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยาม ที่รกร้างผู้คนจากศึกสงครามกับพม่า และเตรียมกำลังไว้รับศึกพม่าในอนาคต

ขณะนั้นอาณาจักรลาวล้านช้างได้แตกออกเป็น ๓ อาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก โดยที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และล้านช้างหลวงพระบางมีเหตุขัดข้องหมองใจและยกทัพรบรากันอยู่ตลอด

ในขณะที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เจ้าองค์บุญ(สิริบุญสาร)ได้ยกทัพจากเมืองหนองบัวลุ่มภูพร้อมการสนับสนุนจากพระวรราชวงศา(พระวอ)เข้ายึดอำนาจจากเจ้านอง และได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าสิริบุญสาร พระวอในขณะนั้นไม่พอใจที่ตนเองไม่ได้ตำแหน่งอุปราชตามที่ขอไว้ จึงยกทัพอพยพครัวเรือนมาสร้างบ้านเมืองที่เมืองหนองบัวลุ่มภู สถาปนาชื่อใหม่ว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ภายหลังเรียกว่า กมุทมาต

เจ้าสิริบุญสารก็ส่งทัพตามตีจนพระตา(พี่ชายพระวอ)ตายในสนามรบ เจ้าพระวอจึงอพยพผู้คนไปสร้างเมืองใหม่และพึ่งเจ้าไชยกุมารแห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก แต่เจ้าไชยกุมารเกรงจะผิดใจกับล้านช้างเวียงจันทน์ จึงไม่ใคร่ดูแลดีนัก เจ้าพระวอจึงยกทัพและไพร่พลลงมาตั้งบ้านเรือนที่ดอนมดแดง(ต่อมาคือเมืองอุบลราชธานี) และขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังเจ้าสิริบุญสารให้กองทัพยกมาตีดอนมดแดง เจ้าพระวอตายในสนามรบ ท้าวก่ำบุตรชายจึงนำความกราบทูลต่อพระเจ้าตากสินเจ้ากรุงธนบุรี

จึงเป็นเหตุให้สยามได้ใช้โอกาสนี้หาเหตุยกทัพตีอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งหากเป็นดังเหตุที่ว่าก็ควรยกทัพทำศึกกับอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ แต่การหาเป็นดังนั้นไม่ สยามยกทัพตีอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และบังคับให้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เป็นเมืองประเทศราชด้วย

ศึกในครั้งนั้นสยามแบ่งทัพออกเป็นสองสายคือ

ทัพพระยาสุรสีห์(บุญมา)ตามหมายเลข 2 ในแผนที่ ยกทัพไปเกณฑ์ชาวเขมรได้ประมาณสามหมื่นคน แล้วยกทัพขึ้นไปทางจำปาสัก ให้ทหารทะลายช่องสะดำและช่องสะองเพื่อให้สามารถเล่นเรืออ้อมหลี่ผีได้ จากนั้นล่องน้ำโขงเข้าตีนครจำปาสัก เจ้านครจำปาสักสู้ไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อม

ทัพหลวงของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ทองด้วง)ยกทัพจากกรุงธนบุรีตามหมายเลข 1 ไปเมืองนครราชสีมาเมืองหน้าด่านของธนบุรี จากนั้นแยกทัพออกเป็น ๒ สายคือ

ทัพหมายเลข 3 ยกทัพตีเมืองพิมาย นางรอง ขุขันธ์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ เมืองเดช(เดชอุดม) แล้วสมทบกับทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์ตีเมืองจำปาสักได้ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ จากนั้นจึงยกทัพตีเมืองมหาไชยกองแก้ว เมืองศรีโคตรบูร แล้วนัดพบกับทัพเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีเมืองเวียงจันทน์

หมายเลข 4 ทัพหลวงของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพเข้าตีเมืองภูเขียว ภูเวียง หนองหานน้อย เมืองละคร(นครพนม) เมืองปากห้วยหลวง จากนั้นจึงยกทัพตีเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์อันได้แก่ พะโค เวียงคุก พานพร้าว ศรีเชียงใหม่

อีกด้านหนึ่งคืออาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง เจ้าสุริยะวงศ์ได้ยินข่าวการยกทัพมาตีล้านช้างเวียงจันทน์ของสยาม ก็รู้สึกยินดีว่าจะได้แก้แค้นล้านช้างเวียงจันทน์ และจะได้มีโอกาสเข้าปกครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ด้วย จึงยกทัพจากทางเหนือเข้าตีนครเวียงจันทน์ร่วมกับกองทัพสยาม

ขณะนั้นกองทัพเวียงจันทน์บัญชาการรบโดยเจ้าอุปราชนันทเสน ซึ่งบัญชาการรบอย่างเข้มแข็ง กองทัพสยามบุกตีนครเวียงจันทน์หลายครั้งก็ไม่สามารถตีเอาเมืองได้ จึงคิดกลอุบายเพื่อทำให้ทหารเวียงจันทน์เสียขวัญ โดยตัดหัวเชลยคนลาวที่จับได้แล้วให้หญิงสาวชาวลาวพายเรือนำศรีษะของเชลยและทหารลาวไปร้องป่าวประกาศขายยังหน้ากำแพงเมือง ทำให้ทหารที่อยู่ประจำกำแพงเสียขวัญ ที่ได้เห็นความทารุณโหดร้าย เกิดความย่นย่อในการรบ

ภายหลังสยามจึงเข้าตีหักเอาเมืองเวียงจันทน์ได้ เจ้าสิริบุญสารและพระมเหสีหนีออกจากเมืองไปยังเมืองคำเกิด ก่อนที่เมืองเวียงจันทน์จะแตก สยามได้เข้าไปกวาดเอาทรัพย์สินมีค่าในวังและวัดวาอาราม นอกจากนั้นยังนำพระแก้วมรกต(ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ)และพระบาง พระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์กลับไปยังกรุงธนบุรีด้วย

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงจับกุมเอาเจ้าอุปราชนันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ เจ้านางทองสุก ราชโอรสและราชธิดาของพระเจ้าสิริบุญสารไปเป็นองค์ประกันยังกรุงธนบุรี โดยกักและคุมตัวอยู่ที่วังบางยี่ขัน(ตีนสะพานพระราม๘ ในปัจจุบัน)

การที่ทัพของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางยกทัพมาช่วยตีกระหนาบนครเวียงจันทน์ แทนที่จะเป็นความชอบ สยามกลับยกกองทัพไปประชิดเมืองหลวงพระบางและบังคับให้ล้านช้างหลวงพระบางอยู่ใต้อำนาจของสยามเช่นกัน จากนั้นจึงยกกองทัพไปกวาดต้อนผู้คนยังดินแดนสิบสองจุไท เมืองพวนเชียงขวาง แล้วรวบรวมกับเชลยของเวียงจันทน์กวาดต้อนลงไปยังสยาม

พระแก้วมรกต สยามนำมาจากเวียงจันทน์หลังจากเสร็จศึกในปี พ.ศ.๒๓๒๒พระบาง พระพุทธรูปองค์สำคัญอีกองค์ที่สยามนำมาจากเวียงจันทน์หลังเสร็จศึกในปี พ.ศ.๒๓๒๒ / ภายหลังรัชกาลที่๑ คืนให้เจ้านันทเสนนำกลับไปเวียงจันทน์ จากนั้นสมัยรัชกาลที่๓ ยกทัพตีเวียงจันทน์จึงนำกลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง / ภายหลังรัชกาลที่๔ พระราชทานคืนไปยังนครหลวงพระบาง

เชลยที่เป็นนักปราชญ์ ช่าง นักดนตรี ก็นำไปยังกรุงธนบุรี ส่วนเชลยอื่น ๆ นั้นก็นำเป็นเป็นทาส เป็นแรงงานสำคัญ ไว้โดยรอบพระนคร

เชลยชาวเวียงจันทน์หรือที่เรียกกันว่าลาวเวียงโดยมากถูกกวาดต้อนมาไว้ที่สระบุรี ลพบุรี อยุธยา เพื่อใช้เป็นแรงงาน เป็นทหารยามมีศึกสงคราม

เชลยส่วนมากที่ได้มาจากสิบสองจุไท เชียงขวาง ซึ่งส่วนมากเป็นพวกไทดำหรือลาวโซ่งหรือไททรงดำ(ไทส่งดำ) ไทพวน(ภายหลังเรียกลาวพวน) สยามกวาดต้อนไปยังเมืองหน้าด่านด้านตะวันตก อันเป็นแดนกันชนกับพม่าคือ เมืองกาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม ภายหลังกลุ่มลาวกลุ่มนี้ก็ได้ขยับขยายไปยังอีกหลายที่

เชลยที่สยามกวาดต้อนมาครั้งนี้นั้นน่าจะเป็นแสนคน และได้กลายเป็นกำลังสำคัญให้กับกองทัพสยามในการเป็นทหารด่านหน้าในคราศึกสงครามเก้าทัพกับพม่าในปี พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสินและสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ และย้ายราชธานีมายังกรุงเทพฯ

เชลยลาวที่ผมได้กล่าวถึงนี้ยังมีหลักฐานและผู้คนที่ยังคงอัตลักษณ์ของคนลาวในภาคกลางของสยามไว้ได้พอสมควรแม้นคนรุ่นใหม่จะถูกวัฒนธรรมสยามกลืนกินไปบ้าง

อย่างไรก็ตามยังมีการกวาดต้อนคนลาวเข้ามายังสยามอีกหลายระลอก ดังผมจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com