เดินทัพของพระมหาเทพ(ป้อม)

ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
บทความโดย: Guy Intarasopa

วันนี้มาต่อกันที่กองทัพของพระมหาเทพ(ป้อม) เจ้ากรมพระตำรวจ รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็นแม่ทัพฝ่ายตะวันออกยกทัพไปตีเวียดนามทางเหนือ(เหงะห์อาน) ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยยกทัพออกจากกรุงเทพฯพร้อมกับทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์) นำกำลังจากกรมพระตำรวจ ๔,๐๐๐ คน ไปรวบรวมกะเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองลาวตะวันออกอีก ๑๐,๐๐๐ คน ตามใบบอกมายังกรุงเทพฯว่าจะยกทัพไปตีเมืองล่าน้ำหรือเมืองเหงะห์อานของเวียดนาม

เมืองเหงะห์อานนี้ถือเป็นเมืองสำคัญของเวียดนาม ครั้งหนึ่งเจ้าอนุวงศ์เคยไปลี้ภัยทางการเมืองอยู่ ณ เมืองแห่งนี้

พระมหาเทพ(ป้อม) ภายหลังได้รับพระราชทานตำแหน่ง เจ้าพระยามหาอำมาตาย์ ถือเป็นต้นสกุล อมาตยกุล ภายหลังตระกูลนี้เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญที่ยื้อแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในราชสำนักสยามกับตระกูลบุนนาค สมัยรัชกาลที่ ๕

พระมหาเทพยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่นครพนม จากนั้นยกกองทัพใหญ่ไปถึงด่านกีเหิบ ซึ่งเป็นช่องทางแคบ แต่มีน้ำป่าท่วมหลากมาตามช่องทางเดิน ทำให้การเดินทัพไปตีเมืองเหงะห์อานเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงยกทัพกลับ ขากลับได้ยกทัพเข้าตีเมืองหลายเมืองของล้านช้างเพื่อกวาดต้อนผู้คนกลับมาไว้อีกฝั่งของแม่น้ำโขงคือ คือเมืองมหาไชกองแก้ว เมืองพวง เมืองพลาน(พะลานไช) เมืองชุมพร(จำพอน) ตีได้ตั้งแต่เดือนสามกวาดต้อนคนลาวได้ ๖,๐๐๐ คน จากนั้นเข้าตีเมืองเล็กเมืองน้อยรายทางได้คนลาวอีก ๒,๐๐๐ คน แล้วส่งมาไว้ยังเมืองนครราชสีมา จากนั้นจึงเตรียมตีเมืองชายแดนของญวนเพื่อให้กองทัพญวนสับสน

คนลาวที่กองทัพพระมหาเทพกวาดต้อนมาได้ราว ๘,๐๐๐ คนนี้ ถูกส่งมาไว้ยังนครราชสีมาซึ่งน่าจะเป็นชุมชนคนลาวขนาดใหญ่บริเวณอำเภอปักธงชัยในปัจจุบันนี้เอง บริเวณนี้มีวัดตะคุซึ่งมีพระธาตุศิลปะล้านช้างอยู่องค์หนึ่ง เรียกอีกชื่อว่าวัดหน้าพระธาตุ ซึ่งมีชุมชนคนลาวอาศัยอยู่ก่อน ตั้งแต่ถูกกวาดต้อนมาในปี พ.ศ.๒๓๒๒ แล้ว

กองทัพของพระมหาเทพที่ยกทัพไปตีญวนทางเหนือนี้มีบันทึกไว้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาดังที่กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตามสงคราม อานามสยามยุทธ์ ครั้งนี้เป็นเพียงครั้งเริ่มต้นเท่านั้น สยามกับเวียดนามได้ทำสงครามกันต่อเนื่องอีกเกือบ ๒๐ ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๖ – ๒๓๙๐ สงครามกับเวียดนามนี้ได้ส่งผลให้คนลาวถูกกวาดต้อนมาไว้ฝั่งขวาแม่น้ำโขงอีกจำนวนมาก

กลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มผู้ไท เมืองวัง เมืองเซโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองกะปอง เมืองคำอ้อคำเขียว รวมทั้งกลุ่มไทกะเลิง ไทญ้อ ก็ถูกกวาดต้อนมาจำนวนมาก โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๓๘๗

การกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาไว้ยังฝั่งขวาแม่น้ำโขงของกองทัพสยาม เป็นไปเพื่อไม่ให้เวียดนามได้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้ผู้คนที่อยู่ใกล้ชายแดนเวียดนามมีน้อยลง รวมทั้งทำให้ผู้คนในบังคับสยามมีมากขึ้นด้วย ผู้คนเหล่านี้ถูกกวาดต้อนมาไว้ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขต เมืองกาฬสินธิ์ เมืองสกลนคร เมืองนครพนม และเมืองบังมุก(มุกดาหาร) โดยมีกลุ่มที่สำคัญดังนี้

1.เมืองเรณูนคร ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจากเมืองวัง จำนวน 2,648 คน ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสาย เป็น “พระแก้วโกมล” เจ้าเมืองเรณูคนแรก ยกบ้านบุ่งหวายขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ขึ้นกับเมืองนครพนม คือท้องที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ. 1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)

2. เมืองพรรณานิคม ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจากเมืองวัง จำนวน สองพันกว่าคน ไปตั้งอยู่ที่บ้านผ้าขาวพันนา ตั้งขึ้นเป็นเมืองพรรณานิคมขึ้นกับเมืองสกลนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้างโฮงกลาง เป็น “พระเสนาณรงค์” เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้ย้ายเมืองพรรณานิคมไปตั้งที่บ้านพานพร้าว คือท้องที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)

3.เมืองกุฉินารายณ์ ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจากเมืองวังจำนวน 3,443 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านกุดสิม ตั้งขึ้นเป็นเมือง “กุฉินารายณ์” ขึ้นกับเมืองกาฬสินธิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ราชวงศ์เมืองวัง เป็น “พระธิเบศรวงษา” เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธิ์ (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)

4. เมืองภูแล่นช้าง ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจากเมืองวัง จำนวน 3,023 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านภูแล่นช้าง ตั้งขึ้นเป็นเมือง “ภูแล่นช้าง” ขึ้นกับเมืองกาฬสินธิ์ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้หมื่นเดชอุดมเป็น “พระพิชัยอุดมเดช” เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่อำเภอเขาวง กาฬสินธิ์ (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)

5. เมืองหนองสูง ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจากเมืองวังและเมืองคำอ้อคำเขียว (อยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว) จำนวน 1,658 คน ตั้งอยู่บ้านหนองสูงและบ้านคำสระอี ในดงบังอี่ (คำสระอีคือหนองน้ำในดงบังอี่ ต่อมากลายเป็น คำชะอี) ตั้งเป็นเมืองหนองสูง ขึ้นเมืองมุกดาหาร ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสีหนาม เป็น “พระไกรสรราช” เจ้าเมืองคนแรก เมืองหนองสูงในอดีตคือท้องที่ อ.คำชะอี (ตั้งแต่ห้วยทราย) อำเภอหนองสูงและท้องที่อำเภอนาแก ของจังหวัดนครพนมด้วย (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)

6. เมืองเสนางคนิคม ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจาก
เมืองตะโปน (เซโปน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในแขวงสะหวันนะเขต ติดชายแดนเวียตนาม จำนวน 948 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านส่องนาง ยกขึ้นเป็นเสนางคนิคมขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวจันทร์จากเมืองตะโปน เป็น “พระศรีสินธุสงคราม” เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาได้ย้ายไปตั้งเมืองที่บ้านห้วยปลาแดกและเมื่อยุบเมืองลงเป็นอำเภอเสนางคนิคม ย้ายไปตั้งอำเภอที่บ้านหนองทับม้า คือ ท้องที่อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน (จากเอกสาร ร.3  จ.ศ. 1206 เลขที่ 58หอสมุดแห่งชาติ)

7. เมืองคำเขื่อนแก้ว ตั้งในสมัยราชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นผู้ไทจากเมืองวัง จำนวน 1,317 คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านคำเขื่อนแก้วเขตเมืองเขมราฐ ตั้งขึ้นเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นกับเมืองเขมราฐ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวสีหนาท เป็น “พระรามณรงค์” เจ้าเมืองคนแรก เมื่อยุบเมืองคำเขื่อนแก้วได้เอานามเมืองคำเขื่อนแก้วไปตั้งเป็นชื่ออำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ที่ตำบลลุมพุก คือ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน ส่วนเมืองคำเขื่อนแก้วเดิมที่เป็นผู้ไท ปัจจุบันเป็นตำบลคำเขื่อนแก้ว อยู่ในท้องที่อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)

นอกจากยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาอีกหลายครั้ง จนส่งผลให้ประชากรในแถบแขวงสะหวันนะเขตและแขวงคำม่วนของลาวในปัจจุบันมีประชากรเบาบาง ซึ่งในอดีตบริเวณนี้มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น

ส่วนอีกกองทัพหนึ่งคือกองทัพของเจ้าพระยาธรรมาธิบดี(สมบุญ) ซึ่งเป็นแม่ทัพนำกำลังหัวเมืองเหนือเข้าตีเมืองพวนเชียงขวาง เมืองหัวพัน และได้กวาดต้อนไทพวน(ลาวพวน)จำนวนมากลงมาอยู่ในเขตภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน จะได้เล่ารายละเอียดให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com