ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
บทความโดย: Guy Intarasopa
ความต่อจากครั้งที่แล้วของการสงคราม อานามสยามยุทธ์ ในปีพ.ศ.2376 กองทัพหัวเมืองเหนือของสยามที่ยกพลตีเมืองพวน(ภายหลังกวาดต้อนไทพวนจำนวนมากเข้าสู่ภาคเหนือของไทย)
ทัพของเจ้าพระยาธรรมาธิบดี(สมบุญ) ซึ่งรัชกาลที่๓ โปรดให้เป็นแม่ทัพคุมกำลังพลกรุงเทพฯและหัวเมืองเหนืออันได้แก่ เมืองพิษณุโลก 1,000 คน เมืองสวรรคโลก 500 คน เมืองสุโขทัย 600 คน เมืองพิจิตร 140 คน เมืองพิชัย 500 คน ปากเหือง 200 คน กองทัพเมืองเพ็ชรบูรณ์ เมืองหล่มศักดิ์ เมืองแก่นท้าว เมืองเลย สี่หัวเมืองเป็นคน 1,390 คน กองทัพเมืองแพร่ 500 คน เมืองน่าน 2,500 คน รวมกำลังพลประมาณ 12,400 คน เข้าตีหัวเมืองพวน ที่ทหารญวนเวียดนามเข้ามาตั้งค่ายอยู่
เจ้าพระยาธรรมาได้ยกทัพออกจากกรุงเทพฯ เดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะเส็ง เบญจศก(ปีพ.ศ.2376 ) ให้พระสุริยวงษาเจ้าเมืองหล่มศักดิ์ พระยาพิษณุโลก พระยาสวรรคโลก พระยาสุโขทัย พระยาพิจิตร พระยาพิชัย พระอนุพินาส พระยาเพ็ชรบูรณ์ เจ้าเมืองเลย เจ้าเมืองแก่นท้าว คุมกำลังพล เสบียง เดินทางไปสมทบกับทัพหลวงพระบางเพื่อเข้าตีเมืองพวน หัวพันห้าทั้งหก ทัพของเจ้าพระยาธรรมาไปถึงเมืองหลวงพระบางตั้งแต่เดือนสาม แต่ได้ตั้งทัพรอทัพหัวเมืองเหนือที่จะมาสมทบ คือทัพเชียงใหม่ ทัพเมืองลำปาง ทัพเมืองแพร่ ทัพเมืองน่าน แต่ทัพเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆนั้นจัดทัพล่าช้า จึงมีเพียงทัพเมืองแพร่ 500 คน และทัพเมืองน่าน 2,500 คน เท่านั้นที่มาสบทบที่เมืองหลวงพระบาง
พอเดือนสี่ ขึ้นแปดค่ำ กองทัพหัวเมืองเหนือมาพร้อมกัน จึงได้ยกทัพพร้อมด้วยไพร่พลของเมืองหลวงพระบางด้วยอีก 3,000คน รวมเป็นจำนวนไพร่พล 12,400คน บรรดาแม่ทัพได้แก่ พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย พระปลัดเมืองพิจิตร หลวงมหาดไทยเมืองพิษณุโลก หลวงสุภาวดีเมืองพิษณุโลก หลวงพรหมสุภาเมืองพิชัย หลวงมหาพิไชยเมืองพิษณุโลก หลวงมหาพิไชยเมืองสวรรคโลก หลวงแพ่งเมืองสวรรคโลก พระแก้วเมืองแพร่ พระวังขวาเมืองแพร่ พระวังซ้ายเมืองแพร่ เจ้าอุปราชเมืองหลวงนครพระบาง พระยาเชียงเหนือเมืองนครหลวงพระบาง พระยาแผนเมืองนครหลวงพระบาง ท้าวมหากาลเมืองนครหลวงพระบาง ท้าวมหาไชยเมืองหลวงนครพระบาง และข้าหลวงกำกับทัพอีกสองท่านคือ จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวร หลวงนายมหาใจภักดิ์นายเวรมหาดเล็กในพระราชวังบวร รวมแม่ทัพนายกอง 18 คน
ส่วนอีกทัพหนึ่งคือทัพของพระราชวรินทร์ยกไพร่พลไปรวมกับทัพของพระปทุมเทวา เจ้าเมืองหนองคาย ยกพลไปทางเวียงจันทน์ เข้าตีเมืองพวนพร้อมกับทัพหัวเมืองเหนือ เป็นการตีกระหนาบทั้งสองด้าน
เมืองสำคัญของหัวเมืองพวนในขณะนั้นได้แก่ เมืองเหียม เมืองหัว เมืองซ่อน เมืองซำเหนือ เมืองซำใต้ เมืองเชียงค้อ เมืองเชียงคาน เมืองโสย เมืองซัน เมืองสบแอด เป็นต้น
สงครามเริ่มต้นด้วย กองทัพของพระยาพิชัยนำกำลังพล 500 คน บุกตีค่ายญวนที่เมืองโสย ทัพพระยาพิชัยฆ่าทหารญวนได้ทั้งหมดจำนวน 200 คน พอเวลาเย็น กองทัพพระยาสุโขทัย พระยาพิชัย และกองทัพใหญ่พระยาสวรรคโลก ก็เคลื่อนทัพเข้าเมืองโสย พอดีค่ำๆเจ้าเมืองพวนก็ส่งหนังสือมาแจ้งว่า กองทัพพระราชวรินทร์ก็ได้เข้าเมืองพวนมาตั้งแต่ เดือนสามแรมสิบสามค่ำแล้ว ในวันนั้นเวลาสามยามเศษกองทัพของพระราชวรินทร์พร้อมกองทัพของเมืองพวน ก็เข้าล้อมจับกองทัพญวนที่ตั้งอยู่ด้านใต้ของเมืองพวน ญวนก็ต่อสู้บ้างแต่ถูกฆ่าตายทั้งหมด ทั้งในเมืองและนอกเมืองรวมแล้ว 500คน เป็นอันว่าทหารญวนที่มาควบคุมเมืองลาวพวนทั้งหมด 700คน ตายหมดไม่เหลือเลย
เจ้าพระยาธรรมาได้สั่งจัดทัพให้พระยาปลัดเมืองพิษณุโลก 500คน พระยกกระบัตรเมืองสุโขทัย 500คน และจ่านิตมหาดเล็กกับนายฉลองในนารถมหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวร คุมไพร่พลวังหน้าอีก 500คน ร่วมกันไปกวาดต้อนคนพวนลงมาให้หมด
ครั้นกองทัพไทยและกองทัพของเมืองหลวงพระบางเข้าไปในแคว้นหัวพันยังไม่ทันจะได้กวาดต้อนก็พบว่าไพร่พลท้าวเพี้ยเจ้าบ้านผ่านเมืองลาวทั้งหลายพากันอพยพหนีไปหมด จนได้ส่งคนหลวงพระบางไปติดตามหาทางเจรจาเกลี้ยกล่อม ก็แสดงความยินยอมจะกลับลงมาขึ้นสวามิภักดิ์กับไทยด้วยกันทั้งหมด จึงได้ส่งข่าวมาแจ้งเจ้าพระยาธรรมมาที่หลวงพระบาง
เจ้าพระยาธรรมาเจ็บป่วยด้วยไข้รากสาดน้อย จนต้องกลับลงมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ จากนั้นในราวเดือนอ้ายปี พ.ศ.๒๓๗๗ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพระยาธรรมาขึ้นไปกวาดต้อนคนพวนลงมาให้หมด พร้อมกับกองทัพหัวเมืองเหนือที่คอยอยู่หลวงพระบาง คนไทพวนจึงถูกกวาดต้อนมาจำนวนมากในปีพ.ศ.2377
ตราตอบเจ้าพระยาธรรมา ( สมบุญ ) เรื่องกวาดต้อนเมืองพวน
“ถ้าในปีมะเมียฉอศก ( พ.ศ. 2377 ) นี้เห็นว่าจะเกลี้ยกล่อมเอาพวนไม่สิ้น จะตกค้างอยู่บ้าง ก็ให้กำชับเจ้าเมือง ท้าวเพี้ย เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองไชยบุรีให้แต่งผู้คนรักษาด่านทางสืบสวนฟังข้อราชการจงกวดขัน ให้ระวังระไวอย่าให้พวนซึ่งกวาดมาแล้วหนีกลับไปบ้านเมืองได้ เข้าฤดูแล้งก็ให้คิดเกลี้ยกล่อมเอาพวนที่ตกค้างอยู่นั้นต่อไป ถ้าจะเอามาโดยดีก็ให้เกลี้ยกล่อมเอามา ถ้าเห็นว่าจะเอามาโดยดีไม่สิ้น พวนยังตกค้างอยู่ จึงจะโปรดให้กองทัพไปตีกวาดเอามาให้สิ้น อย่าให้เป็นเชื้อสายทางสะเบียงอาหารกับข้าศึกต่อไปได้และครอบครัวพวนซึ่งได้ มานั้น จะจัดแจงไว้ที่หัวเมืองตามท้องตราซึ่งโปรดขึ้นมาครั้งนี้ ถ้าเจ้าเมือง ท้าวเพี้ย จะวิวาทว่ากล่าวเกี่ยวข้องกันด้วยครอบครัวประการใด ก็ให้พระราชรินบังคับบัญชาตัดสินให้เป็นอันสำเร็จให้ว่ากล่าวประนบประนอม อย่าให้มีความอริวิวาทร้าวฉานแก่กันให้เกิดความเคืองใต้ฝ่าละออง ฯ จะได้ช่วยกันรักษาเขตต์แดนบ้านเมือง ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป”
ไทพวนที่ถูกกวาดต้อนมาได้ ส่วนมากจะถูกนำตัวไปกับกองทัพหัวเมืองเหนือที่นำกำลังมาตีเมืองพวนในครั้งนั้น โดยกองทัพหัวเมืองเหนือวางกำลังรายทางตลอดเส้นทางการลำเลียงผู้คนลงมา คือ เมืองหลวงพระบาง เมืองปากลาย เมืองพิชัย เพื่อส่งต่อผู้คนที่กวาดต้อนลงมาได้ ไปไว้ยังพื้นที่ของกองทัพนั้นๆ ปรากฏเป็นชุมชนไทพวนตามหัวเมืองเหนือที่สำคัญคือ
กลุ่มไทพวนที่มากับกองทัพเมืองน่าน ภายหลังตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านฝายมูล
กลุ่มไทพวนที่มากับกองทัพเมืองแพร่ ตั้งบ้านเรือนที่บ้านทุ่งโฮ้ง
กลุ่มไทพวนที่มากับกองทัพเมืองสวรรคโลก ทัพเมืองสุโขทัย ภายหลังเป็นชุมชนไทพวนขนาดใหญ่ที่บ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย บ้านคลองมะพลับ อ.สวรรคโลก บ้านวังหาด อ.ลานหอย
กลุ่มไทพวนที่มากับทัพเมืองพิชัย(ภายหลังคือเมืองอุตรดิตถ์) ตั้งบ้านเรือนที่บ้านปากฝาง บ้านผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
กลุ่มไทพวนที่มากับทัพของเมืองพิจิตร ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านทุ่งโพธิ์ วังทับค้อ วังลุ่ม ป่าแดง อ.ตะพานหิน
กลุ่มไทพวนที่มากับทัพเมืองพิษณุโลก ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเข็ก อำเภอวังทอง
ส่วนไทพวนที่มากับทัพเมืองเพชรบูรณ์ เมืองเลย เมืองแก่นท้าว น่าจะมีจำนวนพอสมควร แต่ผมยังไม่มีข้อมูลครับ
คำว่า”ไท”นี้มีความหมายว่าคนหรือชาว ไทพวนจึงหมายถึงชาวพวน ส่วนคำว่าลาวพวนเป็นคำที่มาใช้เรียกในภายหลัง เพื่อให้รู้ที่มาว่าคนพวนมาจากถิ่นที่อยู่เดิมในประเทศลาวปัจจุบัน
การสงคราม อานามสยามยุทธ์ ระหว่างสยามและเวียดนามยังไม่จบครับ เพราะในปีพ.ศ.2376 ถือเป็นสงครามครั้งเริ่มต้นเท่านั้น สงครามนี้ได้ดำเนินเรื่อยมาอีกเกือบ 20 ปี สยามได้เปลี่ยนแม่ทัพออกไปต่อรบอีกหลายคน ดังผมจะมาเล่าให้ฟังคร่าวๆในโอกาสต่อไปครับ
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)