ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๓)
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘๐
ปีที่ ๗ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
การกระจายตัวของชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได (ในบทความนี้เรียกตระกูลภาษาต้งไถ)
จากการศึกษาวิจัย “ตัวอักษร” บนกระดูกทำนาย (เจี๋ยกู่เหวิน 甲骨文 ) ทำให้ทราบว่า ในยุคราชวงศ์ซาง 商 ซึ่งระบบตัวอักษรภาษาจีนเริ่มจะพัฒนาเจริญสุกงอมแล้ว ชื่อ “เยวี่ย” เป็นชื่อของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างจากคนของราชวงศ์ซาง แต่นั่นก็มิใช่เรื่องที่จะนำมาอ้างอิงอธิบายได้ว่า กลุ่มคนเยวี่ยเพิ่งจะมีกำเนิดเกิดขึ้นในยุคนั้น (สามพันปีมาแล้ว) เพราะกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “เยวี่ย” นั้น ควรจะมีอยู่นานแล้ว ก่อนที่จะเกิดตัวอักษรขึ้น มิใช่ว่าผู้คนกับตัวอักษรคำว่า “เยวี่ย” จะกำเนิดขึ้นพร้อมกัน และยิ่งมิใช่ว่าผู้คนชาวเยวี่ย กำเนิดขึ้นภายหลัง “ชื่อ” (ตัวอักษรปรากฏขึ้น) เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะอธิบายเรื่องโบราณวัตถุยุคหินใหม่ที่พบในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของจีน จำนวนมากมาย ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างอย่างชัดเจนจากโบราณวัตถุที่พบในแดนตงง้วนได้อย่างไร
สิ่งที่ควรจะต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ คือ อักษรคำว่า “เยวี่ย” ที่เขียนว่า “越” นั้น มีกำเนิดในยุคจ้านกั๋ว 战国 โดยในคัมภีร์ หลื่อสื้อชุนชิว บทสื้อจฺวิ้น 《吕氏春秋·恃君篇》 ปรากฏคำว่า “เยวี่ยร้อยจำพวก 百越”เป็นครั้งแรก นั่นคือตั้งแต่ช่วงหมื่นกว่าปีก่อนจนถึงสี่พันปีก่อนเป็นช่วงระยะการก่อเกิดของกลุ่มชาวเยวี่ยที่มีความสัมพันธ์กันอย่างหลวม ๆ ยังไม่ปรากฏมีการหลอมรวมเข้าเป็นเอกภาพกัน ดังนั้นนับตั้งแต่ช่วงก่อเกิดขึ้น ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาแบ่งแยกกันเองภายในด้วย พร้อม ๆ กันนั้น ทางกลุ่มตงง้วนที่มีอักษรใช้แล้ว ก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายขั้นเช่นกัน ดังที่เราจะเห็นว่า บันทึกเกี่ยวกับกลุ่มชนไป่เยวี่ยในแต่ละยุคมีความแตกต่างกันอยู่ นอกจากบันทึกประวัติศาสตร์ และหลักฐานโบราณคดีแล้ว งานวิจัยค้นคว้าทางภาษาศาสตร์ก็มีความสำคัญมากด้วย
ตัวอย่างที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งคือ บรรพชนของชนชาติหลี 黎族 เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เคลื่อนตัวออกจากคาบสมุทรเหลยโจว ซึ่งเคยเป็นถิ่นภูมิลำเนาดั้งเดิม จากนั้นได้เคลื่อนออกจากแผ่นดินใหญ่ไปสู่เกาะไหหลำ ในครั้งโน้น ภาวะสังคมและพลังการผลิตยังไม่ก้าวหน้า ดังนั้นในภาษาหลี จึงมีแต่คำศัพท์ดึกดำบรรพ์บางส่วนเท่านั้นที่ตรงกันกับภาษาอื่นในตระกูลเดียวกัน (ตระกูลไท-กะได) เช่น ตะวัน เดือน น้ำ ไฟ หมู หมา ไก่ เป็ด ยุง ฯลฯ ส่วนคำเรียก ญาติ, คำศัพท์เกี่ยวกับการกสิกรรมและหัตถกรรมนั้น เนื่องจากยุคนั้นยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่พัฒนาก้าวหน้า คำศัพท์ด้านนี้ของภาษาหลีจึงไม่ตรงกับภาษาอื่นในตระกูลเดียวกัน ภาษาหลีมีคำศัพท์ร่วมรากที่ตรงกันกับภาษาอื่นในตระกูลภาษาไท – กะได อยู่เพียงร้อยละยี่สิบถึงสามสิบ เท่านั้น
ในครั้งกระโน้นภาษารากดั้งเดิมของกลุ่มตระกูลภาษาไท – กะได ยังไม่มีเสียงวรรณยุกต์ 声调 และ ลักษณะนาม 量词 วรรณยุกต์และลักษณะนามของตระกูลภาษา ไท -กะได นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ชาวหลี เคลื่อนย้ายออกไปจากแผ่นดินใหญ่แล้ว ภาษาหลีจึงมีพัฒนาการขึ้นอย่างอิสระโดดเดี่ยว (จากภาษาจ้วง-ต้ง) ดังนั้นในปัจจุบันนี้ วรรณยุกต์ในภาษาหลีจึงมีแต่ วรรณยุกต์ A เท่านั้นที่คล้ายกับวรรณยุกต์ในภาษาจ้วง-ต้ง วรรณยุกต์ A นั้นก็คือ วรรณยุกต์เสียง “ผิงเซิง 平声” ของภาษาจีน (เสียง สามัญ และเสียงจัตวา ในภาษาไทย…ผู้แปล) และในจำนวนภาษา ๓๑ ภาษาในตระกูล (ต้ง-ไถ) ไท -กะได นั้น มีเสียงวรรณยุกต์ A มากที่สุด
การกระจายตัวของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน
พัฒนาการทางภาษานี้ ก็สอดคล้องกับหลักฐานด้านพัฒนาการทางสังคม และหลักฐานทางโบราณคดี
ผลการศึกษาวิจัยเหล่านี้ใช้อธิบายถึงช่วงระยะเวลาที่ชนชาติหลีแยกตัวออกไปจากแหล่งดั้งเดิมที่ชนกลุ่มตระกูลภาษาต้ง-ไถ อยู่ร่วมกัน โดยเทียบเคียงกับหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการกสิกรรมและหัตถกรรมที่ค้นพบ
นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ฟ่านหงกุ้ย ยังได้ค้นคว้าด้านภาษาศาสตร์ โดยศึกษาเปรียบเทียบคำที่เหมือนกันและใกล้เคียงกันจำนวนมาก มาพิสูจน์ว่า ชาติพันธุ์ จ้วง – ไทย – ลาว นั้นแยกออกมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมเดียวกัน
จากตัวอย่างเหล่านี้ทำให้พวกเรามีแนวความคิดที่ดี นั่นคือ เมื่อทำการค้นคว้าประวัติของชาติพันธุ์ ควรจะใช้เครื่องมือด้านต่าง ๆ แล้วประมวลเปรียบเทียบดูว่ามีจุดใดที่สอดคล้องตรงกันหลายด้าน จึงจะตัดสินได้ถูกต้อง
ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชาวเยวี่ยโบราณกับชาวหัวเซี่ยในตงง้วน มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและส่งผลสะเทือนถึงกันและกัน ? ข้อมูลจากหลาย ๆ ศาสตร์ เช่น มานุษยวิทยากายภาพ, โบราณคดี, ภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วิทยา เท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้คำตอบ “ปฏิเสธ”
ในบางพื้นที่ของตงง้วน วัฒนธรรมหัวเซี่ย และวัฒนธรรมชาวเยวี่ยภาคใต้ ที่เกิดมีอิทธิพลส่งอิทธิพลต่อกันนั้น ควรเป็นเรื่องภายหลัง คือหลังจากสมัยราชวงศ์โจวจนถึงสมัยจ้านกั๋ว
ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมมีบางคนคิดว่าบรรพชนไป๋เยวี่ย มีความใกล้ชิดกับชาวหัวเซี่ย มาตั้งแต่ “ยุคตำนาน” รุ่นก่อนที่ชาว “หัวเซี่ย” จะก่อตัวขึ้นเสียอีก หรือแม้กระทั่งคิดว่า ชาวไป่เยวี่ยนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวหัวเซี่ย อยู่แล้ว สาเหตุที่คิดเช่นนั้น อาจจะเนื่องจากเหตุผลสองประการ คือ
- 1. เชื่อตามบันทึกโบราณ ที่มีผู้เขียนไว้ เอกสารที่อ้างอิงกันมาก คือ ตามที่มีนักเขียนโบราณได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น
《尚书·尧典》 载 :“申命羲叔 , 宅南交” เช่น “ส้างซู บท เหยาเตี่ยน” บันทึกว่า “เซินสั่ง ซีซู ไปควบคุมพวกเจียวทางใต้”, 《礼记·少问篇》 :“虞舜以天德嗣尧, …南抚交趾” “หลี่จี้ บทเส้าเหวินเพียน” บันทึกว่า “อวี๋สุ้น รักษาคุณธรรมของฟ้า เช่นเดียวกับ เหยา … ไปควบคุมพวกเจียวจื่อทางใต้”, “จดหมายเหตุประวัติศาสตร์สื่อจี้” ก็มีบันทึกทำนองนี้ เช่น 《史记·五帝本纪》 :“定九州 , 各以其职来贡 , 不使厥宜 。方五千 里, 至于荒服 , 南抚交趾” กล่าวถึงการควบคุมเจียวจื่อทางใต้ และ 《史记·夏本纪》:“或言禹会诸侯江南,计功而崩因葬焉,命曰会稽。会稽者,会计也” กล่าวถึงเมือง ไขว้จี 会稽 。
คำว่า “เจียว 交” หรือ “เจียวจื่อ交趾” ถูกตีความว่า คือเขตใต้หลิ่งหนาน ซึ่งคือพื้นที่กวางตุ้ง กวางสี ประเทศเวียดนาม อันเป็นถิ่นที่อยู่ของ “ชาวเยวี่ย” คำว่า “ไขว้จี” (ปัจจุบันคือเมือง “สาวสิ้ง” มณฑลเจ้อเจียง…ผู้แปล) เป็นถิ่นศูนย์กลางของชาวเยวี่ย ก็เลยตีความกันว่า ในยุคตำนาน “สามกษัตริย์ห้าจักรพรรดิ” นั้น วัฒนธรรมหัวเซี่ยก็มีอิทธิพลไปถึงชาวไป่เยวี่ยแล้ว
นอกจากนั้น ในหนังสือ “อี้โจวซู หวางหุ้ย อธิบาย” 《逸周书·王会解》 มีบันทึกกล่าวถึงพื้นที่ของชาวเยวี่ย และชื่อเรียกชาวเยวี่ย เช่น “诸侯来献 , 或无马牛之所生 , 而献远方之物, 事实相反不利。今事吾欲因 其地势所有献之必易得而不贵 , 其为四方献令… ……臣请正东符娄 、 仇州 、 伊虑、 沤深 、 九夷、 十蛮、 越沤、 剪发文身 , 请令以鱼皮之革 、 之酱、 鲛盾 、 利剑为献 ;正南瓯 、 邓、 桂国、 损子 、 产里、 百濮 、 九菌 , 请令以珠玑 、 玳瑁、 象齿 、 文犀、 翠羽 、 菌鹤、 短狗为献… ……自古之政 , 南人 至众皆北向” ;同篇还提到 “路入大竹” 、 “仓吾翡翠”
ข้อมูลเหล่านี้ เล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคตำนาน (ห้าจักรพรรดิ) จนถึงต้นยุคราชวงศ์ซาง ว่าชาวเยวี่ยภาคใต้ส่งบรรณาการให้ชาวหัวเซี่ยในภาคเหนือ แต่บันทึกพวกนี้ จริง ๆ แล้วเพิ่งมาเขียนบันทึกกันไว้สมัยหลังจากราชวงศ์ฮั่นไปแล้ว ซึ่งห่างไกลจากยุคดึกดำบรรพ์นานมาก เป็นเรื่องเล่าที่จดจำกันมาเป็นตำนาน แม้แต่ “ซือหม่าเชียน” (ผู้เขียน “สื่อจี้”) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเข้มงวดในการเขียนประวัติศาสตร์ ก็ยังใช้คำว่า “บ้างก็ว่า” (“或言”) เสมอ ๆ (คือเป็นเรื่องที่ได้ยินเขาเล่ากันมา) ความน่าเชื่อถือของเอกสารยุคนี้จึงมีน้อย อีกทั้งช่วงที่มาเขียนกันนั้น วัฒนธรรมฮั่น (จีน) เจริญโดดเด่นขึ้นแล้ว ผู้บันทึกก็คงจะมีทัศนะแบบ “ข้าคือศูนย์กลาง พวกอื่นเป็นคนเถื่อนอนารยชน”
ดังนั้นการอ้างอิงเอกสารตงง้วนที่เขียนถึงเรื่องดึกดำบรรพ์เหล่านี้ แม้จะนำมาใช้ได้ แต่ไม่อาจถือเป็นวิถีทางทางเดียวในการวิจัยค้นคว้า
ถึงขณะนี้ ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่จะยืนยันได้ว่า วัฒนธรรมตงง้วนในยุคก่อนราชวงศ์ซางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเยวี่ยในหลิ่งหนานแล้ว
แคว้นฉู่ ในยุคจ้านกั๋ว
จากหลักฐานประวัติศาสตร์ “ก๊กเซี่ย” เป็นรัฐทาสแห่งแรกในดินแดนจีน แต่พื้นที่ของก๊กเซี่ยก็จำกัดอยู่เพียงตอนกลางของลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง) เท่านั้น มาถึงยุคราชวงศ์ซาง แม้อาณาเขตของก๊กซางจะขยายขึ้น แต่ก็ครอบคลุมถึงแค่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอทั้งหมดถึงภาคตะวันตกของมณฑลซานตงเท่านั้น ส่วนทางตอนใต้นั้น ไม่มีที่ต่ำลงมากว่าแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) เลย
ก๊กโจวก็อยู่ในบริเวณราบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง) เมื่อก๊กโจวโค่นราชวงศ์ซางลงแล้ว ได้บุกรุกปราบพวก ตงอี๋ และหวยอี๋ ทางตะวันออก บุกรุกปราบพวก “จิงฉู่” (เมืองฌ้อ) ทางใต้ เรื่องเหล่านี้มีเล่าไว้ใน 《竹书纪年 บันทึกปีในหนังสือไม้ไผ่ 》 และ 《吕氏春秋 หลื่อสื้อชุนชิว บทอินชู 音初》 ล้วนถูกบันทึกไว้ แต่สมัยราชวงศ์โจว ผลของการทำสงครามขยายพื้นที่มีจำกัด โจวอี้ตี้ทำสงครามโจมตีชาวฉู่ แถบแม่น้ำเจียงฮั่น แต่ไม่นานก็ถูกชาวฉู่โจมตียึดกลับไปได้
บันทึกสมัยราชวงศ์ซางที่บันทึกเรื่อง (รัฐ) ฉู่ พบในกระดูกทำนาย (เจี๋ยกู่เหวิน) คำพยากรณ์ยุคพระเจ้าอู่ติง 武丁 แห่งราชวงศ์ซาง
ในคีตคาถา ซือจิง บท 诗: ·商颂·殷武 สดุดี (พระเจ้า) อินอู่แห่งซาง มีข้อความว่า “รุกรบจิงฉู่ 荆楚 บุกล้ำแนวป้องกัน (ของก๊กฉู่)” จากดินแดนราชวงศ์โจวในตงง้วน จะมาถึงดินแดนของพวกเยวี่ยนั้นห่างไกลมาก ซ้ำยังมีดินแดน “จิงฉู่” (ของพวกฉู่) ซึ่งราชวงศ์โจวก็ปราบไม่ลง กั้นขวางอยู่ด้วย
การที่ตงง้วนในสมัยราชวงศ์ซาง ราชวงศ์โจว จะสามารถกระโดดข้าม “จิงฉู่” (รัฐฉู่ หรือ ฌ้อ) ไปครอบงำชาวเยวี่ยในภาคใต้ โดยเฉพาะในแดนหลิ่งหนาน (กวางตุ้ง กวางสี) ได้นั้น เป็นเรื่องยากที่จะเป็นไปได้ มองในทางกลับกัน แคว้นฉู่ในสมัยราชวงศ์โจวได้ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำฮั่นและสองฟากฝั่งแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) ไว้อย่างกว้างขวาง และได้ทำศึกสงครามกับราชวงศ์โจวอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าโจวเจาหวางยกกองทัพเดินทางไกลไปโจมตีรัฐฉู่ “สูญเสียแม่ทัพหกคนแถบ(แม่น้ำ)ฮั่น” และพระเจ้าโจวเจาหวางเองก็สิ้นพระชนม์อยู่แถบแม่น้ำฮั่นนั้นเอง
มาถึงสมัยจ้านกั๋ว พระเจ้าฉู่เต้าหวางแต่งตั้ง “อู๋ฉี่” 吴起 เป็นสมุหนายก ใช้นโยบาย “ปราบปรามไป่เยวี่ยทางใต้” “南平百越” ผู้ที่บุกปราบปรามภาคใต้นั้น แท้จริงมิใช่ราชวงศ์ซาง แต่คือพวก “ฉู่” วัฒนธรรมไปเยวี่ยกับวัฒนธรรมตงง้วนเริ่มมีสัมพันธภาพกันในระดับหนึ่งนั้น มิใช่สัมพันธ์โดยตรง หากแต่ต้องผ่านทางแคว้นฉู่ เพราะแคว้นฉู่ได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับตงง้วนโดยตรง มีผลสะเทือนต่อกันอย่างมากมาย
ดังนั้นจึงควรนับว่า วัฒนธรรมหัวเซี่ยของทางตงง้วนกับวัฒนธรรมไป่เยวี่ย เริ่มต้นส่งผลสะเทือนต่อกันในยุคนี้ แล้วมาเกิดความสัมพันธ์กันอย่างมาก ภายหลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้บุกรุกครอบครองดินแดนหลิ่งหนานแล้ว
นอกจากหลักฐานทางบันทึกลายลักษณ์อักษรโบราณดังได้แสดงไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้ยังคงมีผู้คนเชื่อถือว่าตั้งแต่ในยุคตำนาน ซึ่งชาวหัวเซี่ยยังมิได้ก่อตัวขึ้นด้วยซ้ำ ชาวไป่เยวี่ยก็ได้มีความสัมพันธ์กับชาวหัวเซี่ยในตงง้วนแล้ว และกระทั่งเชื่อมั่นว่า พวกไป่เยวี่ยตั้งแต่เริ่มต้นก็อยู่ใต้อิทธิพลของชาวหัวเซี่ยนั้น สาเหตุสำคัญน่าจะมาจาก “ทฤษฎีวัฒนธรรมฮั่นคือศูนย์กลาง 汉文化中心论”
กล่าวสรุปอย่างง่าย ๆ ได้ว่า
“ไปเยวี่ย” เป็นกลุ่มที่กว้างใหญ่ ช่วงระยะการก่อเกิดและดำรงอยู่คือตลอดระยะยุคหินใหม่ เป็นกระบวนการที่เป็นพลวัต ภายในกลุ่มไป่เยวี่ยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมภาษาอย่างกว้าง ๆ และหลวม ๆ ไป่เยวี่ยเริ่มจากกลุ่มชนที่เป็นอิสระแก่กันหลาย ๆ กลุ่ม รวมกันอยู่อย่างมีพลวัตพัฒนาการ
เมื่อมองไป่เยวี่ยเป็น “กลุ่มชน” ที่มีพัฒนาการอย่างพลวัต ก็จะเห็นแนวทางพัฒนาการเป็นสองแนว
แนวที่หนึ่งคือ พัฒนาเกิดเป็นกลุ่มชนอยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออก ซึ่งพัฒนาต่อมาก็คือพื้นที่ของชนพื้นเมืองในตระกูลภาษาต้งไถ (ไท-กะได)
แนวทางที่สองคือ พัฒนาเคลื่อนลงสู่ทะเลทางใต้ ไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ผสมผสานวัฒนธรรมเข้ากับวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ก่อตัวขึ้นเป็น “อาณาบริเวณ ออสโตร-ไท” ภาคพื้นสมุทรขึ้น
และสำหรับต้นกำเนิดของชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต้ง-ไถ (ไท-กะได) นั้นสามารถสืบสาวได้ถึงยุคเริ่มต้นของพวกไป่เยวี่ย วัฒนธรรมของไปเยวี่ยในยุคเริ่มต้นกับวัฒนธรรมของชาวตงง้วนนั้นค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน การแลกเปลี่ยนและส่งผลสะเทือนต่อกันและกันนั้น เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากหลวม ๆ พัฒนาใกล้ชิดกันมากขึ้น
แม้ว่าชื่อที่ภาษาฮั่นบันทึกเรียกชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต้ง-ไถ จะมีมากมายหลายชื่อในประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรของจีน แต่ทว่าการแบ่งพวกภายใน (ตระกูลภาษาไท-กะได) ออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ได้แก่ “จ้วงไท”, “ต้งสุ่ย” และ “หลี” ก็ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ประมาณห้าพันปีก่อน หลังจากนั้นจึงเกิดพัฒนาการในห้วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ค่อย ๆ พัฒนาแยกย่อยอีก จนเกิดเป็น ชาติพันธุ์จ้วง, ต้ง, ไต, ปู้อี (ผู้ญัย), เหมาหนาน, สุ่ย, มู่เหล่า, หลี (ในประเทศจีน) และ นุง, ไต, ลาว, ฉาน, อาหม ในต่างประเทศ