(๑๒) “เชิญลงเยอ เชิญเจ้าลงเยอ… เชิญนางแต่งฮูปี่ฮูแคน ลูกสะแนนให้ดังถูกต้อง”


ลายคนสวมขนนกเป่าแคนและคนสวมขนนกฟ้อน บนกลองมโหระทึกดองซอน Heger 1

ในบทนี้ จะชี้ให้เห็นว่า บรรพสตรีไท-ลาว แต่ดั้งเดิมมีความสำคัญเพียงใดในศิลปะดนตรี

อาทิเช่น การเป็น “ครูช่างแคน” และการเป็นผู้นำในนาฏพิธีต่าง ๆ เช่น “หมอลำผีฟ้า”

ความพยายามนี้มิได้ประสงค์จะโน้มนำไปสู่แนวทัศนะแบบ Liberal Feminism

หากต้องการชี้ให้เห็นว่า ฐานคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์สอดคล้องกับพื้นเพฐานรากของแบบวิถีการพัฒนาสังคมแบบอุษาคเนย์ โดยใช้ “ปางด้ำนาย” เป็นอุปลักษณ์เมื่อได้ใช้วิธีคิดนี้เจาะค้นหาอดีตก็ได้พบว่า ร่องรอยของบทบาทและสถานภาพสตรีไท-ลาวที่ได้พัฒนาขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแห่ง “ปางด้ำนาย” นั้นยังคงหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ‘คีตนาฏพิธี’ ของสังคมลาวพื้นบ้าน ทั้งในแผ่นดินไทยและแผ่นดินลาว รวมไปถึงกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท-กะไดทางตอนใต้ของจีน

นาฏพิธีลำผีฟ้า

ในระบบความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ชาวไท-ลาวเชื่อว่าการที่คนเรามีอาการเจ็บป่วยก็เนื่องจากผิดผี คือไปละเมิดผี โดยมีความเชื่อว่าพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วยไปละเมิดต่อบรรพชนผู้ล่วงลับ จึงต้องมีการอัญเชิญ “ผีฟ้า” มาสิงร่างคนทรง ทางอีสานเรียกนาฏพิธี (Ritual performance) นี้ว่า “ผีฟ้า นางเทียม” นาฏพิธีลำผีฟ้า มีองค์ประกอบทั้งหมด ๔ ส่วนคือ หมอลำผีฟ้า หมอแคน ผู้ป่วย และเครื่องคาย

เริ่มจากผู้ทำหน้าที่เป็น ‘หมอลำผีฟ้า’ มักเป็นผู้หญิงมีอายุ บางท้องถิ่นอาจเป็นหญิงสาวผู้ถูกเลือกให้ทำหน้าที่สืบทอดประเพณีนี้ ซึ่งผ่านการคัดเลือกในกระบวนการเข้าทรง ‘นางรำ’ โดยเฉพาะที่จังหวัดเลยซึ่งอยู่ติดชายแดนลาว ผู้หญิงที่ทำหน้าที่นี้ได้จะต้องสืบเชื้อสายโดยตรงมาจาก ‘กลุ่มหมอลำผี’ เท่านั้น

นี่คือร่องรอยของ “ระบบบ้าน-เมือง” ของชาวไทแต่ดั้งเดิม ที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำตามสายตระกูล ในบริบทนี้คือ สายตระกูลมด-หมอ-หมอลำ (ผี) โดยที่ผู้เป็นร่างทรง “ผีฟ้า” นั้น อาจลงทรงได้ทั้งในหญิง ชาย และเด็ก ไม่จำกัดอายุ แต่สำหรับตัว ‘หมอลำผีฟ้า’ นั้น ตามลัทธิความเชื่อที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่ดั้งเดิมต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น

ต่อมาคือ ‘หมอแคน’ (บางแห่งเรียก ‘หมอม้า’ ทางเหนือเรียก ‘ม้าขี่’) จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เป่าแคนมาเป็นอย่างดีเพราะช่วงการประกอบพิธีต้องใช้เวลานาน ตลอดกระบวนการต้องมีการเป่าอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันเรามักเห็นหมอแคนเป็นผู้ชาย แต่เดิมแคนเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในนาฏพิธีของวัฒนธรรมไท-ลาว หากใช้วิธีคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์วิเคราะห์ความเป็นมาของ “แคน” หมอแคนในจุดเริ่มต้นก็น่าจะเริ่มจากผู้หญิง…

กำเนิดแคน

“แคน” เป็นชื่อเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ใช้เป่าเป็นเพลง ทำด้วยไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘ไม้กู่แคน’ จัดเป็นตระกูลไม้ไผ่ เข้าใจว่าเป็นไม้ชนิดเดียวกับที่ทางภาคกลางเรียกว่า ‘ไม้ซาง’ (สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๗)

ต้นเหตุที่จะเกิดมีแคนขึ้นนั้น มีเรื่องเล่าเป็นปรัมปราคติว่า ‘หญิงม่าย’ นางหนึ่งเป็นคนแรกที่ประดิษฐ์คิดค้นทำแคนขึ้น

ตำนาน “กำเนิดแคน” ของทางชาวลาวระบุชัดเจนว่า “แม่หญิง” เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์แคนขึ้นมาจากปล้องไม้ไผ่ ด้วยความประทับใจในเสียงร้องของนกกรวิกในป่าใหญ่ จนถึงกับคลั่งไคล้ใหลหลง ในใจครุ่นคิดตลอดเวลาว่าทำอย่างไรจึงจะได้ฟังเสียงอันไพเราะจับใจเช่นนี้ตลอดไป ครั้นจะไปเฝ้าคอยดักฟังเสียงเจ้านกกรวิกในถิ่นของมัน ก็เป็นดงแดนแสนกันดารอาหารก็หายาก

“หมากไม้หัวมันก็บ่มี

ทับเถียงที่จะซ้นซ่อนกายอาศัยนอนก็หาบ่ได้

สัตว์ร้ายกลางดงก็ชุกชุม”

หญิงม่ายผู้นี้จึงกลับเข้าบ้านคิดอ่านทำเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ทั้งเครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า เป็นหลายอย่าง

“ก็ยังบ่มีอันใดให้เสียงม่วนเสียงหวานปานเสียงนกกรวิก”

ในที่สุดนางจึงไปตัดลำไม้ไผ่น้อยชนิดหนึ่งมาตัดมาแปลงเป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง เมื่อลองเป่าดูแล้วก็รู้สึกว่าจะไพเราะ จึงได้ดัดแปลงแก้ไขอยู่หลายเทื่อหลายที จนได้เสียงไพเราะเหมือนหนึ่ง

“เสียงนกกรวิกร้องแท้ดีหลีเทียวแล”

นางพยายามทำแคนขึ้นอีกหลายเต้าจนชำนาญทั้งการทำแคนและการเป่าแคนเป็นเพลงต่าง ๆ จากนั้นก็เที่ยวหาคนที่สามารถพานางไปเฝ้าแหนเจ้ามหาชีวิตที่ข่วงหอคำ แล้วก็เป่าแคนถวายหลายเพลง จบลงแต่ละเพลงก็กราบทูลว่า “เป็นจั่งได๋ ม่วนผู้ข้าบ่” จนถึงเพลงสุดท้ายก็ทูลถามอีกว่า

“เป็นจั่งได๋ ม่วนพระทัยบ่”

จนในที่สุด เจ้ามหาชีวิตก็มีรับสั่งว่า

“เทื่อนี้แคนแด่”

ด้วยเหตุนี้ คำว่า “แคน” จึงได้กลายเป็นชื่อเครื่องดนตรี ที่อาจถือได้ว่าถูก “เข้ารหัส” ในสายธารวัฒนธรรมไท-ลาว นับแต่นั้น (บทความสารคดี “เรื่องแคน”, สมเด็จพระธีรญาณมุนี ใน มูลมรดกชนชาติอ้ายลาว, ๒๕๒๘, น.๑๔๘-๑๕๐)

ดังนั้นในตำนานแคนของชาวลาว ผู้หญิงจึงได้รับเกียรติอย่างสูงมาก เพราะรับรู้และกล่าวขานกันว่า ‘แม่ญิง’ เป็น “ครูช่าง(ทำ)แคน” คนแรก ในฐานะเป็นผู้มี “ดนตรีการ” ตามตำนานนี้ยังระบุว่า ผู้หญิงเป็น “นักเป่าแคน” คนแรกของโลกด้วย

มีการวิเคราะห์ว่า หลักฐานชัด ๆ ที่แสดงว่าผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดแคน ยังปรากฏร่องรอยอยู่ที่การเรียกชื่อ ‘ลูกแคน’ กล่าวคือ ไม้กู่แคนแต่ละลำที่ใช้ประกอบกันเป็น ‘ลูกแคน’ นั้นมีชื่อเรียกนำหน้าด้วยคำว่า ‘แม่’

สำหรับแคนหก

คู่ที่ ๑ ลูกที่ ๑ ด้านขวามือ มีชื่อเรียกว่า ‘แม่เซ’

คู่ที่ ๒ ลูกที่ ๒ ด้านซ้ายมือ มีชื่อเรียกว่า ‘แม่แก่’

สำหรับแคนเจ็ด

คู่ที่ ๒ ลูกที่ ๒ ด้านขวามือ มีชื่อเรียกว่า ‘แม่เซ’

คู่ที่ ๒ ลูกที่ ๒ ด้านซ้ายมือ มีชื่อเรียกว่า ‘แม่เวียง’

คู่ที่ ๓ ลูกที่ ๓ ด้านขวามือ มีชื่อเรียกว่า ‘สะแนน’

คู่ที่ ๓ ลูกที่ ๓ ด้านซ้ายมือ มีชื่อเรียกว่า ‘แม่แก่’

นอกจากนั้น ในคู่ที่ ๔ ยังเรียกชื่อ ‘แม่ก้อยขวา’ คู่ที่ ๕ ‘แม่ก้อยซ้าย’

ชื่อลูกแคนที่มีชื่อ ‘แม่’ อยู่หลายลูกดังกล่าวนี้ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วินิจฉัยว่า

“ช่างแคนว่า เพราะผู้หญิงเป็นช่างผู้ริเริ่มเป็นคนแรก จึงมีชื่อเช่นนั้น”

(“เรื่องแคน”, สมเด็จพระธีรญาณมุนี, อ้างแล้ว, ๒๕๒๘, น.๑๕๘-๑๕๙.)

ในการศึกษาเรื่อง “กำเนิดแคน” โดยใช้แนววิเคราะห์วัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ ผนวกกับวิธีวิทยาของสำนัก Generative Anthropology ที่มีหลักคิดว่า

“การสาวหาต้นตอ-กำเนิดของเรื่องราวหรือบางสิ่งบางอย่าง กระทั่งบางชาติพันธุ์ บางกลุ่มวัฒนธรรม ผ่าน ศิลปะ นาฏกรรม นาฏพิธี ภาพเขียน จิตรกรรม สถาปัตยกรรม รวมทั้งศิลปะดนตรี ฯลฯ จะช่วยให้เราพบเงื่อนปมของ ‘รหัสวัฒนธรรม’ แต่ก่อนเก่า ที่อาจจะซ่อนเงื่อนอยู่ ทว่าทรงอิทธิพลในปัจจุบันได้อย่างน่าพิศวง”

 

ผู้เขียนได้ทดลองใช้กระบวนการนี้ ศึกษา “คาถายกครูแคน” ที่ใช้ในพิธีไหว้ครูสำหรับผู้เรียนทำแคน ก็ได้พบบทบาทสถานภาพของผู้หญิงในพิธีกรรมนี้ พบว่าไม่เพียงแต่มีอยู่อย่างชัดเจนเท่านั้น แถมยังโดดเด่นเป็นพิเศษด้วย กล่าวคือ

ในชุด “เครื่องคายยกครู” นั้น นอกจากเงินค่ายกครูสี่บาท (๑ ตำลึง) เหล้า ๑ ขวด ไข่ไก่ ๑ ฟอง ขัน ๕ (คือ เทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่) และ กรวยใบกล้วย ๔ กรวย สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ผ้าซิ่น (พื้นเมือง) ๑ ผืน ผ้าขาว ๑ วา หวี ๑ อัน (บ้างรวมถึงกระจกบานเล็ก ๆ อีก ๑ บาน) แหวน ๑ วง และ ช้องผมสำหรับสตรี ๑ มัด (มัดเท่าหัวแม่มือ จะเป็นผมของใครก็ได้)

องค์ประกอบดังกล่าวแสดงว่า ครูแคนที่จะต้องยอยกนั้นเป็นผู้หญิงจริงแท้แน่นอน

นอกจากนี้ในบท “คาถายกครูแคน” อีกเช่นกัน เมื่อวิเคราะห์ “บท” (Text) อย่างละเอียดแล้วพบว่า ผู้หญิงครูช่างแคนมิได้เพียงปรากฏตนอยู่ในตำนานเรื่องเล่าสู่กันฟังเท่านั้นหากมีสถานภาพที่สูงส่งในคาถาที่ใช้ในพิธีไหว้ครูแคนด้วย

“อมสิทธิ์อมทงบ่ทงอาจ บ่ประมาทครู

เห็นฮอยพ่อก้มดู เห็นฮอยครูก้มกราบ (ฮอยพ่อ-ผู้เรียนทำแคนเป็นชาย)

ครูอาบใต้ บ่ได้อาบเหนือ อมสะหมติดฯ

สาธุเด๊อ ครูหลวงให้มาเต้า สาธุเด๊อ ครูเค้าให้มาโฮม

(ครูเค้า คือ ครูใหญ่-ครูต้นเค้า)

ผู้ข้าตีปักปักให้เสียงออก ผู้ข้าตีป๊อกป๊อกให้เสียงมา

สับลิ้นปี่อย่าให้ลิ้นปี่แห้ง สับลิ้นแคนอย่าให้ลิ้นแคนแท้ง

อมสะหมติดฯ”

บทคาถา “เชิญครู” ต่อจากนี้ ยิ่งสร้างความชัดเจนว่า ครูแคนเป็นผู้หญิง โดยสังเกตจากคำว่า “นาง”

“เชิญลงเยอ เชิญเจ้าลงเยอ

เชิญเจ้ามามัดจิตเข้าใส่คลองใน

เชิญเจ้ามามัดใจเข้าใส่คลองนอก

เชิญเจ้ามานั่งบอกอย่าให้ปวดเอว

ขอให้เสียงแคนไหล ดังไปจิ๊ดจ๊าด

เสียงดังจ๊าดเหมือนดังตาลไซ เสียงดังใสไหลไปฮ้อยแห่ง

เชิญนางแต่งฮูปี่ฮูแคน ลูกสะแนนให้ดังถูกต้อง

อย่าให้ข้องลิ้นปี่ลิ้นแคน อมสะหมติดฯ”

บทไหว้ครูแคนท่อนต่อไป มีการเอ่ยขานชื่อครูแคน ซึ่งน่าจะเป็นอุปลักษณ์ของพันธุ์พืชที่ใช้ทำแคน คือ ‘นางอ้อน้อย’ (อาจจะหมายถึง ลำไผ่ลำอ้อ) นุ่งซิ่นสีเงิน

“เชิญลงเยอ เชิญเจ้าลงเยอ

กับทั้งนางอ้อน้อยนุ่งซิ่นสีเงิน

เชิญลงมาขุนนางมวลพร้อม

มานั่งล้อมข้างซ้ายข้างขวา

อย่ามืดมัวหูตาให้แจ้ง

อย่าให้แท้งซี่กู่ลนไฟ

เสียงแคนใสดังไปฮ้อยแห่ง

เชิญนางแต่งตั้งทุ้งแม่เซ

อย่าให้เพแม่เวียงโป้ซ้าย

อย่าหยับย้ายหนีออกแวนไกล

ให้เสียงไหลหลั่งมาปานน้ำ

อย่าสะท้านเสพปี่สับซอ

เสียงบ่พอเชิญนางเอาใส่

เสียงบ่ใหญ่เชิญเจ้าเอาแถม

ให้ดังแหมก้อยขวาก้อยซ้าย

อย่าหยับย้ายเสพขลุ่ยสับซอ

อมสะหมติดฯ”

ยิ่งไปกว่านั้น “คาถายกครูแคน” ยังบอกใบ้ถึงอาณาเขตแว่นแคว้นที่พลังแห่งเสียงแคนกรวิกแว่วหวานไปถึง คือ

“ซ้าย-ฮอดอยุธยา ขวา-แกวเป็นเขต”

ดังปรากฏใน “บทไหว้ครู” ตอนเกริ่นนำ ต่อไปนี้

“อม (คือ โอม) สิทธิ์ อมสับ อมจับ อมถือ

บ่ได้ทงอาจ (อย่าทรนงเย่อหยิ่ง) บ่ได้ประมาทครู

ไฮ่ปั๊ก ๆ ให้เสียงออก ไฮ่ปอก ๆ ให้เสียงมา

ผู้ข้าสับลิ้นปี่ อย่าให้ลิ้นปี่แหง

สับลิ้นแคน อย่าให้ลิ้นแคนแท้ง

ก้ำซ้ายให้ซ่า ฮอดศรีอยุธยา

ก้ำขวาแถว แกวเป็นเขต อมสะหับฯ”

(“เรื่องแคน”, สมเด็จพระธีรญาณมุนี, อ้างแล้ว, ๒๕๒๘, น.๑๖๒-๑๖๓)

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร ปุณณโก ป.ธ. ๙) ได้วิเคราะห์ว่า

“แคนนี้เข้าใจว่าเป็นของมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ที่ไทยยังตั้งอยู่เสฉวน ฮุนหนำ (ยูนนาน) หรือเหนือนั้นขึ้นไป” (อ้างแล้ว, น.๑๖๔) ท่านได้อ้างถึงหนังสือของหมอด๊อด ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ว่า

“มร.เบิน กงสุลอังกฤษ” เขียนรายงานว่า ได้เคยเห็นการรื่นเริงของกลุ่มชนแถบนี้ (ในจีน) เครื่องดนตรีของพวกเขาทำด้วยไม้ไผ่เป็นรูปเหมือนลำกล้องและเป่าด้วยปาก เป็นอย่างเดียวกันกับเครื่องดนตรีที่ ‘ชนชาติไท’ ในแคว้นลาวของฝรั่งเศสใช้กันอยู่ กงสุลอังกฤษยังได้ระบุสถานที่ที่ท่านบังเอิญเดินทางไปพบในประเทศจีนว่า

…ที่พิงไม ซึ่งอยู่ห่างจากมณฑลไกวเจา (กุ้ยโจว) และชายแดนมณฑลกวางซี (กวางสี) ราว ๓-๕ กม. ขณะที่พวกเราได้เดินทางด้วยเรือไปตามแม่น้ำ พอตกเวลาเย็นก็จอดเรือนอนขณะนั้นได้ยินเสียงและเห็นหมู่คนเดินมาเหมือนกระบวนแห่ตามทางอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ มีผู้หญิงประมาณ ๓๐ คน แต่งตัวสวมเสื้อสั้น ๆ เดินเป็นแถวเรียงหนึ่งมาข้างหน้า ถัดไปก็ถึงพวกผู้ชายเป็นอันมาก เดินเป็นแถวตามหลังพวกผู้หญิง ทั้งสองพวกนี้มีดนตรีด้วยรูปเหมือนกระบอกไม้ไผ่ เวลาเป่าปลายยื่นเหนือศีรษะขึ้นไปสัก ๖๐-๙๐ ซม. และใช้เป่าด้วยปาก เสียงที่เป่านั้นไพเราะน่าฟัง แล้วกระบวนแห่นั่นก็ข้ามแม่น้ำไป ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่า พวกที่เดินเป็นกระบวนแห่พร้อมด้วยดนตรีนั้นเป็นชาวตุงเจีย ซึ่งอยู่ตามตำบลใกล้ ๆ นี้เอง เขาได้เดินทางไปในระหว่างภูเขาตั้งแต่เช้า เพื่อไปดูการเล่นชนควายกัน และเพิ่งกลับมา พวกนี้ชอบเลี้ยงควายไว้สำหรับชนกัน เป็นการรื่นเริงของเขาส่วนหนึ่ง ฯลฯ เป็นธรรมเนียมเสี่ยงทายโชค”

(“เรื่องแคน”, สมเด็จพระธีรญาณมุนี, อ้างแล้ว, ๒๕๒๘, น.๑๖๔-๑๖๕.)

ท่านสรุปความเห็นว่า แสดงว่าคนไททางเหนือ ซึ่งอยู่ใน “ประเทศไทเดิม” (ซึ่งเวลานี้ตกอยู่ในอำนาจจีน) นั้น ยังทำแคนเป็นและนิยมใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีเป่ากันอยู่…

“แคนนี้มิใช่ของใหม่ ซึ่งมาคิดทำได้เมื่อคนไทยเลื่อนลงมาอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว

แต่คงจักได้ทำกันมานานแล้ว และเป็นสมบัติมรดกตกทอดมาจนถึงอนุชนผู้สืบสาย

จนถึงทุกวันนี้”

***

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๗.

สมเด็จพระธีรญาณมุนี, เรื่องแคน, ใน มูลมรดกชนชาติอ้ายลาว, ๒๕๒๘.

Related Posts

ชายเป็นใหญ่ : จาก “แถน” สู่ “เทพ”*
“ด้ำเสือ”
“ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท” เป็นการสาวรกรากต้นตอคนไท|ไต|ลาว|สยาม|ไทย ผ่าน “สัญญปริศนา”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com