ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๒)

ตระกูลภาษา “ไท-กะได” กับ ไป่เยวี่ย (๒)

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๙
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

การกระจายตัวของตระกูลภาษาไท-กะได ภาพจากวิกิพีเดีย

คุณเหลียงถิงหวั่ง เชื่อว่า บรรพชนของชาวเผ่าจ้วง (ขณะที่ยังมิได้แยกเป็นชาติพันธุ์ตระกูลภาษาตระกูลต้ง-ไถ) มีความเกี่ยวพันกับชนเผ่าโบราณที่ปรากฏชื่อในบันทึกโบราณของจีน เช่น ชนเผ่าซีโอว 西瓯 ลั่วเยวี่ย 路越 ชางอู่ 仓吾 ซุ่นจื่อ 损子 กุ้ยกั๋ว 桂国 จวี้ถิง 句町 เย่หลาง 夜郎 ผู่ 濮 โล่วว่อ 漏卧 อู่เลี่ยน 毋敛 เป็นต้น

คำว่า “โอว” “瓯” ยังมีที่เขียนว่า 区、呕、西瓯 และเป็นชื่อที่คนจีนในแดนตงง้วนยุคราชวงศ์ “เซี่ย” 夏 รู้จักแพร่หลายแล้ว ครั้นถึงปลายยุคจ้านกั๋ว (พวกโอว) กล้าแข็งกลายเป็นผู้นำของสพันธ์ชนเผ่า ส่วน “ลั่วเยวี่ย” หรือ “ชนเผ่านก” เป็นสาขาหลักของพวก “ไป๋เยวี่ย” ในบันทึก “逸周 书 – อีโจวซู” ฉบับอธิบายโดยหวางหุ้ย (逸周书·王会解) มีคำบันทึกว่า “路入大竹 (พวก) ลั่วเข้าสู่ต้าจู๋” แสดงว่าในยุคราชวงศ์โจว ชื่อ (เผ่า) ลั่วเป็นที่รู้จักของคนในตงง้วนแล้ว (คำว่า 入 นั้น แปลว่า “เข้าสู่” ส่วนใหญ่มักจะพิมพ์ผิดเป็นคำว่า 人 ที่แปลว่า “ คน” การตีความบันทึกท่านนี้ จึงมักจะแปลกันผิด)

คุณเหลียงหมิ่น 梁敏 คุณจางจวิ้นหญู 张均如 หลังจากได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ตระกูลภาษาต้ง-ไถ เป็นจำนวนมากแล้ว ได้สรุปไว้ว่า ในยุคหินใหม่ตอนปลาย ประมาณ 5000 ปีมาแล้วบรรพชนของพวกต้ง-ไถ ได้เริ่มแยกออกเป็นสามกลุ่ม คือชนเผ่าจ้วง-ไท 壮泰 ชนเผ่าต้งสุ่ย 侗水 และชนเผ่า หลี่ 黎 สามกลุ่มแล้วพอมาถึงช่วงรอยต่อระหว่างยุคชุนชิวกับยุคจ้านกั๋ว บรรพชนของ“ชาวหลินเกา 临高人” (แม้ว่าคณะกรรมการจัดแบ่งชาติพันธุ์ จะจัดให้ “ชาวหลินเกา” สังกัดในชาติพันธุ์ฮั่นแล้วก็ตามแต่จากมุมมองของ ภาษาศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยาและประวัติศาสตร์ นักปราชญ์ยังเห็นว่า “ชาวหลินเกา” เป็นส่วนหนึ่งของชนตระกูลภาษาต้ง-ไถ) ได้อพยพจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของกวางสี และคาบสมุทรเหลยโจว เคลื่อนย้ายไปสู่ภาคเหนือของเกาะไหหลำ บรรพชนของชาติพันธุ์หลี่เหล่านี้ ได้ค่อย ๆ อพยพเข้าสู่พื้นที่ “อู๋จื่อซาน” (ภูเขา 5 นิ้ว) ตอนเหนือของเกาะไหหลำ (แล้วพัฒนาต่อมาเป็นชาติพันธุ์หลี…ผู้แปล)

ส่วนบรรพชน ของเผ่า จ้วง ไท ต้ง และปู้อี (ผู้ญัย) ยังกระจายตัวกันอยู่ทางตะวันตกของกว่างตง กว่างซี ภาคใต้ของกุ้ยโจว ภาคตะวันออกของยูนนาน ยามนั้นกลุ่ม “จ้วง-ไท” ได้เริ่มเกิดการแบ่งแยกภายในกลุ่มบ้างแล้ว

นั่นคือกลุ่มที่ใช้ภาษา “จ้วงเหนือ” และภาษาปู้อี ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคกลางและภาคเหนือของกว่างซี ภาคใต้ของกุ้ยโจว และยูนนานภาคตะวันออกค่อนไปทางเหนือ

ส่วนพวกที่ใช้ภาษาสายใต้ คือบรรพชนของไต ไท ลาว ฉาน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคใต้ของกว่างซี และยูนนานค่อนไปทางใต้

ในส่วนของกลุ่ม ต้ง-สุ่ย ก็เริ่มมีการแยกตัวกันในช่วงนี้เช่นกัน

นี่เป็นสมมุติฐานเริ่มแรกสุดและละเอียดที่สุด เกี่ยวกับช่วงระยะการก่อตัวของกลุ่มตระกูลภาษาต้ง-ไถ

แต่อย่างไรก็ตาม คุณหนี่ต้าไป๋ (倪大白) นักวิจัยอีกท่านหนึ่ง ยังมีความเห็นแตกต่างออกไป โดยเห็นว่า “ไป่เยวี่ย” เป็นชนเผ่าโบราณอายุในราวสามศตวรรษก่อนคริสตกาล ที่มีรากเหง้าร่วมกันและกระจายตัวอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนลงมาจนถึงเอเชียอาคเนย์

ข้อโต้เถียงเกี่ยวกับ “ไป่เยวี่ย” ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง “ช่วงเวลา” คือบางท่านก็เห็นว่า “ไปเยวี่ย” เริ่มต้นเมื่อประมาณ หนึ่งหมื่นปีที่แล้วบางท่านก็ว่าเริ่มต้นเมื่อก่อนห้าพันปีที่แล้วบ้างก็ระบุคร่าว ๆ ว่า เริ่มต้นในช่วงปลายยุคหินใหม่ หรือระบุอย่างกำปั้นทุบดินว่า “ยุคหินใหม่”

ส่วนเรื่อง “ซีโอว” และ “ลั่วเยวี่ย” บ้างก็เห็นว่า มีมาตั้งแต่ยุคจ้านกั๋วถึงราชวงศ์ฉิน (จิ๋น) ราชวงศฮั่น บางท่านก็ว่า มีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์เซี่ยราชวงศ์ซางแล้ว ในส่วนเรื่องว่าแคว้นเหล่านี้เป็นของชนเผ่าใด ก็ยิ่งมีความเห็นแตกต่างกันยิ่งขึ้น เช่น บ้างก็ว่าเป็นของชนเผ่าจ้วงในกลุ่มตระกูลภาษาต้ง-ไถ ส่วนระยะเวลาที่ก่อเกิดขึ้นนั้นบ้างก็ว่าในราชวงศ์หมิง-ชิง บ้างก็ว่าภายหลังราชวงศ์ถัง, บ้างก็ว่าในยุคราชวงศ์เว่ย-จิ้น (คริสต์ศตวรรษที่ ๔ ปลายและหลังจากสามก๊ก) บางท่านก็เสนอแต่คำเรียกชื่อเผ่าจ้วงที่แตกต่างกันในยุคต่าง ๆ โดยไม่ระบุระยะเวลารูปธรรม

ชาวตงง้วนในยุคจ้านกั๋ว (ก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้) นิยมเรียกคนภาคใต้โดยรวมว่า “ชาวเยวี่ย” 越人 การบันทึกถึงเรื่องชาวเยวี่ยด้วยภาษาจีนก็เริ่มมีมากขึ้นในยุคจ้านกั๋วเช่นกัน แต่ทว่าข้อมูลทั้งหมดนั้นเป็นการเขียนภาษาจีนโดยคนจีนบันทึกเรื่องราวชาวเยวี่ยหรือเรื่องที่ประทับใจคนจีน ชาวเยวี่ยมีกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม จึงเกิดคำว่าไปเยวี่ย “百越” (百粤) – เยวี่ยร้อยจำพวกเพื่อแสดงกลุ่มย่อยว่ามีมากมาย เช่น ในยุคชุนชิวมีคำว่า “อฺวี๋เยวี่ย” 于越 หรือ “กันเยวี่ย” “干越” (คือเรื่อง อู๋ก๊ก, เยวี่ยก๊ก, นางไซซี…ผู้แปล)

ในยุคจ้านกั๋ว มีคำว่า “หยางเยวี่ย” 扬越 ในยุค ราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ฮั่น มีคำว่า “โอวยวี่ย” 瓯越 、ตงเยวี่ย “东越” 、หนานเยวี่ย “南越” 、หมิ่นเยวี่ย “闽越” 、ลั่วเยวี่ย “骆越”, ซีโอว “西瓯 และเตียนเยวี่ย “滇越” สมัยสามก๊กมีคำว่า “ซานเยว่” 三越 เป็นต้น

ชาวเยวี่ยมีพื้นที่การแพร่กระจายกว้างมากจากทิศตะวันออกเริ่มจากไต้หวัน มณฑลเจียงซูมณฑลเจ๋อเจียง ถึงทางทิศใต้คือ กว่างตง กว่างซีถึงทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน ในสมัยโบราณล้วนมีชาวเยวี่ยอยู่อาศัย ไป่เยวี่ย เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ในยุคโบราณ ยากที่จะกำหนดจำนวนชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ได้แน่นอนเหมือนอย่างในปัจจุบัน เขตพื้นที่ที่พวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ก็ไม่อาจจะใช้พรมแดนประเทศหรือพรมแดนมณฑลในปัจจุบันเป็นเส้นแบ่งได้

ชาวเยวี่ยมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานบางครั้งก็หลอมรวมกับชาวฮั่นหรือชนเผ่าอื่นมีวิวัฒนาการหลายขั้นตอน ส่วนหนึ่งของชาวไป่เยวี่ยได้พัฒนามาเป็นชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต้ง-ไถในปัจจุบัน แต่ถ้าหากตั้งสมมุติฐานว่ากลุ่มพันธุ์เผ่าไป๋เยวี่ยก่อกำเนิดเมื่อประมาณ 5000 ปีพอถึงช่วงยุคจ้านกั๋ว จนถึงราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ฮั่น พวกไป่เยวี่ยจึงแบ่งแยกตัวเกิดเป็นพวก ซีโอว西瓯และลั่วเยวี่ย西瓯 แล้วต่อมาจึงพัฒนามาเป็นชาติพันธุ์อื่น ๆ ในตระกูลภาษาต้ง-ไถ สมมุติฐานนี้ก็ไม่สอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดี

เมื่อ ๙ พันปีถึง ๑ หมื่นปีที่แล้ว มนุษย์ในแหล่งโบราณคดี “วัฒนธรรมหว่าผีเหยียน 甑皮岩人” (แถบกุ้ยหลิน) ก็รู้จักตั้งหลักปักฐานที่อยู่อาศัย ผลิตเครื่องปั้นดินเผา ทำกสิกรรมแบบดึกดำบรรพ์ รู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว

อายุของแหล่งโบราณคดี “วัฒนธรรมหว่าผีเหยียน” เก่ามากกว่าเก้าพันปี และที่เก่ากว่านั้นพบว่าในที่ราบเมือง “ไป่เส้อ” 百色 (ภาษาจ้วงว่า ปากซัก หรือ ปากสัก ในหนังสือ “ชนชาติไท” ของหมอ คริฟตัน ดอดด์ เรียกเมือง ปากสัก…ผู้แปล) มีแหล่งโบราณคดีผลิตเครื่องมือหินถึง 86 แห่ง ที่มีอายุเก่ากว่า “วัฒนธรรมหว่าผีเหยียน” ดูเฉพาะหลักฐานนี้ ก็กล่าวได้ว่า พื้นที่นี้มีมนุษย์อยู่มานมนานมากแล้ว มนุษย์ดึกดำบรรพ์เหล่านั้น เป็นบรรพของชาวเยวี่ยหรือไม่ ? ก่อนที่จะพบหลักฐานอ้างอิงอื่น ๆ ก็ยังไม่อาจความเป็นไปได้ในข้อนี้

ในปี 1958 นักโบราณคดีได้พบฟอสซิลของศีรษะมนุษย์ภายในถ้ำ “ทงเทียนเหยียน” 通天岩 อำเภอหลิ่วเจียง 柳江 ในกว่างซีมีอายุอยู่ในยุคหินเก่า เก่าแก่ประมาณห้าหมื่นปีรูปร่างคล้ายคลึงกับมนุษย์ หว่าผีเหญิน 甑皮岩人 ซึ่งพบที่กุ้ยหลิน จัดอยู่ในมนุษย์มองโกลภาคใต้ 南方蒙古人种

และมนุษย์มองโกล ชนิดเอเชียใต้ 蒙古人种南亚类型 มีลักษณะพิเศษตรงกับชาติพันธุ์จ้วงในปัจจุบันอย่างเด่นชัด ดังนั้นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้จึงมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาต้ง-ไถ ในปัจจุบัน จาก มนุษย์หลิ่วเจียง – หว่าเหยียนเหญิน – ชาติพันธุ์ตระกูลภาษาต้ง-ไถ ปัจจุบัน จึงมีลักษณะของการสืบทอดกันมาชัดเจน

หลักฐานโบราณคดีที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมเยวี่ย อีกแหล่งหนึ่งคือ “แหล่งวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้” ที่อำเภออฺวี๋เหยาเสี้ยน 余姚县 มณฑลเจ้อเจียง เป็นแหล่งโบราณดีที่ขุดพบหลักฐานการเพาะปลูกข้าวและการเลี้ยงสัตว์ที่เก่าแก่แหล่งหนึ่งในจีนมีอายุเจ็ดพันปี วัฒนธรรมสมัยหินใหม่ ที่ได้ขุดพบร่องรอยทางโบราณคดี ริมชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของจีนเป็นจำนวนมากนั้น มีความสัมพันธุ์กับวัฒนธรรมเหอมู่ตู้ ที่มลฑลเจ้อเจียง ช่วงก่อน ค.ศ.5000 ปี ถึงก่อน ค.ศ. 3000 ปี หรือก่อนหน้านั้นอีกในแถบชายฝั่งทะเลทางใต้ของประเทศจีนได้พบว่ามีคนโบราณที่รู้จักใช้เครื่องปั้นดินเผา และการเพาะปลูกข้าวแล้ว เรื่องเหล่านี้เชื่อถือได้

จุดที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าแหล่งโบราณคดีหว่าผีเหยียน ที่กุ้ยหลิน หรือแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้การใช้เครื่องปั้นดินเผานั้น มิได้เกิดขึ้นล่าช้าภายหลังทางตงง้วนเลย ทางตงง้วนในภาคเหนือนั้นแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ที่สุดคือ แหล่งโบราณคดีเผยหลีกั่ง 裴里岗 มณฑลเหอหนาน มีอายุประมาณ 8000 ปีลงมา สิ่งเหล่านี้เพียงจะอธิบายได้ไหมว่าวัฒนธรรมตงง้วนในภาคเหนือกับวัฒนธรรมเยวี่ยซึ่งเป็นตัวแทนของภาคใต้นั้นต่างเกิดขึ้นอย่างอิสระในระยะไล่เลี่ยกัน หากพิจารณาจากด้านภูมิศาสตร์ ภาคใต้ของจีนอยู่ในแถบเขตอบอุ่นและเขตร้อน มีแสงอาทิตย์พอเพียง ฝนตกหนัก ป่ารกทึบ แม่น้ำหลายสายสามารถจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหาร ใช้เรือในการคมนาคม ที่พิเศษคือมี ถ้ำหินปูนเป็นจำนวนมากเหมาะสำหรับเป็นที่อาศัยของคนดึกดำบรรพ์ในยุคหินเก่า จากสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะแบบนี้ เป็นเงื่อนไขกำหนดให้มีลักษณะวัฒนธรรมพิเศษอย่างหนึ่ง

สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความเหมือนกัน ทำให้เกิดวิถีการผลิต, วิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกัน เงื่อนไขทางสภาพแวดล้อมในลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลางและตอนปลาย รวมถึงแดนจีนภาคใต้ ทำให้คนดึกดำบรรพ์ในแถบนั้น (คือไป่เยวี่ย) มีลักษณะพิเศษร่วมกันดังต่อไปนี้

1. โทเทม (Totem) สัญลักษณ์ประจำเผ่าที่เหมือนกัน แหล่งโบราณคดีที่เหอหมู่ตู้ ได้ขุดพบรูปนกแกะสลัก จากงาช้าง และชาวจ้วงก็มีตำนานปู้ลั่วทัว 布洛陀 (บรรพชนฝ่ายชาย) และหมู่ลิ่วเจีย 姆六甲 (แม่นกจอก – บรรพชนฝ่ายหญิง) ชาวจ้วงเกิดจากนก คำว่า “ลั่ว” 洛 และ“ลิ่ว” 六 ในภาษาจ้วงก็มีความหมายว่า นก

2. ความเหมือนกันทางด้านเศรษฐกิจการผลิต จากข้อมูลทางโบราณคดีในพื้นที่นี้ได้พบร่องรอยทางโบราณคดีที่มีร่องรอยการเพาะปลูกข้าว และพบเนินเปลือกหอยจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกประวัติศาสตรที่ว่า “九嶷之南, 陆事寡而水事众, 于是人民断发文身, 以象麟虫 – ทางใต้ของจิ่วอีเรื่องราวบนบกมีน้อย เรื่องราวในน้ำมีมาก ผู้คนจึงไว้ผมสั้นและสักตามร่างกาย เพื่อให้เหมือนกับตัวหลิน (สัตว์ร้ายในน้ำ)”

3. ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหมือนกัน จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ได้ขุดพบเรือน “กันหลาน” (เรือนเสาสูง) ที่มักพบเห็นในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นฝนตกชุก จนถึงปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้

4. การสร้างเรือที่เหมือนกัน เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ “ชาวเยวี่ยสันทัดการใช้เรือ” เรื่องนี้ต่างจากแดนตงง้วนที่แห้งและหนาวเย็น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในยุคหินใหม่อารยธรรมจีนตอนใต้มีวัฒนธรรมและโบราณวัตถุ ใกล้เคียงและเกี่ยวพันกับทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าภาคเหนือ (ตงง้วน) ของจีน ที่หนาวและแห้ง การค้นพบทางโบราณดีแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีและดินแดนทางใต้ของแม่น้ำแยงซี แสดงว่า ต้นกำเนิดของอารยธรรมในจีนตอนใต้นั้นเก่าแก่พอ ๆ กันหรือเก่าแก่กว่าทางตงง้วนภาคเหนือเสียอีก

หลักฐานทางโบราณคดีพิสูจน์แล้วว่าอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีและลุ่มแม่น้ำจูเจียง (珠江 จากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูนนาน ไหลผ่านกว่างซีออกทะเลที่กว่างโจว…ผู้แปล) มิได้กำเนิดล่าช้ากว่าทางลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ฟอสซิลของมนุษย์หยวนโหม่ว 元谋人化石 ในยูนนาน มีอายุเก่าแก่กว่าฟอสซีลของมนุษย์หลานเทียน 蓝田人化石 ในมณฑลส่านซี ครั้นถึงยุคหินใหม่มนุษย์ในดินแดนนี้ (ทางใต้ของจีน) ก็รู้จักปั่นไม้ก่อไฟ รู้จักสร้างเครื่องมือหิน รู้จักการเกษตรกรรม รู้จักขุดหลุมปักเสาสร้างบ้าน ตั้งหลักฐานอยู่อาศัยถาวร ลวดลายเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบก็วิจิตรพิศดาร

เราจึงมีเหตุผลหนักแน่นที่จะกล่าวว่าชนชาวไป่เยวี่ยพัฒนาก่อเกิดขึ้น ในยุคหินใหม่จากหนึ่งหมื่นปีลงมาจนถึงประมาณสี่พันปีที่แล้วและมีพัฒนาการอย่างเป็นอิสระเป็นอู่เปลให้กำเนิดวัฒนธรรมจีนอีกอู่หนึ่ง ที่เป็นอิสระจากแดนตงง้วน

Related Posts

เฮ็ดกิ๋นแซบ
การเมืองเรื่องส่วยในภาคอีสาน
ศิวนาฏราช ณ พนมรุ้ง ขอท้าว่าไม่ควรพลาดชม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com